11 November 2021

Democracy with the monarch as head of state

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประโยคและวลีคลาสสิกที่คนไทยไม่มีใครไม่คุ้นเคย เพราะต่างถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เยาว์วัย แต่กลับลึกลับในความหมายที่ลื่นไหลอย่างน่าประหลาด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้วิจารณ์ว่ามันเป็นวลีที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสนอง “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” กันพอควร แต่ผมไม่เห็นด้วยนักนะ มันออกจะสื่อความหมายได้ชัดเจนและตรงประเด็นกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันอย่าง constitutional monarchy

เพราะการจำแนกระบอบการปกครอง ข้อสำคัญมันต้องอยู่ที่รูปแบบการบริหาร มากกว่าการดูแค่ว่าใครเป็นประมุขสิ อย่างบรูไนมีกษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญ ถ้าตีความตามตัวอักษรก็เรียกเป็น constitutional monarchy ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะ constitutional monarchy มันหมายถึงประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ วลีภาษาไทยที่ใช้กันจึงสื่อความหมายได้ดีกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่หลงค้างมาตั้งแต่สามร้อยปีก่อน และเข้าท่ากว่าศัพท์บัญญัติกำปั้นทุบดินอย่าง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ชวนประดักประเดิดยิ่งนัก

เรื่องความภักดีต่อศัพท์บัญญัติชวนประดักประเดิดนี่ต้องยกให้วิกิพีเดียเขาล่ะ

ผมเองน่าจะเพิ่งประจักษ์กับความแตกต่างนี้เมื่อช่วงรัฐประหารปี 2006 ตอนนั้นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีคนไปแก้กล่องข้อมูลในบทความ Thailand ที่ระบุระบอบการปกครองเป็น Constitutional monarchy โดยต่อท้ายเพิ่มว่า under military dictatorship ซึ่งก็ เออแฮะ พอเป็นวลีนี้มันก็มีความง่ายแบบแปลก ๆ ดี นัยว่าถึงจะยึดอำนาจเป็นเผด็จการทหาร แต่ระบอบกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกล้มล้าง ซึ่งเฮ่ยไม่ได้สิ ในเมื่อมันล้มล้างประชาธิปไตยเห็น ๆ ถ้าใช้ภาษาไทยตามที่บอกข้างต้นก็จะไม่เกิดการเลือนความหมายแบบนี้

แต่ถึงแม้วลี ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะสื่อความตามหลักภาษาได้ชัดเจนว่าประชาธิปไตยสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนประมุขเป็นอันดับรอง ก็เหมือนว่าความหมายโดยนัยนี้กลับกำลังถูกบางขั้วในสังคมพยายามบิดให้กลายเป็น ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ถ้าลองย้อนดูรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ จะเห็นว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ถึง 2521 มาตรา 2 ไม่ได้เขียนไว้อย่างปัจจุบัน แต่ใช้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สังเกตการเว้นวรรคที่สื่อว่าประชาธิปไตยกับประมุขนั้นเป็นสองประเด็นแยกกัน

การเอาช่องไฟออกและเติมคำเชื่อม อัน เข้าไป เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 และ 2534 ตามลำดับ และคงอยู่ต่อมาแต่นั้น ซึ่งนึกดูก็น่าคล้อยตามว่าเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกกันไม่ได้ของประชาธิปไตย (แบบไทย ๆ) ตามที่เขาว่า

แต่มาถึงวันนี้ ความหมายนั้นเหมือนจะกำลังถูกเปลี่ยนไปอีกขั้น พระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยอาจจะกลับมาแยกกันได้อีกครั้ง

แต่เป็นการแยกให้เห็นว่ามีอย่างเดียวที่สำคัญ

และเขาก็ได้บอกอย่างชัดแจ้งแล้ว ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย

15 August 2021

ว่าด้วย ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ

เอ็นทรีนี้ดัดแปลงจากโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2015 ซึ่งอ้างถึงบทความ “ความในใจเด็กสายวิทย์ วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาท่องจำ” ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ในโลกสี่เหลี่ยมของเตรียมอุดม เมื่อปี 2013 และเผยแพร่ซ้ำผ่านเพจ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ในปี 2015

ผมเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนเสนอนะ ที่เขาบอกว่าฉันไม่ค่อยเก่ง จริง ๆ แล้วความหมายคือไม่เก่งเหมือนพวกเด็กโอฯ ที่มองอะไรก็เห็นไปถึงระดับอณูเหมือนนีโอใน The Matrix ส่วนที่เขาจำใจเรียนแบบท่องจำไปนั่นมันก็คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำนั่นแหละ แต่ที่แตกต่างคือเขาไม่สามารถทำใจหยุดยอมรับที่แค่นั้นได้

ไอ้คำถามอย่าง 1 คูลอมบ์แปลว่าอะไร หรือความหมายของหน่วยมูลฐานและมิติของปริมาณต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเข้าใจฟิสิกส์เป็นอย่างมาก แต่ครูก็ไม่เคยสอนจริง ๆ (ถึงจะอยู่ในภาคผนวกของหนังสือเรียน สสวท.ก็เถอะ) ซึ่งบางคนก็สามารถคิดเข้าใจเองได้ (ตอน ม.5 ผมเคยเถียงกับเพื่อนอยู่ว่าทำไมโมลถึงเป็นหน่วยมูลฐานทั้ง ๆ ที่เป็นปริมาณไร้มิติ) แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่

แล้วการที่ไม่มีใครสอนคอนเซปต์พื้นฐานพวกนี้มันเป็นปัญหาแค่ไหน อย่างที่เห็นจากโพสต์ต้นทาง มันไม่เป็นปัญหาต่อการสามารถคิดวิเคราะห์และทำโจทย์ที่อาศัยหลักการที่สูงขึ้นไปหรอก แต่มันบังคับให้ต้องทำโดยยอมรับบทบัญญัติหลาย ๆ อย่างไปโดยปริยาย หรือก็คือที่ผู้เขียนบ่นว่าต้องเรียนแบบท่องจำ

ซึ่งผู้เขียนเขาทำใจยอมรับตรงนี้ไม่ได้ เขาอยากจะสามารถสร้างมโนภาพถึงองค์ประกอบทุกอย่างขึ้นมา และเข้าใจที่มาที่ไปทุกอย่างของมันตั้งแต่ต้น เขาไม่อยากจำว่ามุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้ 180 องศา แต่เขาต้องการเห็นภาพว่าถ้าวาดเส้นขนานกับฐานของสามเหลี่ยม มุมแย้งของมุมฐานทั้งสองจะประกบกับมุมยอดของสามเหลี่ยมรวมกันได้เป็นมุมตรงพอดี เขาอยากเป็นเหมือนเด็กเก่งระดับเทพทั้งหลายที่ไม่ต้องท่องสูตร เพราะเข้าห้องสอบไปก็สามารถพิสูจน์สูตรเหล่านั้นขึ้นมาได้เองจากความเข้าใจ แต่เขายังไม่มีความสามารถมากพอที่จะเห็นเส้นที่ขนานกับฐานของสามเหลี่ยมนั้นได้เอง และอยากให้ครูสอนให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง

ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนนะ ในวิชาคณิตศาสตร์ ผมมีปัญหากับเรื่องฟังก์ชันตรีโกณมิติเป็นอันมาก เพราะคณิตศาสตร์ที่ผมเคยรู้จัก มันต้องเห็นที่มาที่ไปได้ชัดเจนพอที่จะสร้างมโนทัศน์ขึ้นในใจเองได้ เหมือนอย่างที่เราสามารถแรเงาพื้นที่ต่าง ๆ ในเซตที่อินเตอร์เซกกัน หรือนึกภาพลูกเต๋าในเรื่องความน่าจะเป็นได้โดยไม่ต้องยุ่งกับสูตรตัวเลขใด ๆ แต่กับตรีโกณมิติผมไม่สามารถทำได้

และพอไม่สามารถสร้างมโนทัศน์ได้ ก็เลยทำให้การเรียนเรื่องนั้น ๆ ดิ่งเหวไปเลย เพราะผมไม่สามารถท่องจำสูตรและสมการเหล่านั้นได้โดยปราศจากความเข้าใจ ในกรณีนี้ผู้เขียนข้างต้นยังประสบผลสำเร็จในการทำข้อสอบมากกว่าผม เพราะเขายังสามารถทนเรียนแบบท่องจำได้ ถึงแม้จะขัดใจตัวเองก็ตาม

ปัญหาก็คือเขาฉลาดพอที่จะเห็นว่าทุกอย่างมันควรเชื่อมโยงกันได้ แต่ยังไม่เก่งพอที่จะเห็นภาพความเชื่อมโยงเหล่านั้นได้เอง และแน่นอนว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้มุ่งที่จะช่วยเขาในจุดนี้

ทั้งนี้จะขอยังไม่กล่าวถึงประเด็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียน เพราะยุคสมัยที่ผ่านไปอาจจะทำให้เปรียบเทียบประสบการณ์กันได้ยากสักหน่อย

* * *

จริง ๆ แล้วผมว่ายังมีอีกคำถามที่สำคัญและน่าคิด ว่าความต้องการของผู้เขียน ที่จะเรียนฟิสิกส์ (ที่จริงก็รวมไปถึง formal sciences ทั้งหลายด้วย) โดยสร้างความเข้าใจทะลุปรุโปร่งในทุกด้าน มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า

สำหรับฟิสิกส์ระดับมัธยมปลาย ซึ่งแทบจะหยุดอยู่แค่ศตวรรษที่ 19 อาจยังไม่เห็นภาพชัดนัก แต่ก็มีอยู่เรื่อย ๆ ที่จะต้องพบเจอกับทฤษฎีบทที่ “เขาพิสูจน์มาแล้ว” แต่วิธีพิสูจน์นั้นต้องใช้ศาสตร์ที่ยังไม่ได้เรียน จึงต้องยอมรับไปก่อนโดยปริยาย แม้กระทั่งในเรขาคณิตระดับประถม เราก็ต้องท่องจำว่าปริมาตรของทรงกรวยเป็น 1/3 ของทรงกระบอก เพราะการพิสูจน์ที่มานั้นต้องใช้แคลคูลัส การท่องจำจากสิ่งที่มีคนคิดไว้ก่อนแล้วจึงแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในบรรดาศาสตร์รูปนัย

กระนั้นแล้ว คนที่ได้ร่ำเรียนจนหมดมวลความรู้ของมนุษยชาติในสาขานั้น ๆ ก็ควรจะสามารถมองทุกอย่างได้ทะลุปรุโปร่งอย่างที่ผู้เขียนต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันก็ยากที่จะเชื่อเหลือเกินว่าสมองของมนุษย์จะทรงพลังขนาดนั้น แล้วอย่างไรเสีย ต่อให้อัจฉริยะระดับไหน ก็คงไม่สามารถคิดวิเคราะห์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่ต้องแบ่งเป็นขั้นตอนเสียก่อน และในบรรดาขั้นตอนเหล่านั้น สุดท้ายแล้วยังไงมันก็มีสิ่งที่เราต้องจำไปใช้อยู่ดี แม้ว่าจะเคยคิดวิเคราะห์ไว้เองก็ตาม

15 January 2021

15... 20 years of Wikipedia

เอ็นทรีนี้คัดลอกจากโพสต์เก่าในเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อวาระที่วิกิพีเดียครบรอบ 15 ปี ไหน ๆ ตอนนี้ครบ 20 ปีแล้ว ก็ขอเอามาแปะในบล็อกด้วยแล้วกัน

เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่มีวิกิพีเดียมานานกว่าที่ไม่มีแล้ว นึกดูก็แปลกดี จำได้ว่า google เจอ Wikipedia ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ตอนหาข้อมูลทำพรีเซนต์เรื่องวัฒนธรรมแคนาดาของ'จารย์ Jacobsen

ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรหรอกว่ามันเป็น open content ที่ใครก็ร่วมเขียนได้อะไรยังไง มารู้จักจริงจังก็ช่วงปี 2005–06 ที่กระแส Web 2.0 กำลังมาแรง ซึ่งวิกิพีเดียนี่น่าจะนับได้เลยว่าเป็นผลิตผลของ Web 2.0 ที่ revolutionary ที่สุด

แต่ก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นยังไง ใน 15 ปีที่ผ่านมานี้ พอจะเห็นได้ว่า 5 ปีแรกเป็นช่วงของการตั้งต้นเงียบ ๆ 5 ปีถัดมาเป็นการเติบโตพุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว และ 5 ปีหลังนี้เริ่มนิ่งและอยู่ตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ว่าพลังงานและพลวัตของผู้ร่วมเขียนเว็บไซต์มันเริ่มแผ่วลงมานานแล้ว เราเองก็คงได้แต่สงสัยว่าในอนาคต เราจะยังมีแหล่งความรู้ของมวลมนุษยชาติที่กว้างขวางและเข้าถึงได้ง่ายอย่างวิกิพีเดียอยู่อีกหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ชัดคือวิกิพีเดียได้ปฏิวัติการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ของเราไปแล้วตลอดกาล