28 September 2008

ประเทศไทย~

ผมเพิ่งสังเกตอะไรบางอย่างจาก Google Maps...

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถมองเห็นพรมแดนประเทศได้ชัดเจนผ่านดาวเทียม!

พระเจ้าช่วย ตายละ... นึกถึงการ์ตูนมหาสนุกสักเรื่องที่เคยอ่านเมื่อนานมากมาแล้ว ที่เกี่ยวกับเจ้าหญิง (ทำนองนี้) ที่จะหนีจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาประเทศไทย แล้วบอกว่ารู้ว่ามาถึงประเทศไทยแล้ว เพราะภูเขาลูกต่อไปไม่มีต้นไม้

ไม่นึกว่าจะจริงขนาดนี้

26 September 2008

On ads, rhythm and the BTS

ครับ หัวข้อนี้ที่จริงค้างมาเดือนกว่าแล้วยังไม่ได้เขียนสักที จนชักน่ากลัวว่าจะเริ่มล้าสมัย ยังไงอาจจะต้องจินตนาการย้อนไปนิด คงไม่เป็นไรนะครับ

อยากจะพูดถึงเรื่องโฆษณา...

ปัจจุบันนี้ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสติดตามสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์เท่าไรครับ (ห่างเหินกับกล่องสี่เหลี่ยมนั้นมากขึ้นทุกที)

ภาพยนตร์โฆษณาที่มีโอกาสได้เห็นส่วนใหญ่ก็จะเหลือแต่ที่ฉายบนสถานี/รถไฟฟ้า BTS เสียเท่านั้น

เพราะขนาดเพลง "เรื่องจริง" ของบอย(ด์) ที่ช่วงตอนอยู่ดมยา (วิสัญญี - ประมาณต้นเดือน ก.ค.) นับว่าได้ยินจากวิทยุในห้องผ่าตัดแทบจะทุกวัน วันละหลายครั้ง จนเกือบจะเอียน (แข่งกับ "เพื่อน" ที่ร้องใหม่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์รัก สาม เศร้า) ผมยังเพิ่งจะทราบว่าเป็นเพลงประกอบโฆษณา Canon ก็ตอนที่เห็นอยู่ในอัลบั้ม Songs from Different Scenes #5 นี่เอง

ซึ่งเรื่อง SFDS นั่นก็ไม่ได้รู้มาจากไหน ก็โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้านั่นแหละครับ

ความจริงเรื่องโฆษณาบนรถไฟฟ้า ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพคงไม่เห็นด้วยเท่าไร

ซึ่งเรื่องเสียงดังนี่ผมก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกันนะครับ แต่พูดไปก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าตัวกลายเป็น [hypocrisy] หรือเปล่า เพราะผมก็อาศัยโฆษณาเหล่านั้นเพื่อความบันเทิงเหมือนกัน (แต่ก็สังเกตอยู่ว่าระดับความดังมันฟังดูไม่ค่อยจะเสมอต้นเสมอปลายเอาเท่าไร)

เอาเถอะนะครับ ยังไงก็อยากจะขอพูดถึงโฆษณาที่เห็นช่วงที่ผ่านมา (บวกกับอีกเดือนเศษ) สักหน่อย

ผมชอบโฆษณา "50 ปี การไฟฟ้านครหลวง" ครับ

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=MjCsCZb2VdE">Link</a>

ด้วยความที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหลักการสร้างสรรค์สื่อโฆษณาแต่อย่างใด ก็จะไม่ขอวิจารณ์รายละเอียดนะครับ

นอกจากนี้ก็มีโฆษณาของธนาคารกสิกรไทย ที่ไม่ได้ติดใจอะไรมากมายหรอกครับ เพียงผมรู้สึกว่าสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้คนดูจำได้ดีมาก (แต่จะกลายเป็นจำโฆษณาได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์หรือเปล่านี่ไม่ทราบนะครับ) ขนาดที่ผมเห็น trailer โฆษณาตัวอย่างภาพยนตร์ของจริงบางอันแล้วยังนึกว่าตอนจบจะเป็นโฆษณาธนาคารกสิกรไทย แต่ไม่ใช่เสียนี่

ส่วนโฆษณาที่น่ารำคาญที่สุด (ซึ่งจากการ google ดูคร่าว ๆ ผมว่ามีคนเห็นด้วยกับผมไม่น้อย) ก็คงไม่พ้นโฆษณาชุด "นามาฉะ นะมาชะ กรีนลาเต้" ครับ (อันนี้ไม่ต้องใช้ความรู้ด้านการสร้างสรรค์สื่อในการวิจารณ์)

ความน่ารำคาญนี่ไม่เกี่ยวกับข้อที่น่าสงสัยว่าทำไมถึงสะกดชื่อผลิตภัณฑ์แบบนั้น (เข้าใจว่าคงไม่เขียนตามเสียงอ่านว่า นามาฉะ แต่ทำไมถึงสะกดว่า นะมาชะ แทนที่จะเป็น นะมะชะ ถ้าจะถอดคำตามภาษาต้นแบบ?)

แต่นอกจากความน่ารำคาญโดยพื้นฐานที่ใครเห็นก็คงรู้สึกได้ (การทำหน้าบู้บี้แล้วพูดอะไรไม่รู้เรื่อง) ความไร้เหตุผลของแนวคิดของตัวโฆษณานี่ ผมว่าเกือบจะแย่กว่าด้วยซ้ำ

เพราะความหมายมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว Namacha คือชื่อผลิตภัณฑ์ green แปลว่าเขียว latte แปลว่ากาแฟใส่นม

รวมกันก็เป็น นามาฉะ กาแฟเขียว ไม่เห็นมีอะไรน่างงตรงไหนแม้แต่น้อย (นอกจากชื่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าอันนั้นเป็นปัญหาก็ไปเกิดใหม่เถอะ)

จะมา ชานามา เขียวแฟกา มาชานา แฟกาเขียว ฯลฯ ทำบ้าอะไร เพื่อ?

เลิกฉายไปนี่โล่งใจเวลาขึ้นรถไฟฟ้าขึ้นเยอะครับ (ไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครคิดจะอัพโหลด)

ส่วนโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่ผมรู้สึกขัดหูขัดตาเป็นพิเศษ คือโฆษณา "ทิปโก้ คูลฟิต" ชิ้นนี้ครับ

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=L8Tcge79cJE">Link</a>

ไม่แน่ใจว่าคนอื่นฟังแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง แต่ผมจะขออธิบายความรำคาญของผมดังนี้ครับ

ขอถอดจังหวะเพลงในโฆษณาให้ดูดังนี้ (โน้ตบรรทัดล่างไว้ให้เทียบนับจังหวะ)

อาจจะดูยุ่งเหยิงไปหน่อย แต่ประเด็นคือ สังเกตเนื้อหาของเพลงส่วนที่คล้ายกัน เช่น ช้อบชอบ ว่าตรงกับจังหวะที่ 7, 12, 20, 25 ตามลำดับ

ปัญหาก็คือไม่มีค่า a ใดที่ทำให้ (xia) มีค่าหารร่วมมากเป็นจำนวนเต็มที่มากกว่าหนึ่ง สำหรับ i∈{1,2,3,4} เมื่อ x คือหมายเลขจังหวะข้างต้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อพยายามแบ่งห้องให้กับโน้ตเพลงข้างต้นแล้ว จะพบว่ามันแบ่งไม่ลงตัว

ต้องมีห้องประหลาดที่มีจังหวะเกินมา ถึงจะทำให้เพลงลงพอดีห้องได้

ความจริงผมเองก็ไม่เคยได้เรียนทฤษฎีดนตรีมาแต่อย่างใด และก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน This Is Your Brain on Music โดย Daniel J. Levitin (วันก่อนเห็น The World In Six Songs โดยผู้แต่งคนเดียวกันเพิ่งวางแผงที่ Kinokuniya) ก็ไม่ทราบว่าความเข้าใจของผมเหล่านี้จะถูกต้องแค่ไหน

แต่การที่องค์ประกอบของเพลงเพลงหนึ่งจะหารลงตัวได้นั้น ผมว่าสำคัญมากต่อความน่าพึงประสงค์ของเสียงที่จะเกิดขึ้นมา

ลองเปรียบเทียบ ช้อบชอบ ข้างต้น กับในเพลงนี้ของยุ้ย ญาติเยอะ ที่ถึงแม้ชื่อเพลงจะสะกดไม่เป็นภาษา แต่อย่างน้อยองค์ประกอบของเพลงก็หารลงตัว (สังเกตท่อนสร้อย ตั้งแต่ประมาณวินาทีที่ 60)

<a href="http://www.imeem.com/itums/music/qG9ObC1P/yui/">Link</a>

ฟังดูรื่นหูกว่าใช่ไหมครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง (ที่อาจจะไม่เกี่ยวเท่าไร แต่หาเรื่องโพสท์) คือ Potter Puppet Pals in "The Mysterious Ticking Noise" ที่ชนะเลิศ YouTube Awards 2007 ประเภท comedy ครับ

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=Tx1XIm6q4r4">Link</a>

...

ความจริงแล้วโฆษณาทิปโก้ข้างต้น อย่างน้อยโครงสร้างของสามห้องแรกกับสามห้องหลังก็ตรงกัน อาจจะถือว่ายอมรับได้ในระดับหนึ่ง (หรือยอมรับได้? อย่างที่บอก ว่าไม่มีความรู้)

เพราะยังไงก็คงไม่กวนโสตประสาทได้เท่าริงโทนของ PCT รุ่นหนึ่ง ที่ฟังแล้วอยากจะตามไปฆ่าเสียบประจานทำร้ายคนแต่ง เพราะเอาทำนอง theme ของ the Pink Panther มาใส่จังหวะเกินเข้าไปจนฟังไม่ได้ดังนี้ครับ

[ภาพประกอบจะตามมาภายหลัง]

ความจริงแล้วน่าสงสัยนะครับ ว่าความสามารถในการรับรู้ความลงตัวของจังหวะเพลงที่ว่ามานี้ อาจจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย (นึกถึงข่าว Perfect Pitch May Be Genetic ที่เคยเห็นใน WebMD)

เพราะไม่อย่างนั้นจะมีคนแต่งริงโทนดังกล่าวออกมา หรือเจ้าของโทรศัพท์ที่ผมเคยได้ยินจะทนใช้อยู่ทุกวันได้อย่างไร

...

ก่อนจะจบ ขอย้อนกลับมาเรื่องโฆษณาอีกครั้งดีกว่าครับ

คือจะขอแปะภาพยนตร์โฆษณาที่ผมยังคงชอบเป็นอันดับต้น ๆ ชิ้นนี้

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=6UOEw88MQFU">Link</a>
Sharing โดย TA Orange ครับ

ซึ่งพูดถึง TA Orange แล้ว ก็โยงกลับมาหารถไฟฟ้า BTS ได้อีก...

คงจะจำได้นะครับ ว่าโฆษณาเปิดตัวของ Orange เป็นโฆษณาชุดแรกที่มีการโฆษณาบนรถไฟฟ้าแบบเต็มขบวนทั้งด้านในและด้านนอก ด้วยสโลแกน "The future's bright, the future's Orange." (ซึ่งปัจจุบันนี้ Orange ก็เลิกใช้ไปแล้ว)

ผมเองยังว่าเป็นโฆษณาที่เปิดตัวได้อย่างสวยงามโดยแท้ และหลาย ๆ คนก็คงจะยังจำภาพยนตร์โฆษณาที่กวาดรางวัล TACT Awards ปี 2002 ไปได้ถึง 5 รางวัลนั้นได้เป็นอย่างดี

ก็จะขอส่งท้ายเอ็นทรีนี้ด้วย Get Closer ครับ

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=luD8ibJFevA">Link</a>

*Note: Copyright of posted media are owned by their respective owners.

22 September 2008

Observances galore

วันนี้เป็นวันศารทวิษุวัต (autumnal equinox ในซีกโลกเหนือ) ครับ

บางคนอาจจะรู้สึกบ้างว่าไอ้นี่มันจะอะไรนักหนา วันโน่นวันนี่เยอะแยะ ไม่เห็นมีอะไรสักอย่าง

ก็จริงแหละครับ (เหอะ ๆ)

แต่ถึงแม้วันวิษุวัตกับวันอายันจะดูเหมือนไม่มีความสำคัญกับชีวิตเราเท่าไร เพราะปฏิทินในปัจจุบันก็ไม่ได้นับวันปีใหม่ตามปรากฏการณ์ในการโคจรของโลก ผมว่ามันก็ยังเป็นวาระที่น่าระลึกถึงอยู่ (อย่างน้อยก็มีความผูกพันพื้นฐานกับธรรมชาติมากกว่าการนับวันหยุดกลางปีธนาคาร)

อ้อ เผื่อใครไม่ทราบ วันวิษุวัตคือวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน (แกนของโลกตั้งฉากกับรัศมีวงโคจร) นะครับ (ส่วนศารท แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง)

มาถึงเรื่องที่เอ่ยไว้ตามหัวข้อข้างบน...

ที่จริงก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้นหรอกครับ

เพียงแต่จะบอกว่าช่วงนี้วันที่ 19 ที่ผ่านมาก็เป็นวันครบรอบรัฐประหารธรรมดา ๆ อีกวันหนึ่ง วันที่ 20 เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ วันนี้เป็นวันวิษุวัต แล้วมะรืนนี้ (วันที่24) ก็เป็นวันมหิดล

ยังมีวันอาทิตย์ที่แล้ว (วันที่ 14) เป็นวันไหว้พระจันทร์ และวันจันทร์หน้า (วันที่ 29) เป็นวันสารทไทย

(สองวันหลังนี่ถึงกับต้องไปหาปฏิทินเปิดดู - สะท้อนให้เห็นว่าปฏิทินจันทรคตินี่ใช้ในชีวิตประจำวันน้อยจริง ๆ... นี่ถ้าวันพระใหญ่ไม่ได้เป็นวันหยุดนะ...)

ความจริงผมไม่เคยทราบหรอกครับว่าวันไหว้พระจันทร์นี่มีเมื่อไร (ปีนี้ยังไม่เห็นขนมไหว้พระจันทร์ด้วยซ้ำ) เพิ่งได้ความรู้ใหม่เมื่อครู่นี้เองว่าเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 8 ตามปฏิทินจีน

ส่วนวันสารทไทยนี่ยิ่งแล้วใหญ่ครับ ถ้าไม่ได้อ่านในหนุ่มชาวนา (หนังสือนอกเวลาตอน ม.1 (ใช่เปล่านะ )) ก็คงไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10

(ความจริงไม่แน่ใจหรอกครับว่าในหนังสือนี่พูดถึงว่าไงบ้าง (หนังสือไม่อยู่ในความครอบครองแล้ว) แต่จำได้ว่ามีพูดถึง)

เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความห่างเหินระหว่างสภาพสังคมที่เราอยู่กับที่กล่าวถึงในหนังสือได้ชัดเจนเหมือนกันนะครับ

เพราะผมยังไม่ทราบเลยครับว่าวันสารทไทยนี่มีความสำคัญอย่างไร (นอกจากว่ามีขนมกระยาสาท (กับกล้วยไข่)... อันนี้เหมือนได้มาจากหนังสือของซีเอ็ดสักชุดมั้ง ไม่แน่ใจเท่าไร แต่ยังไม่บ้าพลังพอที่จะไปค้น)

คนที่เป็นเหมือนผม ยังไงลองตามไปอ่าน "๒๒ กันยายน [๒๕๔๙] วันสารทไทย : วันทำบุญกลางปีเพื่อสิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษ" โดยอมรรัตน์ เทพกำปนาท (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) ดูนะครับ

...

ความจริงเดือนกันยายนนี่เป็นเดือนที่ไม่มีวันหยุดราชการ (เช่นเดียวกับเดือนพฤศจิกายน (ส่วน ก.พ. มี.ค. มิ.ย. นี่แล้วแต่วันพระใหญ่จะตกเดือนไหน))

แต่ก่อนก็ไม่ค่อยได้สังเกตเท่าไรหรอกครับ เพราะยังไงก็มีปิดเทอม...

เฮ้อ...

6 September 2008

Recycle? How?

เห็นสองสามวันมานี้ชอบมีส่วนร่วม ชอบแถลงการณ์กันจริง ทีแรกก็คิด ๆ อยู่ ว่าจะแต่งแถลงการณ์ส่วนตัวโพสท์ในนี้ ไม่ให้คนเข้าใจผิดว่ามีส่วนร่วมกับแถลงการณ์อื่นด้วย เอาให้มีข้อเรียกร้องให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแก้ไขชื่อเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อต่อต้านประชาธิปไตย" หรือไม่ก็ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" เพื่อความเข้าใจตรงกันในการถกเถียงปัญหา ให้รู้ชัด ๆ ว่าใครต้องการอะไรกันแน่ แล้วก็บอกแถมด้วยว่าผู้แถลงการณ์ "เคารพและให้ความสำคัญในสิทธิของบุคคลที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน" แต่เสียบเข้าไปหน่อยว่า "การเรียกร้องเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองนั้นไม่ควรทำโดยนำ 'ผลประโยชน์' ของประชาชนซึ่งอาจมิได้มีอุดมการณ์ร่วมด้วยมาเป็นข้ออ้าง" และ "การทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนวิธีอื่น ๆ อันไม่อาจนับได้ว่าอารยชนพึงยอมรับนั้น นับเป็นการกระทำที่น่าตำหนิ"...

แต่คิด ๆ ดูแล้ว ทำไปก็คงเปลืองสมอง เปลืองทรัพยากรเปล่า ๆ ไม่จรรโลงใจหรือก่อประโยชน์อะไรขึ้นมา ก็เลย... ช่างมันเถอะ

มาพูดถึงเรื่องที่ค้างคากันมาหลายสัปดาห์แล้วดีกว่าครับ...

วันก่อน ขณะกำลังเดินไปทางศาลาพระเกี้ยวผ่านคณะรัฐศาสตร์ ผมก็ได้พบเห็นภาพหนึ่งที่ติดตาผมอย่างมากครับ

อ่า... ครับ น่าเสียดายที่ผมถ่ายภาพนั้นเก็บไว้ไม่ทัน จึงมีแต่ภาพที่ตัดต่อห่วย ๆ นี้มาให้ดู

แต่ผมว่าภาพนี้ก็สื่อความหมายที่ผมเห็นตอนนั้นได้ดีทีเดียว

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเห็นเหมือนกับที่ผมเห็นหรือเปล่า แต่สำหรับผม ภาพนี้มันช่าง ironic อย่างหาที่เปรียบได้ยากจริง ๆ ครับ

ถังขยะ recycle รุ่นเก่า (จำนวนเทียบเท่า) สามใบ ที่ป้ายฉลากเลือนหายไปเกือบหมดแล้ว และใช้รหัสสีที่คงไม่มีใครจำได้¹ ถูกวางเรียงกันอยู่อย่างไม่มีใครใส่ใจเท่าไร ชิ้นส่วนหัว-หางสลับกันปนเปไปหมด ต่อให้ใครที่จำได้ว่าแต่ละสีนั้นหมายถึงอะไร ก็คงไม่มีปัญญาเลือกทิ้งได้ถูก และถึงกระนั้น ก็คงไม่เกิดผลอันใด เพราะเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ของมัน เหลือเป็นได้เพียงถังขยะธรรมดา ๆ สามใบ ที่จะทิ้งอะไรก็ได้เท่านั้น (ขอให้ทิ้งลงถังก็บุญแล้ว)

แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะมีวิธีแยกขยะที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการทิ้งขยะแยกถังอยู่แล้ว นั่นก็คือหญิงสาวคนนี้ที่เดินเก็บขวดพลาสติกตามถังขยะอยู่นี่เองครับ

แน่นอนว่าเธอไม่ได้อยู่คนเดียว อย่างไรเสียคงต้องมีคนอื่นที่คอยเก็บกระป๋อง เก็บขวดแก้ว เก็บอะไรต่อมิอะไรที่พอจะเอาไปทำความสะอาดเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกเป็นแน่แท้

เขาเหล่านี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่ง (ร่วมกับเหล่ากองทัพซาเล้ง และอื่น ๆ) เบื้องหลังกระบวนการ recycle ของประเทศนี้ ที่เป็นส่วนเติมเต็มช่องที่เหลือว่างอยู่จากความขาดระเบียบวินัย ความรู้ และความตระหนักของประชาชน ที่ทำให้เราไม่ต้องคอยแยกขยะอย่างยุ่งยากแบบในคู่มือ 14 หน้าของเมือง Yokohama

ผมยังเคยพูดอยู่บ่อย ๆ ครับ ว่าการขาดแนวทางการแยกขยะที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย มีส่วนในการสร้างงาน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

แน่นอนว่ามันคงไม่สมบูรณ์แบบ และคงมีประสิทธิภาพเทียบกับแบบ Yokohama ไม่ได้ แต่คงไม่มีใครเถียงมั้งครับ ว่ามันก็ดูจะลงตัวที่สุดแล้ว สำหรับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

เพราะขนาดผมเอง ที่พยายามแกะกล่องนมเปล่าล้างเพื่อเอาไปชั่งกิโลขาย ก็ยังไม่เคยมีปัญญาเก็บได้ถึงขีดเลยครับ


  1. ไม่แน่ใจว่าถังขยะเหล่านี้ใช้สีแบบเดียวกับถังขยะที่เห็นโผล่ขึ้นมาที่สาธิตเกษตรสมัยประมาณ ป.4 (?) หรือเปล่า (ปัจจุบันก็อาจจะยังอยู่? (ในสภาพที่อาจไม่ต่างจากในภาพด้านบน)) จำได้ว่าชุดนั้นจะเป็น สีแดง: กระดาษ, สีน้ำเงิน: แก้ว พลาสติก โลหะ, สีเขียว: อื่น ๆ, ซึ่งแม้ว่าตอนเด็ก ๆ ผมจะมักหงุดหงิดที่ไม่มีใครแยกขยะทิ้งตามที่ถังกำหนดไว้ แต่ลองมองย้อนกลับไป ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรครับ