1 December 2015

HIV Exceptionalism: Still a thing, 30 years on

ในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรค ต่างเป็นชื่อที่น่ากลัวและนำมาซึ่งความหดหู่และสิ้นหวัง เพราะในสมัยนั้นเรารู้เพียงว่าโรคมฤตยูที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้นำมาซึ่งความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีวิธีการรักษาใด ๆ ความกลัวนำไปสู่ความรังเกียจ และการตีตราและกีดกันผู้ติดเชื้อ วงการสาธารณสุขจึงตอบสนองโดยสร้างมาตรฐานที่เคร่งครัดเป็นพิเศษสำหรับการตรวจ การดูแลรักษา และการรักษาความลับของผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะ ทำให้เอชไอวี/เอดส์กลายเป็นโรคที่มีฐานะพิเศษกว่าโรคอื่นใด ๆ ในปัจจุบัน

ฐานะพิเศษนี้ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า HIV exceptionalism เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการสาธารณสุขมานานแล้ว Ronald Bayer ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้แสดงทรรศนะซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ตั้งแต่ปี 1991 ไว้ว่า HIV exceptionalism กำลังมีแนวโน้มจะลดความสำคัญลง ขณะที่ความรู้และมาตรการการจัดการโรคต่างพัฒนาก้าวหน้าขึ้น¹ แต่แม้จะผ่านมากว่า 20 ปี และวิทยาการได้พัฒนาจนเปลี่ยนโรคมฤตยูในสมัยนั้นให้กลายเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ หลักการของ HIV exceptionalism กลับยังคงเป็นที่ยึดปฏิบัติอยู่ เช่นเดียวกับการตีตราและกีดกัน ที่ยังฝังรากลึกไม่ยอมหายไปแม้ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวียังกำหนดให้ต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ และเป็นการตรวจอย่างเดียวที่ต้องให้ผู้ป่วยลงชื่อให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ในบางโรงพยาบาลผลการตรวจไม่สามารถเปิดดูผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้เหมือนการตรวจรายการอื่น แต่ต้องเดินไปรับผลซึ่งพิมพ์เป็นสลิปเอกสารลับโดยเฉพาะ อีกทั้งการให้คำปรึกษาและการจ่ายยา ก็มักมีขั้นตอนเฉพาะแยกต่างหากจากโรคอื่น เพื่อรักษาความลับของผู้ป่วย

ทั้งนี้ก็เห็นได้ไม่ยากว่าปัญหาการตีตราที่ยังแก้ไม่ได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ยังต้องคงมาตรการของ HIV exceptionalism ไว้ เพราะตราบใดที่สังคมยังมีความกลัวและรังเกียจผู้ติดเชื้ออย่างไม่สมเหตุสมผล การรักษาความลับของผู้ป่วยก็ยังต้องสำคัญเป็นพิเศษ บริการของคลินิกนิรนามจึงยังคงมีความจำเป็นอยู่นั่นเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง HIV exceptionalism นี้เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนให้การกีดกันและการเลือกปฏิบัติยังคงดำเนินอยู่ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายสาธารณสุขเพื่อต่อต้านการระบาดของเอชไอวีอีกด้วย เพราะมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะมีขึ้นเพื่อรักษาความลับของผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำถึงการเลือกปฏิบัติ และเป็นการยอมรับโดยนัยว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้นมีความพิเศษ (หรือน่ากลัว) กว่าโรคอื่นทั่วไป ซึ่งสัญญาณแฝงเหล่านี้อาจปลูกฝังความเชื่อในทั้งตัวผู้ป่วย สังคม และแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เอง โดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความยุ่งยากและ “เยอะ” ของมาตรการเหล่านี้ ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ เพราะยังทำให้รู้สึกว่าการตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องใหญ่หลวงที่ต้องคิดหนักก่อนจะปลงใจ แทนที่จะมองว่าเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้คนได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองและได้รับการรักษาเพิ่มมากขึ้น

นี่ยังไม่กล่าวถึงผลของ HIV exceptionalism ต่อคุณภาพบริการทางการแพทย์ ในสถานพยาบาลหลายแห่ง การห้ามเปิดเผยสถานะการติดเชื้อของผู้ป่วยไปไกลจนถึงขั้นที่ “เอชไอวี” กลายเป็นคำต้องห้ามที่เอ่ยถึงไม่ได้แม้จะอยู่ลับหลังผู้ป่วยและญาติก็ตาม และต้องเลี่ยงไปใช้รหัสลับต่าง ๆ นานา ไม่ต่างจากที่ตัวละครในเรื่อง Harry Potter ไม่กล้าเอ่ยชื่อ Voldemort ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารเป็นอันมาก (และอาจไม่มีประโยชน์อะไร เพราะบ่อยครั้งที่เคยได้ยินพยาบาลส่งเวรด้วยรหัสลับดังกล่าว ก็เห็นว่ายังใช้น้ำเสียงกระซิบกระซาบเหมือนผู้ป่วยเป็นตัวประหลาดหรือไปทำความผิดอะไรมาอยู่ดี) นอกจากนี้ ในอีกหลายกรณีก็ยังมีความลักลั่นระหว่างหลักการกับการปฏิบัติจริงอยู่มาก ดังเช่นในโรงพยาบาลบางแห่ง ที่แม้การตรวจเอชไอวีตามปกติจะต้องขออนุญาตผู้ป่วยก่อน แต่เวลาตรวจเลือดก่อนผ่าตัดแพทย์ก็จะสั่งให้ตรวจเอชไอวีโดยที่ไม่ได้บอกผู้ป่วยแต่อย่างใด เพื่อพิจารณาใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ (ซึ่งจริง ๆ แล้วตามหลัก universal precautions ควรจะปฏิบัติในผู้ป่วยทุกรายโดยไม่คำนึงถึงสถานะการติดเชื้อ)

ข้อปฏิบัติของ HIV exceptionalism เหล่านี้ จริง ๆ แล้วบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ดี (เช่นการตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ) แต่ก็ไม่ควรถูกจำกัดการปฏิบัติเฉพาะกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี มาตรการบางอย่างอาจไม่จำเป็นแล้วในปัจจุบัน แต่บางอย่างก็อาจยังต้องทำ ตราบที่สังคมโดยรวมยังมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากนายจ้างยังสามารถเอาสถานะการติดเชื้อมาเป็นเหตุผลไม่รับคนเข้าทำงาน การตรวจเอชไอวีก็ไม่อาจเป็นการตรวจคัดกรองทั่วไปได้ ทั้งนี้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานต้องตระหนักถึงความจำเป็นและเห็นเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว และเลือกใช้อย่างสมเหตุสมผล ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการส่งเสริมให้ตนเองและคนอื่นมองผู้ติดเชื้อเป็นตัวประหลาดหรืออันตราย เป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติก็ยังคงต้องเป็นการให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้การนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านสื่อ ดังเช่นในซีรีส์ฮอร์โมนส์ตอนที่ผ่านมา² ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่เมื่อพิจารณาว่าทุกวันนี้ยังมีข่าวชาวบ้านขับไล่ผู้ติดเชื้อออกจากหมู่บ้าน หรือผลสำรวจของกรมควบคุมโรคที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 51.2% บอกว่าไม่ยินดีว่ายน้ำในสระเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ 40.9% บอกว่าไม่ยินดีให้ลูกเรียนหนังสือร่วมชั้นกับเด็กที่ติดเชื้อ³ ขณะที่ในทางกลับกันบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอายุน้อย กลับไม่ตระหนักถึงอันตรายของพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็เห็นได้ว่าหนทางในการแก้ปัญหาและสร้างความรู้ความเข้าใจนั้นยังคงอีกยาวไกล

ถ้าฮอร์โมนส์หนึ่งตอนจะเสนอเรื่องความหมายของการติดเชื้อเอชไอวีได้สู่ผู้ชมสักสองล้านคน โจทย์ที่น่าคิดต่อไปคงต้องเป็นว่าเราจะใช้สื่ออะไร หรือทำอย่างไรได้อีก เพื่อที่จะอธิบายเรื่องนี้และแง่มุมอื่น ๆ ให้กับคนที่เหลืออีกทั้งประเทศ

เพราะหากยังไม่สามารถทำได้แล้ว การเข้าถึงผู้ติดเชื้ออย่างทั่วถึงก็จะยังคงเป็นไปไม่ได้ และการเอาชนะเอชไอวี/เอดส์ ก็จะเป็นได้เพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ในสังคมไม่อุดมปัญญาเท่านั้นเอง


13 November 2015

Today's vs 2001 world leaders: Who can you name?

บางครั้งนั่งนึก ๆ ดูก็รู้สึกว่าตอนเด็ก ๆ เหมือนเราจะรู้เรื่องข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าในปัจจุบันเสียอีก ผู้นำประเทศต่าง ๆ ก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเพราะตอนนั้นต้องจำไปสอบหรืออะไร แต่เผลอ ๆ ทุกวันนี้จะยังจำชื่อหัวหน้ารัฐบาลตอนปี 2001 ได้มากกว่าในปัจจุบันด้วยซ้ำ

อย่ามัวกระนั้น มาไล่ดูกันให้เห็นกันไปเลยดีกว่า (เรียงตามระยะห่างระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองหลวงของประเทศนั้น ๆ)

ประเทศผู้นำ 2001ผู้นำ 2015
ลาวเป็นความทุเรศมากที่ไม่เคยรู้เลยว่าผู้นำประเทศลาวชื่ออะไร หรือแม้กระทั่งระบบการปกครองเป็นแบบไหน (เฉลย: ทองสิง ทำมะวง เป็นนายกฯ จูมมะลี ไซยะสอน เป็นประธานประเทศในปัจจุบัน)
กัมพูชาฮุน เซนฮุน เซน
พม่ารัฐบาลทหาร ไม่รู้ใครเป็นหัวหน้าNLD เพิ่งชนะเลือกตั้งนี่ (แต่ลืมชื่อ เต็ง เส่ง ไปแล้ว)
เวียดนามนี่ก็ไม่เคยรู้อีกเหมือนกัน (นายกฯ Nguyễn Tấn Dũng, ประธานาธิบดี Trương Tấn Sang)
มาเลเซียมหาเธร์ โมฮัมหมัดจำไม่ได้เลยใครเป็นต่อจากมหาเธร์บ้าง (Najib Razak)
สิงคโปร์เกือบลืมชื่อ โก๊ะ จ๊กตง ไปแล้วLee Hsien Loong (จำได้ก็จากข่าวตอนที่ลี กวนยู ตายนี่แหละ)
บังคลาเทศไม่คุ้นชื่อเลยสักคน ไหงงั้น เคยทำรายงานไม่ใช่เหรอ (นายกฯ ปัจจุบัน Sheikh Hasina ที่จริงเคยเห็นชื่อในข่าวช่วงนี้อยู่แต่จำไม่ได้)
ฮ่องกงนึกชื่อไม่ออกสักคน (แต่เคยจำ Tung Chee-hwa กับ Donald Tsang ได้)ส่วนคนปัจจุบัน (Leung Chun-ying) ไม่รู้จักเลยแฮะ
บรูไนสุลต่าน พระนามว่าไงไม่เคยรู้เลยแฮะ (สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์)
เนปาลไม่เคยรู้ว่าใครเป็นนายกฯ เลยแฮะ รู้แต่โศกนาฏกรรมปี 2001 กับปัจจุบันล้มระบบกษัตริย์ไปแล้ว (Khadga Prasad Sharma Oli)
ฟิลิปปินส์Gloria Macapagal-Arroyoจำได้แต่ชื่อ Noynoy Aquino (Benigno Aquino III)
อินโดนีเซียMegawati Sukarnoputriอ้าว Susilo Bambang Yudhoyono พ้นตำแหน่งไปแล้วเหรอ ยังจำชื่อไม่ทันได้เลย (Joko Widodo)
ศรีลังกาจำไม่ได้ แต่เห็นชื่อแล้วคุ้นอยู่ (Chandrika Kumaratunga)ไม่รู้จักเลย (ปธน. Maithripala Sirisena)
ไต้หวันChen Shui-bianMa อะไรสักอย่างเพิ่งออกข่าวอ่ะ (Ma Ying-jeou)
อินเดียจำไม่ได้แต่คุ้น (Atal Bihari Vajpayee)รู้ว่า Manmohan Singh พ้นตำแหน่งแล้วแต่จำชื่อนายกฯ คนใหม่ไม่ได้ (Narendra Modi)
มัลดีฟส์ไม่เคยรู้เลย (Abdulla Yameen)
จีนHu Jintao (ก่อนหน้านั้นก็เจียง เจ๋อหมิน)Xi Jinping
ปากีสถานPervez MusharrafNawaz Sharif
ติมอร์ตะวันออกรู้จักแต่หัวหน้าขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพอ่ะ ชื่ออะไรนะจำไม่ได้ละ (Xanana Gusmão เป็น ปธน.ก่อน แล้วเป็นนายกฯ ต่อ ส่วนคนปัจจุบันคือ Rui Maria de Araújo)
เกาหลีใต้Kim Dae-jungPark Geun-hye (จำผิดกับ Park Chung-hee อยู่เรื่อย)
เกาหลีเหนือKim Jong-ilKim Jong-un
มองโกเลียไม่มีไอเดียเลยสักนิด (นายกฯ Chimediin Saikhanbileg)
อัฟกานิสถานHamid Karzaiเปลี่ยนคนหรือยังนะ (Mohammad Ashraf Ghani)
ญี่ปุ่นJunichirō KoizumiShinzō Abe (ที่จริงระหว่างอาเบะสองสมัยมีใครบ้างก็ไม่รู้)
อิหร่านไม่เคยรู้เลยจำได้แต่ Mahmoud Ahmadinejad ใครมาแทนไม่รู้ (Hassan Rouhani)
ซาอุดีอาระเบียกษัตริย์อะไรนะจำไม่ได้ (Fahd bin Abdulaziz Al Saud)กษัตริย์อับดุลลอห์ เอ๊ะสวรรคตไปแล้วสิ คนปัจจุบันจำไม่ได้ละ (Salmanฯ)
อิรักSaddam Husseinตอนนี้มีระบบอะไรบ้างแล้วก็ไม่รู้ (นายกฯ ปัจจุบัน Haider al-Abadi)
ซีเรียตอนนั้นไม่รู้จักหรอกว่าใคร (คนปัจจุบันนี่แหละ)Bashar al-Assad
อิสราเอลAriel Sharon (ก่อนหน้านั้นจำได้ว่ามี Yitzhak Rabin ก่อนจะโดนลอบสังหาร แล้วก็เนทันยาฮูกับใครอีกสองคน)Benjamin Netanyahu อีกแล้ว อยู่ยาวเลยคราวนี้
ปาเลสไตน์Yasser ArafatMahmoud Abbas
รัสเซียVladimir Putin (ก่อนหน้านั้นก็ Boris Yeltsin)Vladimir Putin
อียิปต์Hosni Mubarak แต่ตอนนั้นไม่รู้จักหรอกมั้งหลังปฏิวัติกับรัฐประหาร เป็นใครแล้วไม่รู้ (Abdel Fattah el-Sisi)
ออสเตรเลียJohn Howardเขาเพิ่งเปลี่ยนคนไป ชื่ออะไรนะ (Malcolm Turnbull)
เยอรมนีเคยรู้ว่า Gerhard Schröder แต่จำไม่ได้ละ (จำได้แต่ Helmut Kohl)Angela Merkel
อิตาลีSilvio Berlusconi (เป็นหลายสมัยจังวุ้ย)ตอนนี้ใครไม่รู้ (Matteo Renzi)
ฝรั่งเศสJacques Chirac (นานจัง)François Hollande (คั่นโดย Nicolas Sarkozy)
สหราชอาณาจักรTony BlairDavid Cameron
นิวซีแลนด์ลืมไปแล้ว (Helen Clark)ไม่รู้ (John Key)
แคนาดาไม่คุ้นชื่อสักคนเลยแฮะข่าวเพิ่งลงว่าชนะเลือกตั้งอะ ใครนะ (Justin Trudeau)
สหรัฐฯGeorge W. BushBarrack Obama
คิวบาFidel CastroRaúl Castro
เวเนซุเอลาHugo ChávezChávez ตายไปแล้ว ไม่รู้ใครเป็นแทน (Nicolás Maduro)

สรุปคะแนน: จาก 42 ประเทศ จำชื่อผู้นำในปัจจุบันได้ 17 ประเทศ แต่จำชื่อผู้นำเมื่อปี 2001 ได้ 22 ประเทศ และเคยรู้ 28 ประเทศ

บางทีความรู้ที่จำมาแต่เด็กมันก็ยากที่จะอัปเดต...

10 January 2015

เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้อง...

วันเด็กอีกปี คำขวัญวันเด็กอีกหนึ่งคำขวัญ ที่ยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่ามีประโยชน์เพียงให้นักเรียนท่องไปตอบครู แล้วปีหน้าก็ลืม

แต่บางอันเราก็กลับไม่ลืมแฮะ สำหรับผมเอง มีคำขวัญวันเด็กที่ยังจำได้อยู่ 2 คำขวัญ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย ของคุณชวน หลีกภัย กับ เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี ของคุณทักษิณ ชินวัตร

อันแรกที่จำได้น่าจะเพราะมันสั้นมาก (มี 9 พยางค์ ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา) กอปรกับใช้ซ้ำ 2 ปี (พ.ศ. 2541, 2542 ซึ่งสมัยนั้นก็ชื่นชมคุณชวนที่ช่วยให้ไม่ต้องจำคำขวัญใหม่บ่อย ๆ) ส่วนเนื้อความของตัวคำขวัญเองนั้นไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะก็ออกคล้อยตามคำขวัญอื่น ๆ ที่ล้วนแต่บอกให้เป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา ฯลฯ โดยยกคุณธรรมอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างขึ้นมาเป็นตัวเด่นในแต่ละปี

ต่างจากคำขวัญของคุณทักษิณที่ฟังดูแล้วรู้สึกได้ว่าผิดแปลกจากธรรมเนียมนั้น เพราะแต่ละประเด็นที่ยกมาล้วนแต่มิใช่หัวข้อประเพณีนิยมที่เห็นกัน เรื่องเรียน แม้ว่าเดิมจะมีพูดถึงก็เป็นในลักษณะว่าให้ขยันเรียนในห้องเรียน เทคโนโลยี ก็เป็นประเด็นร่วมสมัยที่เพิ่งกล่าวถึงครั้งแรก และที่เด่นที่สุดคือคำว่า คิด ที่เพิ่งจะปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน (ที่จริงมี ใฝ่ดีมีความคิด ใน พ.ศ. 2527 แต่ความหมายดูไม่ได้ชัดเจนนัก)

ซึ่งเมื่อดูคำขวัญอื่น ๆ ของคุณทักษิณ ก็ยิ่งเห็นชัด ข้อความอย่าง กล้าคิด กล้าพูด และ ขยันอ่าน ขยันคิด นั้นแตกต่างจากคำขวัญเดิม ๆ อย่างชัดเจน (ซึ่งต่อมาคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตั้งคำขวัญในแนวคล้ายกัน มีวลีอย่าง ฉลาดคิด จุดประกายฝัน รู้คิด และ คิดสร้างสรรค์)

ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจที่คุณทักษิณจะเป็นผู้ริเริ่มแหกประเพณีกับคำขวัญวันเด็ก เพราะเขาก็ไม่ได้เป็นคนชอบทำอะไรตามประเพณีนิยมอยู่แล้ว แต่การยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา โดยเฉพาะการบอกให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความคิด แทนที่จะสอนให้เป็นเด็กดีมีคุณธรรมเชื่อฟังผู้ใหญ่แบบเดิม ๆ มันก็เหมือนจะสะท้อนวิสัยทัศน์ (หรือการสร้างภาพลักษณ์?) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสังคมของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นอยู่กลาย ๆ

และไม่ว่าคำขวัญเหล่านี้จะสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่แต่งหรือไม่ก็ตาม เราก็ควรตระหนักว่าสาระของคำขวัญเหล่านี้ ที่ว่าเด็ก ๆ ควรจะได้รู้จักเรียนรู้และมีความคิดเป็นของตัวเอง คือแนวคิดที่เราต้องเปิดรับเพื่อให้สังคมสามารถพัฒนาไปได้ในโลกปัจจุบัน

แต่ถึงกระนั้น ทางเดินก็คงยังอีกยาวไกล เพราะเช่นเดียวกับประเพณีคำขวัญวันเด็กที่เปลี่ยนยากเพียงไร แนวคิดอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ในสังคมไทยก็คงฝังรากลึกไม่ต่างกัน ดังที่เพลงหน้าที่ของเด็ก (ที่ขึ้นต้นว่า เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน) ยังคงพร่ำสอนเด็ก ๆ ถึงคุณธรรมตามค่านิยมในการสร้างชาติเมื่อ 60 ปีที่แล้วอยู่ในปัจจุบัน


  • ความภูมิใจอย่างหนึ่งในการเป็นนักเรียนสาธิตเกษตรของผม คือการร้องเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีไม่เป็น (ที่โรงเรียนไม่เคยเปิดให้ฟัง พอได้ยินครั้งแรกก็โตพอที่จะกังขาข้อแรกที่ว่าต้องนับถือศาสนาแล้ว เลยไม่เคยสนใจจำมาจนถึงปัจจุบัน)
  • เพิ่งเห็นคนแชร์บทสัมภาษณ์ ณัฐนันท์ วรินทรเวช: คำขวัญวันเด็กต้องไม่มีคำว่า ‘ระเบียบวินัย’ จากเว็บ TCIJ – มีแนวคิดที่คาบเกียวกับเอ็นทรีนี้อยู่บ้าง ส่วนประเด็นระเบียบวินัย เคยกล่าวถึงแล้วในเอ็นทรี Standing in line (2): Order v discipline
  • ซีรีส์ Standing in line อีกสองบทความยังไม่ตายนะครับ อีกไม่นานคงจะมา