26 December 2014

Remembering the Tsunami

เอ็นทรีนี้ดัดแปลงจากโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปีที่แล้ว

31 ธันวาคม 10 ปีที่แล้ว...

อาคารศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติหลังเก่าเนืองแน่นด้วยผู้คน ทั้งผู้มาบริจาคโลหิต เจ้าหน้าที่ และบรรดาอาสาสมัครที่มาช่วยงาน ในจำนวนเหล่านั้น นิสิตแพทย์หลายสิบคนกระจายตัวปฏิบัติงานกันอยู่ในหลายส่วน ตั้งแต่ส่วนรับบริจาคโลหิต ที่ต้องเพิ่มเตียงขยายพื้นที่ออกมาหลายห้อง จนถึงห้องปฏิบัติการด้านหลัง โดยยังไม่รวมถึงคนอื่นที่ไปช่วยงานอยู่ที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ซึ่งอยู่ห่างไปไม่มากนัก

บรรยากาศเต็มไปด้วยน้ำใจยินดี แม้จะรองด้วยอารมณ์วิตกเศร้าและหดหู่ เพราะบัดนี้ทุกคนรู้แล้วถึงความเลวร้ายของสถานการณ์ แต่อย่างไรเสียต่างคนก็ยังหยิบยื่นกำลังใจส่งต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่าอย่างไรเสียคนไทยก็ไม่ทิ้งกัน

ในห้องประชาสัมพันธ์ นิสิตคนหนึ่งนั่งต่อสายโทรศัพท์อยู่แยกจากเพื่อนคนอื่น ๆ เพื่อพยายามติดต่อและเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตรายเก่าที่มีเลือดหมู่ Rh− ซึ่งกำลังขาดแคลนมากที่สุด เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ เพราะหมู่เลือดนี้พบน้อยมากในคนเอเชีย คนที่ติดต่อได้สำเร็จมีไม่มากนัก แต่อย่างไรเสียได้บ้างก็คงดีกว่าไม่ได้เลย

แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ฟังเรื่องราวของเขาแล้วก็แทบไม่กล้าที่จะเอ่ยขออะไรอีก เขาบอกผ่านโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงอิดโรยว่าไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ และออกตัวขอโทษว่าคงยังไม่สามารถไปบริจาคเลือดได้ตอนนี้เพราะสภาพร่างกายไม่ไหวจริง ๆ ทั้งนี้สามวันที่ผ่านมาเขาไปตามหาเพื่อนที่หายไปในเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ทั้งตามโรงพยาบาลและที่ปฏิบัติการภาคสนามซึ่งถูกใช้เป็นที่เก็บศพชั่วคราวทั้งหลาย แต่ก็ไม่พบอย่างใด และเห็นทีคงจะไม่มีความหวังแล้ว

คนฟังได้แต่ตอบกลับไปว่าไม่เป็นไร ขอโทษที่รบกวน และขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้ ก่อนที่จะวางสาย ความหนักอึ้งของเรื่องราวที่ได้ฟังค่อย ๆ จมลงในห้วงความคิด พลางตระหนักว่าความโหดร้ายของเหตุการณ์นั้นไม่ได้มาจากยอดตัวเลขความสูญเสียแต่อย่างใด หากแต่ตัวเลขนั้นคือจำนวนทุกเรื่องราวความสูญเสียซึ่งสำหรับแต่ละคนที่ประสบย่อมไม่สามารถเทียบกับอะไรอื่นได้

สำหรับคนที่กำลังประสบกับความสูญเสียเหล่านั้น เราคงได้แต่หวังว่ากำลังใจที่ส่งให้กัน จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยเป็นแรงให้เขาได้ก้าวเดินต่อไป

ภาพนี้ถ่ายบริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากคลื่นสึนามิ แม้เวลาจะล่วงเลยไป และสภาพชายหาดและบ้านเรือนได้กลับสู่ปกตินานแล้ว บาดแผลในวันนั้นก็ยังทิ้งร่องรอยอยู่ในใจของทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความสูญเสียที่ต้องยอมรับ หรือความจริงของชีวิตที่ได้เรียนรู้ ทุกอย่างต่างเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีค่า ที่ควรเก็บไว้และถ่ายทอดต่อไป

ดั่งเช่นป้ายเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยซึ่งบัดนี้ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ตลอดแนวชายหาด จะเป็นเครื่องเตือนถึงบทเรียน และยืนยันกับอนาคตว่าความเจ็บปวดที่เราประสบในวันนั้นจะไม่สูญเปล่า


ขอเพียงอย่าล้อมคอกแล้วเปิดประตูทิ้งไว้

คงจะดีหากเราจะมีน้ำใจให้กันได้ไม่เฉพาะยามภัยพิบัติแต่ทุกเวลา

No comments:

Post a Comment