11 February 2013

ตัดต่อชัด ๆ

วันนี้จะขอกล่าวถึงภาพภาพนี้ โดยคุณ pattpoom จาก Flickr ครับ

~ Bangkok Tonight ~

ในแง่สุนทรียภาพคงไม่จำเป็นต้องบรรยาย เพราะคอมเมนต์บนหน้า Flickr ก็อธิบายในตัวอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่ในสมัยที่เทคโนโลยีการแต่งภาพแบบดิจิทัลก้าวไกลขนาดนี้แล้วผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านเวลาเห็นภาพที่น่าแปลกตาเช่นนี้ก็คงคิดในใจว่า "ตัดต่อหรือเปล่านะ?"

ที่จริงเจ้าของผลงานเขาก็อธิบายและให้รายละเอียดอุปกรณ์และการตั้งค่ากล้องไว้ในคำบรรยายภาพแล้วล่ะครับ ว่าเป็นภาพประกอบจากภาพวัดอรุณกับภาพดวงจันทร์ที่ถ่ายแยกกัน แต่กระนั้นแล้วข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้บอกว่าองค์ประกอบที่แต่งขึ้นนั้นมีมากแค่ไหน

แต่ภาพนี้สังเกตเพียงเล็กน้อยก็บอกได้ง่าย ๆ ครับว่าดวงจันทร์ที่อยู่ตรงนั้นมัน "ตัดต่อชัด ๆ"

ที่ง่ายที่สุดก็คือ ข้อมูล EXIF ในภาพระบุเวลาถ่ายว่า 21:53 วันที่ 06/06/2009 ใครที่มีความสนใจดาราศาสตร์แม้เพียงเล็กน้อยคงบอกได้ว่าดวงจันทร์ (เกือบ) เต็มดวงแบบนี้ ไม่มาอยู่ริมขอบฟ้าเวลานี้หรอกครับ ต่อให้ตั้งเวลากล้องผิด ดวงจันทร์ที่เกือบเต็มดวงจะมาอยู่ใกล้ขอบฟ้าตะวันตก (คงทราบกันว่าวัดอรุณตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก) ก็ต้องเช้ามืดเกือบรุ่งแล้ว ถึงผมจะไม่มั่นใจว่าวัดอรุณคงไม่ได้เปิดไฟส่องพระปรางค์ทิ้งไว้ทั้งคืน แต่ผมก็ค่อนข้างแน่ใจว่าบาร์ Amorosa ที่ Arun Residence คงไม่ได้เปิดโต้รุ่งแน่ ๆ

นอกไปจากนั้น ดวงจันทร์ในภาพนั้นยังกลับหัวอีกด้วย จะเห็นได้ว่าถูกหมุน 180° จนขั้วเหนือหันไปทางใต้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจถ้าจะเดาว่าเป็นเพราะภาพถูกถ่ายเมื่อดวงจันทร์ยังอยู่ในซีกฟ้าตะวันออก แต่ที่น่าแปลกใจกว่าคือ นั่นแปลว่าเงาดวงจันทร์ที่เห็นนั้นไม่ใช่เงาข้างขึ้นประมาณ 14 ค่ำ (ซึ่งตรงกับวันที่ถ่ายภาพ) แต่เป็นเงาข้างแรมประมาณ 1 ค่ำ! แสดงว่าดวงจันทร์ในภาพ ไม่ใช่แค่ถ่ายจากคนละชั่วยาม แต่ถ่ายจากคนละเดือนกันทีเดียว

โอเค งั้นเจ้าของภาพอาจจะใช้เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานมากพอควร แต่นั่นก็ไม่ได้บอกว่าภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จริง หรือเปล่า? ถ้าเราลองเทียบข้อมูลตำแหน่งดวงจันทร์ (จากหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐฯ) เมื่อเช้ามืดวันที่ 07/06/2009 ณ ระดับความสูงเชิงมุมประมาณ arctan(290/480*80/275) ≈ 10° (เทียบจากความสูงของพระปรางค์ประมาณ 80 m และระยะแนวราบจากกึ่งกลางพระปรางค์ถึง Amorosa ประมาณ 275 m) จะเห็นว่าเวลา 04:15 ดวงจันทร์อยู่ที่ตำแหน่งแอซิมัทประมาณ 240° ซึ่งต่างจากประมาณ 235° ที่เห็นในภาพนิดเดียว แปลว่าอาจจะมีคืนอื่นที่ดวงจันทร์ตกผ่านตำแหน่งนี้พอดีก็ได้ (แต่จริง ๆ แล้วในเช้ามืดวันที่ 7 มิ.ย. ดวงจันทร์จะตกผ่านหลังพระปรางค์องค์ประธานเกือบพอดี)

ถ้าอย่างนั้นแล้วสิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุดในภาพ คือขนาดของดวงจันทร์ล่ะ ถ้าพระจันทร์วันเพ็ญตกข้างพระปรางค์วัดอรุณแบบในภาพจริง ๆ เราจะเห็นดวงจันทร์ใหญ่ขนาดนั้นหรือเปล่า? ถ้าลองเทียบขนาดด้วยวิธีเดียวกันข้างต้น จะได้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมของดวงจันทร์ประมาณ arctan(96/480*80/275) ≈ 3.33°

อนิจจา ช่างมากเกินกว่าขนาดเชิงมุมของดวงจันทร์ประมาณ 30′ (ครึ่งองศา) ไปกว่า 6 เท่า สรุปได้ง่าย ๆ ว่าดวงจันทร์ที่เห็นในภาพ ถูกขยายให้ใหญ่เกินจริงไปมากครับ

อันที่จริงมีวิธีเทียบที่ง่ายกว่านี้มาก เพราะขนาดเชิงมุมของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์นั้นใกล้เคียงกัน ลองสืบค้น Google ด้วยคำค้น Wat Arun sunset จะพบภาพดวงอาทิตย์ตกใกล้พระปรางค์วัดอรุณหลายภาพ นั่นแหละครับ คือขนาดที่แท้จริงของดวงจันทร์เทียบกับพระปรางค์ ที่จะมีโอกาสได้เห็น

ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ศิลปินย่อมมีโอกาสใช้เทคนิคในการสร้างผลงานได้หลากหลาย แต่บางครั้ง เมื่อได้รู้ว่าสิ่งที่เห็นในผลงานนั้นมีต้นกำเนิดแต่ในจินตนาการของศิลปิน หาได้มีอยู่ในธรรมชาติไม่ เราก็แอบอดที่จะรู้สึกผิดหวังเล็ก ๆ ไม่ได้ แม้ว่าสุนทรียภาพของตัวงานนั้นเองจะไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด

Edited 2013-03-11: กว่า 6 เท่า ไม่ใช่ 7 เท่า