11 November 2021

Democracy with the monarch as head of state

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประโยคและวลีคลาสสิกที่คนไทยไม่มีใครไม่คุ้นเคย เพราะต่างถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เยาว์วัย แต่กลับลึกลับในความหมายที่ลื่นไหลอย่างน่าประหลาด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้วิจารณ์ว่ามันเป็นวลีที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสนอง “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” กันพอควร แต่ผมไม่เห็นด้วยนักนะ มันออกจะสื่อความหมายได้ชัดเจนและตรงประเด็นกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันอย่าง constitutional monarchy

เพราะการจำแนกระบอบการปกครอง ข้อสำคัญมันต้องอยู่ที่รูปแบบการบริหาร มากกว่าการดูแค่ว่าใครเป็นประมุขสิ อย่างบรูไนมีกษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญ ถ้าตีความตามตัวอักษรก็เรียกเป็น constitutional monarchy ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะ constitutional monarchy มันหมายถึงประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ วลีภาษาไทยที่ใช้กันจึงสื่อความหมายได้ดีกว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่หลงค้างมาตั้งแต่สามร้อยปีก่อน และเข้าท่ากว่าศัพท์บัญญัติกำปั้นทุบดินอย่าง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ชวนประดักประเดิดยิ่งนัก

เรื่องความภักดีต่อศัพท์บัญญัติชวนประดักประเดิดนี่ต้องยกให้วิกิพีเดียเขาล่ะ

ผมเองน่าจะเพิ่งประจักษ์กับความแตกต่างนี้เมื่อช่วงรัฐประหารปี 2006 ตอนนั้นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีคนไปแก้กล่องข้อมูลในบทความ Thailand ที่ระบุระบอบการปกครองเป็น Constitutional monarchy โดยต่อท้ายเพิ่มว่า under military dictatorship ซึ่งก็ เออแฮะ พอเป็นวลีนี้มันก็มีความง่ายแบบแปลก ๆ ดี นัยว่าถึงจะยึดอำนาจเป็นเผด็จการทหาร แต่ระบอบกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกล้มล้าง ซึ่งเฮ่ยไม่ได้สิ ในเมื่อมันล้มล้างประชาธิปไตยเห็น ๆ ถ้าใช้ภาษาไทยตามที่บอกข้างต้นก็จะไม่เกิดการเลือนความหมายแบบนี้

แต่ถึงแม้วลี ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะสื่อความตามหลักภาษาได้ชัดเจนว่าประชาธิปไตยสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนประมุขเป็นอันดับรอง ก็เหมือนว่าความหมายโดยนัยนี้กลับกำลังถูกบางขั้วในสังคมพยายามบิดให้กลายเป็น ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ถ้าลองย้อนดูรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ จะเห็นว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ถึง 2521 มาตรา 2 ไม่ได้เขียนไว้อย่างปัจจุบัน แต่ใช้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สังเกตการเว้นวรรคที่สื่อว่าประชาธิปไตยกับประมุขนั้นเป็นสองประเด็นแยกกัน

การเอาช่องไฟออกและเติมคำเชื่อม อัน เข้าไป เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 และ 2534 ตามลำดับ และคงอยู่ต่อมาแต่นั้น ซึ่งนึกดูก็น่าคล้อยตามว่าเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกกันไม่ได้ของประชาธิปไตย (แบบไทย ๆ) ตามที่เขาว่า

แต่มาถึงวันนี้ ความหมายนั้นเหมือนจะกำลังถูกเปลี่ยนไปอีกขั้น พระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยอาจจะกลับมาแยกกันได้อีกครั้ง

แต่เป็นการแยกให้เห็นว่ามีอย่างเดียวที่สำคัญ

และเขาก็ได้บอกอย่างชัดแจ้งแล้ว ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย

No comments:

Post a Comment