25 May 2014

รำพึงรำพัน เรื่องรัฐประหาร

คำชี้แจง: เนื้อความในเอ็นทรีนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย การกล่าวถึงรัฐประหารใด ๆ ในเอ็นทรีนี้หมายเฉพาะถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือกล่าวลอย ๆ ถึงกรณีทั่วไปเท่านั้น ความทั้งหมดในเอ็นทรีนี้ ไม่มีส่วนใดที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 แต่อย่างใด และไม่ได้พาดพิงถึง คสช.หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น

ขอพักซีรีส์ Standing in line มาพร่ำเพ้ออะไรสักเล็กน้อยนะครับ

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงรัฐประหารก็ต้องมีคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

คิดดูก็แปลกดี ถ้าเป็นสมัยก่อน (ก่อนปี 2005) คงไม่มีใครคิดว่าจะต้องตอบคำถามนี้

แม้ในปัจจุบัน เวลาเห็นคนบอกว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาเช่นนี้ ก็ยังพอเข้าใจ

แต่ที่ช่างเข้าใจยากนัก คือคนที่เรียกร้องรัฐประหารกันอย่างเต็มปากเต็มคำ

ก็คงเหมือนกับที่คนไปมอบดอกไม้ให้ทหารเมื่อปี 2006

ชีวิตของเราคงแตกต่างกันนัก จึงพามาให้มองเห็นโลกเบี้ยว ๆ นี้ได้ต่างกันขนาดนี้

ที่จริงถ้าถามคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น หลายคนคงให้คำตอบที่เป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับเสรีภาพ การกดขี่ ความชั่วร้ายของเผด็จการ ฯลฯ

ถ้ามีคนถาม ผมก็อาจจะกล้อมแกล้มตอบไปในทำนองเดียวกัน

แต่ในความจริงแล้วคำตอบลึก ๆ ในใจคงไม่มีเหตุมีผลแบบนั้น

...

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กโตมาในทศวรรษ 1990s

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กตามพ่อแม่ไปเขตเลือกตั้ง ดูเขานับคะแนนในจอโทรทัศน์

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กดูถ่ายทอด ส.ส.อภิปรายปาหี่กันในสภา (ถึงมันจะดูไร้สาระกว่าละครน้ำเน่าก็เถอะ) ดูเขาตั้งรัฐบาลกับยุบสภาสลับกันไปมา จนเห็นมีรัฐบาลพลเรือนผลัดเปลี่ยนกันไปห้าสมัยในสิบปี ซึ่งน่าจะเป็นสถิติต่อเนื่องนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้แล้วมั้ง

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กฟังผู้ใหญ่พร่ำสอนถึงความงามของประชาธิปไตย ถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยที่กำลังเติบโตทางการเมืองจนกลายเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงบทเรียนอันเจ็บปวดครั้งสุดท้ายที่เราได้เรียนเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1992

บทเรียนที่ผมเองยังคงจำได้...

อันที่จริงเมื่อคราวพฤษภาทมิฬนั้นผมคงยังไม่รู้เรื่องหรอก ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะก็อยู่ในวัยเพิ่งเข้าโรงเรียน

แต่ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ที่น่ากลัวเกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ น่ากลัวจนโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอม น่ากลัวอย่างที่เห็นภาพท้องฟ้าเต็มไปด้วยควันทะมึน น่ากลัวอย่างที่มีคนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย

ตอนนั้นผมคงยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าความตายคืออะไร

แต่เรื่องราวของข่าวเหล่านั้นก็กลายเป็นหนึ่งในความทรงจำแรก ๆ ที่ผมมี เกี่ยวกับความเป็นไปของประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้

และค่านิยมและความเชื่อที่เกิดสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผมได้รับปลูกฝังมาดั่งศรัทธาในศาสนา ว่าทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ว่าการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยทหารนั้นจะนำพาให้ประเทศชาติย่อยยับ ดั่งที่ได้เห็นกันมาแล้ว

ครับ มุมมองของผมที่มีต่อรัฐประหาร แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา เช่นเดียวกับที่ถูกสอนให้เคารพผู้ใหญ่ หรือถูกสอนว่าคนไทยต้องรักในหลวง

แต่คำสอนเหล่านี้ก็ชี้นำชีวิตเรามาตลอด

ผมยังจำเพลงรณรงค์เลือกตั้งปี 1992 นั้นได้

วันที่ 13 กันยายน
เราทุกคนจะไปเลือกตั้ง
ใช้สิทธิ์ของเราอีกครั้ง
เลือกคนดีเข้าสภา ♪

อาจจะไม่ทรงพลังเหมือน “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ” แต่สำหรับผมแล้วเพลงนี้เหมือนเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังทางการเมืองที่กำลังจะสดใสขึ้นแทบไม่ต่างกัน

แต่เหมือนท้องฟ้าสีทองที่ผ่องอยู่ได้ไม่ถึงสามปี ก็คงรู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้น

รัฐประหารเมื่อปี 2006 นั้น ถึงจะไม่เสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับผมมันก็ช่างน่าตกใจ และสะเทือนใจไปมากทีเดียว

เป็น a nasty shock ที่ดึงให้เราต้องมาประจักษ์กับความจริงว่าสิบสี่ปีที่ผ่านมา ทหารไม่ได้หายไปไหนเลย

เป็นการทำลายความฝัน ที่เราเคยวาดไว้ว่าอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแบบนี้แล้ว

และที่เจ็บช้ำไปกว่านั้น คือภาพคนมากมาย ที่ออกมามอบดอกไม้ให้ทหารด้วยน้ำใจยินดี

ตกลงความเลวร้ายของเผด็จการทหารที่เคยถูกสอนมา มันไม่จริงอย่างนั้นหรือ?

สิบสี่ปีที่ผ่านมานั้นคือเราเข้าใจผิดมาตลอด?

หรือคนเหล่านั้นเขาเพียงแค่ลืม ในสิ่งที่เรายังจำ?

ผมอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจความเลวร้ายของสังคมมนุษย์ ที่บังคับให้เราต้องยอมรับอะไรเช่นนี้

ผมอาจจะยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีตมากเกินไป จนไม่ทันเห็นว่าโลกหมุนผ่านไปจนอดีตเหล่านั้นมันไม่จริงแล้ว

ผมอาจจะหลงผิด อยู่กับความเชื่อที่ถูกสั่งสอนมาโดยไม่ได้นึกถึงเหตุผล

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อย่างน้อยก็ช่วยบอกกันให้เข้าใจหน่อยได้ไหม

ว่าทำไมจึงร้องหา

รัฐประหาร

17 May 2014

Standing in line (2): Order v discipline

บทความที่แล้วเปิดซีรีส์ไปด้วยการบ่นระบบทหาร ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ดูเป็นเรื่องที่จะต้องเดือดร้อนด้วยเท่าไร ตราบที่ทหารยังอยู่ส่วนทหาร (และไม่คำนึงว่ามีกฎหมายบังคับให้รับราชการทหารอยู่) ความงี่เง่าของระบบเหล่านั้นก็ไม่น่ากระทบอะไรกับประชาชนพลเรือนทั่วไป

แต่เรื่องของเรื่องคือ ระบบเหล่านั้นมันไม่ได้จำกัดขอบเขตตัวเอง วันนี้จะขอพาเข้าประเด็นหลักโดยยกพาดหัวรองจากบทความ The New York Times เมื่อ พ.ค.ที่แล้ว ที่เคยอ้างถึงในเอ็นทรี หัวเกรียน? ชุดนักเรียน?

In Thailand’s Schools, Vestiges of Military Rule

ประเด็นที่อยากจะอภิปรายวันนี้ คือองค์ประกอบของระบบทหารที่เราต่างพบเห็นกันเป็นประจำในพื้นที่สถาบันการศึกษาไทย หรือ “school regimentation” ที่กล่าวถึงในชื่อบทความดังกล่าวนั่นเอง

ผมคงไม่ขอร่วมวิเคราะห์ว่าธรรมเนียมการเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่งเครื่องแบบ ตัดผมสั้น เชื่อฟังคำสั่งครู ฯลฯ ในโรงเรียนนั้นมีที่มาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไรหรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมเนียมเหล่านี้ได้ฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังคงแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

และด้วยความฝังลึกนี้ ทุกครั้งที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าว เราก็มักได้เห็นการอภิปรายถกเถียงเป็นวงกว้าง ทั้งในสื่อมวลชนและชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ และก็ไม่พ้นที่จะต้องได้เห็นข้อสนับสนุนที่ว่าธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ล้วนสำคัญ เพราะเป็นการปลูกฝังระเบียบวินัยให้เยาวชนได้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต

ที่บทถกเถียงเหล่านี้ไม่เคยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันได้ อาจเพราะความเห็นที่ต่างกันสุดขั้วก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละฝ่ายยังไม่เข้าใจว่า ระเบียบวินัย ที่ต่างอ้างกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เองก็ไม่ค่อยช่วยอะไร เพราะให้คำจำกัดความไว้ซ้ำซ้อนกันว่า ระเบียบ คือ แบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติหรือดำเนินการ ส่วน วินัย คือ ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

ผมจึงขอเสนอคำจำกัดความใหม่ สำหรับอธิบายแนวคิดของผมต่อประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยผมจะกำหนดให้ ระเบียบ (order) หมายถึงการปฏิบัติอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ส่วน วินัย (discipline) หมายถึงการควบคุมตนตามกาลเทศะอย่างสมควร

บอกแค่นี้อาจจะยังเห็นไม่ชัดเจนว่าแล้วตกลงมันต่างกันยังไง ลองดูตัวอย่างครับ ยกประเด็นต้นเรื่องเลยคือการเข้าแถว สมมุติว่าครูสั่งให้นักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ ซึ่งนักเรียนก็ยืนตรงได้ไม่ยุกยิก เข้าแถวเรียบร้อยเป็นแนวตรงทั้งแถวตอนแถวหน้ากระดาน อันนี้คือที่ผมเรียกว่ามีระเบียบ แต่หากนักเรียนเข้าแถวได้อย่างนั้นเฉพาะเวลาที่มีครูยืนคุมอยู่ ก็ไม่เรียกว่ามีวินัย เทียบกับการเข้าแถวต่อคิวรับถาดอาหารกลางวัน ถ้านักเรียนต่อคิวกันเป็นแถวโดยไม่ต้องคอยสั่ง ไม่มีคนแซงคิวแม้จะไม่มีครูคอยยืนคุม นั่นคือที่ผมเรียกว่ามีวินัย แม้อาจจะไม่ได้มีระเบียบ คือนักเรียนไม่ยืนตรง แถวเบี้ยวไปมาก็ตาม

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะพอเดาได้ว่าแนวคิดที่ผมจะเสนอคืออะไร ครับ เมื่อกำหนดความหมายแยกกันให้ชัดเจนแล้ว ผมเชื่อว่า วินัย คือสิ่งที่สำคัญต่อปกติสุขของสังคมมากกว่า เพราะในชีวิตประจำวันเราไม่มีใครมาคอยคุมให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์และมารยาทของสังคมอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีประโยชน์ที่ทุกคนจะสามารถเข้าแถวเคารพธงชาติได้ตรงเป๊ะทุกวันเช้าเย็น ถ้าเวลาขึ้นรถเมล์เราจะกลับยืนออเบียดเสียดแย่งกันแซงขึ้นรถตรงหน้าประตูจนผู้โดยสารบนรถลงไม่ได้ และก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดฝั่งขวาหรือซ้ายของบันไดเลื่อนให้ยืนหรือเดิน หากกำหนดไปแล้วคนจะไม่ปฏิบัติตาม

ไม่ใช่ว่าระเบียบไม่สำคัญ เพราะเมื่อมีวินัยในการปฏิบัติอะไรแล้วก็ย่อมต้องอาศัยระเบียบช่วยกำหนดให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามมา ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยกับส่วนหนึ่งในคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่อ้างไว้ในบทความที่แล้ว ที่ใช้วงโยธวาทิตเป็นสัญลักษณ์แทนความงี่เง่าของระบบทหาร เพราะการควบคุมร่างกายให้ผสานเข้ากับจังหวะดนตรีนั้นก็ต้องอาศัยทั้งระเบียบและวินัยร่วมกันในระดับสูง ไม่ต่างจากที่สมาชิกวงออร์เคสตราต้องมีทั้งระเบียบและวินัยในการเล่นจึงจะบรรเลงดนตรีออกมาได้พร้อมเพรียงโดยไม่ผิดเพี้ยน

แต่การบีบบังคับให้อยู่ในกรอบ (regimentation) ที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนนั้น แม้จะสร้างสภาพที่มีระเบียบได้แต่ก็แค่ชั่วคราว และที่สำคัญ ไม่น่าจะช่วยปลูกฝังวินัยได้แต่อย่างไร เพราะอาศัยแต่การเฝ้าควบคุม (และอาจจะกดขี่) อยู่ตลอดเวลา สภาพบีบบังคับเช่นนี้ ถึงแม้ในเบื้องต้นอาจจะสามารถขู่ให้ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจเกรงกลัวและไม่กล้าละเมิดระเบียบ ด้วยกลัวว่าจะถูกลงโทษ แต่ในเบื้องลึกแล้วกลับเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกต่อต้าน ที่จะส่งผลในทิศทางตรงข้ามเมื่อมันมากจนทนไม่ไหว หรือเมื่อแรงบีบบังคับนั้นอ่อนลง

การปลูกฝังระเบียบและวินัยที่แท้จริงนั้น ต้องมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นอิสระและมีความสามารถที่จะทำความรู้ความเข้าใจกับโลกรอบตัวได้ ครูจะตรวจผมตรวจเครื่องแบบนักเรียน จะยืนเฝ้าเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติเป็นสิบปี หากทำไปเพียงด้วยสภาพบังคับที่ไม่มีเหตุผล ก็คงไม่เหลืออะไรหลังจากที่นักเรียนเรียนจบพ้นเงื้อมมือครูไปแล้ว แต่การสอนให้นักเรียนรู้จักคิดถึงสังคมและคนรอบข้าง ให้เห็นและเข้าใจว่าการเข้าคิวจะช่วยให้ตนเองและเพื่อนทุกคนได้ทานอาหารกลางวันโดยเรียบร้อยตามความประสงค์ นั่นต่างหาก คือสิ่งที่โรงเรียนควรทำเพื่อปลูกฝังระเบียบวินัย