SPOILER ALERT: หากท่านวางแผนจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำให้เก็บเอ็นทรีนี้ไว้อ่านทีหลังเพื่อรักษาอรรถรสในการรับชม
ไปดูมาแล้วครับ ภาพยนตร์เรื่อง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ทีแรกก็ไม่ได้กะจะเอามาเขียนต่อหรืออะไร แต่อารมณ์ค้าง ความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas)¹ เต็มไปหมด เลยต้องหาที่ระบาย
ความจริงก็ได้เห็นลิงก์ตัวอย่างภาพยนตร์ (trailer) เรื่องนี้ในทวิตเตอร์ (Twitter) มาพักใหญ่ แต่ตอนนั้นแอบใช้คอมพิวเตอร์ราชการที่ไม่มีลำโพงอยู่ เลยยังไม่ได้ดู พอมาตามดูช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ก็คิดอยู่ว่าน่าสนใจ แต่ก็นึกถึงประเด็นที่โพสท์ในทวิตเตอร์ว่า ภาพยนตร์ GTH ที่มีตัวละครเป็นนักเรียน ม.ปลาย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับดนตรี การประกวด Hot Wave แล้วก็รักวัยรุ่น นี่มันคุ้น ๆ?
อยู่ด้วย²
พอช่วงวันที่หนังเข้าฉายเกิดเครียด ๆ กับเวรนิดหน่อย บวกกับเห็นพี่ก้อนพูดถึงในบล็อก เลยเหมือนมีอะไรบางอย่างดลใจให้รีบแจ้นไปดูทันทีที่ว่าง (เป็นหนังเรื่องล่าสุดที่ไปดูในโรง ถัดจากกวน มึน โฮ (เทศบาลนครที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามของประเทศ (แทบ) ไม่มีภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม (soundtrack) ฉาย))
ก็อย่างที่เคยบอก ว่าดูหนังไม่เป็น ตอนปี 1 ก็ไม่ได้ลงเรียน Movie World ก็คงจะไม่ได้วิจารณ์อะไรอย่างที่คนดูหนังเป็นเค้าวิเคราะห์กันได้ ขอแค่ไล่เรียงความประทับ (impression) ส่วนตัวมั่ว ๆ มาแล้วกัน
ก็ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง (ความจริงเข้าไปช้าเป็นนาทีได้ ที่นี่เวลาเริ่มฉายไม่นับโฆษณาแฮะ) ก็รู้สึกถึงประเด็นแรกที่พี่ก้อนกล่าวถึงในบทความที่อ้างถึงข้างต้นอย่างชัดเจนเลยครับ ว่าหนังเรื่องนี้ทำมาสะท้อนประสบการณ์วัยเด็ก-วัยรุ่นของคนที่เกิดช่วงปี 1985±2 โดยตรง ซึ่งก็ไม่แปลกและคงเป็นความตั้งใจของผู้เขียนบท ซึ่งก็เห็นว่ามีเพื่อนของคนเขียนมาตั้งกระทู้ในพันทิปเฉลยว่าองค์ประกอบหลายอย่างของเรื่องนั้นดึงมาจากประสบการณ์จริงของเหล่าผู้แต่งโดยตรง ผมเองถึงจะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมหลาย ๆ อย่างที่สอดคล้องกับตัวละครในเรื่อง (คือบ้านมีวิทยุแต่เปิดไม่เป็น แล้วก็ไม่ได้ชื่นชมแนวเพลงร็อคเท่าไร) ก็ยัง [identify] กับสิ่งแวดล้อมของตัวละครได้หลายอย่าง แล้วก็แอบอารมณ์ดีเดินออกจากโรงมาไม่น้อย (ถึงจะปวดฉี่สุด ๆ)
แต่กระนั้นก็ตาม ในรายละเอียดหลายอย่างผมยังรู้สึกว่ามันไม่แม่นอ่ะ อันนี้ผมนึกเปรียบเทียบกับในดีวีดีเรื่องความจำสั้น แต่รักฉันยาว ที่มีบทวิจารณ์ของผู้สร้างภาพยนตร์กล่าวถึงฉากเปิดที่ใช้เพลงสักวันฉันจะดีพอของบอดี้สแลม ว่าจริง ๆ แล้วตามเวลาในท้องเรื่องเพลงยังไม่ออก ในที่นี้เพลงด้วยรักและปลาทูของมอสในฉากแรก ๆ พอจะบ่งอายุของตัวละครที่อยู่ ป.6 ตามท้องเรื่องตอนนั้นได้ว่าต้องไม่เกินรุ่นเดียวกับเราแน่ ๆ (อัลบั้มนั้นวางจำหน่ายเดือนธันวาคม 1997) แต่ [pop culture references] ต่าง ๆ ที่หนังใช้เป็นเครื่องสะท้อนความทรงจำของผู้ชม และดูเหมือนจะมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งโยโย่ โรลเลอร์เบลด (อันนี้มันไม่ใช่เก่ากว่านั้นแล้วเหรอ หรือจำผิดเอง?) เกมเต้น การ์ดยูกิ ที่เรื่องนำเสนอในช่วงมัธยมปลาย จริง ๆ แล้วเป็นกระแสอยู่ตอนช่วง ม.ต้น ต่างหาก (เอ... หรือคิดไปคิดมา คือต้องการจะสื่อว่าคุ้งเห่ออะไรตามหลังชาวบ้านเค้าเป็นปี ๆ?)
อันที่จริงผมรู้สึกว่าองค์ประกอบย้อนยุค (retro) ต่าง ๆ ที่หนังนำเสนอ ดูจะชัดเจนมากกว่าในช่วงต้นเรื่อง เหมือนเป็นการปูพื้นให้คนดู (ในช่วงอายุ 24-28) ได้มีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครและฉากท้องเรื่อง ส่วนหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดความจำเพาะของเวลาลงมา แต่ก็ยังมีจุดให้สังเกตได้ว่าเวลาในเรื่องเหมือนจะกระโดดมาใกล้ปัจจุบันมากขึ้น อย่าง MSN Messenger 7.0 ที่มีฟังก์ชันเขย่าจอ (nudge) จริง ๆ แล้วก็เพิ่งออกมาเมื่อปี 2005 และแม้ผมจะไม่ได้สังเกตโทรศัพท์มือถือที่ตัวละครใช้ แต่ก็น่าจะพอบอกได้ว่าผ่านยุค 3310 ที่ครองโลกสมัยเราอยู่ ม.ปลาย มาแล้ว ขณะที่ยังบ่งว่ายังไม่ใช่ยุค iPhone และ [touch-screen smartphone] ในปัจจุบัน (เปรียบเทียบกับ [icon] ร่วมสมัย (contemporary) ที่อ้างถึงในหนังเรื่องอื่น เช่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) ในเรื่องความจำสั้น แต่รักฉันยาว กับรักมันใหญ่มาก ที่เปลี่ยนจาก Hi5 มาเป็น Facebook ตามยุคสมัย) นักร้องรับเชิญกับเพลงที่เลือกมาใช้ประกอบภาพยนตร์ก็เช่นกัน คือไม่ได้อิงตามช่วงเวลาท้องเรื่องที่จะเทียบจากอายุตัวละครโดยตรง (เพลง ...ก่อน กับ เลี้ยงส่ง ออกห่างกันถึง 11 ปี) แต่โดยรวมแล้วก็ล้วนเป็นเพลงที่คนในช่วงอายุเป้าหมายน่าจะเคยได้สัมผัส (ขนาดผมเองที่ไม่ฟังวิทยุยังรู้สึกว่าคุ้นเคยกับเพลงเหล่านี้) และต่างเป็นเพลงที่ดังมากพอที่แม้จะไม่ได้เกิดในช่วงปีที่ว่า ก็น่าจะเคยได้ยิน
ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นกุศโลบายที่จะช่วยให้หนังทั้งสั่นพ้อง (resonate) กับผู้ชมในวัยดังกล่าว ขณะที่ยังสามารถดึงดูดฐานผู้ชมที่กว้างออกไปอันรวมถึงวัยรุ่นปัจจุบันที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มได้หรือเปล่า น่าสนใจว่าสำหรับคนที่เกิดมาในยุคที่ไม่มีเทปตลับ (cassette) ขายแล้ว จะประทับใจส่วนไหนของหนังบ้าง แต่กระนั้นที่จริง [icon] ย้อนยุคในเรื่องหลายอย่างก็จำเพาะขนาดที่แค่เกิดทันก็อาจจะไม่ได้รู้จักด้วยซ้ำ ผมเองไม่ทันสังเกตเครื่องเล่นเกมคอนโซล (เข้าใจว่าตอนแรกเป็น Super Famicom? ที่จริงถ้าคิดตามประเด็นด้านบนมันควรจะเข้ายุค PlayStation แล้ว) แต่ปกการ์ตูนนี่ยังไงก็ไม่ [recognise] แน่ ๆ เพราะไม่ได้อ่าน
ภาพยนตร์ที่พยายามเล่นกับ [nostalgia] นี่คงไม่เปรียบเทียบกับเรื่องแฟนฉันไม่ได้ อาจจะไม่ผิดถ้าจะมองว่า SuckSeed กำลังพยายามดึงเอาความทรงจำของคนรุ่นเราออกมาอย่างที่แฟนฉันเป็นความหลังวัยเด็กของชาว Generation X แต่สำหรับ SuckSeed ประเด็นความหลัง (ที่อาจจะไม่ "โดน" ผู้ชมได้มากมายเท่า) คงไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันหนังที่สำคัญเท่ากับในกรณีของแฟนฉัน
เขียนมาถึงตรงนี้ (ข้ามวันมา ถ้าไม่ค่อยต่อเนื่องอย่าแปลกใจ) ก็ต่อไม่ถูกแล้ว ขออนุญาตจบห้วน ๆ ตรงนี้เลยแล้วกัน ประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้พูดถึงอีกก็มี
- ฉากสนามบิน (setting อดีต) เคาน์เตอร์ Orient Thai เบรกอารมณ์สุด ๆ
- ฉากโถฉี่หายไปไหน? (หรือเราไม่ทันสังเกตเอง?) (Edit:
น่าจะเป็นตอนที่เจอนักร้อง arena ในห้องน้ำนะ
ขอบคุณปัฏฐาครับ) - เพลงประกอบภาพยนตร์ ทุ้มอยู่ในใจ แต่เสียง tenor สุด ๆ
- มีเพลงบุษบาในแผ่น soundtrack ด้วย ไหงงั้น
- ป.ล. เพิ่งรู้ว่าเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ของการบินไทย มี B747 บินด้วย
- ป.ป.ล. ไหน ๆ เขียนมาในหัวข้อแล้ว เผื่อมีคนสงสัย ภาษาญี่ปุ่น katakana ในโลโก้ภาพยนตร์อ่านว่า hetakuso แปลว่า
extreme clumsiness
(หรือที่มีคนแปลในกระทู้พันทิปว่าห่วย(อึจาระ)แตก