29 May 2010

ปริญญา-ค่านิยม-สังคมไทย

สวัสดีครับ ก่อนอื่นขอแจ้งให้ทราบว่าผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ และยังไม่ได้เลิกเขียนบล็อกแต่อย่างใด เรื่องเก่า ๆ ที่ดองไว้ยังคงอยู่ใน to-do list รอวันที่จะได้ผุดได้เกิดต่อไป

ช่วงนี้ผมและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันก็กำลังมีเรื่องต้องวางแผนและเตรียมตัวเกี่ยวกับงานรับปริญญาอยู่พอควร ซึ่งก็มีรายละเอียดให้วุ่นวายหลายอย่างทั้งเรื่องลางาน การเดินทาง ตัดชุดครุย ฯลฯ แต่ลำพังการเตรียมตัวที่จำเป็นเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นปัญหายุ่งยากเท่ากับภาคเสริมที่เพิ่มเข้ามา ทั้งการนัดเพื่อน หาคนถ่ายรูป แต่งหน้าทำผม ฯลฯ ที่ดูเหมือนว่าด้วยค่านิยมของสังคมในปัจจุบัน ก็เกือบ ๆ จะกลายเป็นภาคบังคับไปอีกส่วนแล้ว

ผมเองปกติก็ว่าไม่ชอบทำอะไรตามกระแสเท่าไร แต่ก็ยังหวั่น ๆ อยู่เลยครับว่าถ้าไม่มีช่างภาพส่วนตัวเหมือนเพื่อน ๆ แทบทุกคนที่เจอตอนรับปริญญากันเมื่อสองปีก่อนนี่จะแปลกประหลาดขวางโลกไปหรือเปล่า ไม่รู้มัธยฐานของสังคมเค้าต้องเตรียมอะไรกันแค่ไหน

Case in point: บทความชุด Commencement Guideline ของคุณ puyisme ที่เว็บไซต์คณะกรรมการบัณฑิตจุฬาฯ (กบจ.)¹ เอามาลงไว้

คิดว่าถ้าเรียกการเตรียมตัวระดับนี้ว่าเป็นมาตรฐานชั้นหนึ่งของสังคมวัตถุนิยมในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก (ขออภัยหาก offend - ไม่มีเจตนาเจาะจงว่าใคร แต่อยากกล่าวถึงค่านิยมของสังคมในภาพรวมเฉย ๆ) ซึ่งก็ไม่ได้คิดจะทำตามหมดนั่นอยู่แล้วล่ะ แต่อ่าน ๆ ไปแล้วก็ติดใจตะหงิด ๆ อยู่บางอย่าง

อย่างตรงการเชิญแขกผู้มาร่วมแสดงความยินดีนี่มัน... ยังไงนะ? ในความรู้สึกของผม ปกติแล้วงานที่จะมีการเชิญให้เข้าร่วมนั้นน่าจะต้องมีการเลี้ยงตอบรับ หรือให้แขกมีอภิสิทธิ์ได้เข้าร่วมในพิธีสำคัญบางอย่าง แต่ตรงนี้อย่าว่าแต่แขกเหรื่อมากมายที่ไหนเลย พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่มีสิทธิ์เข้าหอประชุมเลยด้วยซ้ำ (ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ว่าแล้วตกลงงานรับปริญญานี่จัดให้ใครนะ ไม่ใช่ว่าที่ทั่วไปมักถือกันว่าพ่อแม่เป็นคนส่งเสียให้เล่าเรียนมา ก็ควรจะได้มีส่วนร่วมในงานพิธีนี้หรอกเหรอ)

หรืออย่างการมีผู้ดูแลที่แทบจะต้องคอยรับใช้ทุกอย่าง ซึ่งพาให้ผมนึกไปถึงคอลัมน์ Miss Manners ของ Judith Martin ที่เคยกล่าวถึงแนวโน้มของงานแต่งงานอเมริกันที่นับวันจะพลิกผันเป็นงานเติม ego ของเจ้าสาวที่มักเห็นเพื่อนเจ้าสาวเป็นทาสรับใช้และเห็นแขกเป็นบ่าวบริพาร (Miss Manners ยังกล่าวอีกว่ามักมีญาติสนิทเพียงไม่กี่คนที่จะอยากมีส่วนร่วมในงานรับปริญญาของบัณฑิตจบใหม่)

ความจริงเกือบทุกแง่ของการรับปริญญาตามแบบสมัยนิยมที่ว่านี้ ก็ดูจะคล้อยตามค่านิยมงานแต่งงานที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ทั้งการเตรียมการเยอะแยะที่ว่า แล้วไหนจะการจัดฉากถ่ายรูปให้ดูดีเป็นพิเศษ ฯลฯ

ก็คงสอดคล้องกับความที่ว่าในสังคมไทย การรับปริญญาดูจะเป็นก้าวการเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแต่งงาน

เพราะกระดาษแผ่นเดียวนี้มันเป็นทั้งใบอนุญาตให้มีตัวตนอยู่ในโลกการทำงาน เป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของวงศ์ตระกูล และสำหรับบางคนมันอาจเป็นใบเบิกทางที่เปิดให้ก้าวข้ามกำแพงแห่งชนชั้นได้ในที่สุด


  1. เคยบ่นว่าคำอย่างนี้ที่ควรจะทับศัพท์ตามรากบาลี (paṇḍita) ก็ดันใช้ราชบัณฑิตฯ