31 August 2008

For Better or For Worse

ครับ... ก็จบบริบูรณ์ไปแล้วนะครับ สำหรับ For Better or For Worse โดย Lynn Johnston ซึ่งดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านชาวแคนาดาและทั่วโลกได้ติดตามกันมายาวนานถึง 29 ปี

บางคนอาจพอคุ้นเคยกับชื่อการ์ตูนช่อง [comic strip] การ์ตูนหนังสือพิมพ์รายวัน comic strip นี้บ้าง ซึ่งผมเคยกล่าวถึงมาแล้ว (และนับว่าเป็น comic strip เดียวที่ผมติดตามต่อเนื่องอย่างจริงจัง)

For Better or For Worse กล่าวถึงเรื่องราวของครอบครัว Patterson ครอบครัวชาวแคนาดาทั่วไปครอบครัวหนึ่ง และเล่าเรื่องราวความเป็นไปต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวทั้งสี่รุ่น โดยพาให้ผู้อ่านได้ติดตามการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาเสมือนจริง และพาให้สัมผัสเกือบทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคู่ ปัญหาในที่ทำงาน การหย่าร้าง ชีวิตวัยเรียน ปัญหาสุขภาพ วิกฤตวัยกลางคน ศีลธรรม ความตาย หรือแม้กระทั่งความเป็นเกย์ (ซึ่งในปี 1993 ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรงทีเดียว)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินเรื่องของ For Better or For Worse จะจบเพียงเท่านี้ Johnston จะยังคงเขียนการ์ตูนนี้อยู่อีกระยะหนึ่ง โดยเรื่องราวจะย้อนกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น และมีการสอดแทรกการ์ตูนที่เขียนขึ้นใหม่สลับไปกับของเดิม

For Better or For Worse ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กว่า 2,000 ฉบับ ใน 20 ประเทศทั่วโลก และมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ 8 ภาษา Lynn Johnston เป็นนักการ์ตูนหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Reuben Awards ในปี 1985 ได้รับการเสนอชื่อรอบสุดท้ายเพื่อรับรางวัล Pulitzer ในปี 1993 และมีเกียรติประวัติระดับประเทศอีกหลายรายการ

และแน่นอน ว่าติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/For_Better_or_For_Worse


หมายเหตุ: ความจริงมี back(b)log ที่ mind map ไว้กะจะเขียนอีกหลายเรื่อง แต่ขอดองไว้ และยกพื้นที่ให้กับเรื่องราวปัจจุบันก่อนแล้วกัน

Last edited: 2008-09-08 03:34

29 August 2008

Definitions needed

ไหน ๆ บทความใน series อนุกรม ซีรีส์ กลุ่ม #Politics* ก็ดูจะโผล่ตามเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะรัฐประหาร ลงประชามติ, กรณี YouTube, เลือกตั้ง (เรื่องชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ มีที่มาจากกรณีเขาพระวิหาร แต่ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง) พอมีเหตุการณ์ช่วงนี้ก็เลยรู้สึกเหมือนเป็นหน้าที่เล็ก ๆ (ต่อบล็อกอันนี้) ที่จะต้องหาอะไรมาแปะ...

แต่ปัญหาคือ นึกเรื่องจะเขียนไม่ออก~ (นอกจากความรู้สึกในฐานะคนเดินดินที่ว่า "***น่ารำคาญว่ะ" ซึ่งก็ดูไม่เป็นแนวคิดที่ควรสนับสนุนเท่าไร เพราะการเมืองมันก็ทั้งน้ำเน่าทั้งน่าตื่นเต้นขนาดนี้แล้ว ไม่สมควรจะอ้างว่า "เบื่อ" อีกได้)

ที่จริงตอนนี้ที่น่าหงุดหงิดที่สุดคือรถไฟนี่แหละครับ เพราะส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันตอบปัญหาชีววิทยา “จุฬาฯ วิชาการ ๒๕๕๑” ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตรง

(เอาเถอะ บขส. อย่าหาเรื่องบ้างแล้วกัน...)

...

อย่างหนึ่งที่คงน่าแปลกใจสำหรับผู้เห็นข่าวที่ไม่รู้จักการเมืองไทย คือ ทำไมกลุ่มผู้ประท้วงถึงเรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

อืมม... ตอนนี้ google หา "พันธมิตรประชาชนเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย" จะได้ 7 results (คงกลายเป็น 8 ในไม่ช้า)

แต่จะว่าอย่างนั้นมันก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว (7 results นี่น้อยกว่าที่คิดแฮะ) เพราะแต่ละฝ่ายคงมีคำจำกัดความของประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน (ลองดู Democracy: What does it mean to you?)

"ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" มีผลลัพธ์ใน Google อยู่ 418 อันครับ (หน้าแรกเห็นขึ้นว่า 21,100 เข้าใจว่าจะเป็น bug?)

ผมลองคลิกตามไปดูแล้วก็เห็นบทความโดยปิยบุตร แสงกนกกุลกล่าวไว้ได้น่าสนใจ และอดคล้อยตามไปด้วยไม่ได้ (แล้วก็อ่านไปบทความเดียวนั่นแหละครับ)

...

ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ ว่าที่สุดแล้วเราจะหาคำจำกัดความที่จะใช้ร่วมกัน เพื่อให้คุยกันรู้เรื่องได้หรือเปล่า...

ก็เพียงหากแต่เราจะหันมาคุยกันได้

เฮ่อ...


*สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำการจัด labels ใหม่ ถ้าทำ feed ใครเละก็ขออภัยด้วยนะครับ

23 August 2008

30 years of minifigs, 5,922 pieces of the Taj Mahal

LEGO Minifigure

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) นิตยสาร Wallpaper* ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ LEGO minifigure ซึ่งก็มีอายุครบสามสิบปีในปีนี้ครับ

(ขออนุญาตใช้ภาพประกอบซ้ำ อย่างน้อยคงตรงประเด็นมากกว่าเดิม)

น่าสนใจอยู่นะครับ... ณ ปัจจุบันมี minifigure ผลิตออกมาแล้วกว่า 4×10⁹ ตัว นับได้เกือบ ⅔ ของประชากรโลกทีเดียว

LEGO Taj Mahal

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ (tabloid) Daily Mail ก็ลงบทความเรื่อง 10189 Taj Mahal ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวอย่างกึ่งทางการไปเมื่อต้นเดือนนี้ที่ผ่านมา และด้วยจำนวนชิ้นส่วนถึง 5,922 ชิ้น ก็ได้ครองตำแหน่งชุดตัวต่อเลโก้ที่มีจำนวนชิ้นมากที่สุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำลายสถิติ 5,195 ชิ้นของ 10179 Ultimate Collector's Millennium Falcon (ซึ่งมีราคาขายถึง US$499.99 เทียบกับ US$299.99 ของ 10189) [ภาพประกอบจากเว็บไซต์ LEGO Shop at Home]

พูดถึงราคา... วันก่อนเห็น 10184 Town Plan (set ฉลองครบ 75 ปี) ที่พารากอน ราคาอยู่แถว ๆ หนึ่งหมื่นสองพันบาท (แพงกว่าราคาสหรัฐฯ $149.99 กว่าสองเท่า) น่าสงสัยอยู่ว่าอากรนำเข้าของของพวกนี้มันคิดยังไง...

9 August 2008

เกมเจ้าปัญหา

ESRB M rating symbol
Half-Life: Counter-Strike ได้รับเรต M จาก ESRB เหมาะกับผู้เล่นที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป¹

ถ้าใครไม่ทราบ ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำพูดฮิตติดปากของผมเองตั้งแต่ตอน ม.3 และนับได้ว่าเป็นประโยคแจ้งเกิดของผมที่ รร.เตรียมฯ²

ถ้ายังจำกันได้ ช่วงประมาณปี 2000 นั้นเองที่เรากำลังเพิ่งจะรู้จักสถานบริการเกมคอมพิวเตอร์ที่เริ่มแพร่หลายในขณะนั้น และก็เป็นประกายกำเนิดกระแสความนิยมในกิจกรรมหลังเลิกเรียนนี้ที่ยังฮิตกันอยู่ถึงปัจจุบัน

ความจริงแล้วสมัยนั้นผมก็ไม่เคยได้เรียบเรียงความคิดจริงจังอะไรกับเรื่องนี้หรอกครับ นับว่าเป็นช่วงที่ยังคิดอะไรค่อนข้าง [concrete] ด้วยซ้ำ ทำนอง "เค้ากำหนดไว้ก็ควรจะทำตามสิ"

แต่เอาเข้า จนถึงปัจจุบันผมก็ยังเล่น Counter-Strike ไม่เป็น (เช่นเดียวกับ Ragnarok Online และ DotA) และก็ยังไม่เคยเข้าไปใช้บริการร้านเกมคอมพิวเตอร์สักครั้ง

ตอนที่เห็นเพื่อนคนหนึ่งเล่าถึงรูปแบบการใช้บริการร้านเกมแบบกินอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืนครั้งแรก (ช่วงปี 2001) ก็ทำให้ผมตกใจ/สะเทือนใจไปเหมือนกันครับ

ไม่ใช่ว่าผมจะไม่เคยมีปัญหาติดเกม (อื่น) ของผมเองนะครับ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึง

ถ้าลองมองย้อนกลับไป ก็คงจะพอเห็นได้ว่าประเด็นที่เอ่ยไว้ข้างต้น เรื่องเด็กเล่นเกมทั้งวันทั้งคืน เรื่องการควบคุมเรตเกม มันค่อย ๆ มีเรื่องราวข่าวที่สะท้อนออกมา ให้ภาครัฐต้องค่อย ๆ ตามไปควบคุมที่ปลายเหตุ ซึ่งก็อาจจะทำให้ผมตอน ม.3 พอใจขึ้นมาบ้าง

แต่มันจะช่วยทำให้อะไรดีขึ้นได้?

ในประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (ซึ่งผมเพิ่งจะรู้เรื่องภายหลังเมื่อไม่กี่วันมานี้) ผมติดตามดูแล้วก็รู้สึกไม่แปลกใจเลยสักนิด (และอดถอนหายใจไม่ได้)

ที่ปฏิกิริยาแรกของสังคมไทยคือการ [ban] เกมเจ้าปัญหา

ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นหรือสัมผัสเกม Grand Theft Auto ภาคใด ๆ เอง แต่จากที่ติดตามข่าวสารต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ก็พอจะสรุปอารมณ์ของเกมได้คำเดียวว่า [sick] และคงไม่เสียดายถ้าเกมนี้จะไม่มีอยู่อีก

แต่มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อพยายามแก้ปัญหาแต่ละอย่าง ผมไม่เห็นว่ามันจะช่วยอะไรได้นอกจากเป็นการไกล่เกลี่ยอารมณ์ของสังคมที่ตอบสนองต่อข่าวที่เกิดขึ้นให้เรื่องมันเงียบ ๆ ไปในแต่ละครั้ง จะห้ามจำหน่าย แล้วจำนวนผู้ใช้อย่างถูกกฎหมายแต่แรกมีสักเท่าไรเชียว จะควบคุมเรตเกม ใครจะเป็นคนลงไปดูแลในระดับไหนได้ จะ [curfew] ร้านเกม แล้วเด็กจะกลับไปตั้งใจศึกษาเล่าเรียนแทนอย่างนั้นหรือ

ถึงกระนั้น ผมก็สงสัยอยู่ว่า สถาบันครอบครัว ที่หลายคนให้เป็นคำตอบ จะเป็นคำตอบที่ล้าสมัยไปแล้วหรือยัง เพราะภาพสังคมที่เห็นทุกวันนี้ น้อยนักที่จะเห็นครอบครัวเป็นสถาบันที่แข็งแกร่งพอที่จะค้ำจุนสังคมได้ต่อไป

เราจะต้องเริ่มกันตั้งแต่ต้น โดยสร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาใหม่อย่างนั้นเลยหรือ

เรื่องราวเหล่านี้ คงมีผู้ที่วิเคราะห์ได้ดีกว่าผมกล่าวถึงแล้วบ้างในช่วงที่ผ่านมา และคงมีอีกในอนาคตที่จะถึง ผมก็จะยังไม่ขอพยายามหาคำตอบของคำถามที่น่าปวดหัวนี้ต่อ

แต่ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าสังคมจะพบคำตอบในเร็ว ๆ นี้ เพราะผมยังจำได้ ถึงภาพที่เห็นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

ที่ขณะไปเที่ยวกับกลุ่มลูกพี่ลูกน้อง และได้ผ่านหน้าร้านเกมในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พี่ชายคนหนึ่งในหมู่ญาติก็หันมาถามเชิงหยอกล้อกับผมว่า

"ไหนตอนนั้นพอบอกว่า Counter นี่ต้องอายุเท่าไรถึงจะเล่นได้นะ"

เพราะภาพที่เห็นตรงนั้น คือเด็กผู้ชายคนหนึ่ง³ ที่ดูยังไงก็อายุไม่น่าจะเกินประถมต้น นั่งเล่นเกมนี้อยู่อย่างจริงจัง

(เรื่องเกมกับวุฒิภาวะนี้ยังมีอะไรให้กล่าวถึงอีกมาก แต่ภาพที่เห็นนั้น ยังไงก็รู้สึกว่ามันไม่ถูกเอาเสียจริง ๆ)


  1. The ESRB "M" rating icon is a registered trademark of the Entertainment Software Association, and is proprietary to the ESRB. Its use here to illustrate the above quote is not in anyway endorsed by the ESRB, nor does it suggest ESRB's acknowledgement of this blog, or vice versa.
  2. ตอนปฐมนิเทศนักเรียน ม.4 ปีการศึกษา 2544 ผมทำให้พี่เอ็กซ์ (วิทย์คอม 9) อึ้งกับประโยคนี้ในฐานย่อยเรียนเราเด่น ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในฐานสมรรถภาพทางการปรับตัว โดยรูปแบบกิจกรรมคือให้ออกแบบตารางเรียนในฝัน และตัวอย่างที่พี่ทำไว้มีชั่วโมงเล่น Counter อยู่ จึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ในวันต่อมาผมก็ถูกเพื่อน ๆ ในกลุ่มคะยั้นคะยอให้นำคำพูดนี้ไปแสดงในละครนำเสนอของกลุ่มในหอประชุม ทุกคนในรุ่นจึงได้รู้จักประโยคนี้ด้วยเหตุนี้เอง
  3. ที่จริงน่าจะเล่นกันอยู่หลายคน แต่ในภาพที่ติดตาอยู่นั้นผมจำได้แค่คนเดียว

Last edited: 2008-08-18 23:57

1 August 2008

Name tag ubiquity

ระหว่างที่รอลุ้นกันว่าณัชจะพูดถึงป้ายชื่อใน Cubic Diary เพิ่มหรือเปล่า มาลองดูรูปนี้กันครับ...

A lot of lanyard name tags จากซ้ายไปขวา: ค่ายเยาวชนสมองแก้ว รุ่นที่ 10; รับน้อง ม.4; รับน้อง ม.5; รับน้องวิทย์คอม ม.5; ศึกษานอกสถานที่ ม.6; ICT Fun Camp 1; รับน้องปี 1; แรกพบ สพท; รับน้องงานอินเดียน; กีฬาสองเข็ม; กีฬา 13 เข็ม; KUS Fun Camp 2; ICT Fun Camp 2; ค่ายอยากเป็นหมอ ปี 1; ค่ายภาษาอังกฤษตอนปี 2; AMSC 21

(ค่ายเยาวชนสมองแก้วเหลือแต่ปีสีม่วงแฮะ... สีฟ้าหายไปอย่างลึกลับตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย...)

แต่เอาเถอะครับ... ประเด็นที่จะว่าคือ... มันเยอะใช่ไหมครับ

ไม่คำนึงถึงประเด็นที่ว่าเจ้าตัวบ้าเก็บ แต่ขนาดงานประชุมวิชาการของคณะฯ ครั้งที่ผ่านมา ยังใช้ป้ายชื่อแบบนี้สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมเลยครับ (แทนที่จะเป็นป้ายอันเล็กแบบมีคลิปหนีบ ที่เห็นงานที่เป็นทางการกว่ามักนิยม)

จำได้ว่าช่วงค่ายสักค่าย (น่าจะเป็น KUSFC) ณัชเคยเปรย ๆ ว่าทำไมเราต้องทำป้ายชื่อเป็นป้ายแขวนคอห้อยคอแบบนี้เสียทุกที ทั้ง ๆ ที่รูปแบบมันก็ไม่ได้ดีมากมาย และยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ หลายประการ

ไม่ทราบเหมือนกันว่า Cubic Diary จะได้พูดถึงป้ายชื่ออีกว่าไงบ้างหรือเปล่า แต่ดูจากรูปข้างบน ก็ทำให้ผมคิดว่าป้ายห้อยคอนี่มันก็เป็น ultimate solution ของโจทย์ป้ายชื่อในระดับหนึ่ง

เพราะแม้ว่าจะมีอรรถประโยชน์ที่จำกัด อาจเกะกะ และพลิกไปพลิกมาทำให้ไม่เห็นได้ แต่มันก็ตอบโจทย์ในการทำให้เรารู้ชื่อของบุคคลนั้น ๆ ได้อย่างดีทีเดียว

ลองเทียบกับแนวทางอื่น ๆ เช่นการใช้ผ้าคาดศีรษะ ซึ่งจะทำให้ชื่ออยู่ใกล้ระดับสายตาและสะดวกกว่าในการอ่าน แต่ก็มีความยุ่งยากในการสวมใส่กว่ามาก หรือภาพฮอโลแกรมที่ลอยอยู่เหนือศีรษะที่ผมเคยจินตนาการไว้ ที่มีความเป็นไปได้ในการทำได้จริงต่ำมาก

ป้ายคลิปหนีบที่ผมว่าข้างต้น ถ้าไม่นับบัตรนิสิตแพทย์ที่ต้องติดทุกวันในปัจจุบัน ผมยังมีเหลือเก็บอยู่แค่สองอัน คือจากค่าย สอวน. และวิชา Dr/Soc

เหตุผลหนึ่งที่มันเหลือแค่นั้นก็คืองานอื่น ๆ เจ้าของเก็บคืนไปเกือบทุกครั้งที่ได้ใช้

ซึ่งก็สะท้อนและชี้กลับไปที่คำสำคัญเดิม คือประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ในการตอบโจทย์นั่นแหละครับ


(ถ้าเอ็นทรีนี้ดูกลวง ๆ สาระน้อย ๆ ก็ขอให้โปรดเข้าใจว่าไม่มีสาระอะไรเท่าไรตั้งแต่แรกแล้วล่ะ เพียงแต่อยากโพสท์รูปเท่านั้นเอง)


Last edited: 2008-08-18 23:42

1 August 2008

วันนี้เห็นหนังสือเล่มนี้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ...

เคมีสำหรับนิสิตแพทย์ เล่ม 1
ทำไมชื่อหนังสือมันคุ้น ๆ นะ...

สังเกตชื่อผู้แต่ง:

ผศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น
อะ...

แล้วงี้ผมจะหลอกน้องที่ไหนให้ซื้อ Raymond Chang ภาษาอังกฤษได้อีกล่ะครับ~

(แต่ก็เพิ่งทราบว่าอาจารย์เปลี่ยนชื่อแฮะ)

แล้วก็...

ใช้บัตร Smart Purse ขึ้นรถป๊อปได้แล้ว! (หลังจากที่เคยบ่นไว้ที่นี่)

แถมลด 50% ถึงสิ้นเดือนอีกต่างหาก แต่เนื่องจากโดนกล้องหักหลังอีกแล้ว รูปโปสเตอร์โฆษณาเลยหายไปซะงั้น~

เอารูปน้องหมา Smart Purse ไปแทนแล้วกัน (Mascot น่ารักดีแท้)

Smart Purse mascot dog

ป.ล. อัพโหลดรูปใน Flickr เพิ่มนิดหน่อยแล้วนะครับ... รอบนี้มีป้ายอันเดียว (จรสพงษ์เห็นเราสะสมป้ายแปลก ๆ ไปแล้ว)


Last edited: 2008-08-24 18:37