ครับ หัวข้อนี้ที่จริงค้างมาเดือนกว่าแล้วยังไม่ได้เขียนสักที จนชักน่ากลัวว่าจะเริ่มล้าสมัย ยังไงอาจจะต้องจินตนาการย้อนไปนิด คงไม่เป็นไรนะครับ
อยากจะพูดถึงเรื่องโฆษณา...
ปัจจุบันนี้ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสติดตามสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์เท่าไรครับ (ห่างเหินกับกล่องสี่เหลี่ยมนั้นมากขึ้นทุกที)
ภาพยนตร์โฆษณาที่มีโอกาสได้เห็นส่วนใหญ่ก็จะเหลือแต่ที่ฉายบนสถานี/รถไฟฟ้า BTS เสียเท่านั้น
เพราะขนาดเพลง "เรื่องจริง" ของบอย(ด์) ที่ช่วงตอนอยู่ดมยา (วิสัญญี - ประมาณต้นเดือน ก.ค.) นับว่าได้ยินจากวิทยุในห้องผ่าตัดแทบจะทุกวัน วันละหลายครั้ง จนเกือบจะเอียน (แข่งกับ "เพื่อน" ที่ร้องใหม่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์รัก สาม เศร้า) ผมยังเพิ่งจะทราบว่าเป็นเพลงประกอบโฆษณา Canon ก็ตอนที่เห็นอยู่ในอัลบั้ม Songs from Different Scenes #5 นี่เอง
ซึ่งเรื่อง SFDS นั่นก็ไม่ได้รู้มาจากไหน ก็โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้านั่นแหละครับ
ความจริงเรื่องโฆษณาบนรถไฟฟ้า ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพคงไม่เห็นด้วยเท่าไร
ซึ่งเรื่องเสียงดังนี่ผมก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกันนะครับ แต่พูดไปก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าตัวกลายเป็น [hypocrisy] หรือเปล่า เพราะผมก็อาศัยโฆษณาเหล่านั้นเพื่อความบันเทิงเหมือนกัน (แต่ก็สังเกตอยู่ว่าระดับความดังมันฟังดูไม่ค่อยจะเสมอต้นเสมอปลายเอาเท่าไร)
เอาเถอะนะครับ ยังไงก็อยากจะขอพูดถึงโฆษณาที่เห็นช่วงที่ผ่านมา (บวกกับอีกเดือนเศษ) สักหน่อย
ผมชอบโฆษณา "50 ปี การไฟฟ้านครหลวง" ครับ
ด้วยความที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหลักการสร้างสรรค์สื่อโฆษณาแต่อย่างใด ก็จะไม่ขอวิจารณ์รายละเอียดนะครับ
นอกจากนี้ก็มีโฆษณาของธนาคารกสิกรไทย ที่ไม่ได้ติดใจอะไรมากมายหรอกครับ เพียงผมรู้สึกว่าสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้คนดูจำได้ดีมาก (แต่จะกลายเป็นจำโฆษณาได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์หรือเปล่านี่ไม่ทราบนะครับ) ขนาดที่ผมเห็น trailer โฆษณาตัวอย่างภาพยนตร์ของจริงบางอันแล้วยังนึกว่าตอนจบจะเป็นโฆษณาธนาคารกสิกรไทย แต่ไม่ใช่เสียนี่
ส่วนโฆษณาที่น่ารำคาญที่สุด (ซึ่งจากการ google ดูคร่าว ๆ ผมว่ามีคนเห็นด้วยกับผมไม่น้อย) ก็คงไม่พ้นโฆษณาชุด "นามาฉะ นะมาชะ กรีนลาเต้" ครับ (อันนี้ไม่ต้องใช้ความรู้ด้านการสร้างสรรค์สื่อในการวิจารณ์)
ความน่ารำคาญนี่ไม่เกี่ยวกับข้อที่น่าสงสัยว่าทำไมถึงสะกดชื่อผลิตภัณฑ์แบบนั้น (เข้าใจว่าคงไม่เขียนตามเสียงอ่านว่า นามาฉะ แต่ทำไมถึงสะกดว่า นะมาชะ แทนที่จะเป็น นะมะชะ ถ้าจะถอดคำตามภาษาต้นแบบ?)
แต่นอกจากความน่ารำคาญโดยพื้นฐานที่ใครเห็นก็คงรู้สึกได้ (การทำหน้าบู้บี้แล้วพูดอะไรไม่รู้เรื่อง) ความไร้เหตุผลของแนวคิดของตัวโฆษณานี่ ผมว่าเกือบจะแย่กว่าด้วยซ้ำ
เพราะความหมายมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว Namacha คือชื่อผลิตภัณฑ์ green แปลว่าเขียว latte แปลว่ากาแฟใส่นม
รวมกันก็เป็น นามาฉะ กาแฟเขียว ไม่เห็นมีอะไรน่างงตรงไหนแม้แต่น้อย (นอกจากชื่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าอันนั้นเป็นปัญหาก็ไปเกิดใหม่เถอะ)
จะมา ชานามา เขียวแฟกา มาชานา แฟกาเขียว ฯลฯ ทำบ้าอะไร เพื่อ?
เลิกฉายไปนี่โล่งใจเวลาขึ้นรถไฟฟ้าขึ้นเยอะครับ (ไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครคิดจะอัพโหลด)
ส่วนโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่ผมรู้สึกขัดหูขัดตาเป็นพิเศษ คือโฆษณา "ทิปโก้ คูลฟิต" ชิ้นนี้ครับ
ไม่แน่ใจว่าคนอื่นฟังแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง แต่ผมจะขออธิบายความรำคาญของผมดังนี้ครับ
ขอถอดจังหวะเพลงในโฆษณาให้ดูดังนี้ (โน้ตบรรทัดล่างไว้ให้เทียบนับจังหวะ)
อาจจะดูยุ่งเหยิงไปหน่อย แต่ประเด็นคือ สังเกตเนื้อหาของเพลงส่วนที่คล้ายกัน เช่น ช้อบชอบ ว่าตรงกับจังหวะที่ 7, 12, 20, 25 ตามลำดับ
ปัญหาก็คือไม่มีค่า a ใดที่ทำให้ (xi−a) มีค่าหารร่วมมากเป็นจำนวนเต็มที่มากกว่าหนึ่ง สำหรับ i∈{1,2,3,4} เมื่อ x คือหมายเลขจังหวะข้างต้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อพยายามแบ่งห้องให้กับโน้ตเพลงข้างต้นแล้ว จะพบว่ามันแบ่งไม่ลงตัว
ต้องมีห้องประหลาดที่มีจังหวะเกินมา ถึงจะทำให้เพลงลงพอดีห้องได้
ความจริงผมเองก็ไม่เคยได้เรียนทฤษฎีดนตรีมาแต่อย่างใด และก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน This Is Your Brain on Music โดย Daniel J. Levitin (วันก่อนเห็น The World In Six Songs โดยผู้แต่งคนเดียวกันเพิ่งวางแผงที่ Kinokuniya) ก็ไม่ทราบว่าความเข้าใจของผมเหล่านี้จะถูกต้องแค่ไหน
แต่การที่องค์ประกอบของเพลงเพลงหนึ่งจะหารลงตัวได้นั้น ผมว่าสำคัญมากต่อความน่าพึงประสงค์ของเสียงที่จะเกิดขึ้นมา
ลองเปรียบเทียบ ช้อบชอบ ข้างต้น กับในเพลงนี้ของยุ้ย ญาติเยอะ ที่ถึงแม้ชื่อเพลงจะสะกดไม่เป็นภาษา แต่อย่างน้อยองค์ประกอบของเพลงก็หารลงตัว (สังเกตท่อนสร้อย ตั้งแต่ประมาณวินาทีที่ 60)
ฟังดูรื่นหูกว่าใช่ไหมครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง (ที่อาจจะไม่เกี่ยวเท่าไร แต่หาเรื่องโพสท์) คือ Potter Puppet Pals in "The Mysterious Ticking Noise" ที่ชนะเลิศ YouTube Awards 2007 ประเภท comedy ครับ
...
ความจริงแล้วโฆษณาทิปโก้ข้างต้น อย่างน้อยโครงสร้างของสามห้องแรกกับสามห้องหลังก็ตรงกัน อาจจะถือว่ายอมรับได้ในระดับหนึ่ง (หรือยอมรับได้? อย่างที่บอก ว่าไม่มีความรู้)
เพราะยังไงก็คงไม่กวนโสตประสาทได้เท่าริงโทนของ PCT รุ่นหนึ่ง ที่ฟังแล้วอยากจะตามไปฆ่าเสียบประจานทำร้ายคนแต่ง เพราะเอาทำนอง theme ของ the Pink Panther มาใส่จังหวะเกินเข้าไปจนฟังไม่ได้ดังนี้ครับ
[ภาพประกอบจะตามมาภายหลัง]
ความจริงแล้วน่าสงสัยนะครับ ว่าความสามารถในการรับรู้ความลงตัวของจังหวะเพลงที่ว่ามานี้ อาจจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย (นึกถึงข่าว Perfect Pitch May Be Genetic ที่เคยเห็นใน WebMD)
เพราะไม่อย่างนั้นจะมีคนแต่งริงโทนดังกล่าวออกมา หรือเจ้าของโทรศัพท์ที่ผมเคยได้ยินจะทนใช้อยู่ทุกวันได้อย่างไร
...
ก่อนจะจบ ขอย้อนกลับมาเรื่องโฆษณาอีกครั้งดีกว่าครับ
คือจะขอแปะภาพยนตร์โฆษณาที่ผมยังคงชอบเป็นอันดับต้น ๆ ชิ้นนี้
ซึ่งพูดถึง TA Orange แล้ว ก็โยงกลับมาหารถไฟฟ้า BTS ได้อีก...
คงจะจำได้นะครับ ว่าโฆษณาเปิดตัวของ Orange เป็นโฆษณาชุดแรกที่มีการโฆษณาบนรถไฟฟ้าแบบเต็มขบวนทั้งด้านในและด้านนอก ด้วยสโลแกน "The future's bright, the future's Orange." (ซึ่งปัจจุบันนี้ Orange ก็เลิกใช้ไปแล้ว)
ผมเองยังว่าเป็นโฆษณาที่เปิดตัวได้อย่างสวยงามโดยแท้ และหลาย ๆ คนก็คงจะยังจำภาพยนตร์โฆษณาที่กวาดรางวัล TACT Awards ปี 2002 ไปได้ถึง 5 รางวัลนั้นได้เป็นอย่างดี
ก็จะขอส่งท้ายเอ็นทรีนี้ด้วย Get Closer ครับ