15 August 2021

ว่าด้วย ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ

เอ็นทรีนี้ดัดแปลงจากโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2015 ซึ่งอ้างถึงบทความ “ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ” ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ในโลกสี่เหลี่ยมของเตรียมอุดม เมื่อปี 2013 และเผยแพร่ซ้ำผ่านเพจ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ในปี 2015

ผมเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนเสนอนะ ที่เขาบอกว่าฉันไม่ค่อยเก่ง จริง ๆ แล้วความหมายคือไม่เก่งเหมือนพวกเด็กโอฯ ที่มองอะไรก็เห็นไปถึงระดับอณูเหมือนนีโอใน The Matrix ส่วนที่เขาจำใจเรียนแบบท่องจำไปนั่นมันก็คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำนั่นแหละ แต่ที่แตกต่างคือเขาไม่สามารถทำใจหยุดยอมรับที่แค่นั้นได้

ไอ้คำถามอย่าง 1 คูลอมบ์แปลว่าอะไร หรือความหมายของหน่วยมูลฐานและมิติของปริมาณต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเข้าใจฟิสิกส์เป็นอย่างมาก แต่ครูก็ไม่เคยสอนจริง ๆ (ถึงจะอยู่ในภาคผนวกของหนังสือเรียน สสวท.ก็เถอะ) ซึ่งบางคนก็สามารถคิดเข้าใจเองได้ (ตอน ม.5 ผมเคยเถียงกับเพื่อนอยู่ว่าทำไมโมลถึงเป็นหน่วยมูลฐานทั้ง ๆ ที่เป็นปริมาณไร้มิติ) แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่

แล้วการที่ไม่มีใครสอนคอนเซปต์พื้นฐานพวกนี้มันเป็นปัญหาแค่ไหน อย่างที่เห็นจากโพสต์ต้นทาง มันไม่เป็นปัญหาต่อการสามารถคิดวิเคราะห์และทำโจทย์ที่อาศัยหลักการที่สูงขึ้นไปหรอก แต่มันบังคับให้ต้องทำโดยยอมรับบทบัญญัติหลาย ๆ อย่างไปโดยปริยาย หรือก็คือที่ผู้เขียนบ่นว่าต้องเรียนแบบท่องจำ

ซึ่งผู้เขียนเขาทำใจยอมรับตรงนี้ไม่ได้ เขาอยากจะสามารถสร้างมโนภาพถึงองค์ประกอบทุกอย่างขึ้นมา และเข้าใจที่มาที่ไปทุกอย่างของมันตั้งแต่ต้น เขาไม่อยากจำว่ามุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้ 180 องศา แต่เขาต้องการเห็นภาพว่าถ้าวาดเส้นขนานกับฐานของสามเหลี่ยม มุมแย้งของมุมฐานทั้งสองจะประกบกับมุมยอดของสามเหลี่ยมรวมกันได้เป็นมุมตรงพอดี เขาอยากเป็นเหมือนเด็กเก่งระดับเทพทั้งหลายที่ไม่ต้องท่องสูตร เพราะเข้าห้องสอบไปก็สามารถพิสูจน์สูตรเหล่านั้นขึ้นมาได้เองจากความเข้าใจ แต่เขายังไม่มีความสามารถมากพอที่จะเห็นเส้นที่ขนานกับฐานของสามเหลี่ยมนั้นได้เอง และอยากให้ครูสอนให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง

ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนนะ ในวิชาคณิตศาสตร์ ผมมีปัญหากับเรื่องฟังก์ชันตรีโกณมิติเป็นอันมาก เพราะคณิตศาสตร์ที่ผมเคยรู้จัก มันต้องเห็นที่มาที่ไปได้ชัดเจนพอที่จะสร้างมโนทัศน์ขึ้นในใจเองได้ เหมือนอย่างที่เราสามารถแรเงาพื้นที่ต่าง ๆ ในเซตที่อินเตอร์เซกกัน หรือนึกภาพลูกเต๋าในเรื่องความน่าจะเป็นได้โดยไม่ต้องยุ่งกับสูตรตัวเลขใด ๆ แต่กับตรีโกณมิติผมไม่สามารถทำได้

และพอไม่สามารถสร้างมโนทัศน์ได้ ก็เลยทำให้การเรียนเรื่องนั้น ๆ ดิ่งเหวไปเลย เพราะผมไม่สามารถท่องจำสูตรและสมการเหล่านั้นได้โดยปราศจากความเข้าใจ ในกรณีนี้ผู้เขียนข้างต้นยังประสบผลสำเร็จในการทำข้อสอบมากกว่าผม เพราะเขายังสามารถทนเรียนแบบท่องจำได้ ถึงแม้จะขัดใจตัวเองก็ตาม

ปัญหาก็คือเขาฉลาดพอที่จะเห็นว่าทุกอย่างมันควรเชื่อมโยงกันได้ แต่ยังไม่เก่งพอที่จะเห็นภาพความเชื่อมโยงเหล่านั้นได้เอง และแน่นอนว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้มุ่งที่จะช่วยเขาในจุดนี้

ทั้งนี้จะขอยังไม่กล่าวถึงประเด็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียน เพราะยุคสมัยที่ผ่านไปอาจจะทำให้เปรียบเทียบประสบการณ์กันได้ยากสักหน่อย

* * *

จริง ๆ แล้วผมว่ายังมีอีกคำถามที่สำคัญและน่าคิด ว่าความต้องการของผู้เขียน ที่จะเรียนฟิสิกส์ (ที่จริงก็รวมไปถึง formal sciences ทั้งหลายด้วย) โดยสร้างความเข้าใจทะลุปรุโปร่งในทุกด้าน มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า

สำหรับฟิสิกส์ระดับมัธยมปลาย ซึ่งแทบจะหยุดอยู่แค่ศตวรรษที่ 19 อาจยังไม่เห็นภาพชัดนัก แต่ก็มีอยู่เรื่อย ๆ ที่จะต้องพบเจอกับทฤษฎีบทที่ “เขาพิสูจน์มาแล้ว” แต่วิธีพิสูจน์นั้นต้องใช้ศาสตร์ที่ยังไม่ได้เรียน จึงต้องยอมรับไปก่อนโดยปริยาย แม้กระทั่งในเรขาคณิตระดับประถม เราก็ต้องท่องจำว่าปริมาตรของทรงกรวยเป็น 1/3 ของทรงกระบอก เพราะการพิสูจน์ที่มานั้นต้องใช้แคลคูลัส การท่องจำจากสิ่งที่มีคนคิดไว้ก่อนแล้วจึงแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในบรรดาศาสตร์รูปนัย

กระนั้นแล้ว คนที่ได้ร่ำเรียนจนหมดมวลความรู้ของมนุษยชาติในสาขานั้น ๆ ก็ควรจะสามารถมองทุกอย่างได้ทะลุปรุโปร่งอย่างที่ผู้เขียนต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันก็ยากที่จะเชื่อเหลือเกินว่าสมองของมนุษย์จะทรงพลังขนาดนั้น แล้วอย่างไรเสีย ต่อให้อัจฉริยะระดับไหน ก็คงไม่สามารถคิดวิเคราะห์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่ต้องแบ่งเป็นขั้นตอนเสียก่อน และในบรรดาขั้นตอนเหล่านั้น สุดท้ายแล้วยังไงมันก็มีสิ่งที่เราต้องจำไปใช้อยู่ดี แม้ว่าจะเคยคิดวิเคราะห์ไว้เองก็ตาม