คิดจะเขียนลงบล็อกสักพักแล้ว ด้วยแรงบันดาลใจจากเพื่อน ๆ และญาติ ๆ ผู้ใหญ่ที่ถามมาบ่อยครั้งถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของระบบโทรศัพท์แสนฉลาดทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน (Android คืออะไร HTC เป็นใคร อันนั้นต่างจาก iPhone ยังไง ฯลฯ) ประจวบกับตอนนี้หมกมุ่นเรื่องโทรศัพท์หลังจากตัดสินใจพยายามขายต่อเครื่อง BlackBerry ที่ได้มาฟรี ขณะที่ยังมองว่า HTC Prophet (aka Dopod 818 Pro) ที่ใช้มา 5½ ปีนี้น่าจะใกล้ได้ฤกษ์ปลดระวางแล้ว (หลังเสียโฉมหนัก (กว่าเดิม) จากเหตุทำหล่นเป็นครั้งที่ประมาณ 5 ได้) จึงต้องหาที่ระบาย
เนื้อความในเอ็นทรีนี้เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวและข้อมูลที่ฟังเขามาเป็นส่วนใหญ่ บวกกับหาข้อมูลเพิ่มเติมตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย (ความจริงคือเยอะเลย เพราะความรู้ไม่มี) มิได้ทำการทบทวนวรรณกรรมหรือค้นคว้ายืนยันข้อมูลโดยละเอียดแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ้างอิง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยที่โทรศัพท์มือถือยังหน้าตาแบบข้างซ้ายนี้ (เราจะไม่ย้อนกลับไปกล่าวถึง Apple Newton กันนะครับ เกิดไม่ทันเหมือนกัน) ได้เริ่มมีการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งขึ้นมา เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก สามารถพกพาและถือได้ด้วยด้วยมือเดียว และแสดงผล/ป้อนข้อมูลด้วยจอ LCD touchscreen ที่ใช้ stylus จิ้ม/เขียนเป็นหลัก ฟังก์ชันหลัก ๆ เป็นบันทึกการนัดหมาย สมุดโทรศัพท์ รายการสิ่งที่ต้องทำ ตลอดจนบันทึกทั่วไปเหมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว จึงเรียกอุปกรณ์กลุ่มนี้ว่า personal digital assistant (PDA)
Palm V |
ในประเทศไทย รู้สึกว่าจะเห็น PDA ที่เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายตัวแรกคือ Palm V ซึ่งออกมาในปี 1999 (เปรียบเทียบ: Nokia 3310 เปิดตัวปลายปี 2000) Palm นี้เป็นยี่ห้อเครื่อง PDA ส่วนระบบปฏิบัติการ (operating system, OS) ของมันเรียกว่า Palm OS ซึ่งเวลาเอ่ยถึงมักเรียกเหมารวมว่า Palm หมายรวมถึงทั้งเครื่องของ Palm และผู้ผลิตยี่ห้ออื่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ (หรือบางทีก็ใช้คำว่า Palm หมายถึง PDA โดยทั่วไปก็มี)
ก็นับว่า Palm เป็น PDA ที่บุกเบิกและครองตลาดได้อยู่หลายปี จนได้รับความนิยมในหมู่นักธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน ที่มีตังค์ซื้อ ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อมีตลาด ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ของเจ้าอื่นทำมาแข่ง ที่เป็นคู่แข่งหลักก็คืออุปกรณ์ที่พัฒนาบนระบบปฏิบัติการ Windows CE ของ Microsoft ซึ่งเริ่มทำตลาดในชื่อ Pocket PC (PPC) (ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกตัวระบบปฏิบัติการว่า Windows Mobile (WM) โดย Pocket PC หมายถึงตัวเครื่อง และต่อมาอีกก็เรียกว่า Windows Mobile หมดเลย) โดยก็มีผู้ผลิตหลายยี่ห้อ ที่ดูโดดเด่นหน่อยก็น่าจะเป็น iPAQ ของ HP/Compaq (เปรียบเทียบ: คอมพิวเตอร์ PC ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ก็มีผู้ผลิตเครื่องหลายยี่ห้อ เช่น HP, Dell, Acer เป็นต้น) ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้ง Palm และ Windows Mobile ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการ ฟังก์ชันการทำงาน ตลอดจนซอฟท์แวร์ที่ทำขึ้นมาใช้บนทั้งสอง OS มากและหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ
Nokia 3230 |
ในขณะเดียวกัน โทรศัพท์มือถือก็มีการพัฒนาไปเช่นกัน Nokia 3310 ที่ได้รับความนิยมถล่มทลายนั้นมาพร้อม ๆ กับการปฏิวัติตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยที่มีฐานผู้ใช้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ก็มีความสามารถที่พัฒนาขึ้น ทั้งการใช้งานด้านมัลติมีเดีย การจัดการข้อมูล การเชื่อมต่อระดับ 2.5G ฯลฯ จนเริ่มจะกล่าวได้ว่าก้าวข้ามไปสู่ความเป็น smartphone คือเป็นโทรศัพท์ที่ "ไฮเทค" และมีความสามารถมากกว่าโทรศัพท์ธรรมดาทั่วไป Nokia 3230 ที่วางจำหน่ายต้นปี 2005 น่าจะเป็นหนึ่งในโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian รุ่นแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง และความเป็นเจ้าตลาดมือถือของโนเกียนี้เองก็ผลักดันให้ Symbian กลายเป็น smartphone OS ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่จนสุดทศวรรษ
การที่โทรศัพท์มือถือพัฒนาเป็น smartphone ก็เกิดขึ้นขนานมากับการที่ PDA มีการพัฒนาให้ใช้โทรศัพท์ได้ ความจริงก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า PDA และโทรศัพท์จะมีพัฒนาการเข้าหากัน (convergence) เพราะต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการที่ซ้อนทับกันอยู่ ทั้ง Palm และ Pocket PC ก็ต่างมี PDA ที่โทรศัพท์ได้ผลิตออกมา (แต่ในส่วนของ Treo ของ Palm ซึ่งได้รับความนิยมมากพอควรในสหรัฐฯ เห็นจะไม่ค่อยติดตลาดในไทย)
HTC Magician |
Pocket PC ที่โทรศัพท์ได้ (PPC Phone Edition) ตัวแรกเข้าใจว่าจะเป็น HTC Wallaby (2002) ซึ่งในไทยจำหน่ายในชื่อ O2 Xda และต่อมาก็มีอุปกรณ์ที่ออกมาติดตลาดเรื่อย ๆ อย่าง HTC Magician (O2 Xda II mini) ที่ออกมาในปี 2004 กับจอ 2.8 นิ้วที่นำเทรนด์ขนาดเล็กพกพาสะดวก (ใส่กระเป๋าได้) ที่กลายเป็นมาตรฐานต่อมา และในช่วงนี้ Pocket PC ที่โทรศัพท์ไม่ได้ก็เริ่มหายไปจนกลายเป็นของหายาก ขณะที่เริ่มมี smartphone ที่ใช้ Windows Mobile ออกมาแพร่หลายมากขึ้น (ณ จุดนี้คำว่า PDA phone กับ smartphone ยังแยกได้โดยการแบ่งว่ามีหรือไม่มี touchscreen เป็นหลัก แต่เส้นแบ่งนี้ก็เริ่มจางลงเรื่อย ๆ)
ผมเองไม่แน่ใจว่าในไทยโดยทั่วไปแล้วเป็นเช่นกันหรือเปล่า แต่ที่อยู่ในคณะแพทย์ซึ่งกระแส PDA แรงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จะรู้สึกได้ชัดเจนว่าช่วงปี 2006-2008 นี้ Windows Mobile มาแรงมาก ๆ ขนาดที่ว่านักวิเคราะห์ตลาดทำนายว่า WM มีแนวโน้มจะแซง Symbian ได้ในไม่กี่ปี (คงจาก convergence ของอุปกรณ์ที่เริ่มลงตัวด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่ง Wi-Fi, 3G, GPS, และกล้องถ่ายรูป ก็เริ่มกลายเป็นมาตรฐาน smartphone แล้ว) ส่วน Palm ถึงจุดนี้ได้เริ่มซาและสูญเสียผู้ใช้ จนตกกระป๋องไปเรียบร้อยในเวลาต่อมา
Then came the iPhone.
iPhone 4 |
ผมคงไม่พยายามอธิบายโดยละเอียดว่า iPhone ของ Apple ได้เข้ามาสร้างกระแสทะลุเพดานและพลิกโฉมตลาด smartphone อย่างไรบ้าง เพราะก็คงจะพอทราบกันอยู่บ้างแล้ว เอาเป็นว่าแม้ตอนที่ iPhone รุ่นแรกเปิดตัวในสหรัฐฯ ช่วงกลางปี 2007 นักวิจารณ์จะยังกังขาในในความสามารถที่จำกัดของมันอยู่บ้าง แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น หน้าจอ capacitive touchscreen (ที่ใช้นิ้วสัมผัส) พร้อมเทคโนโลยี multi-touch (ที่ใช้มากกว่าหนึ่งนิ้วได้) และ user interface (UI, ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้) ที่เรียบลื่นและเข้าใจง่าย (ขนาดที่ทั้งยายและหลานวัยก่อนเข้าโรงเรียนต่างก็ใช้ได้) บวกกับสัมผัสทองคำของ Steve Jobs ก็ทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดถล่มทะลายอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในช่วงต่อมายังมีผู้พัฒนา applications (app, โปรแกรมประยุกต์) สำหรับทำโน่นนี่เต็มไปหมดตั้งแต่เกมมากมายสุดจะจินตนาการ (น่าจะเคยได้ยินชื่อ Angry Birds?) จนถึง app ที่วิจารณ์ว่าเจ้าของขับรถห่วยแค่ไหน ซึ่งต่างสามารถซื้อและ/หรือดาวน์โหลดผ่าน Apple App Store ที่ปัจจุบันมีให้เลือกกว่า 300,000 apps และ Apple ก็ยังพัฒนาเครื่อง iPhone และระบบปฏิบัติการ iOS รุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่มความสามารถ แก้ไขจุดบกพร่อง และราคาถูกลงออกมาเรื่อย ๆ ช่วยผลักดันให้ Apple แย่งส่วนแบ่งตลาด smartphone มาได้ก้อนใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว
ในไทยเอง กระแส iPhone เริ่มขึ้นช้าหน่อย เพราะกว่าจะมีจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (เริ่มโดย TrueMove กับ iPhone 3G) ก็ปี 2009 แล้ว แต่ไม่นานก็ทำเอาขบวน Windows Mobile ที่ยังมาแรงอยู่เริ่มจะเสียหลักจนตกรางตามในตลาดต่างประเทศไป (ถึงตอนนี้เส้นแบ่งระหว่าง PDA phone กับ smartphone ได้มลายหายไปแล้ว ส่วนหนึ่งคงด้วยความที่ iPhone วางตัวเป็นโทรศัพท์เป็นหลัก)
BlackBerry Bold 9000 |
ความจริงผู้ที่ช่วยแย่งตลาด Windows Mobile อีกรายก็คือ BlackBerry ของ Research in Motion (RIM)
ซึ่ง BlackBerry นี้เองก็มีมาหลายปีแล้วในตลาดอเมริกาเหนือ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ความสามารถด้านการจัดการอีเมล โดยเฉพาะการเชื่อมต่อผ่าน Microsoft Exchange Server จึงเป็นที่นิยมในผู้ใช้กลุ่มธุรกิจห้างร้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการติดต่อสื่อสารนี้ (เครื่อง BlackBerry ทำงานบนระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS จะว่าไปก็คล้ายกับ iPhone ตรงที่ฮาร์ดแวร์กับซอฟท์แวร์ผูกกันโดยผู้ผลิตเดียว)
ช่วงหลัง RIM พยายามทำตลาดผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น ความสามารถในการติดต่อถูกเอามาใช้กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networking) มีการโฆษณาผ่านการสนับสนุนโดยคนดัง (celebrity endorsement) และ BlackBerry OS ก็ยึดส่วนแบ่งตลาดแซงหน้า Windows Mobile (ที่ยังพัฒนาช้ากว่า) ได้ในปี 2008 ขณะที่ในไทยเริ่มมีการให้บริการในปี 2009 จนกลายเป็นกระแสเห่อ/บ้า BlackBerry (BB) ของวัยรุ่นไทยและผู้ใหญ่ตอนต้นที่แรงตลอดปี 2010 ขนาดที่ว่าหลายคนต้องซื้อ BlackBerry เพื่อใช้ติดต่อผ่าน BlackBerry Messenger ไม่เช่นนั้นจะเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้น/เพื่อนร่วมงานไม่ได้
ก็แปลกดีครับ จากอุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อธุรกิจ กลายเป็นของเล่นของวัยรุ่นไทยที่เห่อมาได้ปีกว่าเห็นจะเริ่มซาแล้ว
แต่แม้ในต่างประเทศ BlackBerry ก็เจอศึกหนัก เมื่อกำลังจะตกเป็นเบี้ยล่างในศึกช้างสาร smartphone ชนกัน ซึ่งคู่ต่อกรของ Apple นั้นก็ไม่ใช่ใครครับ Google กับระบบปฏิบัติการ Android นั่นเอง
Google/Samsung Nexus S |
Google ได้เปิดตัว Android ในปี 2007 โดยพัฒนาแบบ open source (ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะไม่ทราบเหมือนกัน) และมีเครือข่าย Open Handset Alliance เป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตที่ร่วมกันผลักดัน หลังออกตัวเงียบ ๆ ช่วงปลายปี 2008 โทรศัพท์ที่ใช้ระบบ Android (ซึ่งใช้จอ touchscreen เป็นหลักเช่นเดียวกับ iOS และก็มีapps ที่ทำออกมาขาย/แจกผ่าน App Market ตอนนี้ถึงกว่า 100,000 apps แล้ว) ก็ถูกผลิตออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดขายพุ่งพรวดพราดในปี 2010 และตอนนี้ก็ได้ชิงตำแหน่ง smartphone OS อันดับหนึ่งจาก Symbian ไปแล้ว
ในหมู่ยี่ห้อ smartphone ที่ใช้ Android นอกจากบางชื่อที่อาจจะคุ้นเคยกันมาจากตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วไป (Motorola, Samsung, LG) คงไม่พ้นที่จะเห็นชื่อ HTC ซึ่งน่าจะปล่อยโทรศัพท์ Android ออกมามากที่สุดแล้ว อันที่จริง HTC เองเป็นผู้เล่นเก่าแก่ในสนาม PDA และ smartphone นี้ โดยเดิมทีนั้นเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ผู้ขายเอาไปทำตลาด (ทั้ง iPAQ ส่วนใหญ่ และ Palm Treo บางรุ่น ต่างก็ผลิตโดย HTC เช่นเดียวกับ Pocket PC Phone ในตระกูล O2 Xda หลายรุ่น ซึ่งปรากฏตัวด้วยชื่อต่าง ๆ กันไปตามผู้จำหน่ายในแต่ละภูมิภาค) ต่อมา HTC เริ่มใช้ชื่อ Dopod ทำตลาดเอง และต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ HTC เป็นยี่ห้อผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่ง HTC นี้เองก็น่าจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ Windows Mobile ออกมามากที่สุดตั้งแต่ช่วงบูมเมื่อปี 2006 เรื่อยมา
ในปัจจุบัน HTC ผลิต smartphone ออกมารองรับทั้ง Android และ Windows Phone (WP, ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของ Microsoft ที่พลิกโฉมจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง) และด้วยทั้งจำนวนและยอดขาย ก็คงคาดหวังได้ว่าจะยังเห็นชื่อ HTC ติดตลาด smartphone ไปอีกอย่างน้อยก็พักใหญ่
การเจริญเติบโตของ Android smartphones ที่ผ่านมา ขณะที่ขับเคี่ยวกับ iPhone อยู่ตลอด ก็ทำเอา smartphones บน OS อื่นถูกเบียดลีบแบนไปตาม ๆ กัน BlackBerry เองแม้จะยังยึดฐานลูกค้าในสหรัฐฯ ได้อยู่ แต่ก็กำลังเสียยอดขายไปเรื่อย ๆ Windows Phone 7 ที่ออกมาใหม่นั้นถึงกับแป้กออกสตาร์ทแทบไม่ติด แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ Nokia ยังสู้สงคราม smartphone ไม่ไหว ประกาศสละเรือ ทิ้ง Symbian และหันไปใช้ WP แทน
ส่วนผู้บุกเบิกตลาดอย่าง Palm ก็ได้ใช้ความพยายามเฮือกสุดท้ายออกระบบปฏิบัติการใหม่ WebOS มาบนเครื่อง Palm Pre ในปี 2009 แต่สุดท้ายก็ปรากฏว่าแป้ก และ Palm ก็ตกกระป๋องจริง ๆ และถูกขายให้ HP ไปเรียบร้อยแล้ว
ก็เห็นว่ากันว่าปีนี้สงคราม smartphone จะเหลือเวทีหลักอยู่แค่การขับเคี่ยวระหว่างเหล่าอุปกรณ์ Android กับ iPhone ส่วนแฟน ๆ Microsoft, Nokia, RIM และ HP ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะฮึดสู้กันไหวหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไงก็ต้องอย่าลืมการต่อสู้ในอีกสนาม คือสมรภูมิ tablet นั่นเอง
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นในวันนี้
ไป ๆ มา ๆ นิทานเรื่องนี้กลับยืดยาวกว่าที่คิดมาก อาจจะละเอียดเกินไปสำหรับกลุ่มเป้าหมายเดิมบ้างนิดหน่อย ก็ต้องขอโทษด้วยนะครับ
ไหน ๆ แล้ว เกริ่นเรื่องสงคราม tablet แถมหน่อยก็ได้ ยังไงยังไม่ได้ตอบคำถามว่า iPad คืออะไร...
หลังประสบความสำเร็จถล่มทลายกับ iPhone แล้ว Steve Jobs ก็เอาสัมผัสทองคำไปแตะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft ทำแป้กมานานแล้ว คือ tablet computer แล้วก็เสกให้กลายเป็น iPad ที่หน้าตาเหมือน iPhone ขยายขนาดแต่โทรศัพท์ไม่ได้ และแม้ทีแรกนักวิจารณ์จะต่างมองว่ามันไม่น่ามีที่ใช้ แต่สัมผัสทองคำของ Jobs ก็ทำให้ผู้คนตระหนักขึ้นมาว่าต้องการอุปกรณ์ชิ้นนี้และแห่แหนไปซื้อกัน
ทีนี้ผู้ท้าชิงก็เริ่มตามมา ขณะที่ iPad ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เช่นเดียวกับ iPhone นั้น Android ก็มีเวอร์ชัน tablet ออกมา ส่วน HP ก็เห็นว่าจะพัฒนา WebOS เพื่อใช้บน tablet เช่นกัน ก็คงต้องดูกันต่อไป
ว่าไปแล้วทั้งหมดทั้งปวงที่เล่ามานี้ก็แค่ช่วงระยะเวลาสิบปีเศษเท่านั้นเอง บอกทีแรกใครจะเชื่อว่าอะไร ๆ จะเปลี่ยนไปเร็วขนาดนี้ แต่ก็อย่างที่ใครบางคนบอก ว่าอัตราการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นเป็นแบบ exponential
แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีปัจจัยชะลอการพัฒนาที่ว่าอยู่อย่างหนึ่ง คือตังค์ในกระเป๋าที่ไม่มีจะซื้อของใหม่นั่นเอง จะเปลี่ยนกันเร็วไปไหน~
- Ericsson EH237: Original by renaissancechambara [CC-By 2.0], from Flickr
- Palm V: Original by AFresh1 [CC-By 2.0], from Flickr
- Nokia 3230: Original by Asestar at en.wikipedia [CC-BY-3.0], from Wikimedia Commons
- HTC Magician: Promotional image [© by owner], stolen from XDA-Developers
- iPhone 4: Jorge Quinteros [CC-By-2.0], from Flickr
- BlackBerry Bold 9000: Zuzu [CC-BY-SA-3.0], via Wikimedia Commons
- Nexus S: KniBaron [CC-By-2.0], from Flickr
No comments:
Post a Comment