6 August 2016

รำพึงรำพัน เรื่องรัฐธรรมนูญ

แป๊บ ๆ เก้าปีแล้วเหรอเนี่ย รู้สึกเหมือนเพิ่งจะเขียนถึงเหตุผลที่ไม่ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญรอบที่แล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง

แต่คราวนี้คงอ้างเหตุผลแบบเดิมว่ายุ่งจนไม่มีโอกาสติดตามข่าวสารไม่ได้เสียแล้ว ในเมื่อมีคนแชร์ความเห็นฝั่งโน้นฝั่งนี้ผ่านตามาเต็มไปหมด ไหนจะคลิปไวรัลโยนหีบแตกนี่อีก เรื่องนี้ใครจะเกลียดจะด่า กกต.สมชัยว่าไงบ้างไม่รู้นะ แต่ในแง่การประชาสัมพันธ์สร้างกระแสนี่เอาถ้วยไปเลย

แต่ถึงจะมีข้อมูลตรงหน้ามากมายขนาดนี้เราก็ยังเพลียและไม่อยากจะสนใจมันอยู่ดี

เรื่องเดิม ๆ ที่ว่าการลงประชามติภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนี่ยังไงก็รู้สึกว่าปาหี่นี่ก็ส่วนหนึ่ง คือท่านก็แต่งตั้ง-ร่าง-ชงมาให้เสร็จสรรพขนาดนี้ แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม (♪)… เอ่อ นั่นแหละ ราวกับว่าการลงประชามติจะสามารถชดเชยการที่ห้ามเลือกกรรมการหมู่บ้านมาสองปี แล้วบ้านเมืองจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งก็ทำใจเชื่อไม่ลง และจึงไม่ค่อยอยากจะมีส่วนร่วมด้วยอย่างที่เคยบอกตั้งแต่คราวก่อน

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น

สำหรับผม ความสนใจในรัฐธรรมนูญคงไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

อย่างที่บอกไปในโพสต์รำพึงรำพันที่แล้ว ผมโตมาในบรรยากาศการเมืองยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในยุคที่เราคิดและเชื่อกันจริง ๆ ว่าบ้านเมืองจะได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวเสียที

ผมนั่งดูข่าวการอภิปรายมาตรา 211 สมัยรัฐบาลชวน 1 ทางโทรทัศน์ ตั้งแต่ยังไม่อาจรู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามันมีความสำคัญอย่างไร

ผมนั่งอ่านเอกสารแนะนำการเลือก ส.ส.ร.ที่ส่งมาที่บ้าน และค่อย ๆ เรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ผมไล่อ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน ถึงแม้จะรู้เรื่องเพียงแค่บางส่วน และตื่นเต้นกับความจับต้องได้ของบทบัญญัติสูงสุดของการปกครองประเทศ

ตอนนั้นผมอยู่ ป.6

ผมยังจำได้ถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ยังจำได้ว่ามี ส.ส.คนหนึ่งพยายามสร้างจุดสนใจโดยบอกว่า “เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยชอบ” จนประธานสภาต้องติงให้ระบุให้ชัดเจนว่าเห็นชอบหรือไม่

ยังจำได้ถึงบรรยากาศการรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญโดยเครือข่ายประชาสังคมก่อนหน้านั้น จนนักการเมืองที่ก่อนหน้านี้พยายามอภิปรายให้ร่างฯ ไม่ผ่านเพราะข้อความ “พ.ศ. …” ยอมถอย

จนหลายปีผ่านไป สติกเกอร์สีเขียวตองที่เริ่มเก่าลอกและซีดจาง ก็ยังคงเป็นภาพที่คุ้นเคย ที่อาจพบเห็นติดอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้ของโรงเรียนและที่สาธารณะต่าง ๆ

แต่บัดนี้คงเหลือเพียงความทรงจำที่รางเลือน

เช่นเดียวกับความฝันที่ว่าเรามีประชาธิปไตย แค่ 9 ปีถัดมา ความเชื่อว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบก็ถูกรอยตีนตะขาบรถถังเหยียบทำลายไปสิ้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถูกฉีกทิ้งไปพร้อมกับความเชื่อ ความหวัง และความศรัทธาของเด็ก ป.6 คนนั้น

และต่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่อีกกี่ฉบับ ที่ต่อให้ดีเลิศเลอกว่าเดิมสักแค่ไหน ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะมีโอกาสปลุกความรู้สึกที่ถูกทำลายไปเหล่านั้นกลับมาได้อีก

ความจริงแล้วมองย้อนกลับไป ความดีงามของรัฐธรรมนูญ '40 ที่เราเชื่อนักหนานั้นก็รับรู้มาจากการที่คนอื่นบอกมาแทบทั้งสิ้น ยังไม่เคยจะคิดวิเคราะห์เอาจากตัวบทเองอย่างจริงจังเลย

และจริง ๆ แล้วเสียงของเหตุผลก็ยังกระซิบบอกเราอยู่ว่าจะตัดสินอะไรดีไม่ดี ก็ต้องไล่เนื้อหาดูเอาสิ ไม่ใช่ใช้แต่ความรู้สึก ไม่งั้นจะมีโอกาสพบเจอกับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้ยังไง

แต่ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะไม่มีประเด็นให้กังขาและเคลือบแคลงเรื่องความเหมาะสมชอบธรรม ทั้งในหลักการ ตัวบท และที่มา ผมก็ยังคงไม่สามารถให้ความสนใจจริงจังกับมันได้อยู่ดี

เพราะยังช้ำใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่าต่อให้รัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหน เป็นที่ยอมรับขนาดไหน ก็ไม่มีความหมาย หากเกมการเมืองเดินมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจจะไม่เคารพมัน

ทุกวันนี้ก็เลยได้แต่โหยหาอดีตอันหอมหวาน เพราะแค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ถึงรัฐธรรมนูญ และอนาคตอันสดใสของประเทศนี้ ก็ยังไม่อาจที่จะทำ

31 January 2016

10,000 tweets?

และแล้วก็มาถึงวันนี้จนได้ วันที่โพสต์บน Twitter ครบ 10,000 ทวีต ซึ่งความจริงก็รู้อยู่แล้วแหละว่าพิมพ์โน่นบ่นนี่ไปเรื่อย ๆ สักวันมันก็คงถึง แต่ถ้าไล่ย้อนกลับไป เมื่อปี 2007 ตอนนั้นยังคิดอยู่เลยว่าทวิตเตอร์อะไรนี่มันดูไร้สาระจริง จะต้องไม่ยุ่งกับมัน แล้วเป็นไง...

ความจริงบล็อกฉลองยอดทวีตครบเลขกลม ๆ นี่กะจะเขียนตั้งแต่ตอน 1,000 แล้ว โดยวางแผนไว้ว่าจะทำสถิติทวีตทั้งหมดว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง และ/หรือยกทวีตบางอันขึ้นมาเล่าความหมายเบื้องหลัง ว่าภายใต้ขีดจำกัด 140 อักขระนั้นมีความคิดอะไรแฝงอยู่ แต่มาถึงตอนนี้คงไม่มีปัญญาไล่ดูหมดหมื่นทวีตละ (ความจริงใน archive ที่ดาวน์โหลดมามีแค่ 9,974 จาก 9,999 ไม่แน่ใจว่าที่หายไปนั่นคือ retweets ที่เจ้าของลบไปหรืออะไรบ้าง) งั้นสุ่มเลือกเอามาเล่าสัก 10 อันละกัน

มาดูกันเลยดีกว่า

คงจำกันได้มั้ง ทวีตนี้พูดถึงกรณีข่าว “ทายาทกระทิงแดง” ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2012 ซึ่งบริบทของเหตุการณ์มันดู [outrageous] ทีเดียว แต่กลับไม่เห็นชุมชนออนไลน์ลุกเป็นไฟเหมือนกรณีอุบัติเหตุโทลล์เวย์เมื่อ ธ.ค. 2010 ทั้งที่กรณีก่อนหน้า ผู้ขับรถคันเกิดเหตุไม่ได้ขับรถหรู ไม่ได้เมาเหล้า และไม่ได้ชนแล้วหนี

ในหมื่นทวีตที่ผ่านมา มีจำนวนมากที่เป็นคำถามปลายเปิดต่อข่าวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทวีตลอย ๆ ไปงั้นแหละ ไม่ได้ต้องการคำตอบอะไร (แต่ถ้าได้ก็ดี ซึ่งไม่ค่อยมีหรอก) บางอันก็ถามเองตอบเอง อย่างกรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทวีตที่เป็น @ replies นี่เป็นสัดส่วนสักเท่าไหร่ของทั้งหมด* แต่ก็คงมีอยู่เยอะเหมือนกัน (โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ น่าจะเป็นการโต้ตอบกับ @chayanin เสียเกือบครึ่งได้มั้ง) ทวีตนี้ก็ไม่มีอะไร แค่ตอบที่ @mamuang พูดถึงการใช้สปริงปากกาดามคอสาย Lightning

*เช็คละ 47%

ฮ่า ๆ ปรากฏว่าเรื่องนี้ทวีตซ้ำหลายรอบเหมือนกันแฮะ ก็เป็นหนึ่งในทวีตวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา สังคมไทย และความเข้าใจประวัติศาสตร์ ซึ่งแนวคิดระบบ mandala (จาก มณฺฑล ในภาษาบาลี/สันสกฤต) นี่เราก็ไม่เคยได้เรียนในโรงเรียนจริง ๆ ทั้งที่เป็นแก่นของประวัติศาสตร์การเมืองไทยก่อนสมัยใหม่ที่สำคัญมาก กลับได้เรียนแต่ประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมที่เล่าผ่านแผนที่ของคุณทองใบ แตงน้อย (เรื่องนี้มีคนวิจารณ์ไว้เยอะแล้ว อธิบายสั้น ๆ มันคือการที่เมืองเล็กต่างปกครองตนเอง แต่ก็อยู่ในอาณัติของเมืองใหญ่ และเมืองใหญ่ก็อยู่ในอาณัติของเมืองใหญ่กว่าอีกที โดยทั้งหมดนี้แต่เดิมเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งไม่ตายตัว และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด)

อันนี้ก็เป็นทวีตคำถามลอย ๆ เหมือนกัน แต่เป็นคำถามต่อเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถ้าสังเกตอาจจะเห็นว่าพยายามเคร่งครัดกับการใช้ปรัศนีกำกับทวีตเหล่านี้มาก (ปกติไม่ได้ใช้ในการพิมพ์กรณีอื่น) แต่ก็มีที่ลืม ๆ ไปบ้างเหมือนกัน

แต่เรื่องผงชูรสนี่ก็น่าสงสัยจริง ๆ ค่านิยมว่าผงชูรสไม่ดีมาจากไหน ทำไมอาหารต้องโฆษณาว่าไม่ใส่ผงชูรส ทำไมเราชอบเรียกขนมบางอย่างแบบติดตลกกันว่า “ขนมผงชูรส” หรือ “ขนมผมร่วง” ทั้งที่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามันมีผลเสียแตกต่างไปจากโซเดียมที่ได้จากเกลือแกงเลย (นอกจากการเกิดภาวะ Chinese restaurant syndrome ซึ่งก็ไม่ได้ชัดเจน และเป็นปรากฏการณ์คนละอย่างกับที่คนไทยพูดกัน)

อันนี้ก็เป็นทวีต @ reply อีกอัน แต่น่าสนใจตรงที่คุณ @TonsTweetings เป็นบุคคลที่รู้จักแต่ในทวิตเตอร์

ความจริงนั่งนึกดู การใช้ทวิตเตอร์ของตัวเองก็แปลกดีเหมือนกัน คือพยายามมากที่จะจำกัดขอบเขตเรื่องที่ทวีต (ด้วยคำนึงว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ) แต่ในขณะเดียวกันส่วนใหญ่ก็ follow แต่คนที่รู้จักในชีวิตจริง มีน้อยมากที่จะงอกออกไปกว่านั้น และก็ยังจำกัดแค่คนรู้จักทุติยภูมิ (คนรู้จักของคนรู้จัก) หลายคนก็ฟอล ๆ อัน ๆ อยู่หลายรอบ เพราะอัตราการทวีตสูงจนท่วมไทม์ไลน์ (เป็นคนใช้ทวิตเตอร์แบบต้องอ่าน 100% ความจริง following ที่ active น่าจะมีอยู่ไม่กี่สิบคน มากกว่านั้นตามอ่านไม่ไหว)

ป.ล. เรื่องสายสีแดงว่าทำไมเป็น metre gauge ในทวีตข้างต้นนั่นบอกถูกแล้วนะ

การ @ reply หาตัวเองนี่แต่ก่อนอาจจะทำเวลาต้องการผูกโซ่ทวีต (ข้อจำกัดทางเทคนิคสมัยนั้น) แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อขยายความทวีตข้างต้น (ดังเช่นในกรณีนี้)

โผล่มาจนได้ ไล่ดูทวีตทั้งหมดนี่พบว่าเป็นการโต้ตอบกับ @chayanin ถึง 16% เลยแฮะ

อีกละ ฮ่า ๆ อันนี้เป็นบทสนทนาสืบเนื่องจากทวีตก่อนหน้าว่า เพลงขอความสุข...คืนกลับมา ที่ได้ยินอยู่ในโทรทัศน์แทบทุกชั่วโมงนี่ชักจะรู้สึกรำคาญขึ้นทุกวัน ซึ่งช่วง พ.ค.–มิ.ย. 2010 มันเป็นงั้นจริง ๆ คือเพลงเปิดกรอกหูจนสิ่งที่ได้ยินไม่ใช่แค่ทำนองกับคำร้อง แต่ออกมาเป็นสารของเพลงเลยว่า แต่ก่อนพวกเธอคนบ้านนอกอยู่กันจน ๆ ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรก็มีความสุขดีไม่ใช่เหรอ จะมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอะไรให้วุ่นวายทำไม กลับบ้านนอกไปซะ

เออ ทวีต @ reply หาคนอื่นมันเยอะจริงแฮะ

มีอยู่ช่วงนึงที่สร้างแอคเคานต์ @Paul_012checker ขึ้นมาตอบอะไรแบบนี้โดยเฉพาะ แต่หลัง ๆ ขี้เกียจเลยเลิกไป

โห่ random ไงเนี่ย ไม่ representative เลย อันนี้ไม่รู้จะคอมเมนต์อะไร เหมือนที่พูดถึงคุณ @TonsTweetings ข้างบน

อืมม... 10 ทวีตนี้เล่าเรื่องราวอะไรบ้างไหมเนี่ย แต่ไหน ๆ แล้ว ขอ honourable mention อีกอันละกัน

ครับ ก็ขอจบโพสต์กับผลงานชิ้นโบว์แดง* ในทวิตเตอร์อันนี้ ขอเรียกว่าเป็นทวีตไวรัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าเคยสร้างสรรค์มา (และคงไม่สามารถทำได้อีกแล้ว) กับเกือบ 40,000 retweets ซึ่งเปิดโลกผู้ใช้ทวิตเตอร์ให้ได้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมาก (โดยเฉพาะปริมาณติ่งเกาหลี**)

แต่ก็หวังว่าจะไม่ได้มีโอกาสโพสต์ฉลองครบ 100,000 หรอกนะครับ (อีก 45 ปี เราน่าจะมีเครื่องผลาญเวลาที่ดีกว่าทวิตเตอร์แล้วนะ)

*เออ สำนวนนี้มาจากไหน ทั้งที่ภาษาอังกฤษเป็น blue ribbon ต้องเอาไปทวีตละ
**ใช้ในความหมายที่ไม่ใช่เชิงดูถูก