17 December 2012

ด้วยผลแห่งการแสดงคารวะนี้...

...ขอให้ข้าพเจ้าเป็นคนดียิ่งขึ้นทุกวันทุกประการเป็นลำดับไป

ข้อความดังกล่าวคือวรรคสุดท้ายของบทสวดมนต์ประจำวันของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ

ความจริงบทสวดมนต์สาธิตเกษตร มีลักษณะเฉพาะอยู่หลายประการที่ไม่ตรงตามคำบูชาพระรัตนตรัยที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็เคยเป็นเหตุให้เกิดความสับสน/แปลกใจเมื่อมีการจัดกิจกรรมกับนักเรียนต่างโรงเรียนมาไม่น้อย

ประการหนึ่งคือการสวด นโม สามจบก่อนขึ้นบท อรหํ สมฺมาฯ

อีกประการหนึ่งคือการมีบทสวดไหว้บิดามารดาและครูอาจารย์ตามหลังบทบูชาพระรัตนตรัย

อีกประการหนึ่งคือการกราบสามครั้งท้ายบทสวดมนต์

และอีกประการหนึ่งคือการมีบทสวดภาษาไทยประกอบคำบูชาพระรัตนตรัยแต่ละวรรค ซึ่งไม่ใช่บทคำแปลที่พบโดยทั่วไป ("พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง...") หากแต่เรียบเรียงให้สั้นลงและ (ขอเดาว่าน่าจะ) เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักเรียน ป.1 ดังเช่นข้อความภาษาไทยของวรรคบูชาพระพุทธ ที่กล่าวว่า "ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ผู้ได้ตรัสรู้ถูกต้องดีแล้ว"

อันที่จริงผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าโรงเรียนอื่น ๆ สอนบทสวดมนต์ให้กับนักเรียน ป.1 กันว่าอย่างไร แต่ผมคิดว่าตัวเองตอน ป.1 ก็คงบอกได้ว่าการมีคำอธิบายภาษาไทยให้รู้ว่าตัวเองกำลังสวดอะไรอยู่นั้น ทำให้การสวดมนต์มีความหมายขึ้นมาก (และก็จำได้ว่าไม่ชอบใจมาแต่เด็กที่ไม่มีใครบอกว่าบท นโม ตสฺส นั้นหมายถึงอะไร) ถึงแม้คำอธิบายดังกล่าวจะไม่ใช่คำแปลตามความหมายโดยตรง แต่ผมคิดว่ามันก็สรุปความและอธิบายเจตนารมณ์ของการให้สวดมนต์ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ก็อีกหลายปีครับ กว่าจะได้ตระหนักว่าเราสวดมนต์ระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเตือนตนเองให้ยึดแนวทางคำสอนและตัวอย่างที่ดีงามเหล่านั้นเป็นหลักในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิต

แตกต่างจากการสวดมนต์ของศาสนาเทวนิยม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับพระเป็นเจ้าเป็นหลัก ทั้งเพื่อสักการะบูชา อ้อนวอนร้องขอ และอื่น ๆ

จึงดูน่าแปลกใจไม่น้อย ที่ความวรรคท้ายที่ผมอ้างถึงในชื่อบทความนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอีกประการของบทสวดมนต์สาธิตเกษตร กลับสื่อความเป็นการขอให้ได้ผลตอบแทนโดยตรงจากการสวดมนต์ ซึ่งดูขัดกับแนวคิดว่าการเป็นคนดีนั้นอยู่ที่กรรมที่ตนกระทำในทุกเวลาของชีวิต หาใช่มาจากเพียงการสวดมนต์ไม่

ที่จริงแล้วการบอกว่าน่าแปลกใจนั้นอาจจะไม่ถูกเท่าไรนัก เพราะถึงแม้ว่าผมจะกังขาความเหมาะสมของข้อความดังกล่าว แต่มันก็สะท้อนวิถีของพุทธศาสนาในสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ได้ผ่านการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และผสมผสาน ให้เข้ากับพื้นฐานความเชื่อของคนในสังคมมาช้านาน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับคนจำนวนมากแล้ว บทสวดมนต์ ซึ่งเดิมนั้นคงสำคัญที่เป็นเครื่องมือช่วยในการเจริญสติและบำเพ็ญวิปัสสนา ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นเครื่องมือในการอ้อนวอนขอร้องลาภยศและความสำเร็จกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย ที่อาจจะบอกได้ยากว่ามีในคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่

ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ดูน่าสนใจทีเดียวในเชิงศาสนาเปรียบเทียบ คำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อย ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาคือควรนับเป็นศาสนาหรือเปล่า เพราะนิยามคำว่าศาสนา (religion) ตามแนวคิดตะวันตกส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเชื่อในพระเป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่มีในคำสอนของศาสนาพุทธ

แต่กระนั้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมากที่สุดในโลก ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามนิยามดังกล่าวนั้นก็มีให้เห็นได้อยู่ทั่วไป และได้หลอมรวมกับพุทธศาสนาจนน่าจะแยกจากกันได้ยาก

จึงน่าคิดว่า ต่อให้ศาสนาพุทธตามคำสอนจะไม่เข้าเกณฑ์นิยามคำว่าศาสนาตามแนวคิดตะวันตก แต่ศาสนาตามนิยามนั้นก็มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยจากการผสมผสานศาสนาพุทธกับความเชื่อพื้นบ้านต่าง ๆ

ถ้าอย่างนั้น จริง ๆ แล้วศาสนาพุทธ (ที่อาจจะไม่นับว่าเป็นศาสนา) จะตั้งอยู่โดด ๆ ในสังคมขนาดใหญ่ได้หรือเปล่า หรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อย่างไรเสียก็ต้องสร้างความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ?

และเราจะบอกได้อย่างไร ว่าที่สวดมนต์แต่ละวัน เราสวดเพื่อเตือนสติตนตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

หรือสวดเพื่อขอผลตอบแทนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังเช่นที่ศาสนาอื่น ๆ ต่างกระทำ?


Edited 2013-03-11: ผู้ได้ตรัสรู้

1 comment:

  1. การสวดมนต์ ทำให้ ใจ ของเรา มีสมาธิอยู่ที่บทสวดมนต์
    ใจ ที่เป็นสมาธิ สงบ นิ่ง มีความสุข
    มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน ใจ
    ถ้าเรา ทำความรู้จัก เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ได้ถูกต้อง
    เราจะปล่อยวาง ความยึดถือ สิ่งเหล่านั้นได้
    ปล่อย วาง แล้ว เบา สบาย
    ใจ ที่ เบา สบาย สงบ มีพลัง
    นำไปใช้ ทำหน้าที่ ที่ควรทำ ได้เหมาะสม
    ยิ่งทำให้ ทำได้ดี
    เป็นผล คือ ความเจริญ ทั้งภายนอก คือ งาน และ ภายใน คือ ใจ
    ความจริงแล้ว แม้ไม่สามารถเรียกชื่อได้ถูกต้อง แต่ถ้าเป็น ธรรม ที่ถูกต้องแล้ว ได้ผลดีเสมอ
    จึงไม่ต้องเรียกว่าอะไร เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ใช้ได้ครับ

    ReplyDelete