เนื้อความในเอ็นทรีนี้ ได้เคยโพสท์ในเว็บบอร์ดสาธารณะแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ยังไงขอโพสท์ซ้ำไว้อีกทีนะครับ
วันนี้ (28 กันยายน) เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกครับ
การดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้านี่น่าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาอันดับต้น ๆ อย่างหนึ่งของบุคลากรทางสาธารณสุขทั่วประเทศก็ว่าได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่ทราบกัน ว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง เป็นแล้วตายสถานเดียว ไม่สามารถรักษาได้
ทั้งนี้ใน พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าถึง 15 ราย (ยังดีกว่า พ.ศ. 2552 มี 24 ราย ส่วน พ.ศ. 2551 มี 16 ราย) ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จะเป็นเพราะไม่ตระหนักถึงอันตรายและไม่ได้ไปรับบริการทางสาธารณสุข แต่ความจริงแล้วทุกวันนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ยังมีปัญหาให้การดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าได้ต่ำกว่ามาตรฐาน
เพราะในปัจจุบัน มาตรฐานทางการแพทย์โดยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กำหนดว่าผู้ที่ถูกสัตว์ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนผิวหนังจนมีเลือดออก หรือเลียปากเลียตา จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบุลิน (เซรุ่ม) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทันที ทุกกรณี (เพราะการป้องกันด้วยวัคซีนอย่างเดียว อาจไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วพอที่จะป้องกันโรคได้)
แต่ทุกวันนี้โรงพยาบาลชุมชน สถานพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในคลังยาโรงพยาบาลด้วยซ้ำครับ แปลว่าคนไข้ที่ถูกสุนัขกัดมาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ อาจต้องเอาใบส่งตัวเดินทางไปอีกหลายสิบกิโลเมตร เพื่อรับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มักประสบภาวะขาดแคลนอยู่เรื้อรัง บางครั้งทั้งจังหวัดไม่มียาจะฉีดให้ สุดท้ายผู้ป่วยก็ได้รับการป้องกันแค่วัคซีน แล้วก็ต้องลุ้นเอาไม่ให้สุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ก็ขอให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทันก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง
ซึ่งหากจะมองว่านี่เป็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในการจัดหายาที่มีความจำเป็น ก็คงมีส่วนถูก แต่ก็คงจะเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุเกินไปอยู่ เพราะคนถูกสุนัขกัดกันทุกวี่ทุกวันขนาดนี้ (ยกตัวอย่างสถิติผู้ป่วยที่มารับบริการห้องฉุกเฉิน รพ.จุฬาลงกรณ์ เดือน ส.ค. 2553 มาด้วยเหตุสุนัขกัดมากเป็นอันดับ 3 ถึง 80 ราย รองจากตกที่สูง/หกล้ม และอุบัติเหตุจักรยานยนต์) การจะทุ่มทุนเลี้ยงม้าเพื่อเจาะเลือดมาปั่นเซรุ่มให้ทันตามจำนวนผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัด สุดท้ายก็คงกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ความจริงแล้วการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนที่ได้ผล ต้องมาจากการควบคุมโรคในสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งในกรณีสุนัข ก็คือการจัดให้สุนัขทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะการถูกกัดโดยสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (สุนัขได้รับวัคซีนครบต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน โดยเลี้ยงอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีอาการผิดปกติ และสามารถสังเกตอาการได้) ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินป้องกันพิษสุนัขบ้า
แต่จากประสบการณ์ของตนเองที่จบออกมาปฏิบัติงานได้ปีกว่า ดูแลผู้ป่วยถูกสุนัขกัดไปก็น่าจะร่วมร้อยราย ต้องบอกว่ายังไม่เคยพบสักรายที่ยืนยันได้ว่าสุนัขที่กัดมีความเสี่ยงต่ำ
ทั้ง ๆ ที่พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ก็กำหนดให้ผู้เลี้ยงสุนัขมีหน้าที่ต้องพาสุนัขไปฉีดวัคซีน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาทแท้ ๆ
คงเป็นเพราะแนวทางการป้องกันโรคโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของสุนัขนี่มันเอาอย่างมาจากกลุ่มประเทศตะวันตก จึงไม่สามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้ผลมั้งครับ
ผมเองก็คงคุ้นเคยกับระบบของต่างประเทศตั้งแต่เด็ก จากที่เห็นในภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง Lady and the Tramp (ทรามวัยกับไอ้ตูบ) และที่อื่น ๆ ว่าสุนัขจะต้องมีเจ้าของ จดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว และมีเครื่องหมายแสดง เพื่อมีผู้รับผิดชอบทั้งต่อตัวสุนัขเองและต่อสังคมเวลาสุนัขไปทำอะไรเข้า
แต่สำหรับเมืองไทยเรา คงคาดหวังอย่างนั้นไม่ได้ ในเมื่อค่านิยมของสังคมเรานั้นบอกว่าต้องมีน้ำใจ มีเมตตาต่อสัตว์ และเชื่อว่าการให้อาหารสัตว์จรจัดเป็นการทำบุญทำกุศล ขณะที่ไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในด้านอื่น ๆ เพราะไม่ต้องการเป็นเจ้าของชีวิต
ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับศาสนาหรือเปล่า แต่ถ้าใช่ ผมก็คงไม่เข้าใจว่าถ้ามีเมตตาต่อสัตว์แล้ว การมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์จะด้อยความสำคัญกว่าได้อย่างไร
เพราะเห็นคนจำนวนมากเหลือเกิน ที่ให้อาหารสุนัขข้างถนนด้วยความปิติยินดี แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างเฉยชาเวลาที่สุนัขไปก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น (จะกัดเขาหรือขี้หน้าบ้านเขาก็ตามแต่) ไม่ต้องพูดถึงพาไปฉีดวัคซีน หรือทำหมันเพื่อควบคุมประชากร
ซึ่งเท่าที่สังเกต ก็ไม่น่าเกี่ยวกับระดับเศรษฐฐานะหรือการศึกษาด้วย เพราะในหมู่คนรู้จักในกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางระดับบน ต่างก็มีปัญหากับเพื่อนบ้านด้วยเรื่องการให้อาหารสุนัขกันทั้งนั้น บางคนเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดี ๆ ในบ้าน ให้การดูแลอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อาหารสุนัขข้างถนนหน้าปากซอยโดยไม่สนว่าจะไปกัดใครหรือเปล่า ก็ไม่เข้าใจ
เอาง่าย ๆ จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คนจำนวนมากแสดงความเดือดร้อนกันมากมายกับการจับสุนัขจรจัดไปขายเป็นอาหาร และก็ได้มีการแสดงน้ำใจโดยการบริจาคเงินช่วยเหลืออย่างมหาศาล แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าในหมู่ผู้ที่บริจาคเงินไปมากมายนี้ จะมีสักกี่คนที่จะเต็มใจช่วยเหลือให้สุนัขเหล่านั้นได้มีที่อยู่ดี ๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่บริจาคหรือได้ให้อาหารก็พอใจ แล้วสุดท้ายก็ปล่อยให้สุนัขเหล่านั้นกลายเป็นภาระของหน่วยงานที่ต้องรับไปเลี้ยง ของพระที่ต้องคอยกวาดขี้หมาบนลานวัด ของระบบสาธารณสุขที่ต้องแบกรับค่ายาค่ารักษาพยาบาล (ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชน) และของคนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป
ป.ล. ในประเด็นค่ายา ลองพิจารณาว่าอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขนิดที่ได้จากม้าซึ่งผลิตโดยสภากาชาดไทย มีราคาอ้างอิงจัดซื้อปกติ (โดยศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข) อยู่ที่ค่ามัธยฐานหลอดละ 720 บาท ในคนน้ำหนัก 50 กก. จะต้องได้รับยา 2,000 หน่วยสากล หรือ 2 หลอด เฉพาะค่าอิมมูโนโกลบุลินที่ต้องเสียไปกับการถูกสุนัขกัด 1 ครั้ง ก็เกือบ 1,500 บาทแล้ว ยิ่งถ้าเป็นชนิดที่ได้จากมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่แพ้อิมมูโนโกลบุลินจากม้า (หรือในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เป็นมาตรฐาน เพราะเลิกใช้แบบที่ได้จากม้าแล้ว) ราคาอ้างอิงเฉลี่ยอยู่ที่หลอดละ 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งคนน้ำหนัก 50 กก. จะต้องได้รับ 1,000 หน่วยสากลหรือมากกว่า 3 หลอด หรือคิดเป็นเงินร่วมหมื่นบาท ยังไม่นับค่าบริการทางการแพทย์และยาอื่น ๆ
ที่อิมมูโนโกลบุลินชนิดที่ได้จากม้าขาดแคลน ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทยาต่างประเทศส่วนใหญ่เลิกผลิตแล้ว จึงทำให้มีภาวะขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งสภากาชาดไทยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ ถ้าลองคิดดูว่าจะใช้อิมมูโนโกลบุลินจากมนุษย์เหมือนมาตรฐานของต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพ้ยา ก็คงต้องใช้ต้นทุนรักษาสุนัขกัดครั้งละเป็นหมื่น เดือนหนึ่งใน รพ.จุฬาฯ แห่งเดียวมีผู้ป่วย 80 ราย ก็คงไม่ต้องคิดนะครับว่าถ้านับผู้ป่วยทั้งประเทศ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ยังไงก็คงต้องใช้อิมมูโนโกลบุลินจากม้าที่ราคาถูกแต่หาซื้อไม่ได้ต่อไป