9 August 2008

เกมเจ้าปัญหา

ESRB M rating symbol
Half-Life: Counter-Strike ได้รับเรต M จาก ESRB เหมาะกับผู้เล่นที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป¹

ถ้าใครไม่ทราบ ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำพูดฮิตติดปากของผมเองตั้งแต่ตอน ม.3 และนับได้ว่าเป็นประโยคแจ้งเกิดของผมที่ รร.เตรียมฯ²

ถ้ายังจำกันได้ ช่วงประมาณปี 2000 นั้นเองที่เรากำลังเพิ่งจะรู้จักสถานบริการเกมคอมพิวเตอร์ที่เริ่มแพร่หลายในขณะนั้น และก็เป็นประกายกำเนิดกระแสความนิยมในกิจกรรมหลังเลิกเรียนนี้ที่ยังฮิตกันอยู่ถึงปัจจุบัน

ความจริงแล้วสมัยนั้นผมก็ไม่เคยได้เรียบเรียงความคิดจริงจังอะไรกับเรื่องนี้หรอกครับ นับว่าเป็นช่วงที่ยังคิดอะไรค่อนข้าง [concrete] ด้วยซ้ำ ทำนอง "เค้ากำหนดไว้ก็ควรจะทำตามสิ"

แต่เอาเข้า จนถึงปัจจุบันผมก็ยังเล่น Counter-Strike ไม่เป็น (เช่นเดียวกับ Ragnarok Online และ DotA) และก็ยังไม่เคยเข้าไปใช้บริการร้านเกมคอมพิวเตอร์สักครั้ง

ตอนที่เห็นเพื่อนคนหนึ่งเล่าถึงรูปแบบการใช้บริการร้านเกมแบบกินอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืนครั้งแรก (ช่วงปี 2001) ก็ทำให้ผมตกใจ/สะเทือนใจไปเหมือนกันครับ

ไม่ใช่ว่าผมจะไม่เคยมีปัญหาติดเกม (อื่น) ของผมเองนะครับ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึง

ถ้าลองมองย้อนกลับไป ก็คงจะพอเห็นได้ว่าประเด็นที่เอ่ยไว้ข้างต้น เรื่องเด็กเล่นเกมทั้งวันทั้งคืน เรื่องการควบคุมเรตเกม มันค่อย ๆ มีเรื่องราวข่าวที่สะท้อนออกมา ให้ภาครัฐต้องค่อย ๆ ตามไปควบคุมที่ปลายเหตุ ซึ่งก็อาจจะทำให้ผมตอน ม.3 พอใจขึ้นมาบ้าง

แต่มันจะช่วยทำให้อะไรดีขึ้นได้?

ในประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (ซึ่งผมเพิ่งจะรู้เรื่องภายหลังเมื่อไม่กี่วันมานี้) ผมติดตามดูแล้วก็รู้สึกไม่แปลกใจเลยสักนิด (และอดถอนหายใจไม่ได้)

ที่ปฏิกิริยาแรกของสังคมไทยคือการ [ban] เกมเจ้าปัญหา

ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นหรือสัมผัสเกม Grand Theft Auto ภาคใด ๆ เอง แต่จากที่ติดตามข่าวสารต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ก็พอจะสรุปอารมณ์ของเกมได้คำเดียวว่า [sick] และคงไม่เสียดายถ้าเกมนี้จะไม่มีอยู่อีก

แต่มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อพยายามแก้ปัญหาแต่ละอย่าง ผมไม่เห็นว่ามันจะช่วยอะไรได้นอกจากเป็นการไกล่เกลี่ยอารมณ์ของสังคมที่ตอบสนองต่อข่าวที่เกิดขึ้นให้เรื่องมันเงียบ ๆ ไปในแต่ละครั้ง จะห้ามจำหน่าย แล้วจำนวนผู้ใช้อย่างถูกกฎหมายแต่แรกมีสักเท่าไรเชียว จะควบคุมเรตเกม ใครจะเป็นคนลงไปดูแลในระดับไหนได้ จะ [curfew] ร้านเกม แล้วเด็กจะกลับไปตั้งใจศึกษาเล่าเรียนแทนอย่างนั้นหรือ

ถึงกระนั้น ผมก็สงสัยอยู่ว่า สถาบันครอบครัว ที่หลายคนให้เป็นคำตอบ จะเป็นคำตอบที่ล้าสมัยไปแล้วหรือยัง เพราะภาพสังคมที่เห็นทุกวันนี้ น้อยนักที่จะเห็นครอบครัวเป็นสถาบันที่แข็งแกร่งพอที่จะค้ำจุนสังคมได้ต่อไป

เราจะต้องเริ่มกันตั้งแต่ต้น โดยสร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาใหม่อย่างนั้นเลยหรือ

เรื่องราวเหล่านี้ คงมีผู้ที่วิเคราะห์ได้ดีกว่าผมกล่าวถึงแล้วบ้างในช่วงที่ผ่านมา และคงมีอีกในอนาคตที่จะถึง ผมก็จะยังไม่ขอพยายามหาคำตอบของคำถามที่น่าปวดหัวนี้ต่อ

แต่ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าสังคมจะพบคำตอบในเร็ว ๆ นี้ เพราะผมยังจำได้ ถึงภาพที่เห็นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

ที่ขณะไปเที่ยวกับกลุ่มลูกพี่ลูกน้อง และได้ผ่านหน้าร้านเกมในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พี่ชายคนหนึ่งในหมู่ญาติก็หันมาถามเชิงหยอกล้อกับผมว่า

"ไหนตอนนั้นพอบอกว่า Counter นี่ต้องอายุเท่าไรถึงจะเล่นได้นะ"

เพราะภาพที่เห็นตรงนั้น คือเด็กผู้ชายคนหนึ่ง³ ที่ดูยังไงก็อายุไม่น่าจะเกินประถมต้น นั่งเล่นเกมนี้อยู่อย่างจริงจัง

(เรื่องเกมกับวุฒิภาวะนี้ยังมีอะไรให้กล่าวถึงอีกมาก แต่ภาพที่เห็นนั้น ยังไงก็รู้สึกว่ามันไม่ถูกเอาเสียจริง ๆ)


  1. The ESRB "M" rating icon is a registered trademark of the Entertainment Software Association, and is proprietary to the ESRB. Its use here to illustrate the above quote is not in anyway endorsed by the ESRB, nor does it suggest ESRB's acknowledgement of this blog, or vice versa.
  2. ตอนปฐมนิเทศนักเรียน ม.4 ปีการศึกษา 2544 ผมทำให้พี่เอ็กซ์ (วิทย์คอม 9) อึ้งกับประโยคนี้ในฐานย่อยเรียนเราเด่น ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในฐานสมรรถภาพทางการปรับตัว โดยรูปแบบกิจกรรมคือให้ออกแบบตารางเรียนในฝัน และตัวอย่างที่พี่ทำไว้มีชั่วโมงเล่น Counter อยู่ จึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ในวันต่อมาผมก็ถูกเพื่อน ๆ ในกลุ่มคะยั้นคะยอให้นำคำพูดนี้ไปแสดงในละครนำเสนอของกลุ่มในหอประชุม ทุกคนในรุ่นจึงได้รู้จักประโยคนี้ด้วยเหตุนี้เอง
  3. ที่จริงน่าจะเล่นกันอยู่หลายคน แต่ในภาพที่ติดตาอยู่นั้นผมจำได้แค่คนเดียว

Last edited: 2008-08-18 23:57

2 comments:

  1. เราว่าเราเคยเล่นอยู่ครั้งสองครั้งนะไอ้เกม counter strike เนี่ย... จำได้ว่าเล่นที่ห้องคอมตอนม. 4 [เป็นการประจานเกินไปหรือเปล่าเนี่ย - เอาเป็นอนุมานว่าไม่ระบุโรงเรียนแล้วกัน 555+]

    ไม่รู้สึกว่าสนุกตรงไหน...

    เกมที่ติดอย่างจริงจังในเวลาถัดมาคือ Ragnarok Online แต่พอมันต้องเสียเงิน...ก็เลิก (งกอ่ะ)

    ทีนี้พอมีข่าวอะไรเกี่ยวกับเด็กติดเกม เราก็มองย้อนสมัยที่เราติด Rag โอเคล่ะ พอเราโตกันจนอายุปูนนี้แล้วมองกลับไปในอดีต (พูดเหมือนแก่มาก...) มันก็รู้สึกแหละว่าเสียเวลาเนอะ แต่ความรู้สึก ณ ตอนนั้นมันคือบันเทิงนันทนาการอย่างหนึ่ง และถ้าพูดตามตรงเราก็ไม่เห็นว่าผลสุดท้ายจะเสียหายตรงไหน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นวันนี้เราคงไม่ได้มาอยู่ในที่ที่เราเรียนหัวบวมอยู่ตอนนี้ (ดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้)

    และอันที่จริงก่อนจะติด Rag เราก็เล่นเกมอย่างอื่นมาก่อน ที่ติดจริงจังก็พวกตระกูล Final แม้ว่าจะเล่นจบบ้างไม่จบบ้าง แล้วก็ Chocobo Racing แนว ๆ สาวก Square Soft ยังไงยังงั้น (จริง ๆ อยากจะพูดประเด็นเรื่องเกมลักษณะ RPG ด้วย แต่ว่าไม่ตรงเรื่อง ไว้วันหลังละกัน)

    และเมื่อวุฒิภาวะมากขึ้นเกมที่เคยติดก็เริ่มห่างหายไป

    เรามองว่าการติดเกมเป็นแค่เรื่องสนุกตามวัยและตามยุคสมัย

    พอซักทีเหอะกับไอ้ที่ลูกไม่ดีแล้วเอะอะก็โทษเกม โทษตัวเองก่อนดีไหมว่าดูแลลูกยังไง คนฟังข่าวเซ็งอ่ะ...

    ปล. พูดมาถึงนี่แล้วก็ใช่ว่าตอนนี้จะไม่มีเกมที่ติดนะ แต่ลักษณะเกมมันเปลี่ยนไปก็เท่านั้น
    ปลล. ส่วนเกมที่ว่า [sick] มันไม่มีได้ก็ดีเหมือนกัน มันสร้างสรรค์ตรงไหน คนเล่นก็เล่นไปได้ ลองมองตัวเองใหม่อีกทีว่าทำไมพอเราลองเล่นเกมลักษณะที่ [sick] แล้วถึงรู้สึกไม่ชอบ ในทำนองเดียวกัน ทำไมคนที่เล่นถึงยังทนเล่นมันอยู่ได้ ... ครอบครัวและการเลี้ยงดูนั่นแหละคือคำตอบ

    ReplyDelete
  2. อืม

    เรื่อววุฒิภาวะนี่ก็พูดยากเนอะ

    ได้การแก้ปัญหาที่ถูกจุด (เช่นสถาบันครอบครัว) ก็เป็นเรื่องที่ยาก และยาวนานเกินไป เกินกว่าที่จะทำได้จริงในระดับมหภาค

    ส่วนการแก้ปัญหาที่ทำได้ง่าย (เช่นแบน) ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง

    สุดท้ายก็คงต้องปลงว่า

    ครอบครัว (ใคร) ครอบครัว (มัน)

    ReplyDelete