...ขอให้ข้าพเจ้าเป็นคนดียิ่งขึ้นทุกวันทุกประการเป็นลำดับไป
ข้อความดังกล่าวคือวรรคสุดท้ายของบทสวดมนต์ประจำวันของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ
ความจริงบทสวดมนต์สาธิตเกษตร มีลักษณะเฉพาะอยู่หลายประการที่ไม่ตรงตามคำบูชาพระรัตนตรัยที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็เคยเป็นเหตุให้เกิดความสับสน/แปลกใจเมื่อมีการจัดกิจกรรมกับนักเรียนต่างโรงเรียนมาไม่น้อย
ประการหนึ่งคือการสวด นโม สามจบก่อนขึ้นบท อรหํ สมฺมาฯ
อีกประการหนึ่งคือการมีบทสวดไหว้บิดามารดาและครูอาจารย์ตามหลังบทบูชาพระรัตนตรัย
อีกประการหนึ่งคือการกราบสามครั้งท้ายบทสวดมนต์
และอีกประการหนึ่งคือการมีบทสวดภาษาไทยประกอบคำบูชาพระรัตนตรัยแต่ละวรรค ซึ่งไม่ใช่บทคำแปลที่พบโดยทั่วไป ("พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง...") หากแต่เรียบเรียงให้สั้นลงและ (ขอเดาว่าน่าจะ) เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักเรียน ป.1 ดังเช่นข้อความภาษาไทยของวรรคบูชาพระพุทธ ที่กล่าวว่า "ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ผู้ได้ตรัสรู้ถูกต้องดีแล้ว"
อันที่จริงผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าโรงเรียนอื่น ๆ สอนบทสวดมนต์ให้กับนักเรียน ป.1 กันว่าอย่างไร แต่ผมคิดว่าตัวเองตอน ป.1 ก็คงบอกได้ว่าการมีคำอธิบายภาษาไทยให้รู้ว่าตัวเองกำลังสวดอะไรอยู่นั้น ทำให้การสวดมนต์มีความหมายขึ้นมาก (และก็จำได้ว่าไม่ชอบใจมาแต่เด็กที่ไม่มีใครบอกว่าบท นโม ตสฺส นั้นหมายถึงอะไร) ถึงแม้คำอธิบายดังกล่าวจะไม่ใช่คำแปลตามความหมายโดยตรง แต่ผมคิดว่ามันก็สรุปความและอธิบายเจตนารมณ์ของการให้สวดมนต์ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ก็อีกหลายปีครับ กว่าจะได้ตระหนักว่าเราสวดมนต์ระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเตือนตนเองให้ยึดแนวทางคำสอนและตัวอย่างที่ดีงามเหล่านั้นเป็นหลักในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิต
แตกต่างจากการสวดมนต์ของศาสนาเทวนิยม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับพระเป็นเจ้าเป็นหลัก ทั้งเพื่อสักการะบูชา อ้อนวอนร้องขอ และอื่น ๆ
จึงดูน่าแปลกใจไม่น้อย ที่ความวรรคท้ายที่ผมอ้างถึงในชื่อบทความนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอีกประการของบทสวดมนต์สาธิตเกษตร กลับสื่อความเป็นการขอให้ได้ผลตอบแทนโดยตรงจากการสวดมนต์ ซึ่งดูขัดกับแนวคิดว่าการเป็นคนดีนั้นอยู่ที่กรรมที่ตนกระทำในทุกเวลาของชีวิต หาใช่มาจากเพียงการสวดมนต์ไม่
ที่จริงแล้วการบอกว่าน่าแปลกใจนั้นอาจจะไม่ถูกเท่าไรนัก เพราะถึงแม้ว่าผมจะกังขาความเหมาะสมของข้อความดังกล่าว แต่มันก็สะท้อนวิถีของพุทธศาสนาในสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ได้ผ่านการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และผสมผสาน ให้เข้ากับพื้นฐานความเชื่อของคนในสังคมมาช้านาน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับคนจำนวนมากแล้ว บทสวดมนต์ ซึ่งเดิมนั้นคงสำคัญที่เป็นเครื่องมือช่วยในการเจริญสติและบำเพ็ญวิปัสสนา ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นเครื่องมือในการอ้อนวอนขอร้องลาภยศและความสำเร็จกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย ที่อาจจะบอกได้ยากว่ามีในคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ดูน่าสนใจทีเดียวในเชิงศาสนาเปรียบเทียบ คำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อย ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาคือควรนับเป็นศาสนาหรือเปล่า เพราะนิยามคำว่าศาสนา (religion) ตามแนวคิดตะวันตกส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเชื่อในพระเป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่มีในคำสอนของศาสนาพุทธ
แต่กระนั้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมากที่สุดในโลก ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามนิยามดังกล่าวนั้นก็มีให้เห็นได้อยู่ทั่วไป และได้หลอมรวมกับพุทธศาสนาจนน่าจะแยกจากกันได้ยาก
จึงน่าคิดว่า ต่อให้ศาสนาพุทธตามคำสอนจะไม่เข้าเกณฑ์นิยามคำว่าศาสนาตามแนวคิดตะวันตก แต่ศาสนาตามนิยามนั้นก็มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยจากการผสมผสานศาสนาพุทธกับความเชื่อพื้นบ้านต่าง ๆ
ถ้าอย่างนั้น จริง ๆ แล้วศาสนาพุทธ (ที่อาจจะไม่นับว่าเป็นศาสนา) จะตั้งอยู่โดด ๆ ในสังคมขนาดใหญ่ได้หรือเปล่า หรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อย่างไรเสียก็ต้องสร้างความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ?
และเราจะบอกได้อย่างไร ว่าที่สวดมนต์แต่ละวัน เราสวดเพื่อเตือนสติตนตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา
หรือสวดเพื่อขอผลตอบแทนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังเช่นที่ศาสนาอื่น ๆ ต่างกระทำ?
Edited 2013-03-11: ผู้ได้ตรัสรู้