26 November 2013

Конфликт

รื้อ ๆ บล็อก บังเอิญขุดเจอเอ็นทรีนี้ที่เก็บเป็น draft ไว้ตั้งแต่ 07/10/2008 จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าทำไมตอนนั้นถึงไม่เผยแพร่ (อาจจะดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับสถานการณ์เท่าไรมั้ง) แต่ชอบภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ยังไงก็ขอโพสต์ย้อนหลังแล้วกัน (หมายเหตุ: เปลี่ยนลิงก์เนื่องจากอันเก่าผู้อัปโหลดตั้งเป็น unlisted ไป)


พยายามแต่งนิทานเรื่องการสลายการชุมนุมในประเทศในจินตนาการแห่งหนึ่ง ซึ่งมิได้มีพื้นฐานบนเรื่องจริงใด ๆ ทั้งสิ้น... แต่เอาเข้าแล้วเรื่องวกไปวนมาไม่ได้ประเด็นสักที เลยขออนุญาตโพสท์วิดีโอนี้ (ซึ่งเคยเห็นลิงก์จากบล็อกหวาย) แทน

Конфликт

5 November 2013

ขีดเขียนยามดึก (ว่าด้วยกระแสร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ)

นอนไม่หลับ...

เปิดแหล่งข้อมูลข่าวสารใด ๆ ก็มีแต่เรื่องร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ เต็มไปหมด ไหน ๆ ก็แล้วขอพ่นทิ้งหน่อยละกัน

เมื่อเย็นนี้เห็นทวีตที่ติดใจอยู่หลัก ๆ สองอัน

หนึ่งคือ

สองคือ

นั่นล่ะครับ ที่ว่าเซ็งกระแสป้ายดำในเฟซบุ๊ก จะว่าเพราะแอบขัดใจที่อยู่ดี ๆ เพื่อน ๆ ทั้งหลายก็เกิดตื่นตัวทางการเมืองกันขึ้นมาพร้อม ๆ กันก็ส่วนหนึ่ง เพราะรำคาญที่รูปมันดูเหมือนกันไปหมดก็ส่วนหนึ่ง แต่หลัก ๆ แล้วคือ

ครับ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าผมจะไม่มีความเห็น และการโพสต์ลงบล็อกนี่ก็ไม่ขัดกับแนวทางการใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวแต่อย่างใด

ว่าด้วยนิรโทษกรรม

สมัยเด็ก ๆ ก็จำได้ว่ารู้จักคำ นิรโทษกรรม ในแง่ลบ ในนัยที่ว่าเป็นการล้างความผิด ล้มกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะให้กับผู้มีอำนาจทางการเมืองที่กระทำผิดต่อประชาชน ช่างเป็นคำที่ฟังดูน่ารังเกียจ และไม่เข้าใจว่าสังคมจะมีกระบวนการเช่นนี้ไปทำไม

ต่อมาเมื่อได้ยินชื่อ Amnesty International แปลเป็นภาษาไทยว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล จึงแปลกใจและสงสัย ว่าทำไม NGO ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งน่าจะไม่เห็นด้วยกับการล้างผิดให้คนที่เข่นฆ่าประชาชน ถึงตั้งชื่อเช่นนั้น¹

เมื่อโตขึ้นอีกถึงเข้าใจว่าความยุติธรรมเป็นเพียงสิ่งสมมุติ ถูก-ผิดมักขึ้นกับมุมมอง และกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกที่ไม่เคยเป็นอิสระจากการเมือง คำ amnesty ในชื่อของ AI นั้นมุ่งหมายถึงการยกเลิกความผิดให้นักโทษทางการเมือง ไม่ใช่ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจทางการเมือง แต่สองอย่างนี้ก็ไม่ได้แยกจากกันง่ายเสมอไป

ดูง่าย ๆ จากเหตุการณ์ปัจจุบัน ถ้าประเทศไทยใกล้ตัวไปก็ดูอียิปต์ ถามว่า Mohamed Morsi ที่เพิ่งขึ้นศาลไปเมื่อวานเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่กระทำผิดต่อประชาชน หรือเป็นนักโทษทางการเมืองที่เป็นเหยื่อของรัฐประหาร คำตอบที่ได้คงแตกต่างกันไปแล้วแต่จะถามใคร

ในสังคมที่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่แย่น้อยที่สุดที่มีอยู่ เรายอมรับว่าการเมืองไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ จึงต้องอาศัยทำให้คนส่วนมากพอใจโดยไม่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของส่วนน้อย แต่เรากลับไม่ค่อยมองเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมก็เป็นดอกผลของกระบวนการทางการเมืองเดียวกันนี้ ซึ่งย่อมโอนอ่อนเอนเอียงไปได้ตามกาลเวลา

เราจึงมักไม่เข้าใจแก่นของนิรโทษกรรม ว่าควรมีไว้แก้ไขข้อผิดพลาด สมานช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างเสรีภาพทางการเมืองกับความเอนเอียงของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เพียงสิ่งชั่วร้ายที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือตนเอง

ว่าด้วยกระแสต่อต้านร่าง พรบ.ฯ

ขอยอมรับว่าหกปีกว่าหลังจากเขียนเอ็นทรีนี้ ผมก็ยังไม่หายรู้สึกระอิดระอากับการเมือง และยังคงไม่รู้สึกอยากมีส่วนร่วมใด ๆ กับมัน (มากไปกว่านั่งบ่นอยู่ตรงนี้) กระนั้นผมก็คิดว่าการไม่เลือกลงไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายใด ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นแนวคิดและการกระทำของแต่ละฝ่ายผ่านเลนส์ที่ไม่ถูกเจือสีได้ดี

หลาย ๆ ท่าน (รวมถึงตัวผมเอง) ได้กล่าว (เชิงกึ่งขบขัน) ไปแล้ว ว่าร่าง พรบ.ฉบับนี้ ดูจะสร้างความสมานฉันท์ระหว่างแต่ละขั้วการเมืองได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ในแง่ของการร่วมกันออกมาต่อต้าน แต่สิ่งที่แต่ละฝ่ายต่อต้านนั้นช่างแตกต่างกันยิ่งนัก ขั้วหนึ่งก็ต่อต้านการล้างผิดให้คนโกงชาติ ส่วนอีกขั้วหนึ่งก็ต่อต้านการล้างผิดให้คนสั่งฆ่าประชาชน

ผมเองไม่เห็นด้วยกับคำดังกล่าวของทั้งสองฝ่าย

ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณไม่ได้โกงชาติ แม้ผมจะไม่เชื่อว่าการตัดสินของศาลในกรณีดังกล่าวจะเป็นอิสระจากการเมือง ผมก็ไม่กังขาสักนิดครับว่าเขาโกง ไม่ต่างจากที่ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็โกงชาติอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะโดยการยื่นภาษีไม่ตรงประเภทตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร การใช้เส้นสายเวลาติดต่อราชการ หรือกระทั่งการข้ามถนนนอกเขตทางข้าม

ทักษิณโกงแน่ครับ แต่การโกงนั้นไม่ใช่เหตุให้ยอมรับรัฐประหาร และศาลยุคตุลาการภิวัตน์ที่ตัดสินมากี่คดีก็มีแต่ทักษิณกับพวกที่ผิด (ไม่ว่าจะคดีอาญาหรือคดีการเมือง) ย่อมสมควรถูกกังขาในความเป็นกลาง กระนั้นการบอกยกเลิกความผิดนี้โดยปริยายก็ไม่สมควรเช่นกัน ผมไม่ได้ติดตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ฟังดูเผิน ๆ แนวคิดเรื่องการยกเลิกคำตัดสินที่ถูกกังขาเพื่อกลับมาเข้ากระบวนการใหม่ที่เที่ยงตรง ก็เหมือนจะเข้าท่าดี หากแต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำจริงได้อย่างไร

ผมเองไม่ได้ชอบทักษิณ แต่ผมก็เชื่อว่าเขามีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ผมไม่เชื่อว่าหากศาลเดียวกันนั้นตัดสินให้ทักษิณพ้นผิด หรือให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามมีความผิด บรรดาคนที่เรียกร้องให้รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมอยู่นี้ จะยังกล่าวกันเช่นเดิม

สำหรับฝ่ายคนที่ไม่ยอมให้อภัยฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชน ขอเถอะครับ กับไอ้คำ ฆาตกร เนี่ย จะเวอร์กันไปถึงไหน

ถามว่า พ.ค.'53 มีผู้บริสุทธิ์ตายด้วยน้ำมือทหารไหม ผมไม่กังขาครับว่ามี หากเช่นนั้นแล้วทหารปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดไหม ไม่ต้องสงสัยครับว่าผิด ถามว่าผู้นำที่ตัดสินใจให้ใช้กำลังทางทหารควรจะรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม ผมบอกเลยว่าควร แต่ถามว่านั่นแปลว่าเขาเป็นฆาตกร ที่สั่งฆ่าประชาชนด้วยเจตนาอันโหดเหี้ยมเพื่อหมายจะเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์หรือเปล่า ช่างคิดไปได้นะครับ...

อภิสิทธิ์ (กับสุเทพ) ทำผิดแน่ครับ แต่ผิดที่ไว้ใจผิดว่าทหารจะไม่ทำอันตรายผู้บริสุทธิ์ (โดยไม่ได้ตระหนักว่าหน้าที่ของทหารคือรบกับศัตรู ไม่ใช่สลายการชุมนุม) ไม่ใช่สั่งฆ่าประชาชน ถามว่าเขาควรต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่ผมไม่เห็นว่าแก่นของกรณีนี้จะแตกต่างจากการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวเมื่อ ต.ค.'51 เท่าใดนัก เหตุที่ทำให้เกิดปัญหาคือความไม่สามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เจตนาฆ่า การเรียกร้องความจริงและความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียเป็นสิ่งที่สมควร แต่ตราบใดที่ยังตะโกนแต่คำว่าฆาตกรกันอยู่นั้น ผมก็เห็นแต่คนที่เอาศพของผู้เสียชีวิตมากองเป็นเวทีให้ตนเองเหยียบยืนเท่านั้นเอง

แล้วตกลงคิดอย่างไรกับกระแสต่อต้านร่าง พรบ.ฯ โดยรวม?

อันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับหลักการลบล้างความผิดทั้งหมดทั้งมวล ก็คงไม่ถึงขนาดที่เห็นว่าต้องแสดงออกผ่านการเอาป้ายดำเป็นรูปโปรไฟล์เต็มไปหมดแบบนี้

ส่วนหนึ่งคงเพราะว่าที่ผ่านมาผมเสื่อมศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมไปมากแล้ว และไม่อยากหวังลม ๆ แล้ง ๆ อีกต่อไปว่าจะมีโอกาสเห็นการดำเนินคดีที่เป็นกลางได้จริง (ดูตัวอย่างจากการทำคดีของ DSI ที่เปลี่ยนทิศทางไปมาตามสายลมการเมืองที่พัดผ่าน) ลึก ๆ แล้วก็เลยยังแอบคิดอยู่ว่าหากร่าง พรบ.นี้ผ่านได้ อย่างน้อยก็จะได้เลิกกันเสียทีกับกระบวนการยุติธรรมปาหี่นี่ นัยว่าถ้าจะมีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ลำเอียงเช่นนี้แล้ว ออกกฎยกเลิกอย่างเป็นทางการไปเลยเสียอาจจะดีกว่า

และอย่างไรเสีย แค่นี้ร่าง พรบ.ฯ ก็ได้ช่วยให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้มีโอกาสทบทวนแนวคิดกันยกใหญ่แล้ว หากทักษิณกลับมา เราอาจจะได้เห็นการแตกหักกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างจริงจังเสียที²

ซึ่งผมยังคงรออยู่ เผื่อว่าประเทศไทยจะได้เกิดมีกลุ่มการเมืองเสรีนิยมที่ผมจะสามารถสนับสนุนได้โดยบริสุทธิ์ใจบ้างสักวัน


  1. อีกชื่อที่สงสัยมาแต่เด็กคือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทำไมหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนจะตั้งชื่อให้เข้าใจง่าย ๆ กันไม่ได้หรือไง
  2. ดู Leftists and the Red Shirts: This relationship could write a bad romance.