แป๊บ ๆ เก้าปีแล้วเหรอเนี่ย รู้สึกเหมือนเพิ่งจะเขียนถึงเหตุผลที่ไม่ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญรอบที่แล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง
แต่คราวนี้คงอ้างเหตุผลแบบเดิมว่ายุ่งจนไม่มีโอกาสติดตามข่าวสารไม่ได้เสียแล้ว ในเมื่อมีคนแชร์ความเห็นฝั่งโน้นฝั่งนี้ผ่านตามาเต็มไปหมด ไหนจะคลิปไวรัลโยนหีบแตกนี่อีก เรื่องนี้ใครจะเกลียดจะด่า กกต.สมชัยว่าไงบ้างไม่รู้นะ แต่ในแง่การประชาสัมพันธ์สร้างกระแสนี่เอาถ้วยไปเลย
แต่ถึงจะมีข้อมูลตรงหน้ามากมายขนาดนี้เราก็ยังเพลียและไม่อยากจะสนใจมันอยู่ดี
เรื่องเดิม ๆ ที่ว่าการลงประชามติภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนี่ยังไงก็รู้สึกว่าปาหี่นี่ก็ส่วนหนึ่ง คือท่านก็แต่งตั้ง-ร่าง-ชงมาให้เสร็จสรรพขนาดนี้ แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม (♪)… เอ่อ นั่นแหละ ราวกับว่าการลงประชามติจะสามารถชดเชยการที่ห้ามเลือกกรรมการหมู่บ้านมาสองปี แล้วบ้านเมืองจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งก็ทำใจเชื่อไม่ลง และจึงไม่ค่อยอยากจะมีส่วนร่วมด้วยอย่างที่เคยบอกตั้งแต่คราวก่อน
แต่มันไม่ใช่แค่นั้น
สำหรับผม ความสนใจในรัฐธรรมนูญคงไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว
อย่างที่บอกไปในโพสต์รำพึงรำพันที่แล้ว ผมโตมาในบรรยากาศการเมืองยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในยุคที่เราคิดและเชื่อกันจริง ๆ ว่าบ้านเมืองจะได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวเสียที
ผมนั่งดูข่าวการอภิปรายมาตรา 211 สมัยรัฐบาลชวน 1 ทางโทรทัศน์ ตั้งแต่ยังไม่อาจรู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามันมีความสำคัญอย่างไร
ผมนั่งอ่านเอกสารแนะนำการเลือก ส.ส.ร.ที่ส่งมาที่บ้าน และค่อย ๆ เรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ผมไล่อ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน ถึงแม้จะรู้เรื่องเพียงแค่บางส่วน และตื่นเต้นกับความจับต้องได้ของบทบัญญัติสูงสุดของการปกครองประเทศ
ตอนนั้นผมอยู่ ป.6
ผมยังจำได้ถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ยังจำได้ว่ามี ส.ส.คนหนึ่งพยายามสร้างจุดสนใจโดยบอกว่า “เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยชอบ” จนประธานสภาต้องติงให้ระบุให้ชัดเจนว่าเห็นชอบหรือไม่
ยังจำได้ถึงบรรยากาศการรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญโดยเครือข่ายประชาสังคมก่อนหน้านั้น จนนักการเมืองที่ก่อนหน้านี้พยายามอภิปรายให้ร่างฯ ไม่ผ่านเพราะข้อความ “พ.ศ. …” ยอมถอย
จนหลายปีผ่านไป สติกเกอร์สีเขียวตองที่เริ่มเก่าลอกและซีดจาง ก็ยังคงเป็นภาพที่คุ้นเคย ที่อาจพบเห็นติดอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้ของโรงเรียนและที่สาธารณะต่าง ๆ
แต่บัดนี้คงเหลือเพียงความทรงจำที่รางเลือน
เช่นเดียวกับความฝันที่ว่าเรามีประชาธิปไตย แค่ 9 ปีถัดมา ความเชื่อว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบก็ถูกรอยตีนตะขาบรถถังเหยียบทำลายไปสิ้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถูกฉีกทิ้งไปพร้อมกับความเชื่อ ความหวัง และความศรัทธาของเด็ก ป.6 คนนั้น
และต่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่อีกกี่ฉบับ ที่ต่อให้ดีเลิศเลอกว่าเดิมสักแค่ไหน ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะมีโอกาสปลุกความรู้สึกที่ถูกทำลายไปเหล่านั้นกลับมาได้อีก
ความจริงแล้วมองย้อนกลับไป ความดีงามของรัฐธรรมนูญ '40 ที่เราเชื่อนักหนานั้นก็รับรู้มาจากการที่คนอื่นบอกมาแทบทั้งสิ้น ยังไม่เคยจะคิดวิเคราะห์เอาจากตัวบทเองอย่างจริงจังเลย
และจริง ๆ แล้วเสียงของเหตุผลก็ยังกระซิบบอกเราอยู่ว่าจะตัดสินอะไรดีไม่ดี ก็ต้องไล่เนื้อหาดูเอาสิ ไม่ใช่ใช้แต่ความรู้สึก ไม่งั้นจะมีโอกาสพบเจอกับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้ยังไง
แต่ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะไม่มีประเด็นให้กังขาและเคลือบแคลงเรื่องความเหมาะสมชอบธรรม ทั้งในหลักการ ตัวบท และที่มา ผมก็ยังคงไม่สามารถให้ความสนใจจริงจังกับมันได้อยู่ดี
เพราะยังช้ำใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่าต่อให้รัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหน เป็นที่ยอมรับขนาดไหน ก็ไม่มีความหมาย หากเกมการเมืองเดินมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจจะไม่เคารพมัน
ทุกวันนี้ก็เลยได้แต่โหยหาอดีตอันหอมหวาน เพราะแค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ถึงรัฐธรรมนูญ และอนาคตอันสดใสของประเทศนี้ ก็ยังไม่อาจที่จะทำ