10 April 2014

Standing in line (1): On orders and the military

This topic brings me to that worst outcrop of the herd nature, the military system, which I abhor. That a man can take pleasure in marching in formation to the strains of a band is enough to make me despise him. He has only been given his big brain by mistake; a backbone was all he needed. This plague-spot of civilization ought to be abolished with all possible speed. Heroism by order, senseless violence, and all the pestilent nonsense that goes by the name of patriotism—how I hate them!
– Albert Einstein

ตั้งใจจะเล่าถึงแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับระบบกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ในสังคมมาพักใหญ่ แต่ก็ยังไม่ได้เขียนลงบล็อกสักที วันนี้เนื่องในโอกาสเทศกาลเกณฑ์ทหาร และดราม่าณเดชน์เป็นหืดที่เพิ่งผ่านไป ก็ขอเริ่มต้นซีรีส์บทความสี่ตอนนี้ด้วยเรื่องทหาร ๆ หน่อยแล้วกัน

คำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ยกไว้ข้างต้น อันที่จริงก็สะท้อนแนวคิดของผมเกี่ยวกับระบบทหารได้ค่อนข้างดี หรือกล่าวสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ ผมเกลียดระบบทหารครับ

ที่จริงเหตุผลทั่วไปที่คนจะเกลียดการทหารนั้นก็ง่าย ๆ ไม่น่าต้องอธิบายอะไรมากมาย คือทหารเป็นสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองธรรมชาติความป่าเถื่อนของมนุษย์ ที่รังแต่จะฆ่าฟันทำลายกันเวลามีความขัดแย้ง ถึงแม้ทุกวันนี้มนุษย์จะยังหนีไม่พ้นความป่าเถื่อนดังกล่าว แต่การดำเนินวิถีแห่งความรุนแรงนี้ย่อมได้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับผู้ที่แสวงหาความเจริญในสังคมปัจจุบันที่พัฒนามามากแล้ว

และถึงแม้ในปัจจุบันทหารจะมีบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากการสู้รบ คือเป็นกองกำลังอเนกประสงค์ โดยเฉพาะในการบรรเทาสาธารณภัย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะการทหารและการสงคราม ผมก็คิดว่าน่าเสียดาย หากมนุษย์เราจะจำกัดพัฒนาการของตัวเองให้อยู่แต่บนพื้นฐานของความรุนแรง

แต่ความรุนแรงนี่ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ผมว่าเกลียดระบบทหารหรอกครับ อันที่จริงก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองถือแนวความคิดนี้มานานแค่ไหนแล้ว แต่พอจะนึกออกว่าตอน ป.5 ไปเข้าค่ายลูกเสือที่โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม) แล้วครูฝึกบอกกฎในการอยู่ค่าย 3 ข้อ คือ

  1. ครูฝึกถูกเสมอ
  2. เหมือนกับข้อ 1
  3. หากคิดว่าครูฝึกผิด ให้ย้อนกลับไปดูข้อ 1 และข้อ 2

ถึงเขาจะตั้งใจพูดเป็นมุกตลกที่พอขำได้เล็กน้อย แต่ผมก็จำได้ว่ารู้สึก "อะไรวะ" กับ "กฎ" ดังกล่าวมาก คือ ถูกคือถูก ผิดก็คือผิด จะกำหนดให้คนพูดผิดเป็นถูกได้ได้ยังไง

และจะบังคับให้คนสักแต่ทำตามคำสั่งโดยไม่ใช้สมองคิดว่าคำสั่งนั้นมันควรไม่ควรได้ยังไง

ครับ ปัญหาที่ผมมีกับระบบทหาร ก็เหมือนที่ไอน์สไตน์กล่าว มนุษย์มีวิวัฒนาการมา มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง จะมาบังคับให้ทำตามคำสั่งโดยไม่สนเหตุผลความเหมาะสมถูกผิดอะไรทั้งสิ้นมันใช้ได้ที่ไหน แล้วยิ่งวัฒนธรรมอำนาจนิยมนี้ถูกผสมกับอิทธิพลของพื้นฐานความป่าเถื่อน เกิดเป็นความหยาบคายในวาจาและกิริยาทุกชั่วขณะ ผมก็ยิ่งรับไม่ได้ครับ

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้วิจารณ์ลอย ๆ โดยที่ไม่เคยสัมผัสเองนะครับ ผมก็เหมือนเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่ที่เข้ารับการฝึกวิชาทหาร (รด.) ถึงชั้นปีที่สาม และผมยินดีที่จะบอกว่าผมไม่ประทับใจกับระบบการฝึกนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าผมเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่อ่านหนังสือคู่มือ นศท.ที่แจกมาชั้นปีละเล่ม แต่ผมอ่านครับ ถึงแม้จะไม่ครบทุกบท แต่ก็มากพอที่จะเห็นว่าเนื้อหาที่เป็นสาระมันมีอยู่ ผมรู้จากที่อ่าน ว่าการยืนตรงที่ถูกต้องนั้นปลายเท้าต้องห่างกันเท่าไร รู้ว่าการทำขวาหันจะต้องยกปลายเท้าขวาและส้นเท้าซ้ายในจังหวะไหน รู้ว่าการทำความเคารพโอกาสไหนต้องใช้วิธีใดบ้าง

แต่ในความเป็นจริง ครูฝึกกลับแทบจะไม่เคยบอกหรืออธิบายหลักการใด ๆ นั้นเลย

ในความเป็นจริง เราได้เห็นแต่ครูฝึกตะโกนออกคำสั่ง สั่งแล้วสั่งอีก สลับกับลงโทษที่ทำไม่ถูกใจ โดยที่คนถูกสั่งก็ไม่รู้ว่าไอ้ที่สั่งจริง ๆ แล้วมันต้องทำยังไงกันแน่ ได้แต่ทำตามกันมั่ว ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบลองผิดลองถูก จนกว่าครูฝึกจะพอใจ

ทั้ง ๆ ที่หากอธิบายดี ๆ ให้เข้าใจกันแต่แรก ฝึกทำแค่ไม่กี่ครั้งก็น่าจะได้แล้ว เพราะแต่ละคนก็มีสติปัญญาพอที่จะคิดเป็น แต่ทหารกลับห้ามไม่ให้ใช้สติปัญญานั้น และอาศัยแต่การกดดันด้วยความรุนแรงทางวาจาแทน

มันสูญเปล่าไหมล่ะครับ

และยิ่งมองภาพรวมของการฝึกวิชาทหารแล้ว ผมก็ยิ่งว่ามันสูญเปล่ามากมายจริง ๆ

ผมไม่เคยออกความเห็นเวลาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ เพราะถึงแม้ผมจะเกลียดระบบทหาร และกังขาในความลักลั่นของกฎหมายที่กำหนดว่าผู้ชายมีหน้าที่รับราชการทหาร ขณะที่รัฐธรรมนูญระบุว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ผมก็เข้าใจว่าในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ อย่างไรเสียระบบทหารก็จะยังคงมีอยู่ และยังไม่เห็นภาพว่าระบบการเกณฑ์ทหารจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรได้บ้าง ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็ยังใช้กัน

แต่ประเด็นการปรับเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารนี้สัมพันธ์โดยตรงกับโครงสร้างกำลังสำรอง ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมเห็น คือความไร้ประสิทธิผลของการฝึกวิชาทหาร พูดตรง ๆ คือการเรียน รด.นี่มันปาหี่สุด ๆ นอกจากการได้สัมผัสระบบทหารว่าเป็นอย่างไรแล้ว ผมไม่เห็นว่าการฝึก 240 ชั่วโมงกับไปเขาชนไก่อีก 5 วันนี่มันจะได้ช่วยให้ นศท.สามารถเป็นทหารได้จริงขึ้นมาตรงไหนเลย

ผมอาจจะคิดไปเอง แต่ผมยังรู้สึกว่าสำหรับ นศท.จำนวนมาก การฝึกส่วนใหญ่นั้นเหมือนการเล่นเกมอะไรสักอย่าง (ปนกับฝึกความอดทนและเลอะเทอะอีกบ้าง) มากกว่าจะเป็นการฝึกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะเกิดสงคราม

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าน่าเสียดายอะไรหรอกครับ (เพราะถ้าจะให้ฝึกจริงจังแล้วจะต้องโหดขนาดไหน ผมก็ไม่อยากเหมือนกัน) เพียงแต่คิดว่า ถ้าจะให้ตัดหัวเกรียนสามปีแล้วได้แค่นี้ (อย่าว่าแต่พร้อมเป็นทหารเลย แค่เข้าแถวอย่างมีระเบียบวินัยก็ยังไม่เห็นจะทำกันได้) ก็อย่ามีเสียเลย แล้วเอางบประมาณไปทำอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่านี้น่าจะดีกว่า

4 April 2014

น้องผู้ชายที่นั่งทำการบ้านกับตาชั่งตรงทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ

วันนี้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์โฆษณาของไทยประกันชีวิตที่เพิ่งออกมาใหม่ รวมถึงข้อทักท้วงจากมูลนิธิกระจกเงา แล้วจึงนึกถึงน้องผู้ชายที่นั่งทำการบ้านกับตาชั่งตรงทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ...

คนที่เดินผ่านตรงนั้นบ่อยช่วงราว 10 ปีที่แล้วอาจจะจำได้ น้องเค้าจะนั่งทำการบ้านอยู่กับเครื่องชั่งกับกระป๋องรับเงินเป็นประจำเกือบทุกวัน มีป้ายข้อความเรื่องประมาณเกี่ยวกับหาเงินเรียน/ช่วยทางบ้านวางเอาไว้

ดูเหมือนจะมีคนสนใจเรื่องของน้องเขาพอควร เพราะต่อมาก็เห็นมีบทความข่าวถ่ายเอกสารแปะฟีเจอร์บอร์ดมาวางแทน ผมเจอน้องเค้าทุกวันก็สนใจอยากรู้เรื่องราวดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปดูบทความนั้นใกล้ ๆ หรือคุยกับน้อง

เพราะรู้สึกไม่ค่อยดีที่จะไปอยากรู้ก็ส่วนหนึ่ง เพราะไม่รู้จะคุยอะไรก็ส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วเหตุผลหลักที่ไม่กล้านั้น คือเหตุผลเดียวกับที่อยากรู้ขึ้นมาตั้งแต่แรก

นั่นคือ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ครั้งใดที่เห็นน้องเค้านั่งอยู่ตรงนั้น ก็จะต้องเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง รูปร่างค่อนข้างเตี้ย ผมสั้นไม่เรียบร้อย สวมหมวกแก๊ป ใส่แจ็กเก็ตตัวโคร่ง ๆ ยืนพิงราวทางเดินอยู่ไม่ห่างไปเท่าไรนักเสมอ

แท้จริงแล้วเธอจะยืนทำอะไรผมก็คงไม่ทราบได้ ได้แต่สังเกตว่าน้องกับเธอจะปรากฏตัวร่วมกันทุกครั้ง หากไม่อยู่ก็จะไม่เห็นทั้งคู่ ไม่เคยมีวันใดที่คลาดไปจากนี้เลย

คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่าเธอมายืนเฝ้าน้องอยู่ แต่ความคิดนี้ก็นำไปสู่คำถามต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งว่าทำไมจึงต้องเฝ้า? ถ้าไม่เฝ้าน้องเขาจะไปไหน? เธอคนนี้เป็นใคร? น้องเขามาจากไหน? ภาพที่เห็นทุกวันเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์หรือเปล่า? แต่งั้นแล้วจะไม่มีใครรู้เรื่องแล้วทำอะไรเลยเหรอ? แล้วนักข่าวที่มาทำข่าวล่ะ? แล้วเธอคนนั้นก็ดูรู้จักคุ้นเคยกับบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่วางสินค้ากีดขวางทางเดิน ถ้าเป็นขบวนการอะไรเขาคงไม่กล้าทำอย่างนี้ที่เดิมตลอดทุกวันหรอก? นี่เราคิดอคติไปเองหรือเปล่า? แต่งั้นถ้าไม่ใช่แล้วเธอจะมายืนทำอะไร?

ความคิดเหล่านี้แล่นผ่านหัวผมเกือบทุกครั้งที่เดินผ่านและเห็นน้องเขานั่งอยู่ตรงนั้น แต่ด้วยความกลัว ทั้งกลัวที่จะเข้าไปข้องเกี่ยว กลัวคำตอบที่อาจจะพบ และกลัวที่จะก้าวออกจากเส้นทางปกติที่เดินตรงผ่านไปเป็นประจำ ผมจึงบอกตัวเองไปทุกครั้งไม่ให้ทำอะไร ได้แต่เมินเฉยต่อความเป็นห่วง และปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านเหล่านั้นพัดผ่านเลยไป

เวลาผ่านไป ภาพที่เห็นจนชินตานั้นเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ ความคิดกังวลทั้งหลายเริ่มกลายเป็นชาชิน แต่ประกายความเป็นห่วงเล็ก ๆ นั้นก็ยังวาบขึ้นเสมอเมื่อเห็นน้องตรงนั้น แม้จะถูกดับลงอย่างรวดเร็วทุกครั้งก็ตาม

ผมสัญจรผ่านทางเดินรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นประจำอยู่ราว 5 ปี ผมเห็นน้องตลอดช่วงนั้น ตั้งแต่ยังเด็กจนใส่ชุดนักเรียน ม.ปลาย จากนั้นจึงไม่ค่อยได้ผ่านไปทางนั้นอีก ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าเห็นน้องเขาครั้งสุดท้ายเมื่อไร แต่แม้จะไม่เห็นน้องแล้ว เวลาที่เดินผ่านทางนั้นก็ยังนึกถึงอยู่บ่อยครั้ง และก็ได้แต่นึกเสียดายที่ไม่กล้าหาคำตอบ (เพื่ออย่างน้อยจะได้หยุดความฟุ้งซ่านไว้บ้าง) และคิดในใจหวังให้เรื่องร้าย ๆ ที่เคยกังวลทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสิ่งที่คิดไปเองและไม่จริง