26 December 2014

Remembering the Tsunami

เอ็นทรีนี้ดัดแปลงจากโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปีที่แล้ว

31 ธันวาคม 10 ปีที่แล้ว...

อาคารศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติหลังเก่าเนืองแน่นด้วยผู้คน ทั้งผู้มาบริจาคโลหิต เจ้าหน้าที่ และบรรดาอาสาสมัครที่มาช่วยงาน ในจำนวนเหล่านั้น นิสิตแพทย์หลายสิบคนกระจายตัวปฏิบัติงานกันอยู่ในหลายส่วน ตั้งแต่ส่วนรับบริจาคโลหิต ที่ต้องเพิ่มเตียงขยายพื้นที่ออกมาหลายห้อง จนถึงห้องปฏิบัติการด้านหลัง โดยยังไม่รวมถึงคนอื่นที่ไปช่วยงานอยู่ที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ซึ่งอยู่ห่างไปไม่มากนัก

บรรยากาศเต็มไปด้วยน้ำใจยินดี แม้จะรองด้วยอารมณ์วิตกเศร้าและหดหู่ เพราะบัดนี้ทุกคนรู้แล้วถึงความเลวร้ายของสถานการณ์ แต่อย่างไรเสียต่างคนก็ยังหยิบยื่นกำลังใจส่งต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่าอย่างไรเสียคนไทยก็ไม่ทิ้งกัน

ในห้องประชาสัมพันธ์ นิสิตคนหนึ่งนั่งต่อสายโทรศัพท์อยู่แยกจากเพื่อนคนอื่น ๆ เพื่อพยายามติดต่อและเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตรายเก่าที่มีเลือดหมู่ Rh− ซึ่งกำลังขาดแคลนมากที่สุด เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ เพราะหมู่เลือดนี้พบน้อยมากในคนเอเชีย คนที่ติดต่อได้สำเร็จมีไม่มากนัก แต่อย่างไรเสียได้บ้างก็คงดีกว่าไม่ได้เลย

แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ฟังเรื่องราวของเขาแล้วก็แทบไม่กล้าที่จะเอ่ยขออะไรอีก เขาบอกผ่านโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงอิดโรยว่าไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ และออกตัวขอโทษว่าคงยังไม่สามารถไปบริจาคเลือดได้ตอนนี้เพราะสภาพร่างกายไม่ไหวจริง ๆ ทั้งนี้สามวันที่ผ่านมาเขาไปตามหาเพื่อนที่หายไปในเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ทั้งตามโรงพยาบาลและที่ปฏิบัติการภาคสนามซึ่งถูกใช้เป็นที่เก็บศพชั่วคราวทั้งหลาย แต่ก็ไม่พบอย่างใด และเห็นทีคงจะไม่มีความหวังแล้ว

คนฟังได้แต่ตอบกลับไปว่าไม่เป็นไร ขอโทษที่รบกวน และขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้ ก่อนที่จะวางสาย ความหนักอึ้งของเรื่องราวที่ได้ฟังค่อย ๆ จมลงในห้วงความคิด พลางตระหนักว่าความโหดร้ายของเหตุการณ์นั้นไม่ได้มาจากยอดตัวเลขความสูญเสียแต่อย่างใด หากแต่ตัวเลขนั้นคือจำนวนทุกเรื่องราวความสูญเสียซึ่งสำหรับแต่ละคนที่ประสบย่อมไม่สามารถเทียบกับอะไรอื่นได้

สำหรับคนที่กำลังประสบกับความสูญเสียเหล่านั้น เราคงได้แต่หวังว่ากำลังใจที่ส่งให้กัน จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยเป็นแรงให้เขาได้ก้าวเดินต่อไป

ภาพนี้ถ่ายบริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากคลื่นสึนามิ แม้เวลาจะล่วงเลยไป และสภาพชายหาดและบ้านเรือนได้กลับสู่ปกตินานแล้ว บาดแผลในวันนั้นก็ยังทิ้งร่องรอยอยู่ในใจของทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความสูญเสียที่ต้องยอมรับ หรือความจริงของชีวิตที่ได้เรียนรู้ ทุกอย่างต่างเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีค่า ที่ควรเก็บไว้และถ่ายทอดต่อไป

ดั่งเช่นป้ายเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยซึ่งบัดนี้ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ตลอดแนวชายหาด จะเป็นเครื่องเตือนถึงบทเรียน และยืนยันกับอนาคตว่าความเจ็บปวดที่เราประสบในวันนั้นจะไม่สูญเปล่า


ขอเพียงอย่าล้อมคอกแล้วเปิดประตูทิ้งไว้

คงจะดีหากเราจะมีน้ำใจให้กันได้ไม่เฉพาะยามภัยพิบัติแต่ทุกเวลา

31 October 2014

Dumb Ways to Die?

ไม่กี่วันวันที่ผ่านมานี้มีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์หรือรถบรรทุก อันก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอยู่หลายเหตุการณ์ ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่พอควร

ในบรรดาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น หลายเสียงก็กล่าวกันถึงสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว บ้างก็โทษว่าเป็นเพราะความประมาทของผู้ใช้ถนน บ้างก็โทษว่าเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยตามที่ควร บ้างก็โทษกันไปมาว่าการดำเนินการนั้นเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่ บ้างก็โทษว่าเพราะสังคมนั่นแหละที่ทำให้ความประมาทนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ

อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเศร้าครับ แต่การเถียงกันโดยมุ่งชี้นิ้วโทษว่าเป็นความผิดของใคร คงไม่ช่วยแก้ไขความสูญเสียเหล่านั้นให้ย้อนคืนไปได้ สิ่งที่เราควรจะทำ คือมองด้วยเหตุผลว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุบัติเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง และจะปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดในอนาคตอีกได้อย่างไร

ซึ่งสำหรับเรื่องความปลอดภัยรถไฟนี้ มีมุมให้มองหลัก ๆ อยู่สองด้านครับ

หากมองถึงปัจจัยจากมนุษย์ ว่าการกระทำของใครบ้างที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับว่าตัวผู้ใช้รถใช้ถนนนั้นเอง ที่มีผลมากที่สุด เพราะด้วยความเฉื่อยของรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่และธรรมชาติของระบบการควบคุม มันไม่มีอะไรให้ผู้ควบคุมรถไฟทำเพื่อแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเช่นนั้นได้ ผู้ใช้รถใช้ถนนย่อมต้องระวังไม่ให้ตนไปอยู่ในทางของรถไฟที่กำลังแล่นมา ทั้งนี้โดยต้องระวังรถไฟ รักษากฎจราจร และสัญจรโดยไม่ประมาท

แนวคิดที่ว่าการป้องกันอุบัติเหตุรถไฟชนต้องเน้นที่ตัวผู้สัญจรนี้เป็นแนวคิดที่อุตสาหกรรมรถไฟยึดกันอยู่เป็นหลัก วิดีโอ Dumb Ways to Die ข้างต้น ก็เป็นหนึ่งในสื่อโฆษณาที่มุ่งรณรงค์ให้ผู้คนระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้รถไฟ โดยยกตัวอย่างการกระทำที่เห็นได้ชัดเจนว่าอันตราย คือยืนชิดริมขอบชานชาลา ขับรถฝ่าคันกั้น และวิ่งไล่ลูกโป่งข้ามรางโดยไม่มองรถไฟ ใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความประมาทว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ และด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ ก็กลายเป็นโฆษณารณรงค์ที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง และได้รับรางวัลไปมากมาย

แต่อีกนัยหนึ่ง การรณรงค์ในลักษณะนี้ก็มองได้ว่าเป็นการโยนความผิดให้เหยื่อ (blaming the victim) เช่นกัน ใครที่เคยสูญเสียสมาชิกครอบครัวให้อุบัติเหตุรถไฟ คงไม่สบายใจเท่าไรกับโฆษณาชิ้นนี้ ที่เปรียบความตายของญาติเขาเหมือนคนเอาของลับไปเป็นเหยื่อล่อปลาปิรันยา ไม่ใช่เพียงเพราะกล่าวถึงความตายอย่างล้อเล่น แต่ผู้ที่เป็นเหยื่ออุบัติเหตุ คงไม่มีใครที่ตั้งใจเอาตัวเองไปไว้ในสถานการณ์นั้น การโทษว่าเป็นเพราะเขาทำตัวเองก็คงไม่ต่างจากการโทษเรื่องข่มขืนว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่แต่งตัวโป๊เท่าไรนัก

ในประเทศตะวันตก ขณะที่อุตสาหกรรมรถไฟมุ่งรณรงค์เน้นเรื่องการเคารพกฎ ระมัดระวัง และไม่ประมาทนั้น ก็มีองค์การและเครือข่ายภาคประชาชนที่เรียกร้องว่าสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของบุคคลใด แต่คือความล้มเหลวของระบบที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างเพียงพอ แทนที่จะบอกแต่ให้คนยืนห่างขอบชานชาลา (ซึ่งบางครั้งอาจทำไม่ได้เพราะพื้นที่เบียดเสียดกันมาก) ทำไมไม่ทำประตูกั้นไปเสียเลย แทนที่จะคอยเตือนให้ระวังเวลาข้ามทางรถไฟ ทำไม่ไม่ทำสะพานลอยข้ามจะได้ปลอดภัย ในมุมมองนี้ การที่รถยนต์ยังสามารถตัดข้ามทางในขณะที่รถไฟกำลังจะผ่านได้ เกิดจากความผิดพลาดของระบบที่ไม่มีเครื่องกั้น การที่รถไฟยังมีโอกาสชนคนที่เดินอยู่ริมทางได้ เป็นความผิดพลาดของระบบที่ไม่มีรั้วกันคน

มุมมองนี้ หากถืออย่างสุดโต่งก็อาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีกฎห้าม มีอุปกรณ์นิรภัย แต่คนยังฝ่าฝืนได้ ก็ต้องถือว่าระบบยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะระบบที่ดีจะต้องไม่มีสิ่งจูงใจให้คนฝ่าฝืน ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่ปล่อยให้คนสามารถฝ่าฝืนกฎที่มีเพื่อความปลอดภัยได้เป็นปกติ หากคนนิยมข้ามทางรถไฟบริเวณที่ไม่ได้กำหนดให้ข้าม แสดงว่าคนมีความจำเป็นต้องข้ามบริเวณนั้น ก็ต้องจัดทำทางข้ามที่ปลอดภัย หากคนเดินฝ่าเครื่องกั้นทางรถไฟได้ แสดงว่าเครื่องกั้นนั้นยังไม่ปลอดภัย ก็ต้องออกแบบใหม่

หากการรณรงค์ว่าตายจากรถไฟชนนั้นโง่ไม่เข้าท่าเป็นการโยนความผิดให้เหยื่อ การเรียกร้องให้มีระบบที่ปลอดภัยทางกายภาพ 100% ก็เป็นการโบ้ยความรับผิดชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกแนวทางใดแนวทางเดียว ด้านหนึ่งจะบอกให้ทุกคนต้องระวังรถไฟตลอดเวลาก็คงพ้นวิสัยที่สังคมมนุษย์จะทำได้ อีกด้านหนึ่งจะสร้างรั้วกั้นเลียบตลอดแนวทางรถไฟทั่วทั้งประเทศก็คงไม่รู้จะหาเงินได้จากไหน แต่ทั้งคู่เป็นปัจจัยที่สังคมจะต้องร่วมกันส่งเสริมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย คนก็ต้องไม่ประมาทและเคารพกฎ ส่วนระบบก็ต้องมีอุปกรณ์นิรภัยที่เหมาะสมในที่ที่ควรจะมี

หากหาจุดร่วมระหว่างสองข้อนี้และทำตามได้ ก็คงมีหวังที่เราจะไม่ต้องมาคอยวิพากษ์วิจารณ์ข่าวอุบัติเหตุเหล่านี้กันอีกในอนาคตสักวัน

22 June 2014

Review: Sex วัยรุ่น เลือกได้ @ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

ด้วยว่าในงานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) กับนิทรรศการหมุนเวียน เซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้ ก็ว่าอยากจะไปลองเยี่ยมชมอยู่ พอดีว่ากำหนดการจัดนิทรรศการมีถึงวันนี้ (21 มิ.ย.) เป็นวันสุดท้าย ก็เลยได้หาเรื่องไปเสียที

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะนี่เป็นอาคารสำนักงานของ สสส. ที่ทำเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมและแสดงนิทรรศการ ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เป็นกิจกรรมและนิทรรศการของ สสส. และพื้นที่ที่เปิดให้หน่วยงานอื่นสามารถเข้ามาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพด้วย

ศูนย์ฯ อยู่ในซอยงามดูพลี แถวสาทร ซึ่งเข้าไปลึกพอสมควร มีรถกอล์ฟบริการรับส่งปากซอย แต่ก็ยังแอบไปยากอยู่

สิ่งแรกที่สัมผัสได้กับอาคารหลังนี้คือรูปลักษณ์ที่ตะโกนกู่ก้องมาก ๆ ว่าฉันเป็น green building นะ! อันนี้ที่จริงก็พอจะอ่านผ่านตามาก่อน แต่ถึงไม่ได้อ่านก็คงรู้สึกได้จากโถงชั้นล่างที่เปิดโล่งต่อกับพื้นที่ส่วนกลางของอาคารทั้งหมด ซึ่งก็ให้ความรู้สึกโอ่โถงโล่งสบายจริง ๆ

รูปลักษณ์การออกแบบของอาคารก็คล้อยตามกระแสการออกแบบอาคารเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในยุค Contemporary ซึ่งก็ตอกย้ำด้วยประติมากรรมยักษ์กลางสระน้ำในโถง และที่ตั้งอยู่อีกประปราย ตลอดจนการจัดวางโต๊ะเก้าอี้เครื่องเรือนต่าง ๆ

ทางด้านหลังของอาคารเป็นสวนและพื้นที่โล่งซึ่งใช้สอยจัดกิจกรรมได้ ตอนนี้ก็มีนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับกลุ่มโรค NCD ที่ สสส.รณรงค์อยู่ และพ้นเขตศูนย์ฯ ไปทางด้านหลังก็เป็นสวนสาธารณะ (สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งเป็นสนามไดรฟ์กอล์ฟมาก่อน และตอนกลางวันร้อนมาก) ตรงนี้รู้สึกว่าบรรยากาศดีมาก และการออกแบบอาคารก็ดีจริง ๆ ถึงพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ไม่ร้อนเลย

มีเครื่องตอกย้ำให้เห็นอยู่เกือบทุกที่ ว่าใครเป็นเจ้าของอาคารหลังนี้

จะเห็นการรณรงค์ต่าง ๆ ของ สสส.อยู่ทั่วตึก

และก็แน่นอนว่าลิฟต์ที่นี่จะต้องมีข้อความไล่ไม่ให้คนใช้ (ภาพด้านบนถ่ายไม่ติดสัญลักษณ์ที่สื่อเป็นนัยว่าลิฟต์มีไว้สำหรับคนชราและผู้พิการ)

และทั้งตึกก็มีข้อความประเภท encouragement, empowerment แปะอยู่เต็มไปหมด ตรงบันไดภาพข้างบนนี้ก็เป็นการรณรงค์เรื่องกลุ่มโรค NCD อีกเช่นกัน

หรืออย่างโรงอาหาร ก็มีป้ายรณรงค์ "ลดพุง ลดโรค" อยู่

สื่อเหล่านี้ช่วยตอกย้ำการวางตัวของ สสส.ได้เป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่านอกจากการแสดงภาพให้เห็นตรงนี้แล้ว ข้อความเหล่านี้มันส่งผ่านไปถึงการปฏิบัติจริงมากแค่ไหน อย่างโรงอาหารถึงจะมีร้านมังสวิรัติอยู่ แต่ร้านส่วนใหญ่ก็ขายอาหารตามสั่ง ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ก็มักจะใช้น้ำมันอยู่ดี หรืออย่างข้อความหน้าลิฟต์นั้น ผมก็อยากรู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ชั้น 4 ชั้น 5 เขาขึ้นบันไดกันเป็นนิสัยจริงหรือเปล่า (ซึ่งก็หวังว่าเขาจะทำ เพราะไม่งั้นแล้วก็ยากที่จะเชื่อว่า สสส.จะมีหน้าไปรณรงค์อะไรให้ใครอีก)

สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ ที่ชวนให้สนใจ ก็มีอย่างป้ายผังตึก ที่มีอักษรเบรลล์ด้วย (เห็นแล้วชอบ แต่ไม่แน่ใจว่า practical แค่ไหน)

และถ้าใครยังไม่เห็นความ green ของอาคารหลังนี้ เขาก็ทำจอแสดงการใช้พลังงานแปะไว้ตอกย้ำอีก (แต่จอนี่ก็ใช้พลังงานนี่นา)

ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการ บริการหลักอย่างหนึ่งของที่นี่อยู่ที่ชั้น 2 คือศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร เป็นห้องสมุดที่บรรยากาศดีโคตร ๆ ซึ่งให้บริการสื่อเกี่ยวกับสุขภาวะอีกนั่นเอง บริเวณชั้น 2–3 ที่เหลือที่ไม่ได้เป็นพื้นที่นิทรรศการ ก็จะเป็นห้องประชุม ห้องอบรมต่าง ๆ

แต่มาดูนิทรรศการกันดีกว่า เริ่มจากทางเข้าบริเวณชั้น 1 จะเป็นนิทรรศการ "เริ่มต้นที่ตัวเราคุณทำได้ (Start with ME)"

ซึ่งเนื้อหาก็จะกว้าง ๆ เกี่ยวกับ self-empowerment เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความสุข ซึ่งการสร้างสุข (ก็คือสุขภาวะ ทั้งกาย ใจ และสังคม) นี่เองก็เป็นแนวคิดหลักของนิทรรศการทั้งหมดที่นี่

นิทรรศการในส่วนนี้ก็จะมีการใช้ถ้อยคำ ข้อความ ตั้งคำถาม บวกกับฉายภาพยนตร์สารคดีแนวสร้างแรงบันดาลใจสั้น ๆ สองเรื่อง

จากห้องแรก ลงบันไดมาชั้นใต้ดิน จะถึงนิทรรศการส่วนถัดมา คือ "ร่วมคิดร่วมสร้าง (Together WE can)"

เนื้อหาก็จะกว้าง ๆ เหมือนกัน เกี่ยวกับการทำสังคมให้น่าอยู่ มีความสุข โดยเริ่มต้นที่ตัวบุคคล ซึ่งเสนอผ่านเกมคอมพิวเตอร์

ในนิทรรศการส่วนนี้มีฉากป้ายรถเมล์ ถังแยกขยะ กับเลนจักรยาน ที่จัดตั้งไว้เงียบ ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไรแต่ผมแอบคิดว่าตีความได้เยอะมาก

และเลยต่อมาก็จะเป็นส่วนที่นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ในสังคม กับงานรณรงค์สร้างสุขภาวะต่าง ๆ ของ สสส. ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องสุขภาพกาย

ซึ่งก็จะมีฉากต่าง ๆ ทั้งที่บ้าน สวนสาธารณะ ที่ทำงาน โรงเรียน แล้วก็ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)

แต่ละส่วนก็จะมีจอภาพให้เลือกดูงานโฆษณาทางโทรทัศน์ของ สสส.ได้

แล้วก็มีพื้นที่กิจกรรมเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร

ที่ชั้นใต้ดินเหมือนกัน ห้องที่สามจะเป็นนิทรรศการ "คนมีสุขภาวะทำให้โลกน่าอยู่ (Let's go GREEN)"

ซึ่งห้องนี้จะเป็นโถงโล่งกว้าง สำหรับทำกิจกรรม วันนี้ก็เห็นมีเด็ก ๆ ทำกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากพาสต้าอยู่บ้าง ส่วนนิทรรศการจะเป็นข้อความกับจอภาพ interactive เรียงรายอยู่ตามผนังรอบห้อง

เนื้อหาของนิทรรศการส่วนนี้ก็จะเกี่ยวกับที่มาและแนวคิดของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแห่งนี้ (ถ้าอยากรู้เรื่องความ green ของอาคารก็ได้รู้เต็มที่เลย) ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม

หมดส่วนของนิทรรศการถาวรสามห้อง ขึ้นมาชั้นสองจะเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน

ซึ่งด้านหน้าจะมีนิทรรศการเล็ก ๆ เรื่อง "สสส.ร้อยความสุขคนไทย" เป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวองค์กรและงานของ สสส.

แต่มาดูนิทรรศการหมุนเวียน ที่เป็นวัตถุประสงค์หลักที่มาวันนี้ดีกว่าครับ

นิทรรศการ "เซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้" ตรงนี้ จากโลโก้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าที่ว่าเลือกได้นั้นหมายถึงอะไร สรุปเป็นสี่ข้อคือ "ติดโรค" "มีลูก" "ใส่ถุงยาง" กับ "รักแล้วรอได้" ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอในนิทรรศการก็มุ่งเน้นประเด็นตรงนี้ คือนำเสนอความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กับเสนอทางเลือกเป็น safe sex กับ no sex

ตัวนิทรรศการ ออกแบบมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยดำเนินเรื่องบางส่วนผ่านตัวละคร นิทรรศการนี้มีเจ้าหน้าที่พาชมและอธิบายสิ่งจัดแสดงทุกขั้นตอน ซึ่งดูตั้งใจรองรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะ

ส่วนแรกของนิทรรศการ "รู้ตัว" จะกล่าวคร่าว ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยรุ่น เดินเข้ามาก็จะเจอตัวละครหลักทั้งคู่ตอบคำถามที่วัยรุ่นอาจจะสงสัยแต่ไม่กล้าถาม ในรูปแบบของ interactive video ลองสังเกตคำถามขวาสุดในภาพ "ช่วยตัวเอง ผิดมั้ย" (คำตอบ: ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนสักหน่อย)

ไม่ค่อยแน่ใจว่าสมาชิกกลุ่มเป้าหมายที่มาชมนิทรรศการจะเขินอายคิกคักกันกับคำถามเมื่อกี้หรือเปล่า แต่หันมาอีกทางก็จะโดนเผชิญหน้าเต็ม ๆ กับหุ่นติดนมปลอม/จู๋ปลอม ที่ให้ลองเลือกขนาดต่าง ๆ เอามาใส่ได้ นัยจะสื่อว่าร่างกายของเราไม่มีอะไรน่าอาย เช่นเดียวกับที่ห้ามใครอายในนิทรรศการนี้

และก่อนที่จะผ่านไปยังส่วนถัดไป ก็สรุปประเด็นที่ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร "หลั่งเมื่อไหร่ ท้องได้เมื่อนั้น"

ส่วนที่สอง "รู้อารมณ์" นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยรุ่น โดยเฉพาะความสนใจในเพศตรงข้าม (หรือเพศไหนก็แล้วแต่) ผ่านวิดีโอสถานการณ์ของตัวละคร

ส่วนที่สาม "รู้รัก" พูดถึงความรู้สึก ความต้องการทางเพศ ตลอดจนเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ (มั้ง เดาเอา พอดีเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดห้องนิทรรศการให้ห้องนึง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม)

และก็แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในนิทรรศการเรื่องเพศสำหรับวัยรุ่น คือการลองใส่ถุงยางอนามัย

ซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญ คือการตั้งครรภ์ (มีชุดครรภ์เทียมให้ลองใส่ด้วย ว่าช่วงใกล้ครบกำหนดเด็กในท้องหนักขนาดไหน พร้อมชุดคลุมให้ถ่ายรูป)...

...และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

และนิทรรศการก็ปิดด้วยส่วนที่สี่ รู้ใจ ซึ่งก็ชวนให้ถามใจถึงความฝัน ความเป็นตัวตนของแต่ละคน เพื่อเป็นเครื่องช่วยนำให้เลือกทางเดินที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง พร้อมกับชวนให้ร้องเพลงแสงสุดท้ายกับเพื่อน ๆ ในวิดีโอก่อนจะจบนิทรรศการ

สรุปก็คือ โดยแก่นแล้วสิ่งตายตัวที่นิทรรศการนี้บอกก็มีเพียงตามตัวเลือกที่กล่าวตอนต้นจริง ๆ คือบอกให้ตระหนักเรื่องท้อง เรื่องโรคติดต่อ และย้ำให้ตระหนักว่าตนสามารถเลือกระหว่างความเสี่ยงเหล่านั้น กับการป้องกันหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ ผู้จัดนิทรรศการคงตั้งใจทิ้งประเด็นอื่น ๆ ไว้ให้เป็นปลายเปิด ทั้งสำหรับให้ผู้เข้าชมได้ใช้ความคิดเอง หรืออภิปรายร่วมกันโดยมีผู้นำชมคอยชี้แนะ

รูปแบบการจัดนิทรรศการนั้นดีทีเดียว มี interactivity และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจและช่วยเปิดให้พูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าชมกับผู้นำชมนิทรรศการด้วย ทุกนิทรรศการที่ชม จัดทำเนื้อหาในส่วนของป้ายบรรยายเป็นภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าช่วยสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแค่ไหน

ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ผมเห็น สำหรับนิทรรศการเซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้ คือความยากในการเข้าถึง (สถานที่จัด) กล่าวคือ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเนี่ยมันมาโคตรยาก นึกแล้วไม่เห็นโอกาสว่าเด็กวัยรุ่นที่กลุ่มเป้าหมายจะมีโอกาสชมนิทรรศการได้ยังไงถ้าโรงเรียนไม่พามา ตัวนิทรรศการนั้นโอเคแล้ว แต่น่าจะมี outreach มากกว่านี้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส.ควรจะถนัดอยู่แล้ว) ผมไม่แน่ใจว่าทาง สสส.มีนโยบายที่จะทำอยู่หรือเปล่า แต่ผมอยากเห็นการนำนิทรรศการนี้ (หรือนิทรรศการอื่น ๆ ก็ตาม) ไปจัดในที่ที่จะมีโอกาสได้สัมผัสกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งน่าจะช่วยให้สนองวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก


25 May 2014

รำพึงรำพัน เรื่องรัฐประหาร

คำชี้แจง: เนื้อความในเอ็นทรีนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย การกล่าวถึงรัฐประหารใด ๆ ในเอ็นทรีนี้หมายเฉพาะถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือกล่าวลอย ๆ ถึงกรณีทั่วไปเท่านั้น ความทั้งหมดในเอ็นทรีนี้ ไม่มีส่วนใดที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 แต่อย่างใด และไม่ได้พาดพิงถึง คสช.หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น

ขอพักซีรีส์ Standing in line มาพร่ำเพ้ออะไรสักเล็กน้อยนะครับ

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงรัฐประหารก็ต้องมีคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

คิดดูก็แปลกดี ถ้าเป็นสมัยก่อน (ก่อนปี 2005) คงไม่มีใครคิดว่าจะต้องตอบคำถามนี้

แม้ในปัจจุบัน เวลาเห็นคนบอกว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาเช่นนี้ ก็ยังพอเข้าใจ

แต่ที่ช่างเข้าใจยากนัก คือคนที่เรียกร้องรัฐประหารกันอย่างเต็มปากเต็มคำ

ก็คงเหมือนกับที่คนไปมอบดอกไม้ให้ทหารเมื่อปี 2006

ชีวิตของเราคงแตกต่างกันนัก จึงพามาให้มองเห็นโลกเบี้ยว ๆ นี้ได้ต่างกันขนาดนี้

ที่จริงถ้าถามคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น หลายคนคงให้คำตอบที่เป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับเสรีภาพ การกดขี่ ความชั่วร้ายของเผด็จการ ฯลฯ

ถ้ามีคนถาม ผมก็อาจจะกล้อมแกล้มตอบไปในทำนองเดียวกัน

แต่ในความจริงแล้วคำตอบลึก ๆ ในใจคงไม่มีเหตุมีผลแบบนั้น

...

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กโตมาในทศวรรษ 1990s

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กตามพ่อแม่ไปเขตเลือกตั้ง ดูเขานับคะแนนในจอโทรทัศน์

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กดูถ่ายทอด ส.ส.อภิปรายปาหี่กันในสภา (ถึงมันจะดูไร้สาระกว่าละครน้ำเน่าก็เถอะ) ดูเขาตั้งรัฐบาลกับยุบสภาสลับกันไปมา จนเห็นมีรัฐบาลพลเรือนผลัดเปลี่ยนกันไปห้าสมัยในสิบปี ซึ่งน่าจะเป็นสถิติต่อเนื่องนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้แล้วมั้ง

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กฟังผู้ใหญ่พร่ำสอนถึงความงามของประชาธิปไตย ถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยที่กำลังเติบโตทางการเมืองจนกลายเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงบทเรียนอันเจ็บปวดครั้งสุดท้ายที่เราได้เรียนเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1992

บทเรียนที่ผมเองยังคงจำได้...

อันที่จริงเมื่อคราวพฤษภาทมิฬนั้นผมคงยังไม่รู้เรื่องหรอก ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะก็อยู่ในวัยเพิ่งเข้าโรงเรียน

แต่ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ที่น่ากลัวเกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ น่ากลัวจนโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอม น่ากลัวอย่างที่เห็นภาพท้องฟ้าเต็มไปด้วยควันทะมึน น่ากลัวอย่างที่มีคนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย

ตอนนั้นผมคงยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าความตายคืออะไร

แต่เรื่องราวของข่าวเหล่านั้นก็กลายเป็นหนึ่งในความทรงจำแรก ๆ ที่ผมมี เกี่ยวกับความเป็นไปของประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้

และค่านิยมและความเชื่อที่เกิดสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผมได้รับปลูกฝังมาดั่งศรัทธาในศาสนา ว่าทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ว่าการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยทหารนั้นจะนำพาให้ประเทศชาติย่อยยับ ดั่งที่ได้เห็นกันมาแล้ว

ครับ มุมมองของผมที่มีต่อรัฐประหาร แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา เช่นเดียวกับที่ถูกสอนให้เคารพผู้ใหญ่ หรือถูกสอนว่าคนไทยต้องรักในหลวง

แต่คำสอนเหล่านี้ก็ชี้นำชีวิตเรามาตลอด

ผมยังจำเพลงรณรงค์เลือกตั้งปี 1992 นั้นได้

วันที่ 13 กันยายน
เราทุกคนจะไปเลือกตั้ง
ใช้สิทธิ์ของเราอีกครั้ง
เลือกคนดีเข้าสภา ♪

อาจจะไม่ทรงพลังเหมือน “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ” แต่สำหรับผมแล้วเพลงนี้เหมือนเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังทางการเมืองที่กำลังจะสดใสขึ้นแทบไม่ต่างกัน

แต่เหมือนท้องฟ้าสีทองที่ผ่องอยู่ได้ไม่ถึงสามปี ก็คงรู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้น

รัฐประหารเมื่อปี 2006 นั้น ถึงจะไม่เสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับผมมันก็ช่างน่าตกใจ และสะเทือนใจไปมากทีเดียว

เป็น a nasty shock ที่ดึงให้เราต้องมาประจักษ์กับความจริงว่าสิบสี่ปีที่ผ่านมา ทหารไม่ได้หายไปไหนเลย

เป็นการทำลายความฝัน ที่เราเคยวาดไว้ว่าอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแบบนี้แล้ว

และที่เจ็บช้ำไปกว่านั้น คือภาพคนมากมาย ที่ออกมามอบดอกไม้ให้ทหารด้วยน้ำใจยินดี

ตกลงความเลวร้ายของเผด็จการทหารที่เคยถูกสอนมา มันไม่จริงอย่างนั้นหรือ?

สิบสี่ปีที่ผ่านมานั้นคือเราเข้าใจผิดมาตลอด?

หรือคนเหล่านั้นเขาเพียงแค่ลืม ในสิ่งที่เรายังจำ?

ผมอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจความเลวร้ายของสังคมมนุษย์ ที่บังคับให้เราต้องยอมรับอะไรเช่นนี้

ผมอาจจะยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีตมากเกินไป จนไม่ทันเห็นว่าโลกหมุนผ่านไปจนอดีตเหล่านั้นมันไม่จริงแล้ว

ผมอาจจะหลงผิด อยู่กับความเชื่อที่ถูกสั่งสอนมาโดยไม่ได้นึกถึงเหตุผล

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อย่างน้อยก็ช่วยบอกกันให้เข้าใจหน่อยได้ไหม

ว่าทำไมจึงร้องหา

รัฐประหาร

17 May 2014

Standing in line (2): Order v discipline

บทความที่แล้วเปิดซีรีส์ไปด้วยการบ่นระบบทหาร ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ดูเป็นเรื่องที่จะต้องเดือดร้อนด้วยเท่าไร ตราบที่ทหารยังอยู่ส่วนทหาร (และไม่คำนึงว่ามีกฎหมายบังคับให้รับราชการทหารอยู่) ความงี่เง่าของระบบเหล่านั้นก็ไม่น่ากระทบอะไรกับประชาชนพลเรือนทั่วไป

แต่เรื่องของเรื่องคือ ระบบเหล่านั้นมันไม่ได้จำกัดขอบเขตตัวเอง วันนี้จะขอพาเข้าประเด็นหลักโดยยกพาดหัวรองจากบทความ The New York Times เมื่อ พ.ค.ที่แล้ว ที่เคยอ้างถึงในเอ็นทรี หัวเกรียน? ชุดนักเรียน?

In Thailand’s Schools, Vestiges of Military Rule

ประเด็นที่อยากจะอภิปรายวันนี้ คือองค์ประกอบของระบบทหารที่เราต่างพบเห็นกันเป็นประจำในพื้นที่สถาบันการศึกษาไทย หรือ “school regimentation” ที่กล่าวถึงในชื่อบทความดังกล่าวนั่นเอง

ผมคงไม่ขอร่วมวิเคราะห์ว่าธรรมเนียมการเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่งเครื่องแบบ ตัดผมสั้น เชื่อฟังคำสั่งครู ฯลฯ ในโรงเรียนนั้นมีที่มาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไรหรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมเนียมเหล่านี้ได้ฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังคงแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

และด้วยความฝังลึกนี้ ทุกครั้งที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าว เราก็มักได้เห็นการอภิปรายถกเถียงเป็นวงกว้าง ทั้งในสื่อมวลชนและชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ และก็ไม่พ้นที่จะต้องได้เห็นข้อสนับสนุนที่ว่าธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ล้วนสำคัญ เพราะเป็นการปลูกฝังระเบียบวินัยให้เยาวชนได้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต

ที่บทถกเถียงเหล่านี้ไม่เคยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันได้ อาจเพราะความเห็นที่ต่างกันสุดขั้วก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละฝ่ายยังไม่เข้าใจว่า ระเบียบวินัย ที่ต่างอ้างกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เองก็ไม่ค่อยช่วยอะไร เพราะให้คำจำกัดความไว้ซ้ำซ้อนกันว่า ระเบียบ คือ แบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติหรือดำเนินการ ส่วน วินัย คือ ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

ผมจึงขอเสนอคำจำกัดความใหม่ สำหรับอธิบายแนวคิดของผมต่อประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยผมจะกำหนดให้ ระเบียบ (order) หมายถึงการปฏิบัติอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ส่วน วินัย (discipline) หมายถึงการควบคุมตนตามกาลเทศะอย่างสมควร

บอกแค่นี้อาจจะยังเห็นไม่ชัดเจนว่าแล้วตกลงมันต่างกันยังไง ลองดูตัวอย่างครับ ยกประเด็นต้นเรื่องเลยคือการเข้าแถว สมมุติว่าครูสั่งให้นักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ ซึ่งนักเรียนก็ยืนตรงได้ไม่ยุกยิก เข้าแถวเรียบร้อยเป็นแนวตรงทั้งแถวตอนแถวหน้ากระดาน อันนี้คือที่ผมเรียกว่ามีระเบียบ แต่หากนักเรียนเข้าแถวได้อย่างนั้นเฉพาะเวลาที่มีครูยืนคุมอยู่ ก็ไม่เรียกว่ามีวินัย เทียบกับการเข้าแถวต่อคิวรับถาดอาหารกลางวัน ถ้านักเรียนต่อคิวกันเป็นแถวโดยไม่ต้องคอยสั่ง ไม่มีคนแซงคิวแม้จะไม่มีครูคอยยืนคุม นั่นคือที่ผมเรียกว่ามีวินัย แม้อาจจะไม่ได้มีระเบียบ คือนักเรียนไม่ยืนตรง แถวเบี้ยวไปมาก็ตาม

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะพอเดาได้ว่าแนวคิดที่ผมจะเสนอคืออะไร ครับ เมื่อกำหนดความหมายแยกกันให้ชัดเจนแล้ว ผมเชื่อว่า วินัย คือสิ่งที่สำคัญต่อปกติสุขของสังคมมากกว่า เพราะในชีวิตประจำวันเราไม่มีใครมาคอยคุมให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์และมารยาทของสังคมอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีประโยชน์ที่ทุกคนจะสามารถเข้าแถวเคารพธงชาติได้ตรงเป๊ะทุกวันเช้าเย็น ถ้าเวลาขึ้นรถเมล์เราจะกลับยืนออเบียดเสียดแย่งกันแซงขึ้นรถตรงหน้าประตูจนผู้โดยสารบนรถลงไม่ได้ และก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดฝั่งขวาหรือซ้ายของบันไดเลื่อนให้ยืนหรือเดิน หากกำหนดไปแล้วคนจะไม่ปฏิบัติตาม

ไม่ใช่ว่าระเบียบไม่สำคัญ เพราะเมื่อมีวินัยในการปฏิบัติอะไรแล้วก็ย่อมต้องอาศัยระเบียบช่วยกำหนดให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามมา ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยกับส่วนหนึ่งในคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่อ้างไว้ในบทความที่แล้ว ที่ใช้วงโยธวาทิตเป็นสัญลักษณ์แทนความงี่เง่าของระบบทหาร เพราะการควบคุมร่างกายให้ผสานเข้ากับจังหวะดนตรีนั้นก็ต้องอาศัยทั้งระเบียบและวินัยร่วมกันในระดับสูง ไม่ต่างจากที่สมาชิกวงออร์เคสตราต้องมีทั้งระเบียบและวินัยในการเล่นจึงจะบรรเลงดนตรีออกมาได้พร้อมเพรียงโดยไม่ผิดเพี้ยน

แต่การบีบบังคับให้อยู่ในกรอบ (regimentation) ที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนนั้น แม้จะสร้างสภาพที่มีระเบียบได้แต่ก็แค่ชั่วคราว และที่สำคัญ ไม่น่าจะช่วยปลูกฝังวินัยได้แต่อย่างไร เพราะอาศัยแต่การเฝ้าควบคุม (และอาจจะกดขี่) อยู่ตลอดเวลา สภาพบีบบังคับเช่นนี้ ถึงแม้ในเบื้องต้นอาจจะสามารถขู่ให้ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจเกรงกลัวและไม่กล้าละเมิดระเบียบ ด้วยกลัวว่าจะถูกลงโทษ แต่ในเบื้องลึกแล้วกลับเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกต่อต้าน ที่จะส่งผลในทิศทางตรงข้ามเมื่อมันมากจนทนไม่ไหว หรือเมื่อแรงบีบบังคับนั้นอ่อนลง

การปลูกฝังระเบียบและวินัยที่แท้จริงนั้น ต้องมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นอิสระและมีความสามารถที่จะทำความรู้ความเข้าใจกับโลกรอบตัวได้ ครูจะตรวจผมตรวจเครื่องแบบนักเรียน จะยืนเฝ้าเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติเป็นสิบปี หากทำไปเพียงด้วยสภาพบังคับที่ไม่มีเหตุผล ก็คงไม่เหลืออะไรหลังจากที่นักเรียนเรียนจบพ้นเงื้อมมือครูไปแล้ว แต่การสอนให้นักเรียนรู้จักคิดถึงสังคมและคนรอบข้าง ให้เห็นและเข้าใจว่าการเข้าคิวจะช่วยให้ตนเองและเพื่อนทุกคนได้ทานอาหารกลางวันโดยเรียบร้อยตามความประสงค์ นั่นต่างหาก คือสิ่งที่โรงเรียนควรทำเพื่อปลูกฝังระเบียบวินัย

10 April 2014

Standing in line (1): On orders and the military

This topic brings me to that worst outcrop of the herd nature, the military system, which I abhor. That a man can take pleasure in marching in formation to the strains of a band is enough to make me despise him. He has only been given his big brain by mistake; a backbone was all he needed. This plague-spot of civilization ought to be abolished with all possible speed. Heroism by order, senseless violence, and all the pestilent nonsense that goes by the name of patriotism—how I hate them!
– Albert Einstein

ตั้งใจจะเล่าถึงแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับระบบกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ในสังคมมาพักใหญ่ แต่ก็ยังไม่ได้เขียนลงบล็อกสักที วันนี้เนื่องในโอกาสเทศกาลเกณฑ์ทหาร และดราม่าณเดชน์เป็นหืดที่เพิ่งผ่านไป ก็ขอเริ่มต้นซีรีส์บทความสี่ตอนนี้ด้วยเรื่องทหาร ๆ หน่อยแล้วกัน

คำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ยกไว้ข้างต้น อันที่จริงก็สะท้อนแนวคิดของผมเกี่ยวกับระบบทหารได้ค่อนข้างดี หรือกล่าวสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ ผมเกลียดระบบทหารครับ

ที่จริงเหตุผลทั่วไปที่คนจะเกลียดการทหารนั้นก็ง่าย ๆ ไม่น่าต้องอธิบายอะไรมากมาย คือทหารเป็นสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองธรรมชาติความป่าเถื่อนของมนุษย์ ที่รังแต่จะฆ่าฟันทำลายกันเวลามีความขัดแย้ง ถึงแม้ทุกวันนี้มนุษย์จะยังหนีไม่พ้นความป่าเถื่อนดังกล่าว แต่การดำเนินวิถีแห่งความรุนแรงนี้ย่อมได้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับผู้ที่แสวงหาความเจริญในสังคมปัจจุบันที่พัฒนามามากแล้ว

และถึงแม้ในปัจจุบันทหารจะมีบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากการสู้รบ คือเป็นกองกำลังอเนกประสงค์ โดยเฉพาะในการบรรเทาสาธารณภัย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะการทหารและการสงคราม ผมก็คิดว่าน่าเสียดาย หากมนุษย์เราจะจำกัดพัฒนาการของตัวเองให้อยู่แต่บนพื้นฐานของความรุนแรง

แต่ความรุนแรงนี่ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ผมว่าเกลียดระบบทหารหรอกครับ อันที่จริงก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองถือแนวความคิดนี้มานานแค่ไหนแล้ว แต่พอจะนึกออกว่าตอน ป.5 ไปเข้าค่ายลูกเสือที่โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม) แล้วครูฝึกบอกกฎในการอยู่ค่าย 3 ข้อ คือ

  1. ครูฝึกถูกเสมอ
  2. เหมือนกับข้อ 1
  3. หากคิดว่าครูฝึกผิด ให้ย้อนกลับไปดูข้อ 1 และข้อ 2

ถึงเขาจะตั้งใจพูดเป็นมุกตลกที่พอขำได้เล็กน้อย แต่ผมก็จำได้ว่ารู้สึก "อะไรวะ" กับ "กฎ" ดังกล่าวมาก คือ ถูกคือถูก ผิดก็คือผิด จะกำหนดให้คนพูดผิดเป็นถูกได้ได้ยังไง

และจะบังคับให้คนสักแต่ทำตามคำสั่งโดยไม่ใช้สมองคิดว่าคำสั่งนั้นมันควรไม่ควรได้ยังไง

ครับ ปัญหาที่ผมมีกับระบบทหาร ก็เหมือนที่ไอน์สไตน์กล่าว มนุษย์มีวิวัฒนาการมา มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง จะมาบังคับให้ทำตามคำสั่งโดยไม่สนเหตุผลความเหมาะสมถูกผิดอะไรทั้งสิ้นมันใช้ได้ที่ไหน แล้วยิ่งวัฒนธรรมอำนาจนิยมนี้ถูกผสมกับอิทธิพลของพื้นฐานความป่าเถื่อน เกิดเป็นความหยาบคายในวาจาและกิริยาทุกชั่วขณะ ผมก็ยิ่งรับไม่ได้ครับ

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้วิจารณ์ลอย ๆ โดยที่ไม่เคยสัมผัสเองนะครับ ผมก็เหมือนเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่ที่เข้ารับการฝึกวิชาทหาร (รด.) ถึงชั้นปีที่สาม และผมยินดีที่จะบอกว่าผมไม่ประทับใจกับระบบการฝึกนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าผมเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่อ่านหนังสือคู่มือ นศท.ที่แจกมาชั้นปีละเล่ม แต่ผมอ่านครับ ถึงแม้จะไม่ครบทุกบท แต่ก็มากพอที่จะเห็นว่าเนื้อหาที่เป็นสาระมันมีอยู่ ผมรู้จากที่อ่าน ว่าการยืนตรงที่ถูกต้องนั้นปลายเท้าต้องห่างกันเท่าไร รู้ว่าการทำขวาหันจะต้องยกปลายเท้าขวาและส้นเท้าซ้ายในจังหวะไหน รู้ว่าการทำความเคารพโอกาสไหนต้องใช้วิธีใดบ้าง

แต่ในความเป็นจริง ครูฝึกกลับแทบจะไม่เคยบอกหรืออธิบายหลักการใด ๆ นั้นเลย

ในความเป็นจริง เราได้เห็นแต่ครูฝึกตะโกนออกคำสั่ง สั่งแล้วสั่งอีก สลับกับลงโทษที่ทำไม่ถูกใจ โดยที่คนถูกสั่งก็ไม่รู้ว่าไอ้ที่สั่งจริง ๆ แล้วมันต้องทำยังไงกันแน่ ได้แต่ทำตามกันมั่ว ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบลองผิดลองถูก จนกว่าครูฝึกจะพอใจ

ทั้ง ๆ ที่หากอธิบายดี ๆ ให้เข้าใจกันแต่แรก ฝึกทำแค่ไม่กี่ครั้งก็น่าจะได้แล้ว เพราะแต่ละคนก็มีสติปัญญาพอที่จะคิดเป็น แต่ทหารกลับห้ามไม่ให้ใช้สติปัญญานั้น และอาศัยแต่การกดดันด้วยความรุนแรงทางวาจาแทน

มันสูญเปล่าไหมล่ะครับ

และยิ่งมองภาพรวมของการฝึกวิชาทหารแล้ว ผมก็ยิ่งว่ามันสูญเปล่ามากมายจริง ๆ

ผมไม่เคยออกความเห็นเวลาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ เพราะถึงแม้ผมจะเกลียดระบบทหาร และกังขาในความลักลั่นของกฎหมายที่กำหนดว่าผู้ชายมีหน้าที่รับราชการทหาร ขณะที่รัฐธรรมนูญระบุว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ผมก็เข้าใจว่าในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ อย่างไรเสียระบบทหารก็จะยังคงมีอยู่ และยังไม่เห็นภาพว่าระบบการเกณฑ์ทหารจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรได้บ้าง ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็ยังใช้กัน

แต่ประเด็นการปรับเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารนี้สัมพันธ์โดยตรงกับโครงสร้างกำลังสำรอง ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมเห็น คือความไร้ประสิทธิผลของการฝึกวิชาทหาร พูดตรง ๆ คือการเรียน รด.นี่มันปาหี่สุด ๆ นอกจากการได้สัมผัสระบบทหารว่าเป็นอย่างไรแล้ว ผมไม่เห็นว่าการฝึก 240 ชั่วโมงกับไปเขาชนไก่อีก 5 วันนี่มันจะได้ช่วยให้ นศท.สามารถเป็นทหารได้จริงขึ้นมาตรงไหนเลย

ผมอาจจะคิดไปเอง แต่ผมยังรู้สึกว่าสำหรับ นศท.จำนวนมาก การฝึกส่วนใหญ่นั้นเหมือนการเล่นเกมอะไรสักอย่าง (ปนกับฝึกความอดทนและเลอะเทอะอีกบ้าง) มากกว่าจะเป็นการฝึกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะเกิดสงคราม

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าน่าเสียดายอะไรหรอกครับ (เพราะถ้าจะให้ฝึกจริงจังแล้วจะต้องโหดขนาดไหน ผมก็ไม่อยากเหมือนกัน) เพียงแต่คิดว่า ถ้าจะให้ตัดหัวเกรียนสามปีแล้วได้แค่นี้ (อย่าว่าแต่พร้อมเป็นทหารเลย แค่เข้าแถวอย่างมีระเบียบวินัยก็ยังไม่เห็นจะทำกันได้) ก็อย่ามีเสียเลย แล้วเอางบประมาณไปทำอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่านี้น่าจะดีกว่า

4 April 2014

น้องผู้ชายที่นั่งทำการบ้านกับตาชั่งตรงทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ

วันนี้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์โฆษณาของไทยประกันชีวิตที่เพิ่งออกมาใหม่ รวมถึงข้อทักท้วงจากมูลนิธิกระจกเงา แล้วจึงนึกถึงน้องผู้ชายที่นั่งทำการบ้านกับตาชั่งตรงทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ...

คนที่เดินผ่านตรงนั้นบ่อยช่วงราว 10 ปีที่แล้วอาจจะจำได้ น้องเค้าจะนั่งทำการบ้านอยู่กับเครื่องชั่งกับกระป๋องรับเงินเป็นประจำเกือบทุกวัน มีป้ายข้อความเรื่องประมาณเกี่ยวกับหาเงินเรียน/ช่วยทางบ้านวางเอาไว้

ดูเหมือนจะมีคนสนใจเรื่องของน้องเขาพอควร เพราะต่อมาก็เห็นมีบทความข่าวถ่ายเอกสารแปะฟีเจอร์บอร์ดมาวางแทน ผมเจอน้องเค้าทุกวันก็สนใจอยากรู้เรื่องราวดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปดูบทความนั้นใกล้ ๆ หรือคุยกับน้อง

เพราะรู้สึกไม่ค่อยดีที่จะไปอยากรู้ก็ส่วนหนึ่ง เพราะไม่รู้จะคุยอะไรก็ส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วเหตุผลหลักที่ไม่กล้านั้น คือเหตุผลเดียวกับที่อยากรู้ขึ้นมาตั้งแต่แรก

นั่นคือ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ครั้งใดที่เห็นน้องเค้านั่งอยู่ตรงนั้น ก็จะต้องเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง รูปร่างค่อนข้างเตี้ย ผมสั้นไม่เรียบร้อย สวมหมวกแก๊ป ใส่แจ็กเก็ตตัวโคร่ง ๆ ยืนพิงราวทางเดินอยู่ไม่ห่างไปเท่าไรนักเสมอ

แท้จริงแล้วเธอจะยืนทำอะไรผมก็คงไม่ทราบได้ ได้แต่สังเกตว่าน้องกับเธอจะปรากฏตัวร่วมกันทุกครั้ง หากไม่อยู่ก็จะไม่เห็นทั้งคู่ ไม่เคยมีวันใดที่คลาดไปจากนี้เลย

คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่าเธอมายืนเฝ้าน้องอยู่ แต่ความคิดนี้ก็นำไปสู่คำถามต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งว่าทำไมจึงต้องเฝ้า? ถ้าไม่เฝ้าน้องเขาจะไปไหน? เธอคนนี้เป็นใคร? น้องเขามาจากไหน? ภาพที่เห็นทุกวันเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์หรือเปล่า? แต่งั้นแล้วจะไม่มีใครรู้เรื่องแล้วทำอะไรเลยเหรอ? แล้วนักข่าวที่มาทำข่าวล่ะ? แล้วเธอคนนั้นก็ดูรู้จักคุ้นเคยกับบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่วางสินค้ากีดขวางทางเดิน ถ้าเป็นขบวนการอะไรเขาคงไม่กล้าทำอย่างนี้ที่เดิมตลอดทุกวันหรอก? นี่เราคิดอคติไปเองหรือเปล่า? แต่งั้นถ้าไม่ใช่แล้วเธอจะมายืนทำอะไร?

ความคิดเหล่านี้แล่นผ่านหัวผมเกือบทุกครั้งที่เดินผ่านและเห็นน้องเขานั่งอยู่ตรงนั้น แต่ด้วยความกลัว ทั้งกลัวที่จะเข้าไปข้องเกี่ยว กลัวคำตอบที่อาจจะพบ และกลัวที่จะก้าวออกจากเส้นทางปกติที่เดินตรงผ่านไปเป็นประจำ ผมจึงบอกตัวเองไปทุกครั้งไม่ให้ทำอะไร ได้แต่เมินเฉยต่อความเป็นห่วง และปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านเหล่านั้นพัดผ่านเลยไป

เวลาผ่านไป ภาพที่เห็นจนชินตานั้นเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ ความคิดกังวลทั้งหลายเริ่มกลายเป็นชาชิน แต่ประกายความเป็นห่วงเล็ก ๆ นั้นก็ยังวาบขึ้นเสมอเมื่อเห็นน้องตรงนั้น แม้จะถูกดับลงอย่างรวดเร็วทุกครั้งก็ตาม

ผมสัญจรผ่านทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นประจำอยู่ราว 5 ปี ผมเห็นน้องตลอดช่วงนั้น ตั้งแต่ยังเด็กจนใส่ชุดนักเรียน ม.ปลาย จากนั้นจึงไม่ค่อยได้ผ่านไปทางนั้นอีก ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าเห็นน้องเขาครั้งสุดท้ายเมื่อไร แต่แม้จะไม่เห็นน้องแล้ว เวลาที่เดินผ่านทางนั้นก็ยังนึกถึงอยู่บ่อยครั้ง และก็ได้แต่นึกเสียดายที่ไม่กล้าหาคำตอบ (เพื่ออย่างน้อยจะได้หยุดความฟุ้งซ่านไว้บ้าง) และคิดในใจหวังให้เรื่องร้าย ๆ ที่เคยกังวลทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสิ่งที่คิดไปเองและไม่จริง

30 March 2014

เรื่อยเปื่อย เรื่องกีฬา

กีฬา

คำนี้ฟังแล้วบางครั้งก็รู้สึกใกล้ตัว แต่บางครั้งก็กลับไกล

ท่านผู้อ่านทุกท่านน่าจะเคยได้เรียน สัมผัส และหัดเล่นกีฬามาบ้าง อย่างน้อยก็จากชั่วโมงพลศึกษาในโรงเรียน

ผมเองจำได้ว่าเคยถูกโรงเรียนบังคับให้เล่นลองสัมผัสกีฬาหลายประเภทอยู่ เท่าที่นึกออกก็มีฟุตบอล บาสเกตบอล แฮนด์บอล แชร์บอล วอลเลย์บอล เทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน เซปักตะกร้อ ยิมนาสติก ไอคิโด กระบี่กระบอง วิ่ง กระโดดไกล กระโดดข้ามรั้ว ทุ่มน้ำหนัก พุ่งแหลน ว่ายน้ำ แล้วก็ลีลาศ (ห่วงยางเชลยนี่นับมั้ย?)

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เอาอ่าวสักอย่าง หลังจบมัธยมมาก็เหลือที่มีโอกาสสัมผัสอยู่แค่หยิบมือเดียว

และก็กลายเป็นว่ากีฬาที่เคยเรียนมาเยอะแยะนั้นส่วนใหญ่ก็เหลือมีโอกาสเห็นแค่ในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์และการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ (รวมทั้งกีฬาที่ไม่เคยเรียนด้วย โอลิมปิก ณ ลอนดอนที่ผ่านมา ผมนั่งดู canoe slalom เยอะสุดเลยมั้ง)

แต่นั่นก็น้อยที่ไหนกัน ผมเคยสงสัยอยู่บ่อยครั้งว่าเหตุใดกีฬาจึงได้รับพื้นที่ข่าวมากมายทุกวัน ทั้งที่เทียบกันแล้วมันดูเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราน้อยเสียเหลือเกิน แต่การติดตามกีฬาในฐานะผู้ชมมันก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมทุกวันนี้ และคงยากที่จะชำแหละหาที่มาที่ไป

อันที่จริงแต่ละคนคงมีความใกล้ชิดกับกีฬามากน้อยแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะในฐานะผู้ชมหรือผู้เล่น อย่างตอนมัธยม สามารถแบ่งนักเรียนชายได้คร่าว ๆ เป็นสองสายพันธุ์ คือคนที่เตะบอลตอนพักกับคนที่ไม่เตะ (คงไม่ต้องบอกว่าผมอยู่กลุ่มไหน ที่จริงยังมีพันธุ์ย่อยที่แปลกกว่านั้นอีก เช่นคนที่แวบไปตีเทนนิสก่อนเข้าแถว—อีลีทสุด ๆ)

ซึ่งหลายคนที่เตะบอลตอนพัก ก็ยังคงเล่นอยู่ตอนที่จบมัธยมออกมาแล้ว และหลายคนในกลุ่มนี้ก็ติดตามดูฟุตบอลลีกทางโทรทัศน์ แต่เรื่องของเรื่องคือสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ความเป็นผู้ชมกับความเป็นผู้เล่นมันแทบไม่สัมพันธ์กันเลย

คิดดูแล้วก็มันก็มองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกอย่างที่ดูในโทรทัศน์เราก็ไม่ได้ทำเองสักหน่อย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามันทั้งใกล้และไกลตัวแปลก ๆ เวลาที่เห็นฝูงชนหน้าจอโทรทัศน์ร่วมเชียร์นักกีฬาทีมชาติแข่งกีฬาที่คนดูต่างก็ไม่มีใครเคยเล่น

ที่จริงแล้วสำหรับกีฬาฟุตบอล ความแตกต่างระหว่างการเป็นผู้ชม-ผู้เล่นนี้อาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนมากนัก เพราะในปัจจุบันนี้ฟุตบอลเองเหมือนจะเป็นกีฬาสากลที่ได้แทรกซึมสู่ทั้งผู้ชมและผู้เล่นไปแล้วทั่วทุกหย่อมหญ้า

หรือเปล่า?

มหานครเมืองหลวงแห่งนี้มีพื้นที่เปิดอยู่พอควร (ถึงจะยังไม่ค่อยพอก็เถอะ) และหลายส่วนของพื้นที่เหล่านี้ก็ได้ถูกจัดสรรเป็นสนามกีฬา ลองไล่ดูภาพถ่ายดาวเทียมใน Google Maps ก็จะเห็นสนามกีฬาเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งตามสวนสาธารณะ สถานศึกษา หมู่บ้านจัดสรร...

และเห็นว่าเป็นสนามเทนนิส บาสเกตบอล และฟุตซอลเกือบทั้งสิ้น~

นึกดูก็ตลกดี โอเคฟุตบอลสนามเล็กนี่ไม่น่าแปลกใจ แต่ในความรู้สึกแล้วเทนนิสเป็นกีฬาที่คนเข้าถึงกันได้ค่อนข้างน้อย ทำไมจึงดูเหมือนว่าจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้เยอะเกินสัดส่วน หรืออย่างบาสเกตบอล ถึงจะมีคนเล่นพอควร แต่ก็ไม่มากเท่าสนามที่มี ภาพนักเรียนเตะฟุตบอลกันใต้แป้นบาสก็น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดี

แต่อืม ลำพังสุ่มดูภาพถ่ายดาวเทียมก็คงบอกอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกีฬาแต่ละประเภทก็มีความต้องการใช้พื้นที่แตกต่างกันไป (ถ้านับพื้นที่จริง ๆ กอล์ฟนี่คงเปลืองสุดละ) ที่อยู่ในร่มก็อีกเยอะ และจริง ๆ แล้วปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมแพร่หลายก็เพราะความเรียบง่ายของมันที่เล่นได้โดยไม่ต้องมีสนามตีเส้นไว้ด้วยซ้ำ

หากเดินผ่านโรงเรียนมัธยมใด ๆ เวลาพักหรือหลังเลิกเรียน ก็คงจินตนาการได้ไม่ยากว่าฟุตบอลคงจะเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของยุคสมัย แต่จากการเตร็ดเตร่ผ่านพื้นที่เปิดสาธารณะอื่นหลายแห่ง ผมยังพบภาพอื่น ๆ ที่ทีแรกก็ไม่นึกถึงเหมือนกัน

ตะกร้อ ถึงจะเห็นมาแต่ไหนแต่ไร และเคยเรียนตอน ม.ต้น ผมก็แทบไม่เคยรับรู้เลยว่ามันเป็นกีฬาที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน (จะเข้ามาในความคิดก็แต่เวลามีแข่งซีเกมส์หรือเอเชียนเกมส์) แต่เมื่อลองสังเกตชีวิตริมทางใน กทม. จึงได้เห็นว่ามันก็มีคนเล่นอยู่ทั่วไปไม่ต่างจากฟุตบอลเท่าไรเลย (จะต่างกันก็อายุเฉลี่ยคนเล่นนี่แหละ ที่ดูจะมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ)

เปตอง น่าแปลกใจที่ไม่เคยเรียน (หรือเคยแต่ลืมไปแล้วหว่า?) เพราะที่โรงเรียนก็มีสนามอยู่มากมาย และก็เห็นเขาซ้อมกันอยู่ประจำ ที่จริงไม่ใช่แค่ที่โรงเรียน แต่สนามเปตองนี่น่าจะมีอยู่ในสถานที่ราชการแทบทุกแห่งเลยก็ว่าได้ และก็มักจะเห็นคนเล่นอยู่เนือง ๆ ว่าไปก็น่าสงสัยว่าทำไมราชการต้องเปตอง?

ส่วนแบดมินตันนี่ไม่ได้เห็นบ่อยตามริมทาง (เพราะสนามส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในร่ม) แต่ก็คงไม่พ้นว่าเป็นกีฬายอดนิยมสำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง ที่อย่างไรเสียทุกบ้านน่าจะมีหรือเคยมีไม้แบดอยู่อย่างน้อยคู่นึง ที่จะได้หยิบเอามาเล่นกันในซอยหน้าบ้านหรือพื้นที่เปิดใด ๆ ที่สะดวก

คิด ๆ ดูแล้ว กีฬาแต่ละอย่างมันก็คงเป็นที่นิยมของคนต่างกลุ่มกันไป หลายอย่างที่เรารู้สึกว่าไกลตัว นั่นอาจจะเพราะว่าคนที่เล่นกันเขาไม่ได้เป็นส่วนของสังคมที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แต่หากลองสังเกต ลองสำรวจโลกรอบตัวดู เราก็อาจจะได้เห็น ว่ามันไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คิดเลย

22 March 2014

Bangkok's taxi problem: Are mobile apps the solution?

It is a perennial topic of grievance for the citizens of Bangkok, and the set-up is all-too-familiar. It is the evening rush hour, and you are trying to find your way among the throngs of commuters travelling in this city of 10 million. It might be the lack of public transport leading where you need to go, you might be unfamiliar with the neighbourhood, or just are in a hurry. But you decide to take a taxi. After several brightly coloured cars pass by, all with passengers, you successfully flag down one with red lights behind the windscreen indicating a vacancy. But when the driver hears where you're headed, he simply shakes his head, refusing to go. You sigh in frustration, but know it's useless to argue, and so try to patiently wait for another cab to come by. The same exchange is repeated a few more times. When one driver finally agrees, you end up gratefully thanking him for upholding his end of the bargain, something which should have gone without saying in the first place.

Such scenes take place daily throughout the city, probably in the thousands. Everyone seems to have been the victim of such refusals. Online communities are rife with criticism and complaints. Discussions regularly pop up on popular discussion forums. Twitter is abound with one-liners featuring fanciful revenge scenarios against passenger-denying cabbies and their lame excuses. The press has periodically picked up on all this anger. All to no avail.

It's not that the authorities are unwilling to accept the problem or that they haven't tried to better enforce the law (denying passengers is illegal, according to the Motor Vehicle Act, B.E. 2522). Rather, there hasn't been much choice in terms of actions that could directly benefit either passenger or driver. Take the Department of Land Transport's hotline, tel. 1584. The complaint-lodging system has existed for years, but with few people bothering to actually report the transgressions they witnessed. Awareness campaigns have done little to promote its use. This is probably because any action taken against the reported drivers remain invisible to passengers, most of whom have little faith in the system to begin with. For them, given the lack of assurance that their feedback produces results, the cost of their phone call is unjustifiable. The system is also prone to abuse. With no evidence required, false complaints can easily be submitted, though moving to better secure the system would further reduce its use.

Other initiatives have also arisen in attempts to fill this void. There are mobile apps that streamline the complaint-lodging process and websites that aggregate openly accessible feedback for individual taxis. However, such attempts haven't proven helpful, either. For user feedback to be of any use, it must be able to directly influence the future selection of cabs by other passengers, thereby rewarding good drivers and punishing bad ones. But there is a disconnect between the availability of feedback and the way we actually pick taxis, which is essentially a lotto, depending on who happens to drive by at that moment.

This is where mobile taxi-hailing apps come in.

The spotlight has been on hired-transport apps this past month. The international expansion of Uber and the regulatory backlash against it, as well as the scuffle between competing taxi apps and authorities in Beijing and Shanghai, show how big a role these apps will have to play in shaking up the workings of this relatively stagnant market. While Uber, a quasi-luxury service that connects passengers and drivers for rides, launched with fanfare in Bangkok earlier this month, two other regular-taxi apps have been operating since late last year, and are growing. Easy Taxi is based in Brazil and operates in 26 countries, while GrabTaxi is local and covers several cities in Southeast Asia. Both of them are currently focused on streamlining the cab-hailing process, providing real-time updates and contact info. But there is still also much potential for expansion in other areas.

These apps currently rely on driver and vehicle screening to achieve a certain standard. This effectively creates a small pool of quality taxis to offer passengers, which works, to a degree. As adoption rates grow, such assurance of quality will become increasingly difficult, and it will be essential to employ some form of user-generated feedback. These apps are in the perfect position to bridge the aforementioned gap between feedback and future rides. Whereas passengers have neither choice nor information when flagging down a taxi on the street, hailing through an app can provide them with both, potentially allowing them to avoid poorly rated drivers. Earlier digital taxi-hailing initiatives such as Governor Apirak's "smart taxi stands" failed in part due to both passengers and drivers not honouring calls. Feedback systems, combined with the increased accountability of hailing through apps, could help address this.

The greatest potential benefit of mobile-hailing apps, however, lie in how they can improve the efficiency of the market. By providing information and conveniently connecting passengers to taxis, they can help reduce the huge transaction costs normally involved, not least by cutting the time cabdrivers would otherwise spend roaming the streets with empty cars. One can easily imagine these benefits mounting as popularity of these apps increase and their underlying systems become more sophisticated. Providing passengers with the nearest cab is a start. Implementing a feedback system is but a step further. A well designed system might soon be able to match passengers and drivers in a way that maximises all parties' interests, e.g. identifying the driver most willing to go to a passenger's destination. This may even eliminate the root causes that created the problem in the first place.

There are many more ways mobile taxi-hailing apps could transform the market. However, not everybody today owns a smartphone. Considerations still need to be given to fairly balancing the provision of services among app-users and those who would rather opt to flag down a cab the traditional way. As seen from the cases in China and elsewhere, drastic changes to the system are likely to be at odds with regulations designed for an earlier era. Eventually, formal changes will be needed. But there is still much room for growth today.

And I am hopeful.