26 June 2008

ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์...

...คือสามสิ่งที่ส่งเสริมความแตกแยกของคนเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

พูดถึงความแตกแยก ผมว่ามันเป็นธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ครับ

สิ่งมีชีวิตเราวิวัฒนาการมาบนหลัก survival of the fittest อย่างไร ก็ยังเห็นเงาสะท้อนของหลักที่ว่าแทรกซึมอยู่ภายใต้ความเป็นไปต่าง ๆ ของเราในปัจจุบันได้อย่างนั้น

ถึงแม้ว่าในกระบวนการสรรค์สร้างวัฒนธรรม มนุษย์จะได้พัฒนารูปแบบของสังคมเพื่อจำกัดผลกระทบของความแตกแยกไว้บ้าง ความแตกแยกเองก็ยังเป็น [defining element] หนึ่งที่แทรกอยู่ในทุกระดับของสังคม

การเมืองเอง มีวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อกดความแตกแยกในสังคมเอาไว้ ให้อยู่ในระดับต่ำพอที่จะให้สังคมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และพัฒนาโครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้* แต่นั่นก็หมายความว่าความแตกแยกยังเป็นองค์ประกอบหลักที่ถูกกดเอาไว้อยู่ในหัวใจของการเมืองนั่นเอง

ประชาธิปไตยซึ่งอาศัยการเลือกตั้ง เป็นระบบที่สะท้อนความแตกแยกที่อยู่ในหัวใจของการเมืองได้อย่างชัดเจน... ยกตัวอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ: ในระดับสูงสุดแล้ว การเมืองกำหนดกติกาไว้ว่าใครที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งทุกคนในประเทศต้องยอมรับ แต่ภายใต้นั้นก็คือความแตกแยกระหว่าง Democrats และ Republicans ซึ่งตบตีกันได้ตลอดปีตลอดกาล ถ้าย้อนลึกลงไปถึงการเลือกผู้แทนพรรคฯ ก็เห็นว่าในพรรคเดียวกันเอง ก็ยังตบตีกันเลือดสาดไม่น้อยกว่าในระดับประเทศ และก็เป็นเช่นนี้ย้อนลงไปถึงหน่วยย่อยที่สุดของสังคม

ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งทำให้เกิดความแตกแยก อย่างที่สภาวการณ์ชวนให้เข้าใจ เพียงแต่มันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความแตกแยกที่ซ่อนอยู่ภายในเท่านั้นเอง ก็นับได้ว่าเป็นเรื่อง [ironic] ไม่น้อย เพราะการเมืองนั่นแหละ ที่กดความแตกแยกนั้นเอาไว้ไม่ให้เห็นตั้งแต่แรก

ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ก็เป็นหัวใจหลักของการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร เพราะมันทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดขอบเขตของความสามัคคี ที่การเมืองจะต้องสร้างขึ้นมา เราจึงมักเห็น ได้ยิน และถูกส่งเสริมให้เชื่อในสังคมที่มีความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในกรอบของชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์นี้

หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่ง ว่าชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตของความแตกแยก ที่จะ [project] ออกไปยังสังคมอื่นนอกเหนือจากของตน

จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์นี่เอง ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะบั่นทอนและบ่อนทำลายความรัก ความเข้าใจ และความสามัคคีที่แท้จริง ที่จะเกิดขึ้นได้บนโลกนี้ (ยังไม่นับว่าถ้ามีชีวิตนอกโลกอีก เรื่องราวอาจจะซับซ้อนยิ่งขึ้น)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำจำกัดความคำ สามัคคี ไว้ว่า

สามัคคี น. ความพร้อมเพรียงกัน, ความปรองดองกัน. ว. ที่พร้อมเพรียงกันทำ, ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ, เช่น กฐินสามัคคี ผ้าป่าสามัคคี. (ป.; ส. สามคฺรี)

สังเกตนะครับ ว่าไม่มีอะไรที่พูดถึงการเกลียดคนอื่นเลยสักนิด

ความสามัคคีที่เราถูกปลูกฝัง ถูกโฆษณาชวนเชื่อกันมา ที่ได้ยินกันอยู่ทั่วไปทุกวันนี้ รังแต่จะเป็นความสามัคคีจอมปลอมที่อ้างขึ้นเพื่อให้ร่วมกันเกลียดคนอื่น ให้ร่วมกันสู้รบกับศัตรู โดยที่มิได้คำนึงถึงความสามัคคีที่แท้จริง ที่จะช่วยให้เราสามารถสรรค์สร้างความเจริญของสังคมมนุษย์ร่วมกันโดยพร้อมเพรียงและปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหน เชื้อชาติหรือศาสนาอะไร

มนุษย์เราเดินทางออกห่างจากพื้นฐานเดิมของธรรมชาติมากขนาดนี้แล้ว แต่ก็ยังพยายามต่อสู้กับศัตรูต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอก โดยไม่เห็นถึงศัตรูที่แท้จริงที่อยู่ภายใน...

เมื่อไรนะ เราถึงจะหันมาพูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ได้เสียที

See also: Imagine


*ทีแรกอยากจะพูดถึง enthalpy ของสังคม แต่ความรู้ thermodynamics อันน้อยนิดมันหายไปไหนหมดแล้วไม่ทราบได้

3 June 2008

โลกร้อน: อย่าดีแต่ปาก สักแต่ว่าพูด

เมื่อปีที่แล้วผมเคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ [awareness] เรื่องภาวะโลกร้อนในประเทศไทยไว้นิดนึง... เอาเข้า ถึงตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่าดูภาวการณ์น่าเป็นห่วงจริง ๆ

เพราะไม่ว่าทั้งภาครัฐหรือเอกชน ต่างฝ่ายก็ยังไม่เห็นมีใครทำอะไรที่ดูจะพอจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันในอนาคตอันใกล้นี้เลย (หรือผมไม่เห็นเอง?) วัน ๆ เดี๋ยวนี้เห็นมีแต่จะเอาเรื่องภาวะโลกร้อนไปเป็นเครื่องมือหากิน บ้างยังพยายามทำเป็นรณรงค์โน่นนิดนี่หน่อย บ้างก็ทำโลกร้อนเองเสียดื้อ ๆ ด้วยซ้ำ

ความรู้ความเข้าใจของประชาชน และความตระหนักในปัญหา มันไม่ได้สร้างกันง่าย ๆ

เพราะตอนนี้ผมมีเหตุให้ต้องสงสัยอยู่มากทีเดียว ว่าคนที่เข้าใจถึงสาเหตุของภาวะโลกร้อนในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีมากกว่าคนที่กำลังแตกตื่นกันอยู่เรื่องวันที่จะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมโลกเท่าไรเชียว

ไว้มีเวลาจะมาขยายความแล้วกัน ระหว่างนี้ก็ขอให้คลิกไปอ่านบทความจากจดหมายข่าวกรีนพีซ เดือนกันยายน-ธันวาคม 2550 เรื่อง กรีนพีซปลื้มคนไทยสนใจโลกร้อน เตือนอย่าเห็นเป็น "แฟชั่น" ฮิตแล้วเลิก: แนะต้องเฝ้าจับตานโยบายรัฐ-เร่งปฏิบัติจริงจัง ไปพลาง ๆ ก่อนนะครับ


ป.ล. ผมยังไม่แนะนำให้รีบหาทางซื้อรถที่รองรับน้ำมัน E85 นะครับ ไม่ทราบว่าเร็วแค่ไหนรัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบายตามอำเภอใจอีก หรือนานแค่ไหนจะรู้ตัวกันว่าเอาที่นาไปปลูกอ้อยหมดจนไม่มีข้าวกินกันแล้ว

ป.ป.ล. เรื่องน้ำมันแพง มองในแง่หนึ่งก็ [ironic] ดีนะครับ ถือได้ว่าเป็นภาษี CO₂ ที่ไม่ได้ตั้งใจไปในตัว