2 September 2007

On the YouTube issue

คราวก่อนบอกว่าอีกนานแค่ไหนไม่ทราบ ต้องคอยลุ้นต่อไป ปรากฏว่าไม่ค่อยเห็นจะมีใครหลงเข้ามาอ่านหรือช่วยลุ้น แต่เอาเถอะครับ ถือว่าสถานการณ์ได้โอกาสประจวบเหมาะที่จะพูดถึงเรื่องนี้แล้วกัน

อย่างที่หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบ ว่าทาง MICT (เผลอจะคิดบ่อย ๆ ว่าย่อมาจาก Mandate for the Internet Censorship Taskforce) เลิกบล็อค YouTube แล้วตั้งแต่เมื่อวานซืน หลังจากที่ Google ตกลงเซ็นเซอร์คลิปวิดีโอบางเรื่อง ไม่ให้ผู้เข้าชมจากประเทศไทยสามารถรับชมได้

มองในแง่หนึ่ง ก็น่าจะเป็น [compromise] ที่แก้ปัญหาเบื้องหน้าได้ดีในระดับหนึ่งครับ เพราะอย่างที่ผมเคยแสดงความเห็นกับเพื่อน ๆ บางคน ว่าประเด็นปัญหานี้มันเกิดขึ้นมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม

กล่าวคือ เมื่อเนื้อหาบางอย่างเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ได้ในทั้งสองวัฒนธรรมที่กล่าวถึง ก็ไม่เกิดปัญหา จึงไม่มีใครมีปัญหากับคลิปแมวร้องเพลง และก็ไม่มีใครมีปัญหากับคลิปโป๊ที่ไม่มีอยู่บน YouTube

แต่เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ไปเหยียบเส้นความแตกต่างทางวัฒนธรรมเข้า จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ที่ทำให้ [integrity] ของอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องถูกลิดรอนเพื่อรักษา [cultural identity] ของแต่ละฝั่งบนเส้นนั้นไว้

ซึ่งเส้นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ว่าในกรณีดังกล่าว ก็คือ free speech vs respect for the King อย่างที่หลาย ๆ คนคงทราบ

มองตรงนี้ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร...

ตราบที่ยอมรับได้ว่า หลักพื้นฐานของประชาธิปไตยบางข้อนั้นเข้าไม่ได้กับวัฒนธรรมไทย และรัฐจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาวัฒนธรรมนั้นไว้เหนือหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว

แต่เงื่อนไขนี้ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผมไม่ยินดีที่จะยอมรับเท่าไรครับ

สมัยที่มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อผมได้เปิดอ่านดูก็แปลกใจอยู่ครับ เพราะไม่เคยทราบว่าการที่ "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" นั้นเป็นเรื่องที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

อาจเพราะตอนนั้น ผมยังไม่ได้เข้าใจถึงลักษณะของระบอบการปกครองที่ต้องมีการ [adapt and modify] ให้เข้าได้กับวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ที่รับเอาระบอบการปกครองนั้นไปใช้ และการที่ว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายนั้นก็มีเงื่อนไขรายละเอียดที่จำเพาะอยู่มาก

แต่ผมก็ยังอยากจะถามครับ ว่าจำเป็นด้วยหรือที่เราจะต้องรักษาวัฒนธรรมเดิม ๆ นั้นไว้เหนือสิ่งอื่นใด ที่จะต้องกำหนดเอาไว้ในบทบัญญัติสูงสุดของประเทศ

ในเมื่อคนไทยทุกคนรักในหลวงอยู่แล้ว ทำไมถึงจะต้องกำหนดบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักพื้นฐานที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยล่ะครับ

ทุกวันนี้บทบัญญัติที่มีไว้เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าสิ่งอื่นใดครับ (อันที่จริงแล้วอาจจะรองจาก "ความมั่นคงของประเทศ" อยู่พอสมควร)

และหากคนไทยไม่ได้รักในหลวงจริง บทบัญญัตินั้นจะไปบังคับเขาได้ที่ไหนเล่าครับ

ทำไมล่ะครับ ถึงจะต้องปิดกั้นไม่ให้ผู้คนได้เห็นความเห็นของคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ที่ไม่ได้รักในหลวง ในเมื่อก็เห็นอยู่แล้วว่าคนไทยเราเทิดทูนพระมหากษัตริย์ขนาดไหน

หรือว่าคิดว่าคนไทยไม่ได้รักในหลวงจริง?

หรือว่าคิดว่าคนไทยจะโง่พอที่จะทำให้วิดีโอคลิปคลิปหนึ่งทำให้จิตวิญญาณของความเป็นไทยนั้นบอบช้ำไปได้?


................


ผมไม่เคยพูดครับว่าวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่นั้นคร่ำครึล้าสมัย ควรที่จะเลิก ๆ ไปได้แล้ว

แต่กระแสโลกาภิวัตน์นั้น กำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม และคงยากครับ ที่จะหลีกเลี่ยง หรือตั้งกำแพงกีดขวางไว้ได้

ตอนนี้เราก็คงได้แต่เฝ้ามองครับ ว่าอะไรจะพังไปก่อนกัน

บนทั้งสองฝั่งของเส้นบาง ๆ ของสงครามความแตกต่างทางวัฒนธรรม

3 comments:

  1. คิดว่าง่ายๆ ก็น่าจะเป็นเพราะ ถ้าไม่มีบทบัญญัตินี้ก็มีคนมาโวยอยู่ดีซึ่งถ้ามีมันคงไม่มีคนมาโวยให้ไม่มีเหมือนกับ block youtube ต่อให้บล๊อกหรือไม่บล๊อกก็มีคนโวย เลยต้องอิงตามกฏหมาย สุดท้ายเลยต้องบล๊อกตราบใดที่ยังอยู่ในรัชสมัยนี้คิดว่าคงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่มันควรจะเป็นหรอก

    ReplyDelete
  2. (ผิด แก้บรรทัดที่ 2 -> ถ้าไม่มีก็มีคนมาโวยให้มีอยู่ดี)

    ReplyDelete
  3. ก้อน Masatha12/09/2007, 16:19

    วัฒนธรรมคร่ำครึอย่างที่ว่า คิดว่าคงมีถึงแค่รัชสมัยนี้แหละ
     
    พอเปลี่ยนยุค วัฒนธรรมนี้คงหายไปด้วย

    ReplyDelete