20 October 2022

Notes from the Book Expo (and the new QSNCC)

ไม่ได้อยากดูหน้งสืออะไรหรอก แต่รู้สึกต้องไปจาริกศูนย์ฯ สิริกิติ์ใหม่สักหน่อย แล้วพอดีช่วงนี้ห่างกันสักพักกับทวิตเตอร์อยู่ เลยได้โอกาสปัดฝุ่นบล็อกเสียบ้าง

ว่าเป็นข้อ ๆ ไปละกัน...

  • โอ้ ทางเชื่อมใต้ดินเข้าสถานี MRT แห่งที่ 5 แล้ว ใช้เวลาแค่ 18 ปีเอง (ประตูกั้นน้ำนี่ทองวิบวับเชียว)
  • ได้เห็นสักที อีเลขชั้นประหลาดตั้งมาให้งงแข่งกับพารากอน (ก็เหมือนจะเข้าใจได้มากขึ้นนิดนึง แล้วเพิ่งเห็นในวิกิพีเดียด้วยว่า lower ground floor นี่มีใช้กันจริง ๆ แต่ LM = lower mezzanine นี่มันได้เหรอ~)
  • ห้องน้ำติดตั้งก๊อกฝอยละอองนี่ก็ว้าวนะ เพิ่งเคยเห็น แต่นึกกลัว Legionella ไม่ก็ไอ้สารพิษใน Batman Begins ก่อนเลย แล้วประหยัดน้ำแต่เปลืองเวลาเหลือเกิน (ละก็มีความเพี้ยนงง ๆ อย่างไม่มีที่จ่ายสบู่บ้าง กระดาษเช็ดมืออยู่ด้านในไกลประตูบ้าง)
  • ดูตั้งใจสร้างภาพโลกที่ไม่มีโควิด-19 มาก จอสัมผัสเต็มไปหมด ขณะที่ทั้งตึกไม่มีที่กดแอลกอฮอล์สักจุด
  • ฟู้ดคอร์ทนี่เหมือนไม่ได้ตั้งใจอยากทำแต่แรกอะ ตำแหน่งการจัดวางอะไรต่ออะไรเลอะเทอะมาก ที่ซื้อคูปองไปซุกอยู่หน้าห้องน้ำ ตรงข้ามกะบันไดเลื่อนที่ลงมาเลย
  • การตกแต่งภายในก็สวยดีนะ ทางเข้าหันหน้าเข้าทะเลสาบนี่งดงามทำมาอวดแขกวีไอพีมาก แต่ตัวตึกดูไม่มีเอกลักษณ์แบบอันเก่า (ซึ่งก็เชยแล้วน่ะแหละนะ) เลยยังไงไม่รู้ (หรือแค่เพราะอันเก่ามันคุ้นเคยกว่า?) แต่น่าจะอยู่ที่ประเด็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ต้องทำยังไงถึงจะดูไทยน่ะแหละ
  • วันก่อนตอนที่เห็นพูดถึงกันว่าสร้างเสร็จก็งง ๆ ว่าอ้าวแล้วไหนว่าจะมีโรงแรมด้วยมันหายไปไหน ก็เห็น โสภณ พรโชคชัย วิจารณ์สรุปไว้ให้เรียบร้อยแล้ว อืมม... (ว่าแต่การสมัครผู้ว่า กทม.ฯ นี่ช่างเป็นการโปรโมตตัวเองที่ได้ผลดีจริง)

วิจารณ์อ้อมรอบศูนย์ฯ ละ เข้างานสักทีได้แล้วมั้ง

อ้ะ พองานมาจัดในฮอลล์ใหญ่แบบนี้แล้วไม่คุ้นเลย รู้สึกเหมือนตอนเห็นจัดที่อิมแพ็คที่เคยบ่นว่ามันไม่ได้ฟีล ไม่มี personality ของงานหนังสือที่คุ้นเคย เพราะอย่างแต่ก่อน มันจะมีรูปแบบการใช้พื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำ โซนนิทรรศการอยู่ตรงโถงทางเข้า ร้านใหญ่อยู่ใน Plenary Hall (ใหญ่สุดนานมี อยู่เฉียงไปทางขวา) แต่ร้านนายอินทร์จะไปอยู่โซน C กว้างเต็มชั้นบนในสุดด้านขวา ส่วนมติชนครองโซน Plaza ฯลฯ แต่พอมาอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมยักษ์แบบนี้ เลยเหมือนว่าจะย้ายไปจัดที่ไหนแทนก็ได้ ความเชื่อมโยงกับสถานที่มันหมดไปแล้ว

ว่าจะเดินผ่านเร็ว ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่เร็ว มีบางอย่างที่เตะตาจดมา

  • เข้าประตูมาไล่จากหัวมุมก็งงก่อนเลยว่า Kia ตั้งรถโชว์คืออะไร มาผิดงานเรอะ
  • เคยบ่น Thinknet ทำแผนที่แขวนผนังแต่ดันใช้ Mercator คราวนี้เหมือนแก้ตัวละ มาหมดเลย Robinson, Winkel tripel, Goode homolosine... แต่พิมพ์ใส่ผ้าใบวาดรูปนี่เล็กและแพงไปไปนะ
  • ฟ้าเดียวกัน ทอง มาก (ไม่มีรูปใด ๆ กล้องโทรศัพท์พัง )
  • กระแสแฟรนไชส์ Sapiens ยังไม่แผ่วเลยแฮะ คราวนี้มาเป็นหนังสือเด็ก Unstoppable Us ส่วน Guns, Germs and Steel ฉบับแปลก็ได้กระแสมาคล้าย ๆ กัน (ว่าแต่หนังสือมันปี 1997 เลยแฮะ)
  • เพิ่งเห็นว่ามติชนแปล Siamese Melting Pot
  • โซนประวัติศาสตร์และการเมืองนี่มีก้าวไกลทำห้องเสวนากับเพื่อไทยทำจอโฟนอินนี่ก็แอบงง ๆ เหมือนกัน (แต่ถ้ามี พปชร.ด้วยนี่คงยิ่งฟีลแปลกไปอีกเลย)
  • ว่าแต่เออ กลุ่มเป้าหมายของงานหนังสือฯ นี่อายุน้อยสักแค่ไหนนะ แล้วที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างหรือเปล่า
  • เพราะคือไม่ค่อยได้เดินก็หลายปีแหละ แต่เพิ่งเห็นว่านิยายวายคือโปรโมตเยอะ แบบ เยอะ มาก นายอินทร์นี่เป็นโซนวายไปล็อกนึง 1/5 ร้านเลยมั้ง ไม่ต้องพูดถึง สนพ.เฉพาะทางทั้งหลาย (ขนาดไม่ได้เข้าไปไล่ซอยโซนนิยายและวรรณกรรมนะ) กระทั่ง Asia Books ยังตั้ง Heartstopper เป็นกำแพงเต็มด้านนึงเลย
  • นึกดูก็ ช่างเป็นกระแสวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งอะไรขนาดนี้ ไม่แปลกแล้วมั้งที่จะเป็นอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ส่งออก เทียบกับที่ชอบเล่ากันว่าสมัยก่อนต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วก็ อืม วงการนี้มาไกลมากจริง

11 November 2021

Democracy with the monarch as head of state

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประโยคและวลีคลาสสิกที่คนไทยไม่มีใครไม่คุ้นเคย เพราะต่างถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เยาว์วัย แต่กลับลึกลับในความหมายที่ลื่นไหลอย่างน่าประหลาด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้วิจารณ์ว่ามันเป็นวลีที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสนอง “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” กันพอควร แต่ผมไม่เห็นด้วยนักนะ มันออกจะสื่อความหมายได้ชัดเจนและตรงประเด็นกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันอย่าง constitutional monarchy

เพราะการจำแนกระบอบการปกครอง ข้อสำคัญมันต้องอยู่ที่รูปแบบการบริหาร มากกว่าการดูแค่ว่าใครเป็นประมุขสิ อย่างบรูไนมีกษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญ ถ้าตีความตามตัวอักษรก็เรียกเป็น constitutional monarchy ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะ constitutional monarchy มันหมายถึงประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ วลีภาษาไทยที่ใช้กันจึงสื่อความหมายได้ดีกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่หลงค้างมาตั้งแต่สามร้อยปีก่อน และเข้าท่ากว่าศัพท์บัญญัติกำปั้นทุบดินอย่าง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ชวนประดักประเดิดยิ่งนัก

เรื่องความภักดีต่อศัพท์บัญญัติชวนประดักประเดิดนี่ต้องยกให้วิกิพีเดียเขาล่ะ

ผมเองน่าจะเพิ่งประจักษ์กับความแตกต่างนี้เมื่อช่วงรัฐประหารปี 2006 ตอนนั้นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีคนไปแก้กล่องข้อมูลในบทความ Thailand ที่ระบุระบอบการปกครองเป็น Constitutional monarchy โดยต่อท้ายเพิ่มว่า under military dictatorship ซึ่งก็ เออแฮะ พอเป็นวลีนี้มันก็มีความง่ายแบบแปลก ๆ ดี นัยว่าถึงจะยึดอำนาจเป็นเผด็จการทหาร แต่ระบอบกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกล้มล้าง ซึ่งเฮ่ยไม่ได้สิ ในเมื่อมันล้มล้างประชาธิปไตยเห็น ๆ ถ้าใช้ภาษาไทยตามที่บอกข้างต้นก็จะไม่เกิดการเลือนความหมายแบบนี้

แต่ถึงแม้วลี ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะสื่อความตามหลักภาษาได้ชัดเจนว่าประชาธิปไตยสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนประมุขเป็นอันดับรอง ก็เหมือนว่าความหมายโดยนัยนี้กลับกำลังถูกบางขั้วในสังคมพยายามบิดให้กลายเป็น ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ถ้าลองย้อนดูรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ จะเห็นว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ถึง 2521 มาตรา 2 ไม่ได้เขียนไว้อย่างปัจจุบัน แต่ใช้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สังเกตการเว้นวรรคที่สื่อว่าประชาธิปไตยกับประมุขนั้นเป็นสองประเด็นแยกกัน

การเอาช่องไฟออกและเติมคำเชื่อม อัน เข้าไป เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 และ 2534 ตามลำดับ และคงอยู่ต่อมาแต่นั้น ซึ่งนึกดูก็น่าคล้อยตามว่าเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกกันไม่ได้ของประชาธิปไตย (แบบไทย ๆ) ตามที่เขาว่า

แต่มาถึงวันนี้ ความหมายนั้นเหมือนจะกำลังถูกเปลี่ยนไปอีกขั้น พระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยอาจจะกลับมาแยกกันได้อีกครั้ง

แต่เป็นการแยกให้เห็นว่ามีอย่างเดียวที่สำคัญ

และเขาก็ได้บอกอย่างชัดแจ้งแล้ว ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย

15 August 2021

ว่าด้วย ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ

เอ็นทรีนี้ดัดแปลงจากโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2015 ซึ่งอ้างถึงบทความ “ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ” ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ในโลกสี่เหลี่ยมของเตรียมอุดม เมื่อปี 2013 และเผยแพร่ซ้ำผ่านเพจ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ในปี 2015

ผมเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนเสนอนะ ที่เขาบอกว่าฉันไม่ค่อยเก่ง จริง ๆ แล้วความหมายคือไม่เก่งเหมือนพวกเด็กโอฯ ที่มองอะไรก็เห็นไปถึงระดับอณูเหมือนนีโอใน The Matrix ส่วนที่เขาจำใจเรียนแบบท่องจำไปนั่นมันก็คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำนั่นแหละ แต่ที่แตกต่างคือเขาไม่สามารถทำใจหยุดยอมรับที่แค่นั้นได้

ไอ้คำถามอย่าง 1 คูลอมบ์แปลว่าอะไร หรือความหมายของหน่วยมูลฐานและมิติของปริมาณต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเข้าใจฟิสิกส์เป็นอย่างมาก แต่ครูก็ไม่เคยสอนจริง ๆ (ถึงจะอยู่ในภาคผนวกของหนังสือเรียน สสวท.ก็เถอะ) ซึ่งบางคนก็สามารถคิดเข้าใจเองได้ (ตอน ม.5 ผมเคยเถียงกับเพื่อนอยู่ว่าทำไมโมลถึงเป็นหน่วยมูลฐานทั้ง ๆ ที่เป็นปริมาณไร้มิติ) แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่

แล้วการที่ไม่มีใครสอนคอนเซปต์พื้นฐานพวกนี้มันเป็นปัญหาแค่ไหน อย่างที่เห็นจากโพสต์ต้นทาง มันไม่เป็นปัญหาต่อการสามารถคิดวิเคราะห์และทำโจทย์ที่อาศัยหลักการที่สูงขึ้นไปหรอก แต่มันบังคับให้ต้องทำโดยยอมรับบทบัญญัติหลาย ๆ อย่างไปโดยปริยาย หรือก็คือที่ผู้เขียนบ่นว่าต้องเรียนแบบท่องจำ

ซึ่งผู้เขียนเขาทำใจยอมรับตรงนี้ไม่ได้ เขาอยากจะสามารถสร้างมโนภาพถึงองค์ประกอบทุกอย่างขึ้นมา และเข้าใจที่มาที่ไปทุกอย่างของมันตั้งแต่ต้น เขาไม่อยากจำว่ามุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้ 180 องศา แต่เขาต้องการเห็นภาพว่าถ้าวาดเส้นขนานกับฐานของสามเหลี่ยม มุมแย้งของมุมฐานทั้งสองจะประกบกับมุมยอดของสามเหลี่ยมรวมกันได้เป็นมุมตรงพอดี เขาอยากเป็นเหมือนเด็กเก่งระดับเทพทั้งหลายที่ไม่ต้องท่องสูตร เพราะเข้าห้องสอบไปก็สามารถพิสูจน์สูตรเหล่านั้นขึ้นมาได้เองจากความเข้าใจ แต่เขายังไม่มีความสามารถมากพอที่จะเห็นเส้นที่ขนานกับฐานของสามเหลี่ยมนั้นได้เอง และอยากให้ครูสอนให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง

ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนนะ ในวิชาคณิตศาสตร์ ผมมีปัญหากับเรื่องฟังก์ชันตรีโกณมิติเป็นอันมาก เพราะคณิตศาสตร์ที่ผมเคยรู้จัก มันต้องเห็นที่มาที่ไปได้ชัดเจนพอที่จะสร้างมโนทัศน์ขึ้นในใจเองได้ เหมือนอย่างที่เราสามารถแรเงาพื้นที่ต่าง ๆ ในเซตที่อินเตอร์เซกกัน หรือนึกภาพลูกเต๋าในเรื่องความน่าจะเป็นได้โดยไม่ต้องยุ่งกับสูตรตัวเลขใด ๆ แต่กับตรีโกณมิติผมไม่สามารถทำได้

และพอไม่สามารถสร้างมโนทัศน์ได้ ก็เลยทำให้การเรียนเรื่องนั้น ๆ ดิ่งเหวไปเลย เพราะผมไม่สามารถท่องจำสูตรและสมการเหล่านั้นได้โดยปราศจากความเข้าใจ ในกรณีนี้ผู้เขียนข้างต้นยังประสบผลสำเร็จในการทำข้อสอบมากกว่าผม เพราะเขายังสามารถทนเรียนแบบท่องจำได้ ถึงแม้จะขัดใจตัวเองก็ตาม

ปัญหาก็คือเขาฉลาดพอที่จะเห็นว่าทุกอย่างมันควรเชื่อมโยงกันได้ แต่ยังไม่เก่งพอที่จะเห็นภาพความเชื่อมโยงเหล่านั้นได้เอง และแน่นอนว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้มุ่งที่จะช่วยเขาในจุดนี้

ทั้งนี้จะขอยังไม่กล่าวถึงประเด็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียน เพราะยุคสมัยที่ผ่านไปอาจจะทำให้เปรียบเทียบประสบการณ์กันได้ยากสักหน่อย

* * *

จริง ๆ แล้วผมว่ายังมีอีกคำถามที่สำคัญและน่าคิด ว่าความต้องการของผู้เขียน ที่จะเรียนฟิสิกส์ (ที่จริงก็รวมไปถึง formal sciences ทั้งหลายด้วย) โดยสร้างความเข้าใจทะลุปรุโปร่งในทุกด้าน มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า

สำหรับฟิสิกส์ระดับมัธยมปลาย ซึ่งแทบจะหยุดอยู่แค่ศตวรรษที่ 19 อาจยังไม่เห็นภาพชัดนัก แต่ก็มีอยู่เรื่อย ๆ ที่จะต้องพบเจอกับทฤษฎีบทที่ “เขาพิสูจน์มาแล้ว” แต่วิธีพิสูจน์นั้นต้องใช้ศาสตร์ที่ยังไม่ได้เรียน จึงต้องยอมรับไปก่อนโดยปริยาย แม้กระทั่งในเรขาคณิตระดับประถม เราก็ต้องท่องจำว่าปริมาตรของทรงกรวยเป็น 1/3 ของทรงกระบอก เพราะการพิสูจน์ที่มานั้นต้องใช้แคลคูลัส การท่องจำจากสิ่งที่มีคนคิดไว้ก่อนแล้วจึงแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในบรรดาศาสตร์รูปนัย

กระนั้นแล้ว คนที่ได้ร่ำเรียนจนหมดมวลความรู้ของมนุษยชาติในสาขานั้น ๆ ก็ควรจะสามารถมองทุกอย่างได้ทะลุปรุโปร่งอย่างที่ผู้เขียนต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันก็ยากที่จะเชื่อเหลือเกินว่าสมองของมนุษย์จะทรงพลังขนาดนั้น แล้วอย่างไรเสีย ต่อให้อัจฉริยะระดับไหน ก็คงไม่สามารถคิดวิเคราะห์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่ต้องแบ่งเป็นขั้นตอนเสียก่อน และในบรรดาขั้นตอนเหล่านั้น สุดท้ายแล้วยังไงมันก็มีสิ่งที่เราต้องจำไปใช้อยู่ดี แม้ว่าจะเคยคิดวิเคราะห์ไว้เองก็ตาม

15 January 2021

15... 20 years of Wikipedia

เอ็นทรีนี้คัดลอกจากโพสต์เก่าในเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อวาระที่วิกิพีเดียครบรอบ 15 ปี ไหน ๆ ตอนนี้ครบ 20 ปีแล้ว ก็ขอเอามาแปะในบล็อกด้วยแล้วกัน

เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่มีวิกิพีเดียมานานกว่าที่ไม่มีแล้ว นึกดูก็แปลกดี จำได้ว่า google เจอ Wikipedia ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ตอนหาข้อมูลทำพรีเซนต์เรื่องวัฒนธรรมแคนาดาของ'จารย์ Jacobsen

ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรหรอกว่ามันเป็น open content ที่ใครก็ร่วมเขียนได้อะไรยังไง มารู้จักจริงจังก็ช่วงปี 2005–06 ที่กระแส Web 2.0 กำลังมาแรง ซึ่งวิกิพีเดียนี่น่าจะนับได้เลยว่าเป็นผลิตผลของ Web 2.0 ที่ revolutionary ที่สุด

แต่ก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นยังไง ใน 15 ปีที่ผ่านมานี้ พอจะเห็นได้ว่า 5 ปีแรกเป็นช่วงของการตั้งต้นเงียบ ๆ 5 ปีถัดมาเป็นการเติบโตพุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว และ 5 ปีหลังนี้เริ่มนิ่งและอยู่ตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ว่าพลังงานและพลวัตของผู้ร่วมเขียนเว็บไซต์มันเริ่มแผ่วลงมานานแล้ว เราเองก็คงได้แต่สงสัยว่าในอนาคต เราจะยังมีแหล่งความรู้ของมวลมนุษยชาติที่กว้างขวางและเข้าถึงได้ง่ายอย่างวิกิพีเดียอยู่อีกหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ชัดคือวิกิพีเดียได้ปฏิวัติการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ของเราไปแล้วตลอดกาล

2 December 2020

ปัญหาของการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมเคยกล่าวถึงประเด็นการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือมาบ้างแล้ว และเคยได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสนอให้กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททาง Facebook Messenger แต่เหมือนว่าเขาจะไม่สะดวกเลยมิได้ตอบกลับ แต่ไหน ๆ แล้ว ขอเอามาแปะไว้ตรงนี้อีกที่หนึ่งแล้วกัน เผื่อใครสนใจ


สวัสดีครับ

ผมเห็นว่าที่ผ่านมา ELSiam ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมลูกเสือฯ มาเป็นระยะ ๆ จึงอยากเสนอประเด็นที่อาจสนใจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์อีกอย่างหนึ่ง คือความสมัครใจในการเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมไม่แน่ใจว่า ELSiam เคยรณรงค์เรื่องนี้มาแล้วแค่ไหนบ้างนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าน่าแปลกใจเกี่ยวกับการลูกเสือในประเทศไทย คือการเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ที่นักเรียนทุกคน “ต้อง” เข้าร่วมโดยปริยาย ซึ่งแตกต่างเป็นอันมากจากในประเทศต้นกำเนิด ที่เน้นความสมัครใจเข้าร่วมเป็นแก่นสำคัญอย่างหนึ่งของกิจการลูกเสือ (ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะลูกเสือนะครับ เพราะไม่ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ)

ทั้งนี้ธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกเองให้นิยามกิจการลูกเสือไว้ว่า

The Scout Movement is a voluntary non-political educational movement for young people open to all without distinction of gender, origin, race or creed, in accordance with the purpose, principles and method conceived by the Founder and stated below.

ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย กิจการลูกเสือมีสถานะพิเศษ มีกฎหมายรับรองการสนับสนุนจากรัฐโดยตรง สืบเนื่องจากที่มีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้ง แต่กระนั้นก็ตาม ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติก็ระบุชัดเจนว่า

ให้เด็กชายเป็นสมาชิกของกองลูกเสือตามความสมัครใจ

แนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับกับหลักการความสมัครใจนี้ ผมพบปรากฏในเอกสารทางการคือ แนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.

ทั้งนี้หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดให้โรงเรียนจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ และระบุกิจกรรมนักเรียนไว้สองประเภท คือ (1) กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร และ (2) กิจกรรมชุมนุม ชมรม

จะเห็นว่าหลักสูตรแกนกลางฯ มิได้กล่าวถึงการบังคับเข้าร่วมแต่อย่างใด แต่คู่มือแนวทางการจัดกิจกรรม ของสพฐ. กลับเขียนไว้ว่า

นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในข้อ 1 และ 2

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือโดยตรง

การบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนแล้ว ผมมองว่ายังเป็นผลเสียต่อกิจการลูกเสือในประเทศไทยอีกด้วย เพราะเมื่อผู้เข้าร่วมไม่เต็มใจ ตัวกิจกรรมก็ย่อมมีแนวโน้มจะถูกมองในแง่ลบ

และที่สำคัญ ยังจะทำให้คณะลูกเสือแห่งชาติขาดคุณสมบัติสมาชิกภาพตามบทบัญญัติของธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกอีกด้วย เพราะธรรมนูญระบุคุณสมบัติไว้ข้อหนึ่งว่า

Establishment of the National Scout Organization as an independent, non-political, voluntary movement of probity and effectiveness.

ผมเคยได้รับทราบข้อมูลว่า มีองค์กรลูกเสือบางประเทศเคยถูกระงับสมาชิกภาพ เนื่องจากบังคับให้เยาวชนเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ยังไม่มีโอกาสสืบค้นรายละเอียดว่าหมายถึงประเทศไหน เมื่อไร แต่หากข้อมูลที่ผมได้รับมานั้นถูกต้อง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่าองค์การลูกเสือโลกเขามองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ร้ายแรงทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้คงไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ และย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ผมนำข้อมูลนี้มาเสนอ เผื่อว่า ELSiam จะสนใจนำไปเรียบเรียงและใช้ประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการศึกษาได้ตระหนักถึงความขัดแย้งนี้ และดำเนินการแก้ไขต่อไป

และหากผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยจะมองว่าไม่สำคัญ การส่งเรื่องให้องค์การลูกเสือโลกช่วยตรวจสอบ อาจจะช่วยเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทางที่ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

ขอฝากให้พิจารณาด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ