ก่อนที่จะอ่าน blog post นี้ กรุณาตอบคำถามต่อไปนี้ก่อน
- คุณรู้สึกว่าการสะกดชื่อ "คอร์ป ไบร์ด" มีอะไรผิดปกติไหม
- คุณไม่เคยใช้คำอย่าง "มั๊ย" "คลิ๊ก" หรือ"ลิ๊งค์" ใช่หรือเปล่า
- คุณหงุดหงิดบ้างไหมเวลาที่เห็นคนสะกดคำแบบแหวกแนว เช่น "นู๋"
- คำว่า "ฉันท์มิตร" สะกดผิดหรือเปล่า
ให้คะแนนข้อที่ตอบว่า yes โดยคะแนนเท่ากับเลขข้อ ถ้าคะแนนคุณน้อยมาก กรุณาตัดสินใจว่าจะอ่านต่อหรือเปล่า หรืออย่างน้อยก็ทำใจก่อนว่าอาจโดนกระทบบ้าง
เมื่อวันก่อนผมไปเห็นบอร์ด promotional โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง Tim Burton's Corpse Bride ที่สถานีรถไฟฟ้า เห็นแล้วก็ยิ่งเศร้าใจว่าภาษาไทยของเราคงจะถึงกาลวิบัติเอาเข้าแล้วจริง ๆ
ถ้าคุณได้ 0 คะแนนข้างต้น ลองดูเปรียบเทียบกับคำที่คุ้นเคย ถ้ากีฬากอล์ฟ จะสะกดว่า "กอลฟ์" มันดูแปลก ๆ หรือเปล่า
คำว่า corpse จะไม่รู้ว่าจะสะกดเป็นภาษาไทยยังไงนี่ก็คงไม่ว่าอะไรกัน เพราะจริง ๆ แล้วภาษาไทยไม่สามารถออกเสียงสะกดที่มี 2 หรือ 3 เสียงอย่างนี้ได้ แต่ bride --> ไบร์ด นี่จะถ้าอ่านตามที่สะกดคงต้องอ่านว่า ไบ-ดะ เพราะ ร การันต์ ต้องไม่ออกเสียง ส่วนสระ ไ- ก็เป็นสระเกินที่มีตัวสะกดไม่ได้อยู่แล้ว
[In case it wasn't obvious to you] เป็นผมผมจะสะกดว่า "บรายด์" หรือ "ไบรด์" เพราะถึงในภาษาอังกฤษ dipththong แบบนี้จะมีเสียงสะกดอีกได้ แต่ในภาษาไทยเสียงเหล่านี้ถือว่ามีเสียงสะกดเป็นแม่เกย (หรือแม่เกอว ในกรณีอื่น) แล้ว จึงต้องใช้ไม้ทัณฑฆาตกำกับ ด เพื่อแสดงให้เห็นว่าใส่เอาไว้เพื่อให้รู้รากศัพท์ในภาษาเดิมเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วในภาษาไทยจะออกเสียงได้แค่ บฺราย หรือ ไบฺร (พินทุที่จุดไว้ข้างใต้แปลว่าออกเสียงควบกล้ำ)
เผอิญกรณีนี้มันน่าอนาถใจมากเสียจนทนไม่ได้ แต่เรื่องน่าสลดใจจริง ๆ ที่มีให้เห็นทุกวี่ทุกวันก็คือการที่ดูเหมือนว่าคนจำนวนมากสมัยนี้จะไม่รู้จักไตรยางศ์เสียแล้ว (ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เรียนมาตั้งแต่ก่อน ป.1) ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านอยู่คงจะทราบว่า กจฎฏดตบปอ เป็นอักษรกลาง ขฃฉฐถผฝศษสห เป็นอักษรสูง ส่วน คฅฆงชซฌญฑฒณทนพฟยมรลวฬฮ เป็นอักษรต่ำ และผมก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ที่อ่านอยู่ก็คงจำได้อย่างน้อยก็คลับคล้ายคลับคลาว่าอักษรกลางผันวรรณยุกต์ได้ครบห้าเสียง ส่วนอักษรสูงกับอักษรต่ำผันได้ไม่ครบโดยอักษรสูงผันเสียงเอก โท จัตวา ได้ ส่วนอักษรต่ำผันเสียงสามัญ โท ตรี ได้ โดยใช้รูปวรรณยุกต์เอก โท (ไม่มี) และ (ไม่มี) เอก โท ตามลำดับ นี่ยังไม่ไม่คำนึงถึงแนวคิดที่ซับซ้อนขึ้นเช่นคำเป็นคำตาย
จริง ๆ แล้วผมไม่เชื่อหรอกครับว่าการใช้วรรณยุกต์ผิด ๆ ที่ผมเห็นทั่วไปจะเกิดจากความไม่ทราบ หรือลืม ในสิ่งที่เรียนรู้มาตั้งแต่ก่อน ป.1 จริง ๆ ไม่เช่นนั้นทำไมเพื่อนผมบางคนถึงจะยังพิมพ์คำว่า "ไม๊" หรือ "มั๊ย" ซ้ำแล้วซ้ำอีกแม้ว่าผมจะแกล้งว่าจนไม่มีทางที่เขาจะจำไม่ได้ ผมว่าตรงนี้หลายคนก็มีหลายเหตุผลแตกต่างกันไป ไม่ว่าอาจจะเพื่อแสดงความเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ เพื่อแสดงตนต่อต้านสังคม หรือเพื่อพยายามเรียกร้องความสนใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในกรณีเหล่านี้ถ้าทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารต่างก็รู้ดีว่าการใช้ภาษาดังกล่าวไม่ถูกต้อง และยอมรับไม่ได้ในกาลเทศะอื่น ผมก็ไม่เห็นว่าจะเกิดผลเสียอะไรมากมายตามมา (ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับการใช้ภาษาดังกล่าวเลยก็ตาม) ยกเว้นเสียแต่ว่าถ้าคนอื่นที่ไม่รู้ประสีประสาเข้ามาอ่านแล้วก็ทึกทักเอาว่าเป็นการใช้งานที่ยอมรับได้ทั่วไป หรือถ้าการใช้เหล่านั้นแพร่หลายระบาดมากเสียจนควบคุมไม่อยู่ และทำให้เส้นที่แบ่งระหว่างการใช้งานที่ถูกต้องกับการใช้งานที่ไม่อาจยอมรับได้ในหลายกรณีต้องเลือนไป
แต่ที่ผมคิดว่าเป็นภัยมากกว่าคือเวลาที่การใช้งานผิด ๆ เหล่านี้ปรากฏออกมาในสื่อที่เผยแพร่สู่สังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อร้านค้า โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ป้ายยักษ์ริมทางด่วน ปกนิตยสาร คู่มือประกอบการใช้งานสินค้า หรือเว็บเพจที่มีคนเข้าจำนวนมาก สื่อเหล่านี้นอกจากจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์แล้ว (ผมสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะไม่ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารที่ชื่อ "โฮ่งโก่วฟู๋" เป็นอันขาด และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่มีการโฆษณาแบบอัปลักษณ์ในทำนองเดียวกัน) แต่ด้วยปริมาณที่ออกสู่สายตาคนในสังคมอย่างล้นหลาม สื่อเหล่านี้ยังจะทำให้ความเข้าใจถึงการใช้ภาษาที่เหมาะสมของคนในสังคมต้องผิดไปได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง และนี่เอง เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความวิบัติแห่งภาษาของเรา
ผมไม่ได้กำลังกล่าวว่าผมเป็นคนเดียวที่ใช้ภาษาได้ถูกต้อง ขณะที่มองเห็นคนโง่ ๆ ทั้งหลายในโลกกำลังทำให้ภาษาของเราพังไป ผมเชื่อว่าในบทความที่ผ่านมาผมได้ทำให้เกิดความวิบัติของภาษาไปแล้วไม่น้อยกว่าสิบวิธี ไม่เฉพาะแค่การใช้สำนวนภาษาที่ซ้ำซ้อน วกวน เยิ่นเย้อ ปนภาษาต่างประเทศ หรือเป็นสำนวนที่ปกติไม่ควรใช้ในภาษาไทย
ผมเข้าใจและยอมรับว่าภาษาที่มีการใช้งานย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมจะขออ้างถึงข้อความจากหนังสือเรียน "วรรณลักษณ์วิจารณ์ เล่ม ๑" โดยกรมวิชาการ ที่กล่าวว่า
การเปลี่ยนแปลงของภาษาดังที่กล่าวมานี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องเกิดแก่ภาษาทุกภาษา แต่ผู้ใช้ภาษาก็ไม่ควรปล่อยให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปจนก่อให้เกิดผลเสียแก่การสื่อสาร เช่น ปล่อยให้เสียง ร หรือเสียงควบกล้ำหายไป คำที่มีเสียง ร ก็ออกเสียงเป็น ล เช่น คำ รัก ออกเสียง ลัก คำที่มีเสียงควบกล้ำ ก็ไม่ออกเสียงควบกล้ำ เช่น ปลา ออกเสียง ปา ผู้พูดและผู้ฟังก็จะเข้าใจไม่ตรงกัน สื่อสารกันไม่ได้ผล
ผมไม่ปฏิเสธว่าลักษณะของภาษาหลายประการนับวันดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความยุ่งยากมากขึ้นและมีประโยชน์ลดลงเรื่อย ๆ ผมไม่คิดว่าในอนาคตอันไกลจะยังมีคนบ่นเรื่องการใช้วรรณยุกต์กับไตรยางศ์ไม่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงของภาษาต้องเกิดจากการใช้งาน ไม่ใช่การวางแผนหรือควบคุม (ลองนึกถึงสมัยจอมพล ป.) แต่ผมเชื่อว่าลักษณะของภาษาหลายประการที่ในปัจจุบันดูไม่มีประโยชน์ที่จะรักษาไว้หรือระมัดระวังในการใช้งาน ยังมีเหตุผลที่จะต้องมีอยู่ และใช้ให้ถูกต้อง
เพราะ ในวันนี้ คุณคงไม่อ่านคำว่า "บรายด์" เป็น ไบ-ดะ ใช่ไหมครับ
(เฉลยคำถามต้นเรื่อง เผื่อใครยังสงสัยอยู่: ควรจะสะกดว่า ไบรด์ หรือ บรายด์; การใช้วรรณยุกต์ควรจะเป็น มั้ย คลิก ลิ้งค์; ที่ถูกต้องคือ หนู; ที่ถูกต้องคือ ฉันมิตร)
เราตอบ yes ข้อแรกกะ เอ้ย!! "กับ " ข้อสุดท้ายค่ะะคุณพอปล. เราเดาได้ตั้งแต่ในคำถามแล้วว่าพอต้องมาพูดเรื่องการใช้ภาษาไทยผิดแหงๆ
ReplyDeleteตอบเหมือนคุณiCeCrYsTaL60 เลยค่ะก้อมันเจรงๆนี่ส์ค้า นอกจากจะมะรุแร้ว เดะๆ วัยรุ่นหลายๆค๊นนนน ถึงจารุแต่ก้อมะทามค้า มันกายเปงกาแสนิยมไปซะแล้น..............เอิ๊ก
ReplyDeleteยาวเกิน ขี้เกียจอ่านแต่ฟังคุณบ่นบ่อยละ เรื่องนี้ และด้วยเหตุที่ฟังบ่อย ก็เลยทำให้ตอบ yes ทุกข้อเลย ดีใจ"มั้ย" ที่การบ่นได้ผล(ปกติไม่ใช้เลย คำว่า "มั้ย" เนี่ย ถ้าเขียนจริง ๆ ก็เป็น "ไหม" หรือไม่ก็กร่อนเป็น "มะ" ไปเลยมากกว่า)
ReplyDeleteน่าคิดๆ
ReplyDelete555+ ถือว่าโชคดีที่สะกดคำที่พอยกตัวอย่างมาถูก
ReplyDeleteปล.บล็อกข้างบนพอสะกดว่า "เปงไง" ??????????????
ReplyDelete5555+คุณพอตกม้าตาย"เปงไง" ที่ถูกต้องควรจะสะกดเป็นคำว่า "เป็นอย่างไร" มากกว่านะครับคุณพอ
ReplyDeleteใช่ ก็ที่บอกไงว่า "ตรงนี้หลายคนก็มีหลายเหตุผลแตกต่างกันไป"
ReplyDeleteโอ้ เพิ่งสังเกต Corpse bride เหมือนกัน
ReplyDeleteถ้าหากจะว่ากล่าวกันให้ตรงประเด็น ทุกวันนี้เด็กไทยผู้อ้างตัวว่าเป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ได้ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีของความเปลี่ยนแปลงที่จับหลักอะไรมิได้เลย แม้กระทั่งระเบียบแบบแผนทางภาษาที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้น่าน้อยใจอยู่ที่คนไทยปัจจุบันนี้ไม่ใคร่จะให้ความสนใจกับความถูกต้องของแบบแผนภาษาของตนเองเสียเลย อาจจะเป็นเพราะความที่อยู่ใกล้ชิดกับมันมากจนเกินกว่าจะเห็นความสำคัญของมันได้กระมังแต่เมื่อมีคนเช่นคุณพออย่างนี้ ทำให้รู้สึกใจชื้นขึ้นมากทีเดียวก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณพอในเรื่องนี้นะครับส่วนเรื่องการทับศัพท์ในภาษาต่างประเทศนั้น ความจริงมีผู้จัดระเบียบเอาไว้แล้ว อาจใช้ของราชบัณฑิตฯก็ได้ หรือถ้าหากว่าไม่ถูกใจ จะใช้ระบบของสารศิริราชตามที่ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์ (อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ได้รวบรวมเอาไว้ก็ได้ครับ (แม้รูปแบบมันจะประหลาดสักหน่อยก็ตาม)
ReplyDeleteยังวิชาการเหมือนเดิมเลยนะคะ...จำเราได้ปะเนี่ยะ กู๊ด ค่ะที่เคยดู คุณพอ กับ จี้ ซ่อมคอมที่ตึก 2 ไง... ลืมไปแล้วล่ะสิ เหอะ ๆ ...........................จริง ๆ เราก็ใช้ภาษาไม่ถูก100% นะ เพระว่าเขียนบล็อกยาวมาก พิมพ์ไม่ไหว บางทีก็ เห็นว่าเป็นภาษาพูดก็เลยเอามาพิมพ์ดู ได้อารมณ์กว่ามีเรื่องสงสัยแหละ... Knot เขียนเป็นภาษาไทยว่านอต หรือ น็อต ?ช่วยตอบกลับไปที่บล็อกเราด้วยนะขอบคุณค่ะปล. เอ่อ... ถ้าอ่านบล็อกเราแล้วรู้สึกว่ามันห่วย ทำเป็นไม่เห็นซะนะคะ... แอบกลัว...
ReplyDelete