2 December 2020

ปัญหาของการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมเคยกล่าวถึงประเด็นการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือมาบ้างแล้ว และเคยได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสนอให้กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททาง Facebook Messenger แต่เหมือนว่าเขาจะไม่สะดวกเลยมิได้ตอบกลับ แต่ไหน ๆ แล้ว ขอเอามาแปะไว้ตรงนี้อีกที่หนึ่งแล้วกัน เผื่อใครสนใจ


สวัสดีครับ

ผมเห็นว่าที่ผ่านมา ELSiam ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมลูกเสือฯ มาเป็นระยะ ๆ จึงอยากเสนอประเด็นที่อาจสนใจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์อีกอย่างหนึ่ง คือความสมัครใจในการเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมไม่แน่ใจว่า ELSiam เคยรณรงค์เรื่องนี้มาแล้วแค่ไหนบ้างนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าน่าแปลกใจเกี่ยวกับการลูกเสือในประเทศไทย คือการเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ที่นักเรียนทุกคน “ต้อง” เข้าร่วมโดยปริยาย ซึ่งแตกต่างเป็นอันมากจากในประเทศต้นกำเนิด ที่เน้นความสมัครใจเข้าร่วมเป็นแก่นสำคัญอย่างหนึ่งของกิจการลูกเสือ (ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะลูกเสือนะครับ เพราะไม่ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ)

ทั้งนี้ธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกเองให้นิยามกิจการลูกเสือไว้ว่า

The Scout Movement is a voluntary non-political educational movement for young people open to all without distinction of gender, origin, race or creed, in accordance with the purpose, principles and method conceived by the Founder and stated below.

ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย กิจการลูกเสือมีสถานะพิเศษ มีกฎหมายรับรองการสนับสนุนจากรัฐโดยตรง สืบเนื่องจากที่มีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้ง แต่กระนั้นก็ตาม ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติก็ระบุชัดเจนว่า

ให้เด็กชายเป็นสมาชิกของกองลูกเสือตามความสมัครใจ

แนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับกับหลักการความสมัครใจนี้ ผมพบปรากฏในเอกสารทางการคือ แนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.

ทั้งนี้หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดให้โรงเรียนจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ และระบุกิจกรรมนักเรียนไว้สองประเภท คือ (1) กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร และ (2) กิจกรรมชุมนุม ชมรม

จะเห็นว่าหลักสูตรแกนกลางฯ มิได้กล่าวถึงการบังคับเข้าร่วมแต่อย่างใด แต่คู่มือแนวทางการจัดกิจกรรม ของสพฐ. กลับเขียนไว้ว่า

นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในข้อ 1 และ 2

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือโดยตรง

การบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนแล้ว ผมมองว่ายังเป็นผลเสียต่อกิจการลูกเสือในประเทศไทยอีกด้วย เพราะเมื่อผู้เข้าร่วมไม่เต็มใจ ตัวกิจกรรมก็ย่อมมีแนวโน้มจะถูกมองในแง่ลบ

และที่สำคัญ ยังจะทำให้คณะลูกเสือแห่งชาติขาดคุณสมบัติสมาชิกภาพตามบทบัญญัติของธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกอีกด้วย เพราะธรรมนูญระบุคุณสมบัติไว้ข้อหนึ่งว่า

Establishment of the National Scout Organization as an independent, non-political, voluntary movement of probity and effectiveness.

ผมเคยได้รับทราบข้อมูลว่า มีองค์กรลูกเสือบางประเทศเคยถูกระงับสมาชิกภาพ เนื่องจากบังคับให้เยาวชนเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ยังไม่มีโอกาสสืบค้นรายละเอียดว่าหมายถึงประเทศไหน เมื่อไร แต่หากข้อมูลที่ผมได้รับมานั้นถูกต้อง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่าองค์การลูกเสือโลกเขามองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ร้ายแรงทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้คงไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ และย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ผมนำข้อมูลนี้มาเสนอ เผื่อว่า ELSiam จะสนใจนำไปเรียบเรียงและใช้ประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการศึกษาได้ตระหนักถึงความขัดแย้งนี้ และดำเนินการแก้ไขต่อไป

และหากผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยจะมองว่าไม่สำคัญ การส่งเรื่องให้องค์การลูกเสือโลกช่วยตรวจสอบ อาจจะช่วยเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทางที่ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

ขอฝากให้พิจารณาด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ


28 October 2020

Thoughts behind the final farewell

View this post on Instagram

Waiting on a final farewell

A post shared by Paul_012 (@paul_012) on

เคยว่าอยากจะเล่าความคิดเบื้องหลังภาพด้านบนนี้มาสักพัก แต่ยังไม่ได้พยายามเรียบเรียงจริง ๆ จัง ๆ สักที วันนี้¹ ครบรอบสามปีแล้ว คงเป็นเวลาที่นานพอที่จะย้อนกลับไปมองในฐานะอดีตได้ (และปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงไม่กี่ปีนี้ ก็ได้ช่วยให้ก้าวข้ามความลังเลที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ออกมา)

คนที่รู้จักผมอาจแปลกใจกับภาพนี้ที่โพสต์ในอินสตาแกรม อย่างผมเนี่ยนะ จะไปเบียดเสียดฝูงชนปักหลักรอขบวนพระบรมศพทั้งคืน ซึ่งก็ถูกแล้ว ผมไม่ได้ไปรอข้ามคืนหรอก และคงไม่ได้คิดจะไปร่วมพระราชพิธีในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เลย ถ้าไม่ใช่เพราะที่บ้านรู้จักกับโรงแรมแถวท่าเตียนและสามารถจองห้องเพื่อเป็นใบเบิกทางให้เข้าพื้นที่ได้ ว่ากันตรง ๆ แบบเห็นแก่ตัวเลยก็คือ ผมไม่ได้ตั้งใจไปเพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยในฐานะประชาชนที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เท่ากับที่จะไปเพื่อประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของตนเอง (กับอาจจะได้รูปไปลงวิกิพีเดีย) และไม่ได้คิดที่จะลงทุนแบบที่บรรดาผู้คนที่ฝ่ามาด้วยใจเขาต้องทำเลยด้วยซ้ำ

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดหรอก

ผมเติบโตในระบบโรงเรียนมาในทศวรรษ 1990s โดยเฉพาะในบรรยากาศการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ช่วงนั้นแนวคิดเกี่ยวกับชาติและการปกครองของไทยเริ่มตกผลึกนิ่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่เคารพนับถือในฐานะผู้ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสื่อรอบตัวต่าง ๆ ก็สะท้อนแนวคิดเหล่านี้ ผมไม่เคยเรียนว่าคนไทยมีหน้าที่รักในหลวง แต่คนไทยรักในหลวงเพราะทรงทุ่มเทอุทิศพระวรกายและพระปรีชาสามารถเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน อันที่จริงเรื่องเล่าเหล่านี้แทบไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียนเลยด้วยซ้ำ แต่เราสัมผัสและซึมซับมันมาจากการบอกย้ำในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแต่งกลอนเทิดพระเกียรติ การบ้านวิชาศิลปะที่ให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ การแปรขบวนรูปตราสัญลักษณ์กาญจนาภิเษกในพิธีปิดกีฬาสาธิตสามัคคี ตลอดจนการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและสดุดีมหาราชาตอนเข้าแถวหน้าเสาธงปีละสองครั้ง

ช่วงเวลานั้น จนถึงการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปี 2006 เป็นช่วงที่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นจุดสูงสุดของฐานะความนิยมในสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล สำหรับผมเองก็เช่นกัน วันที่ 9 มิถุนายนนั้น ผมกับเพื่อน ๆ ไปชมการซ้อมใหญ่ขบวนเรือพระราชพิธี และตอนค่ำก็ได้ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวง ผมยังจำบรรยากาศนั้นได้ ท่ามกลางความวุ่นวายและฝูงชนที่แน่นขนัด นาทีที่ทุกคนเริ่มร้องเพลงพร้อมกันนั้น มันสัมผัสได้ถึงการมีความรู้สึกร่วมกันกับคนแปลกหน้าทั้งหลาย ณ ที่นั้น (ถึงจริง ๆ แล้วเพลงจะไม่พร้อมเลย เพราะลำโพงอยู่ไกล) มันเป็นความตื้นตันที่เหนือกว่าการร้องหน้าเสาธงที่โรงเรียนทุกครั้ง

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ร้องและรู้สึกอะไรกับเพลงเหล่านั้น

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่หลังจากนั้นความ “อิน” หรือการรู้สึกร่วมเวลาเห็นการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ สำหรับผมก็ค่อย ๆ ลดหายไป อาจเป็นเพราะบรรยากาศการเมือง ที่นับจากรัฐประหารที่ตามมาไม่นานก็เข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง หรือเพราะทิศทางของการเฉลิมพระเกียรติส่วนมาก ที่แปรเปลี่ยนจากการเชิดชูพระราชกรณียกิจเป็นการสรรเสริญเทิดทูนอย่างออกนอกหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกว่าภาพของสถาบันกษัตริย์ที่เห็นมันเริ่มต่างจากสิ่งที่เคยถูกปลูกฝังมามากขึ้นทุกที

หลายคนที่เสื่อมศรัทธากับสถาบันพระมหากษัตริย์ มักพูดถึงโมเมนต์ “ตาสว่าง” นัยว่ามีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่เป็นเครื่องฉุดให้เห็นความจริง แต่ผมไม่เคยรู้สึกเช่นนั้น แม้ความรู้สึกร่วมจะลดลง แต่ในความคิดผมก็ยังพยายามรักษาภาพเดิมที่มีไว้ตลอด และมองเสมอว่าการอ้างตัวโหนสถาบันฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตน ตลอดจนการเหยียบย่ำเสรีภาพต่าง ๆ ตั้งแต่บล็อคยูทิวบ์ บล็อควิกิพีเดีย หรือคดี 112 ต่าง ๆ นั้นเป็นความเลวของคนที่ทำ โดยไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ

ที่จริงมันก็อาจเป็นกลไกป้องกัน ที่พยายามหาเหตุผลอ้างให้เรื่องต่าง ๆ สอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากเชื่อ แต่เอาเป็นว่าสำหรับผม ผมไม่เคยมีประสบการณ์ของการตระหนักและเปลี่ยนความคิดอะไรที่ชัดเจน หากแต่ชุดความคิดเดิมมันค่อย ๆ จางไปตามกาลเวลามากกว่า

และเมื่อมุมมองเก่าจางไป ก็เหมือนเราจะเปิดรับมุมมองใหม่ได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดที่ผมรับมาแต่เด็ก ว่าทรงเป็นมนุษย์ผู้อุทิศตน ไม่ใช่สมมุติเทพดั่งลัทธิเทวราชาที่ถือกันในสมัยโบราณ แนวคิดหรือข้อเขียนที่วิจารณ์การกระทำในฐานะมนุษย์จึงไม่ได้เป็นเรื่องรับไม่ได้สำหรับผมขนาดนั้น อันที่จริงผมไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสืออะไรมากมาย (อย่าง The King Never Smiles ที่ผมเคยพูดถึงว่ามีบน Google Books นั่นผมก็แค่เห็นผ่าน ๆ ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ) แต่ก็ไม่ได้พยายามปิดหูปิดตา และก็มีงานเขียนภาษาอังกฤษผ่านตาอยู่บ้าง ซึ่งมันก็คงค่อย ๆ สร้างความยอมรับใหม่ในความคิดของเรา อย่างตอนที่ Andrew MacGregor Marshall เขียน #Thaistory จนเป็นกระแสเมื่อปี 2011 ผมนั่งอ่านก็แอบงงนิดนึงว่ามันไม่เห็นจะมีอะไรน่าขัดแย้งขนาดนั้นเลยนี่นา ออกเคารพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลด้วยซ้ำ และไม่ได้แตะประเด็นร้อนของจริงอย่างเรื่อง 6 ตุลาเลย

แต่ขณะที่ผมไม่ได้ประสบภาวะวิกฤตทางศรัทธาหรือความเชื่อแบบบางคนที่รับอดีตไม่ได้จนต้องไล่ลบโพสต์ “ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙” กันนั้น ก็ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไม่ได้ทิ้งช่องว่างไว้สำหรับผม หลังเพลงสรรเสริญพระบารมีในปี 2006 นั้น ผมเองยังคงหวังที่จะได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนั้นอีก แต่ก็ไม่มีโอกาสอยู่หลายปี จนอีกทีถึงได้ตระหนักว่ามันไม่อาจกลับมาได้แล้ว แต่แท้จริงสิ่งที่เราโหยหาคือ “อดีต” เมื่อครั้งที่ยังสามารถ “ซาบซึ้ง” กับมันได้ต่างหาก

การไปร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่บอกว่าไปเพื่อประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิต จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้นหรอก สำหรับผม มันคือการไปร่วมปิดฉากในเรื่องราวเล่าขานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาหลายสิบปี

และบางที อาจมีสักช่วง แม้สักเสี้ยววินาทีก็ยังดี ที่เราจะได้ลืมทุกอย่าง และกลับไปรู้สึกและรำลึกถึงสถาบันฯ ในแบบที่เราเคยเมื่อครั้งยังเด็ก โดยไม่ต้องคิดอะไร

ก่อนที่มันจะลอยหายไปกับควันพระเพลิง และกลายเป็นอดีตไปตลอดกาล

* * *

ช่วงหลังสวรรคต ที่เสียงบรรเลงตามห้างร้านกลายเป็นเพลงเทิดพระเกียรติและเพลงพระราชนิพนธ์กันไปหมดนั้น ผมซื้อซีดีเพลงชุด “ต้นไม้ของพ่อ” มา ซึ่งถึงตอนนี้น่าจะได้เปิดเล่นไปแค่ครั้งเดียว

จริง ๆ แล้วผมไม่ได้สนใจเพลงอื่นในอัลบั้มเลยนอกจากเพลงแรกกับเพลงของขวัญจากก้อนดิน และที่อยากได้เก็บไว้ก็ไม่ใช่เพราะความหมายที่เพลงสื่อ

หากแต่เพราะเพลงสองเพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมกับเพื่อน ๆ ใช้ร้องประกอบในกิจกรรมละครเทิดพระเกียรติภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนให้ทำเมื่อปี 1999 และช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นความทรงจำที่มีค่าของผม

จากนี้ไป มันก็คงมีค่าให้ผมเก็บไว้เพียงเท่านั้น

ส่วนเรื่องราวของสถาบันกษัตริย์ คงต้องปล่อยให้เป็นบทบันทึกของหน้าประวัติศาสตร์ ที่จะถูกเขียนขึ้นต่อไป


  1. เมื่อเริ่มเขียน