25 November 2011

ตำนานปลั๊กไฟไทย

ตำนานปลั๊กไฟไทย (1) 
ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 
ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มมีแพร่หลายตามบ้านเรือนเมื่อไร การเดินไฟฟ้าแต่ก่อนใช้ขั้วต่อแบบไหน คนเขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน 
เห็นแต่ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกมาตรฐาน มอก. 166-2519 บอกให้ใช้ปลั๊กไฟแบบขาแบน ซึ่งก็มีทั้งขาแบบขนาน แบบระนาบ แบบตั้งฉาก แล้วแต่ขนาดกระแสไฟฟ้า แล้วก็อาจจะมีหรือไม่มีสายดิน ตามแต่ข้อกำหนด 
แต่ว่าตั้งแต่จำความได้ คนเขียนก็เห็นมีปลั๊กทั้งขากลมขาแบน ใช้ปนกันไปหมด เต้ารับที่เห็นทั่วไปก็เป็นแบบที่เสียบได้ทั้งกลมแบน จะมีก็ตึกเก่า ๆ ที่มีแต่แบบขาแบนอย่างเดียว 
ที่จริงการเสียบปลั๊กได้หลายแบบมันอันตราย เพราะทำให้ป้องกันการต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าผิดประเภทไม่ได้ 
แต่หลายประเทศก็ใช้กัน อย่างประเทศจีนยังมีแถมปลั๊กขาเอียงด้วยอีกแบบ 
CC-BY-SA 3.0 by Paul_012; Based on Brazilian plug types.jpg by Henrique (Ikescs) & Chinasocket.jpg by Lapin rossignol.
ตำนานปลั๊กไฟไทย (2) 
ต่อมาก็เริ่มเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลั๊กขาแบนแบบมีสายดินมากขึ้น 
เช่นเดียวกับเต้ารับ 3 รู ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย/อินโดจีน (ที่จริงบราซิลก็มี) 
ทีนี้วันนึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติท้วงขึ้นว่า 
ประเทศไทยใช้ไฟฟ้า 220 V นะ ถ้าใช้ปลั๊กขาแบนตามแบบอเมริกาเหนือ/ญี่ปุ่น ซึ่งเขาใช้ไฟ 100-120 V เกิดใครไม่รู้เสียบอุปกรณ์ผิดขึ้นมามีหวังวอดวายกันหมด 
ไหนจะปลั๊ก Schuko ที่ใช้ในยุโรปอีก ถึงแรงดันไฟฟ้าจะเท่ากัน แต่ก็ต้องใช้กับเต้ารับแบบหลุมมีขั้วสัมผัสสายดินด้านข้างถึงจะปลอดภัย 
อีกอย่าง คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (IEC) ก็เคยกำหนดมาตรฐานว่าไฟฟ้า 125 V ให้ใช้ปลั๊กขาแบน ส่วน 250 V ให้ใช้ขากลม 
CC-BY-SA 3.0 by Paul_012; Thai plug.jpg by Peebidj & Plugwash; CEE-7-7-Stecker 2.jpg by SomnusDe; BNSCT logo owned by BNSCT.
ตำนานปลั๊กไฟไทย (3) 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเอาไปคิดอยู่พักใหญ่ 
จะเปลี่ยนไปใช้ตรงตามมาตรฐาน IEC เลย ก็ต้องลำบากวุ่นวายรื้อฝาบ้านอีก ขนาดยุโรปยังไม่ยอมเปลี่ยนกันเลย 
ก็เลยได้ข้อสรุปว่าต่อไปนี้อุปกรณ์ที่ต้องมีสายดินจะให้ใช้ปลั๊กแบบใหม่ เป็นขากลมแบบยุโรป แต่มีขาสายดินตามแบบอเมริกา จะได้เสียบกับเต้ารับลูกผสมที่ใช้กันอยู่แล้วได้ 
สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่มีสายดินก็ให้ใช้เฉพาะแบบขากลม ส่วนเต้ารับไฮบริดนี่ก็ใช้ไปก่อนได้ แต่วันหลังต้องเลิกใช้ ปลั๊กขาแบนก็เหมือนกัน 
ทั้งนี้ก็ได้กำหนดไว้ใน มอก. 166-2549 และบังคับใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานบังคับ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แล้วด้วย 
CC-BY-SA 3.0 by Paul_012; Based on images by Chensiyuan; Khind Artwork; LG전자, Li-sung, Ma8thew, Qurren & VeloBusDriver. TISI logo owned by TISI.
ตำนานปลั๊กไฟไทย (4) 
สรุปอีกทีก็คือ ปัจจุบันนี้ปลั๊กไฟที่ถูกต้องตามมาตรฐานในประเทศไทยมีอยู่ 2 แบบ คือ (1) ปลั๊กขากลม 3 ขา มอก. 166-2549 ซึ่งไม่ซ้ำกับประเทศอื่น และ (2) ปลั๊กขากลม 2 ขา สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีสายดิน ส่วนปลั๊กขาแบนที่มีอยู่แล้ว ก็อนุโลมให้ใช้ไปก่อน 
แต่สุดท้ายแล้วยังไงก็คงต้องรอดูกันอีกทีว่าสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้บังคับ ผู้ผลิตจะปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานใหม่กันเมื่อไร 
This work by Paul_012 is licensed under a Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0 Thailand License.

Full image credits:

1 October 2011

ขออนุญาตบ่น เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก

เนื้อความในเอ็นทรีนี้ ได้เคยโพสท์ในเว็บบอร์ดสาธารณะแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ยังไงขอโพสท์ซ้ำไว้อีกทีนะครับ


วันนี้ (28 กันยายน) เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกครับ

การดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้านี่น่าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาอันดับต้น ๆ อย่างหนึ่งของบุคลากรทางสาธารณสุขทั่วประเทศก็ว่าได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่ทราบกัน ว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง เป็นแล้วตายสถานเดียว ไม่สามารถรักษาได้

ทั้งนี้ใน พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าถึง 15 ราย (ยังดีกว่า พ.ศ. 2552 มี 24 ราย ส่วน พ.ศ. 2551 มี 16 ราย) ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จะเป็นเพราะไม่ตระหนักถึงอันตรายและไม่ได้ไปรับบริการทางสาธารณสุข แต่ความจริงแล้วทุกวันนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ยังมีปัญหาให้การดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าได้ต่ำกว่ามาตรฐาน

เพราะในปัจจุบัน มาตรฐานทางการแพทย์โดยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กำหนดว่าผู้ที่ถูกสัตว์ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนผิวหนังจนมีเลือดออก หรือเลียปากเลียตา จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบุลิน (เซรุ่ม) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทันที ทุกกรณี (เพราะการป้องกันด้วยวัคซีนอย่างเดียว อาจไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วพอที่จะป้องกันโรคได้)

แต่ทุกวันนี้โรงพยาบาลชุมชน สถานพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในคลังยาโรงพยาบาลด้วยซ้ำครับ แปลว่าคนไข้ที่ถูกสุนัขกัดมาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ อาจต้องเอาใบส่งตัวเดินทางไปอีกหลายสิบกิโลเมตร เพื่อรับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มักประสบภาวะขาดแคลนอยู่เรื้อรัง บางครั้งทั้งจังหวัดไม่มียาจะฉีดให้ สุดท้ายผู้ป่วยก็ได้รับการป้องกันแค่วัคซีน แล้วก็ต้องลุ้นเอาไม่ให้สุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ก็ขอให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทันก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง

ซึ่งหากจะมองว่านี่เป็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในการจัดหายาที่มีความจำเป็น ก็คงมีส่วนถูก แต่ก็คงจะเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุเกินไปอยู่ เพราะคนถูกสุนัขกัดกันทุกวี่ทุกวันขนาดนี้ (ยกตัวอย่างสถิติผู้ป่วยที่มารับบริการห้องฉุกเฉิน รพ.จุฬาลงกรณ์ เดือน ส.ค. 2553 มาด้วยเหตุสุนัขกัดมากเป็นอันดับ 3 ถึง 80 ราย รองจากตกที่สูง/หกล้ม และอุบัติเหตุจักรยานยนต์) การจะทุ่มทุนเลี้ยงม้าเพื่อเจาะเลือดมาปั่นเซรุ่มให้ทันตามจำนวนผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัด สุดท้ายก็คงกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ความจริงแล้วการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนที่ได้ผล ต้องมาจากการควบคุมโรคในสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งในกรณีสุนัข ก็คือการจัดให้สุนัขทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะการถูกกัดโดยสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (สุนัขได้รับวัคซีนครบต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน โดยเลี้ยงอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีอาการผิดปกติ และสามารถสังเกตอาการได้) ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินป้องกันพิษสุนัขบ้า

แต่จากประสบการณ์ของตนเองที่จบออกมาปฏิบัติงานได้ปีกว่า ดูแลผู้ป่วยถูกสุนัขกัดไปก็น่าจะร่วมร้อยราย ต้องบอกว่ายังไม่เคยพบสักรายที่ยืนยันได้ว่าสุนัขที่กัดมีความเสี่ยงต่ำ

ทั้ง ๆ ที่พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ก็กำหนดให้ผู้เลี้ยงสุนัขมีหน้าที่ต้องพาสุนัขไปฉีดวัคซีน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาทแท้ ๆ

คงเป็นเพราะแนวทางการป้องกันโรคโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของสุนัขนี่มันเอาอย่างมาจากกลุ่มประเทศตะวันตก จึงไม่สามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้ผลมั้งครับ

ผมเองก็คงคุ้นเคยกับระบบของต่างประเทศตั้งแต่เด็ก จากที่เห็นในภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง Lady and the Tramp (ทรามวัยกับไอ้ตูบ) และที่อื่น ๆ ว่าสุนัขจะต้องมีเจ้าของ จดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว และมีเครื่องหมายแสดง เพื่อมีผู้รับผิดชอบทั้งต่อตัวสุนัขเองและต่อสังคมเวลาสุนัขไปทำอะไรเข้า

แต่สำหรับเมืองไทยเรา คงคาดหวังอย่างนั้นไม่ได้ ในเมื่อค่านิยมของสังคมเรานั้นบอกว่าต้องมีน้ำใจ มีเมตตาต่อสัตว์ และเชื่อว่าการให้อาหารสัตว์จรจัดเป็นการทำบุญทำกุศล ขณะที่ไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในด้านอื่น ๆ เพราะไม่ต้องการเป็นเจ้าของชีวิต

ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับศาสนาหรือเปล่า แต่ถ้าใช่ ผมก็คงไม่เข้าใจว่าถ้ามีเมตตาต่อสัตว์แล้ว การมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์จะด้อยความสำคัญกว่าได้อย่างไร

เพราะเห็นคนจำนวนมากเหลือเกิน ที่ให้อาหารสุนัขข้างถนนด้วยความปิติยินดี แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างเฉยชาเวลาที่สุนัขไปก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น (จะกัดเขาหรือขี้หน้าบ้านเขาก็ตามแต่) ไม่ต้องพูดถึงพาไปฉีดวัคซีน หรือทำหมันเพื่อควบคุมประชากร

ซึ่งเท่าที่สังเกต ก็ไม่น่าเกี่ยวกับระดับเศรษฐฐานะหรือการศึกษาด้วย เพราะในหมู่คนรู้จักในกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางระดับบน ต่างก็มีปัญหากับเพื่อนบ้านด้วยเรื่องการให้อาหารสุนัขกันทั้งนั้น บางคนเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดี ๆ ในบ้าน ให้การดูแลอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อาหารสุนัขข้างถนนหน้าปากซอยโดยไม่สนว่าจะไปกัดใครหรือเปล่า ก็ไม่เข้าใจ

เอาง่าย ๆ จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คนจำนวนมากแสดงความเดือดร้อนกันมากมายกับการจับสุนัขจรจัดไปขายเป็นอาหาร และก็ได้มีการแสดงน้ำใจโดยการบริจาคเงินช่วยเหลืออย่างมหาศาล แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าในหมู่ผู้ที่บริจาคเงินไปมากมายนี้ จะมีสักกี่คนที่จะเต็มใจช่วยเหลือให้สุนัขเหล่านั้นได้มีที่อยู่ดี ๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่บริจาคหรือได้ให้อาหารก็พอใจ แล้วสุดท้ายก็ปล่อยให้สุนัขเหล่านั้นกลายเป็นภาระของหน่วยงานที่ต้องรับไปเลี้ยง ของพระที่ต้องคอยกวาดขี้หมาบนลานวัด ของระบบสาธารณสุขที่ต้องแบกรับค่ายาค่ารักษาพยาบาล (ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชน) และของคนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป


ป.ล. ในประเด็นค่ายา ลองพิจารณาว่าอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขนิดที่ได้จากม้าซึ่งผลิตโดยสภากาชาดไทย มีราคาอ้างอิงจัดซื้อปกติ (โดยศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข) อยู่ที่ค่ามัธยฐานหลอดละ 720 บาท ในคนน้ำหนัก 50 กก. จะต้องได้รับยา 2,000 หน่วยสากล หรือ 2 หลอด เฉพาะค่าอิมมูโนโกลบุลินที่ต้องเสียไปกับการถูกสุนัขกัด 1 ครั้ง ก็เกือบ 1,500 บาทแล้ว ยิ่งถ้าเป็นชนิดที่ได้จากมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่แพ้อิมมูโนโกลบุลินจากม้า (หรือในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เป็นมาตรฐาน เพราะเลิกใช้แบบที่ได้จากม้าแล้ว) ราคาอ้างอิงเฉลี่ยอยู่ที่หลอดละ 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งคนน้ำหนัก 50 กก. จะต้องได้รับ 1,000 หน่วยสากลหรือมากกว่า 3 หลอด หรือคิดเป็นเงินร่วมหมื่นบาท ยังไม่นับค่าบริการทางการแพทย์และยาอื่น ๆ

ที่อิมมูโนโกลบุลินชนิดที่ได้จากม้าขาดแคลน ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทยาต่างประเทศส่วนใหญ่เลิกผลิตแล้ว จึงทำให้มีภาวะขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งสภากาชาดไทยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ ถ้าลองคิดดูว่าจะใช้อิมมูโนโกลบุลินจากมนุษย์เหมือนมาตรฐานของต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพ้ยา ก็คงต้องใช้ต้นทุนรักษาสุนัขกัดครั้งละเป็นหมื่น เดือนหนึ่งใน รพ.จุฬาฯ แห่งเดียวมีผู้ป่วย 80 ราย ก็คงไม่ต้องคิดนะครับว่าถ้านับผู้ป่วยทั้งประเทศ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ยังไงก็คงต้องใช้อิมมูโนโกลบุลินจากม้าที่ราคาถูกแต่หาซื้อไม่ได้ต่อไป

24 July 2011

To the STS

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ยานขนส่งอวกาศ Atlantis ก็ได้ลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีเป็นครั้งสุดท้าย เป็นการจบภารกิจ STS-135 และตำนานสามสิบปีของยานขนส่งอวกาศ (Space Shuttle) ของสหรัฐฯ ในที่สุด

สำหรับผมเอง ยานขนส่งอวกาศนี้นับได้ว่าเป็น... ไม่รู้ภาษาไทยจะแปลว่าไงดี: subject of limitless childhood fascination เลยทีเดียว และผมเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนก็คงเติบโตมากับภาพและเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้เช่นเดียวกับผม และก็คงรู้สึกผูกพันกับเจ้ายานนี้ไม่ต่างกัน

ในบรรดาความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของมนุษย์ในการเยือนห้วงอวกาศ โครงการยานขนส่งอวกาศนี้อาจไม่ได้เป็นบทจารึกอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ และแน่นอนว่าในการดำเนินโครงการตลอดสามสิบปีที่ผ่านมาย่อมมีปัญหา (ไม่เฉพาะกรณีอุบัติเหตุของทั้งชาเลนเจอร์และโคลัมเบีย) ความผิดหวังกับนาซาและโครงการฯ เองก็มาก แต่สำหรับคนรุ่นผม เหนือกว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เหนือกว่าบทบาทในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ สิ่งที่ทำให้ยานขนส่งอวกาศแตกต่างจากตำนานการพิชิตดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโล หรือการเดินทางอันยาวไกลของยานวอเยเจอร์ คือการที่เราโตมากับมัน

ขวาล่างในภาพด้านบน เป็นแบบร่างงาน "ART ED" ของผม ที่เขียนขึ้นใหม่จากความทรงจำ ART ED เป็นชิ้นงานสุดท้ายในวิชาศิลปะตอน ม.1 ซึ่งอาจารย์กำหนดให้วาดอะไรก็ได้ (?) ประกอบข้อความดังกล่าว ซึ่งชิ้นงานที่ผมส่งไปก็มียานโคลัมเบียปรากฏอยู่เป็นองค์ประกอบหลักอย่างที่เห็น และก็เป็นงานศิลปะ ม.1 ของผมชิ้นเดียวที่ได้คะแนน A+ และได้ให้อาจารย์เก็บไว้เป็นตัวอย่าง/แรงบันดาลใจ (?) แก่รุ่นน้องต่อไป จึงไม่มีตัวชิ้นงานต้นแบบเก็บไว้เอง (ความจริงจำรายละเอียดของภาพได้น้อยมาก ที่วาดมานี่มั่วเอาซะส่วนใหญ่)

ยังไงก็ต้องขออวยพรให้กับทุกท่านที่มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการยานขนส่งอวกาศนี้อีกครั้ง ตลอดจนไว้อาลัยให้กับนักบินอวกาศที่เสียชีวิตทั้งสิบสี่คน หวังว่าประวัติศาสตร์ที่จบบทลงในวันนี้ จะพลิกหน้าไปสู่อีกก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติต่อไป

Last edited: 2011-07-24 01:37

19 June 2011

Leftists and the Red Shirts: This relationship could write a bad romance.

Note: Pure opinion, strictly unresearched.

So by the fourth of July we should see if Pheu Thai [sic] does score a landslide majority in the upcoming general elections. It should also be interesting to see where those disillusioned with Abhisit take their votes (though I doubt they'd make a real impact). What really matters, though, is what happens next: How long until the PAD (so-called People's Alliance for Democracy) stage their next protest? Will they regain any of the supporters they lost, the anti-Thaksin sentiment which originally formed their core agenda having been overtaken by zealous ultranationalism, and their leadership having confirmed the irony of their chosen name by directly opposing the electoral system? What about the Red Shirts? How will their movement hold out in the long term, given their hodgepodge membership of Thaksin-lovers, intellectuals and fanatics? How will the Pheu Thai, if elected, set about bringing Thaksin home, and when?

It probably is really too early to be asking these questions, given that we're still two weeks ahead of election day, but the composition of the Red Shirt movement is something worth discussing nevertheless.

Main question: How did leftists come to be part of the Red Shirts anyway, let alone assuming major roles in their leadership?

Actually, any presence at all of the left in the politics of Thailand is something, although not new, rarely heard of. Anti-absolutist sentiment leading up to the 1932 revolution achieved civilian government, but that didn't last long against competing military powers. While the post-World War II era saw the spread of Marxist ideologies and the toppling of military government in the 1973 uprising, the social polarity that followed, marked by the 1976 massacre, drove the left out of mainstream politics for good, and the movement waned as the Communist Party dissolved. Although talk of social and political reform followed 1992's Black May and the military withdrew from politics, no strong left movement emerged, even with the 1997 constitution.

I earlier observed that the problem with calling the PAD "right-wing" is that it incorrectly implies the opposite for their rivals. Now despite all the left-wing presence and grassroots participation among the Red Shirts, this plainly is not the case. At its core the Red Shirts (UDD if you will) was, and is, a pro-Thaksin movement, and Thaksin is about as right-wing one can get without being downright fascist. The populist social welfare policies that earned his followers' devotion conveniently served to firmly cement his power. The system's checks and balances were ultimately undermined, civil rights and government accountability thrown into the wind. It is therefore rather amazing that several "October persons" (a term referring to members of the 1973 and 1976 movements) have aligned themselves with his supporters.

Amazing though perhaps understandable. Against the military which ousted Thaksin, this alliance could be seen as a united struggle against a common foe, and Thaksin does have the legitimate claim of popular support through elections. Also important, though unspoken (or rather, unspeakable), is the shared republican agenda formally denied but not-so-secretly known to be harboured by Thaksin, which also serves as a rallying flag for the self-proclaimed royalist PAD, and the antagonism helps keep the alliance alive. (Now how Thaksin managed to undermine generations-old royalist propaganda is rather perplexing.) Abhisit's handling of the May 2010 military crackdown further prompted sympathisers to the Red Shirts' cause, and since no one is currently blocking the streets of Bangkok, the anger of undecided middle-class Bangkokians seems to have eased somewhat.

Once Thaksin is back in the spotlight, though, the movement's integrity might start shaking. It is unlikely that the left-wing intellectuals among the Red Shirts would continue supporting Thaksin if he resumes his pursuit of autocratic power, and how long his rural supporters will continue supporting him is also open to question. One thing the combined Red Shirt movement has achieved, however, is the mobilization of the rural population, having made them realise that their voices do matter, that they do have a say in the country's politics. This alone is unprecedented; during the 1973 uprising it was the students who campaigned in the name of the people. Now the people are beginning to do so themselves. For now they may still be driven by a leadership that is not of their own, but once they gain momentum, they will be a force to be reckoned with.

And we shall see on whose side they are.

17 May 2011

อารมณ์ชั่ววูบของสังคมออนไลน์ | ล้อมคอกแล้วเปิดประตูทิ้งไว้

เกือบห้าเดือนผ่านมาแล้วนะครับสำหรับเหตุการณ์อุบัติเหตุรถเก๋งชนกับรถตู้บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารรถตู้เสียชีวิต 9 คน ตลอดจนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง¹

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บังเอิญผมได้พบเห็นเหตุการณ์และบทสนทนาที่กล่าวถึงประเด็นนี้อยู่ประปรายในโอกาสต่าง ๆ กัน จึงอยากจะขอย้อนกลับไปมองอีกที ว่าเราเห็นอะไรจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาบ้าง

ที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุด ก็คงเป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของชุมชนออนไลน์ภาษาไทย ที่เหมือนว่าเกือบทั้งหมดจะลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนพายุอารมณ์ที่ตนได้ปล่อยปะทุขึ้นอย่าง [remarkable] ในคืนนั้นและช่วงวันที่ตามมาไปแล้ว

เหมือนจะน่าเหลือเชื่อ แต่ถ้าคิดดูดี ๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ข้อมูลที่ได้รับทราบมาอย่างจำกัด เมื่อผ่านการปรุงแต่งและแรงยุยงสะสมต่อ ๆ กันเพียงชั่วครู่ จะทำให้คนเป็นแสนคนใช้อารมณ์ตัดสิน และเปลี่ยนอารมณ์นั้นเป็นความเกลียดชัง จนร่วมกันตราหน้าผู้กระทำผิด แปลออกมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และด่าทออย่างรุนแรง ได้อย่างพร้อมเพรียงกันขนาดนี้

และก็ยังน่าแปลกใจน้อยลงไปอีก ที่ชุมชนเดียวกันนั้นเอง จะพากันลืมพายุที่ตนก่อขึ้นและปล่อยให้มอดดับไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน (ความจริงอาจไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ) เพียงถ้าจะมองว่าทั้งหมดนั้นมันคือ "อารมณ์ชั่ววูบ"

แม้อาจจะมีบางคนที่ถามถึงความคืบหน้าในคดีอยู่ ณ เวลานี้ ยังคงมองว่าผู้กระทำผิด (ซึ่งที่จริงแล้วความผิดของเขาคือการขับขี่รถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต ร่วมกับประมาท² จนเกิดอุบัติเหตุ) คือฆาตกรที่สังคมต้องตามล่าจนถึงที่สุด แต่ผมหวังว่าคนส่วนใหญ่ จะได้ใช้เวลาที่ผ่านมา ปล่อยให้อารมณ์สงบลง และหันกลับไปมองเหตุการณ์ที่ผ่านมาเสียใหม่ และตั้งคำถามว่า "เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ และจะทำอะไรเพื่อแก้ไขได้บ้าง?"

และอย่างน้อยผู้จัดทำ Facebook Page ที่มีคน Like กว่าสามแสนคนนั้นก็ได้พยายามส่งเสริมให้ใช้พลังที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา โดยกล่าวว่า

Facebook Page วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพจในครั้งนี้ จัดตั้งขึ้น เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างสรรค์สังคม มิได้มีเจตนาประสงค์ โจมตีหรือ ให้ร้าย บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเพื่อหาแนวทางป้องกัน อุับัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียของบุคคลในครั้งนี้ รวมทั้งทางเพจมิได้เจตนาหลบหลู่ และกล่าวหาบุคคลใด หรือหมิ่นสถาบันใด ๆ สถาบันหนึ่ง และ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอประกาศทราบและเข้าใจโดยทั่วกัน

ยังไงก็คงดีกว่าสภาพที่คุณ @trangs กล่าวไว้ใน Twitter ว่า TL วันนี้ทั้งวันเต็มไปด้วย คนด่าแพรวา คนสงสารแพรวา คนด่าคนด่าแพรวา คนด่าคนสงสารแพรวา คนเสนอทางออก คนด่าคนเสนอทางออก มั้งครับ

เพราะแม้ว่าผมจะคิดแทนผู้ที่สูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว (ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่จะไม่ลืมมากที่สุด) ไม่ได้ แต่ผมก็เชื่อว่าการเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนา จะเป็นสิ่งที่ทุกคนหวังประสงค์ร่วมกัน

ส่วนเรื่องความคืบหน้าในคดี ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ควรต้องดำเนินการติดตามต่อไป หากเพียงแต่เป็นเพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่การแก้แค้น ซึ่งผมจะไม่ขอวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของไทยเพิ่มเติม ณ ที่นี้


ในช่วงแรก ๆ หลังเกิดเหตุการณ์ มีสิ่งหนึ่งที่ผมดีใจที่เหมือนจะได้เห็นความพยายามแก้ไขปัญหา คือการจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยในรถตู้โดยสาร³ แม้จะเข้าได้กับคำพังเพยไทยที่ว่าวัวหายล้อมคอก และก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็อย่างน้อยได้ทำอะไรเพื่อพัฒนาบ้างสักนิด ก็คงยังดีกว่าปล่อยให้ความสูญเสียนั้นสูญเปล่าไปโดยสิ้นเชิง

แต่ทว่าความสูญเปล่านั้นคงจะเป็นสภาพอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมนี้กระมังครับ เพราะผมเองก็เพิ่งจะได้เห็นตอนขึ้นรถตู้เมืองทองธานี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าเข็มขัดนิรภัยที่ว่าถูกทำให้อยู่ในสภาพดังรูป

วัวหายแล้วล้อมคอกยังรับได้ว่าพยายามแก้ไข แต่ที่ไม่สมควรให้อภัยคือตั้งใจเปิดประตูคอกทิ้งไว้


  1. ถ้าจำไม่ได้ลองกลับไปอ่านดราม่าอันนี้
  2. ที่จริงในเชิงปรัชญาและจริยศาสตร์ การตีความผิดให้การประมาทนั้นคงมีประเด็นให้ถกเถียงได้มากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่ก็ถือกันว่าเจตนาเป็นปัจจัยสำคัญของการกระทำความผิด
  3. ผมไม่ชอบใจมานานแล้วกับการที่รถตู้และรถโดยสารประจำทางไม่มีเข็มขัดนิรภัยให้ แต่ที่เกลียดและรำคาญกว่านั้นคือการที่รถแท็กซี่มีเข็มขัดนิรภัย แต่เ*ือกเอาขั้วล็อกเข็มขัดยัดเข้าไปใต้เบาะไม่ให้ใช้ กะว่าถ้ามีคันไหนที่คาดได้จะชมและทิปให้สัก 100% แต่ก็ยังไม่เคยได้เจอสักที

10 May 2011

นิทาน smartphone

คิดจะเขียนลงบล็อกสักพักแล้ว ด้วยแรงบันดาลใจจากเพื่อน ๆ และญาติ ๆ ผู้ใหญ่ที่ถามมาบ่อยครั้งถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของระบบโทรศัพท์แสนฉลาดทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน (Android คืออะไร HTC เป็นใคร อันนั้นต่างจาก iPhone ยังไง ฯลฯ) ประจวบกับตอนนี้หมกมุ่นเรื่องโทรศัพท์หลังจากตัดสินใจพยายามขายต่อเครื่อง BlackBerry ที่ได้มาฟรี ขณะที่ยังมองว่า HTC Prophet (aka Dopod 818 Pro) ที่ใช้มา 5½ ปีนี้น่าจะใกล้ได้ฤกษ์ปลดระวางแล้ว (หลังเสียโฉมหนัก (กว่าเดิม) จากเหตุทำหล่นเป็นครั้งที่ประมาณ 5 ได้) จึงต้องหาที่ระบาย

เนื้อความในเอ็นทรีนี้เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวและข้อมูลที่ฟังเขามาเป็นส่วนใหญ่ บวกกับหาข้อมูลเพิ่มเติมตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย (ความจริงคือเยอะเลย เพราะความรู้ไม่มี) มิได้ทำการทบทวนวรรณกรรมหรือค้นคว้ายืนยันข้อมูลโดยละเอียดแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ้างอิง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยที่โทรศัพท์มือถือยังหน้าตาแบบข้างซ้ายนี้ (เราจะไม่ย้อนกลับไปกล่าวถึง Apple Newton กันนะครับ เกิดไม่ทันเหมือนกัน) ได้เริ่มมีการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งขึ้นมา เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก สามารถพกพาและถือได้ด้วยด้วยมือเดียว และแสดงผล/ป้อนข้อมูลด้วยจอ LCD touchscreen ที่ใช้ stylus จิ้ม/เขียนเป็นหลัก ฟังก์ชันหลัก ๆ เป็นบันทึกการนัดหมาย สมุดโทรศัพท์ รายการสิ่งที่ต้องทำ ตลอดจนบันทึกทั่วไปเหมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว จึงเรียกอุปกรณ์กลุ่มนี้ว่า personal digital assistant (PDA)

Palm V

ในประเทศไทย รู้สึกว่าจะเห็น PDA ที่เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายตัวแรกคือ Palm V ซึ่งออกมาในปี 1999 (เปรียบเทียบ: Nokia 3310 เปิดตัวปลายปี 2000) Palm นี้เป็นยี่ห้อเครื่อง PDA ส่วนระบบปฏิบัติการ (operating system, OS) ของมันเรียกว่า Palm OS ซึ่งเวลาเอ่ยถึงมักเรียกเหมารวมว่า Palm หมายรวมถึงทั้งเครื่องของ Palm และผู้ผลิตยี่ห้ออื่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ (หรือบางทีก็ใช้คำว่า Palm หมายถึง PDA โดยทั่วไปก็มี)

ก็นับว่า Palm เป็น PDA ที่บุกเบิกและครองตลาดได้อยู่หลายปี จนได้รับความนิยมในหมู่นักธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน ที่มีตังค์ซื้อ ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อมีตลาด ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ของเจ้าอื่นทำมาแข่ง ที่เป็นคู่แข่งหลักก็คืออุปกรณ์ที่พัฒนาบนระบบปฏิบัติการ Windows CE ของ Microsoft ซึ่งเริ่มทำตลาดในชื่อ Pocket PC (PPC) (ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกตัวระบบปฏิบัติการว่า Windows Mobile (WM) โดย Pocket PC หมายถึงตัวเครื่อง และต่อมาอีกก็เรียกว่า Windows Mobile หมดเลย) โดยก็มีผู้ผลิตหลายยี่ห้อ ที่ดูโดดเด่นหน่อยก็น่าจะเป็น iPAQ ของ HP/Compaq (เปรียบเทียบ: คอมพิวเตอร์ PC ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ก็มีผู้ผลิตเครื่องหลายยี่ห้อ เช่น HP, Dell, Acer เป็นต้น) ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้ง Palm และ Windows Mobile ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการ ฟังก์ชันการทำงาน ตลอดจนซอฟท์แวร์ที่ทำขึ้นมาใช้บนทั้งสอง OS มากและหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ

Nokia 3230

ในขณะเดียวกัน โทรศัพท์มือถือก็มีการพัฒนาไปเช่นกัน Nokia 3310 ที่ได้รับความนิยมถล่มทลายนั้นมาพร้อม ๆ กับการปฏิวัติตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยที่มีฐานผู้ใช้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ก็มีความสามารถที่พัฒนาขึ้น ทั้งการใช้งานด้านมัลติมีเดีย การจัดการข้อมูล การเชื่อมต่อระดับ 2.5G ฯลฯ จนเริ่มจะกล่าวได้ว่าก้าวข้ามไปสู่ความเป็น smartphone คือเป็นโทรศัพท์ที่ "ไฮเทค" และมีความสามารถมากกว่าโทรศัพท์ธรรมดาทั่วไป Nokia 3230 ที่วางจำหน่ายต้นปี 2005 น่าจะเป็นหนึ่งในโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian รุ่นแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง และความเป็นเจ้าตลาดมือถือของโนเกียนี้เองก็ผลักดันให้ Symbian กลายเป็น smartphone OS ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่จนสุดทศวรรษ

การที่โทรศัพท์มือถือพัฒนาเป็น smartphone ก็เกิดขึ้นขนานมากับการที่ PDA มีการพัฒนาให้ใช้โทรศัพท์ได้ ความจริงก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า PDA และโทรศัพท์จะมีพัฒนาการเข้าหากัน (convergence) เพราะต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการที่ซ้อนทับกันอยู่ ทั้ง Palm และ Pocket PC ก็ต่างมี PDA ที่โทรศัพท์ได้ผลิตออกมา (แต่ในส่วนของ Treo ของ Palm ซึ่งได้รับความนิยมมากพอควรในสหรัฐฯ เห็นจะไม่ค่อยติดตลาดในไทย)

HTC Magician

Pocket PC ที่โทรศัพท์ได้ (PPC Phone Edition) ตัวแรกเข้าใจว่าจะเป็น HTC Wallaby (2002) ซึ่งในไทยจำหน่ายในชื่อ O2 Xda และต่อมาก็มีอุปกรณ์ที่ออกมาติดตลาดเรื่อย ๆ อย่าง HTC Magician (O2 Xda II mini) ที่ออกมาในปี 2004 กับจอ 2.8 นิ้วที่นำเทรนด์ขนาดเล็กพกพาสะดวก (ใส่กระเป๋าได้) ที่กลายเป็นมาตรฐานต่อมา และในช่วงนี้ Pocket PC ที่โทรศัพท์ไม่ได้ก็เริ่มหายไปจนกลายเป็นของหายาก ขณะที่เริ่มมี smartphone ที่ใช้ Windows Mobile ออกมาแพร่หลายมากขึ้น (ณ จุดนี้คำว่า PDA phone กับ smartphone ยังแยกได้โดยการแบ่งว่ามีหรือไม่มี touchscreen เป็นหลัก แต่เส้นแบ่งนี้ก็เริ่มจางลงเรื่อย ๆ)

ผมเองไม่แน่ใจว่าในไทยโดยทั่วไปแล้วเป็นเช่นกันหรือเปล่า แต่ที่อยู่ในคณะแพทย์ซึ่งกระแส PDA แรงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จะรู้สึกได้ชัดเจนว่าช่วงปี 2006-2008 นี้ Windows Mobile มาแรงมาก ๆ ขนาดที่ว่านักวิเคราะห์ตลาดทำนายว่า WM มีแนวโน้มจะแซง Symbian ได้ในไม่กี่ปี (คงจาก convergence ของอุปกรณ์ที่เริ่มลงตัวด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่ง Wi-Fi, 3G, GPS, และกล้องถ่ายรูป ก็เริ่มกลายเป็นมาตรฐาน smartphone แล้ว) ส่วน Palm ถึงจุดนี้ได้เริ่มซาและสูญเสียผู้ใช้ จนตกกระป๋องไปเรียบร้อยในเวลาต่อมา

Then came the iPhone.

iPhone 4

ผมคงไม่พยายามอธิบายโดยละเอียดว่า iPhone ของ Apple ได้เข้ามาสร้างกระแสทะลุเพดานและพลิกโฉมตลาด smartphone อย่างไรบ้าง เพราะก็คงจะพอทราบกันอยู่บ้างแล้ว เอาเป็นว่าแม้ตอนที่ iPhone รุ่นแรกเปิดตัวในสหรัฐฯ ช่วงกลางปี 2007 นักวิจารณ์จะยังกังขาในในความสามารถที่จำกัดของมันอยู่บ้าง แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น หน้าจอ capacitive touchscreen (ที่ใช้นิ้วสัมผัส) พร้อมเทคโนโลยี multi-touch (ที่ใช้มากกว่าหนึ่งนิ้วได้) และ user interface (UI, ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้) ที่เรียบลื่นและเข้าใจง่าย (ขนาดที่ทั้งยายและหลานวัยก่อนเข้าโรงเรียนต่างก็ใช้ได้) บวกกับสัมผัสทองคำของ Steve Jobs ก็ทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดถล่มทะลายอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในช่วงต่อมายังมีผู้พัฒนา applications (app, โปรแกรมประยุกต์) สำหรับทำโน่นนี่เต็มไปหมดตั้งแต่เกมมากมายสุดจะจินตนาการ (น่าจะเคยได้ยินชื่อ Angry Birds?) จนถึง app ที่วิจารณ์ว่าเจ้าของขับรถห่วยแค่ไหน ซึ่งต่างสามารถซื้อและ/หรือดาวน์โหลดผ่าน Apple App Store ที่ปัจจุบันมีให้เลือกกว่า 300,000 apps และ Apple ก็ยังพัฒนาเครื่อง iPhone และระบบปฏิบัติการ iOS รุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่มความสามารถ แก้ไขจุดบกพร่อง และราคาถูกลงออกมาเรื่อย ๆ ช่วยผลักดันให้ Apple แย่งส่วนแบ่งตลาด smartphone มาได้ก้อนใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว

ในไทยเอง กระแส iPhone เริ่มขึ้นช้าหน่อย เพราะกว่าจะมีจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (เริ่มโดย TrueMove กับ iPhone 3G) ก็ปี 2009 แล้ว แต่ไม่นานก็ทำเอาขบวน Windows Mobile ที่ยังมาแรงอยู่เริ่มจะเสียหลักจนตกรางตามในตลาดต่างประเทศไป (ถึงตอนนี้เส้นแบ่งระหว่าง PDA phone กับ smartphone ได้มลายหายไปแล้ว ส่วนหนึ่งคงด้วยความที่ iPhone วางตัวเป็นโทรศัพท์เป็นหลัก)

BlackBerry Bold 9000

ความจริงผู้ที่ช่วยแย่งตลาด Windows Mobile อีกรายก็คือ BlackBerry ของ Research in Motion (RIM)

ซึ่ง BlackBerry นี้เองก็มีมาหลายปีแล้วในตลาดอเมริกาเหนือ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ความสามารถด้านการจัดการอีเมล โดยเฉพาะการเชื่อมต่อผ่าน Microsoft Exchange Server จึงเป็นที่นิยมในผู้ใช้กลุ่มธุรกิจห้างร้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการติดต่อสื่อสารนี้ (เครื่อง BlackBerry ทำงานบนระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS จะว่าไปก็คล้ายกับ iPhone ตรงที่ฮาร์ดแวร์กับซอฟท์แวร์ผูกกันโดยผู้ผลิตเดียว)

ช่วงหลัง RIM พยายามทำตลาดผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น ความสามารถในการติดต่อถูกเอามาใช้กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networking) มีการโฆษณาผ่านการสนับสนุนโดยคนดัง (celebrity endorsement) และ BlackBerry OS ก็ยึดส่วนแบ่งตลาดแซงหน้า Windows Mobile (ที่ยังพัฒนาช้ากว่า) ได้ในปี 2008 ขณะที่ในไทยเริ่มมีการให้บริการในปี 2009 จนกลายเป็นกระแสเห่อ/บ้า BlackBerry (BB) ของวัยรุ่นไทยและผู้ใหญ่ตอนต้นที่แรงตลอดปี 2010 ขนาดที่ว่าหลายคนต้องซื้อ BlackBerry เพื่อใช้ติดต่อผ่าน BlackBerry Messenger ไม่เช่นนั้นจะเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้น/เพื่อนร่วมงานไม่ได้

ก็แปลกดีครับ จากอุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อธุรกิจ กลายเป็นของเล่นของวัยรุ่นไทยที่เห่อมาได้ปีกว่าเห็นจะเริ่มซาแล้ว

แต่แม้ในต่างประเทศ BlackBerry ก็เจอศึกหนัก เมื่อกำลังจะตกเป็นเบี้ยล่างในศึกช้างสาร smartphone ชนกัน ซึ่งคู่ต่อกรของ Apple นั้นก็ไม่ใช่ใครครับ Google กับระบบปฏิบัติการ Android นั่นเอง

Google/Samsung Nexus S

Google ได้เปิดตัว Android ในปี 2007 โดยพัฒนาแบบ open source (ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะไม่ทราบเหมือนกัน) และมีเครือข่าย Open Handset Alliance เป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตที่ร่วมกันผลักดัน หลังออกตัวเงียบ ๆ ช่วงปลายปี 2008 โทรศัพท์ที่ใช้ระบบ Android (ซึ่งใช้จอ touchscreen เป็นหลักเช่นเดียวกับ iOS และก็มีapps ที่ทำออกมาขาย/แจกผ่าน App Market ตอนนี้ถึงกว่า 100,000 apps แล้ว) ก็ถูกผลิตออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดขายพุ่งพรวดพราดในปี 2010 และตอนนี้ก็ได้ชิงตำแหน่ง smartphone OS อันดับหนึ่งจาก Symbian ไปแล้ว

ในหมู่ยี่ห้อ smartphone ที่ใช้ Android นอกจากบางชื่อที่อาจจะคุ้นเคยกันมาจากตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วไป (Motorola, Samsung, LG) คงไม่พ้นที่จะเห็นชื่อ HTC ซึ่งน่าจะปล่อยโทรศัพท์ Android ออกมามากที่สุดแล้ว อันที่จริง HTC เองเป็นผู้เล่นเก่าแก่ในสนาม PDA และ smartphone นี้ โดยเดิมทีนั้นเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ผู้ขายเอาไปทำตลาด (ทั้ง iPAQ ส่วนใหญ่ และ Palm Treo บางรุ่น ต่างก็ผลิตโดย HTC เช่นเดียวกับ Pocket PC Phone ในตระกูล O2 Xda หลายรุ่น ซึ่งปรากฏตัวด้วยชื่อต่าง ๆ กันไปตามผู้จำหน่ายในแต่ละภูมิภาค) ต่อมา HTC เริ่มใช้ชื่อ Dopod ทำตลาดเอง และต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ HTC เป็นยี่ห้อผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่ง HTC นี้เองก็น่าจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ Windows Mobile ออกมามากที่สุดตั้งแต่ช่วงบูมเมื่อปี 2006 เรื่อยมา

ในปัจจุบัน HTC ผลิต smartphone ออกมารองรับทั้ง Android และ Windows Phone (WP, ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของ Microsoft ที่พลิกโฉมจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง) และด้วยทั้งจำนวนและยอดขาย ก็คงคาดหวังได้ว่าจะยังเห็นชื่อ HTC ติดตลาด smartphone ไปอีกอย่างน้อยก็พักใหญ่

การเจริญเติบโตของ Android smartphones ที่ผ่านมา ขณะที่ขับเคี่ยวกับ iPhone อยู่ตลอด ก็ทำเอา smartphones บน OS อื่นถูกเบียดลีบแบนไปตาม ๆ กัน BlackBerry เองแม้จะยังยึดฐานลูกค้าในสหรัฐฯ ได้อยู่ แต่ก็กำลังเสียยอดขายไปเรื่อย ๆ Windows Phone 7 ที่ออกมาใหม่นั้นถึงกับแป้กออกสตาร์ทแทบไม่ติด แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ Nokia ยังสู้สงคราม smartphone ไม่ไหว ประกาศสละเรือ ทิ้ง Symbian และหันไปใช้ WP แทน

ส่วนผู้บุกเบิกตลาดอย่าง Palm ก็ได้ใช้ความพยายามเฮือกสุดท้ายออกระบบปฏิบัติการใหม่ WebOS มาบนเครื่อง Palm Pre ในปี 2009 แต่สุดท้ายก็ปรากฏว่าแป้ก และ Palm ก็ตกกระป๋องจริง ๆ และถูกขายให้ HP ไปเรียบร้อยแล้ว

ก็เห็นว่ากันว่าปีนี้สงคราม smartphone จะเหลือเวทีหลักอยู่แค่การขับเคี่ยวระหว่างเหล่าอุปกรณ์ Android กับ iPhone ส่วนแฟน ๆ Microsoft, Nokia, RIM และ HP ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะฮึดสู้กันไหวหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไงก็ต้องอย่าลืมการต่อสู้ในอีกสนาม คือสมรภูมิ tablet นั่นเอง

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นในวันนี้


ไป ๆ มา ๆ นิทานเรื่องนี้กลับยืดยาวกว่าที่คิดมาก อาจจะละเอียดเกินไปสำหรับกลุ่มเป้าหมายเดิมบ้างนิดหน่อย ก็ต้องขอโทษด้วยนะครับ

ไหน ๆ แล้ว เกริ่นเรื่องสงคราม tablet แถมหน่อยก็ได้ ยังไงยังไม่ได้ตอบคำถามว่า iPad คืออะไร...

หลังประสบความสำเร็จถล่มทลายกับ iPhone แล้ว Steve Jobs ก็เอาสัมผัสทองคำไปแตะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft ทำแป้กมานานแล้ว คือ tablet computer แล้วก็เสกให้กลายเป็น iPad ที่หน้าตาเหมือน iPhone ขยายขนาดแต่โทรศัพท์ไม่ได้ และแม้ทีแรกนักวิจารณ์จะต่างมองว่ามันไม่น่ามีที่ใช้ แต่สัมผัสทองคำของ Jobs ก็ทำให้ผู้คนตระหนักขึ้นมาว่าต้องการอุปกรณ์ชิ้นนี้และแห่แหนไปซื้อกัน

ทีนี้ผู้ท้าชิงก็เริ่มตามมา ขณะที่ iPad ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เช่นเดียวกับ iPhone นั้น Android ก็มีเวอร์ชัน tablet ออกมา ส่วน HP ก็เห็นว่าจะพัฒนา WebOS เพื่อใช้บน tablet เช่นกัน ก็คงต้องดูกันต่อไป


ว่าไปแล้วทั้งหมดทั้งปวงที่เล่ามานี้ก็แค่ช่วงระยะเวลาสิบปีเศษเท่านั้นเอง บอกทีแรกใครจะเชื่อว่าอะไร ๆ จะเปลี่ยนไปเร็วขนาดนี้ แต่ก็อย่างที่ใครบางคนบอก ว่าอัตราการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นเป็นแบบ exponential

แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีปัจจัยชะลอการพัฒนาที่ว่าอยู่อย่างหนึ่ง คือตังค์ในกระเป๋าที่ไม่มีจะซื้อของใหม่นั่นเอง จะเปลี่ยนกันเร็วไปไหน~


Image credits:

21 March 2011

SuckSeed ヘタクソ

SPOILER ALERT: หากท่านวางแผนจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำให้เก็บเอ็นทรีนี้ไว้อ่านทีหลังเพื่อรักษาอรรถรสในการรับชม

ไปดูมาแล้วครับ ภาพยนตร์เรื่อง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ทีแรกก็ไม่ได้กะจะเอามาเขียนต่อหรืออะไร แต่อารมณ์ค้าง ความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas)¹ เต็มไปหมด เลยต้องหาที่ระบาย

ความจริงก็ได้เห็นลิงก์ตัวอย่างภาพยนตร์ (trailer) เรื่องนี้ในทวิตเตอร์ (Twitter) มาพักใหญ่ แต่ตอนนั้นแอบใช้คอมพิวเตอร์ราชการที่ไม่มีลำโพงอยู่ เลยยังไม่ได้ดู พอมาตามดูช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ก็คิดอยู่ว่าน่าสนใจ แต่ก็นึกถึงประเด็นที่โพสท์ในทวิตเตอร์ว่า ภาพยนตร์ GTH ที่มีตัวละครเป็นนักเรียน ม.ปลาย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับดนตรี การประกวด Hot Wave แล้วก็รักวัยรุ่น นี่มันคุ้น ๆ? อยู่ด้วย²

พอช่วงวันที่หนังเข้าฉายเกิดเครียด ๆ กับเวรนิดหน่อย บวกกับเห็นพี่ก้อนพูดถึงในบล็อก เลยเหมือนมีอะไรบางอย่างดลใจให้รีบแจ้นไปดูทันทีที่ว่าง (เป็นหนังเรื่องล่าสุดที่ไปดูในโรง ถัดจากกวน มึน โฮ (เทศบาลนครที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามของประเทศ (แทบ) ไม่มีภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม (soundtrack) ฉาย))

ก็อย่างที่เคยบอก ว่าดูหนังไม่เป็น ตอนปี 1 ก็ไม่ได้ลงเรียน Movie World ก็คงจะไม่ได้วิจารณ์อะไรอย่างที่คนดูหนังเป็นเค้าวิเคราะห์กันได้ ขอแค่ไล่เรียงความประทับ (impression) ส่วนตัวมั่ว ๆ มาแล้วกัน

ก็ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง (ความจริงเข้าไปช้าเป็นนาทีได้ ที่นี่เวลาเริ่มฉายไม่นับโฆษณาแฮะ) ก็รู้สึกถึงประเด็นแรกที่พี่ก้อนกล่าวถึงในบทความที่อ้างถึงข้างต้นอย่างชัดเจนเลยครับ ว่าหนังเรื่องนี้ทำมาสะท้อนประสบการณ์วัยเด็ก-วัยรุ่นของคนที่เกิดช่วงปี 1985±2 โดยตรง ซึ่งก็ไม่แปลกและคงเป็นความตั้งใจของผู้เขียนบท ซึ่งก็เห็นว่ามีเพื่อนของคนเขียนมาตั้งกระทู้ในพันทิปเฉลยว่าองค์ประกอบหลายอย่างของเรื่องนั้นดึงมาจากประสบการณ์จริงของเหล่าผู้แต่งโดยตรง ผมเองถึงจะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมหลาย ๆ อย่างที่สอดคล้องกับตัวละครในเรื่อง (คือบ้านมีวิทยุแต่เปิดไม่เป็น แล้วก็ไม่ได้ชื่นชมแนวเพลงร็อคเท่าไร) ก็ยัง [identify] กับสิ่งแวดล้อมของตัวละครได้หลายอย่าง แล้วก็แอบอารมณ์ดีเดินออกจากโรงมาไม่น้อย (ถึงจะปวดฉี่สุด ๆ)

แต่กระนั้นก็ตาม ในรายละเอียดหลายอย่างผมยังรู้สึกว่ามันไม่แม่นอ่ะ อันนี้ผมนึกเปรียบเทียบกับในดีวีดีเรื่องความจำสั้น แต่รักฉันยาว ที่มีบทวิจารณ์ของผู้สร้างภาพยนตร์กล่าวถึงฉากเปิดที่ใช้เพลงสักวันฉันจะดีพอของบอดี้สแลม ว่าจริง ๆ แล้วตามเวลาในท้องเรื่องเพลงยังไม่ออก ในที่นี้เพลงด้วยรักและปลาทูของมอสในฉากแรก ๆ พอจะบ่งอายุของตัวละครที่อยู่ ป.6 ตามท้องเรื่องตอนนั้นได้ว่าต้องไม่เกินรุ่นเดียวกับเราแน่ ๆ (อัลบั้มนั้นวางจำหน่ายเดือนธันวาคม 1997) แต่ [pop culture references] ต่าง ๆ ที่หนังใช้เป็นเครื่องสะท้อนความทรงจำของผู้ชม และดูเหมือนจะมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งโยโย่ โรลเลอร์เบลด (อันนี้มันไม่ใช่เก่ากว่านั้นแล้วเหรอ หรือจำผิดเอง?) เกมเต้น การ์ดยูกิ ที่เรื่องนำเสนอในช่วงมัธยมปลาย จริง ๆ แล้วเป็นกระแสอยู่ตอนช่วง ม.ต้น ต่างหาก (เอ... หรือคิดไปคิดมา คือต้องการจะสื่อว่าคุ้งเห่ออะไรตามหลังชาวบ้านเค้าเป็นปี ๆ?)

อันที่จริงผมรู้สึกว่าองค์ประกอบย้อนยุค (retro) ต่าง ๆ ที่หนังนำเสนอ ดูจะชัดเจนมากกว่าในช่วงต้นเรื่อง เหมือนเป็นการปูพื้นให้คนดู (ในช่วงอายุ 24-28) ได้มีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครและฉากท้องเรื่อง ส่วนหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดความจำเพาะของเวลาลงมา แต่ก็ยังมีจุดให้สังเกตได้ว่าเวลาในเรื่องเหมือนจะกระโดดมาใกล้ปัจจุบันมากขึ้น อย่าง MSN Messenger 7.0 ที่มีฟังก์ชันเขย่าจอ (nudge) จริง ๆ แล้วก็เพิ่งออกมาเมื่อปี 2005 และแม้ผมจะไม่ได้สังเกตโทรศัพท์มือถือที่ตัวละครใช้ แต่ก็น่าจะพอบอกได้ว่าผ่านยุค 3310 ที่ครองโลกสมัยเราอยู่ ม.ปลาย มาแล้ว ขณะที่ยังบ่งว่ายังไม่ใช่ยุค iPhone และ [touch-screen smartphone] ในปัจจุบัน (เปรียบเทียบกับ [icon] ร่วมสมัย (contemporary) ที่อ้างถึงในหนังเรื่องอื่น เช่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) ในเรื่องความจำสั้น แต่รักฉันยาว กับรักมันใหญ่มาก ที่เปลี่ยนจาก Hi5 มาเป็น Facebook ตามยุคสมัย) นักร้องรับเชิญกับเพลงที่เลือกมาใช้ประกอบภาพยนตร์ก็เช่นกัน คือไม่ได้อิงตามช่วงเวลาท้องเรื่องที่จะเทียบจากอายุตัวละครโดยตรง (เพลง ...ก่อน กับ เลี้ยงส่ง ออกห่างกันถึง 11 ปี) แต่โดยรวมแล้วก็ล้วนเป็นเพลงที่คนในช่วงอายุเป้าหมายน่าจะเคยได้สัมผัส (ขนาดผมเองที่ไม่ฟังวิทยุยังรู้สึกว่าคุ้นเคยกับเพลงเหล่านี้) และต่างเป็นเพลงที่ดังมากพอที่แม้จะไม่ได้เกิดในช่วงปีที่ว่า ก็น่าจะเคยได้ยิน

ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นกุศโลบายที่จะช่วยให้หนังทั้งสั่นพ้อง (resonate) กับผู้ชมในวัยดังกล่าว ขณะที่ยังสามารถดึงดูดฐานผู้ชมที่กว้างออกไปอันรวมถึงวัยรุ่นปัจจุบันที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มได้หรือเปล่า น่าสนใจว่าสำหรับคนที่เกิดมาในยุคที่ไม่มีเทปตลับ (cassette) ขายแล้ว จะประทับใจส่วนไหนของหนังบ้าง แต่กระนั้นที่จริง [icon] ย้อนยุคในเรื่องหลายอย่างก็จำเพาะขนาดที่แค่เกิดทันก็อาจจะไม่ได้รู้จักด้วยซ้ำ ผมเองไม่ทันสังเกตเครื่องเล่นเกมคอนโซล (เข้าใจว่าตอนแรกเป็น Super Famicom? ที่จริงถ้าคิดตามประเด็นด้านบนมันควรจะเข้ายุค PlayStation แล้ว) แต่ปกการ์ตูนนี่ยังไงก็ไม่ [recognise] แน่ ๆ เพราะไม่ได้อ่าน

ภาพยนตร์ที่พยายามเล่นกับ [nostalgia] นี่คงไม่เปรียบเทียบกับเรื่องแฟนฉันไม่ได้ อาจจะไม่ผิดถ้าจะมองว่า SuckSeed กำลังพยายามดึงเอาความทรงจำของคนรุ่นเราออกมาอย่างที่แฟนฉันเป็นความหลังวัยเด็กของชาว Generation X แต่สำหรับ SuckSeed ประเด็นความหลัง (ที่อาจจะไม่ "โดน" ผู้ชมได้มากมายเท่า) คงไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันหนังที่สำคัญเท่ากับในกรณีของแฟนฉัน

เขียนมาถึงตรงนี้ (ข้ามวันมา ถ้าไม่ค่อยต่อเนื่องอย่าแปลกใจ) ก็ต่อไม่ถูกแล้ว ขออนุญาตจบห้วน ๆ ตรงนี้เลยแล้วกัน ประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้พูดถึงอีกก็มี

  • ฉากสนามบิน (setting อดีต) เคาน์เตอร์ Orient Thai เบรกอารมณ์สุด ๆ
  • ฉากโถฉี่หายไปไหน? (หรือเราไม่ทันสังเกตเอง?) (Edit: น่าจะเป็นตอนที่เจอนักร้อง arena ในห้องน้ำนะ ขอบคุณปัฏฐาครับ)
  • เพลงประกอบภาพยนตร์ ทุ้มอยู่ในใจ แต่เสียง tenor สุด ๆ
  • มีเพลงบุษบาในแผ่น soundtrack ด้วย ไหงงั้น
  • ป.ล. เพิ่งรู้ว่าเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ของการบินไทย มี B747 บินด้วย
  • ป.ป.ล. ไหน ๆ เขียนมาในหัวข้อแล้ว เผื่อมีคนสงสัย ภาษาญี่ปุ่น katakana ในโลโก้ภาพยนตร์อ่านว่า hetakuso แปลว่า extreme clumsiness (หรือที่มีคนแปลในกระทู้พันทิปว่า ห่วย(อึจาระ)แตก

  1. ความจริงแล้ว flight of ideas เป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ในที้นี้นำมากล่าวเปรียบเทียบในเชิงขบขันเฉย ๆ
  2. อ้างถึงเรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

Last edited: 2011-03-25 15:24