วันเด็กอีกปี คำขวัญวันเด็กอีกหนึ่งคำขวัญ ที่ยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่ามีประโยชน์เพียงให้นักเรียนท่องไปตอบครู แล้วปีหน้าก็ลืม
แต่บางอันเราก็กลับไม่ลืมแฮะ สำหรับผมเอง มีคำขวัญวันเด็กที่ยังจำได้อยู่ 2 คำขวัญ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
ของคุณชวน หลีกภัย กับ เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
ของคุณทักษิณ ชินวัตร
อันแรกที่จำได้น่าจะเพราะมันสั้นมาก (มี 9 พยางค์ ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา) กอปรกับใช้ซ้ำ 2 ปี (พ.ศ. 2541, 2542 ซึ่งสมัยนั้นก็ชื่นชมคุณชวนที่ช่วยให้ไม่ต้องจำคำขวัญใหม่บ่อย ๆ) ส่วนเนื้อความของตัวคำขวัญเองนั้นไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะก็ออกคล้อยตามคำขวัญอื่น ๆ ที่ล้วนแต่บอกให้เป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา ฯลฯ โดยยกคุณธรรมอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างขึ้นมาเป็นตัวเด่นในแต่ละปี
ต่างจากคำขวัญของคุณทักษิณที่ฟังดูแล้วรู้สึกได้ว่าผิดแปลกจากธรรมเนียมนั้น เพราะแต่ละประเด็นที่ยกมาล้วนแต่มิใช่หัวข้อประเพณีนิยมที่เห็นกัน เรื่องเรียน แม้ว่าเดิมจะมีพูดถึงก็เป็นในลักษณะว่าให้ขยันเรียนในห้องเรียน เทคโนโลยี ก็เป็นประเด็นร่วมสมัยที่เพิ่งกล่าวถึงครั้งแรก และที่เด่นที่สุดคือคำว่า คิด ที่เพิ่งจะปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน (ที่จริงมี ใฝ่ดีมีความคิด ใน พ.ศ. 2527 แต่ความหมายดูไม่ได้ชัดเจนนัก)
ซึ่งเมื่อดูคำขวัญอื่น ๆ ของคุณทักษิณ ก็ยิ่งเห็นชัด ข้อความอย่าง กล้าคิด กล้าพูด และ ขยันอ่าน ขยันคิด นั้นแตกต่างจากคำขวัญเดิม ๆ อย่างชัดเจน (ซึ่งต่อมาคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตั้งคำขวัญในแนวคล้ายกัน มีวลีอย่าง ฉลาดคิด จุดประกายฝัน รู้คิด และ คิดสร้างสรรค์)
ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจที่คุณทักษิณจะเป็นผู้ริเริ่มแหกประเพณีกับคำขวัญวันเด็ก เพราะเขาก็ไม่ได้เป็นคนชอบทำอะไรตามประเพณีนิยมอยู่แล้ว แต่การยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา โดยเฉพาะการบอกให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความคิด แทนที่จะสอนให้เป็นเด็กดีมีคุณธรรมเชื่อฟังผู้ใหญ่แบบเดิม ๆ มันก็เหมือนจะสะท้อนวิสัยทัศน์ (หรือการสร้างภาพลักษณ์?) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสังคมของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นอยู่กลาย ๆ
และไม่ว่าคำขวัญเหล่านี้จะสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่แต่งหรือไม่ก็ตาม เราก็ควรตระหนักว่าสาระของคำขวัญเหล่านี้ ที่ว่าเด็ก ๆ ควรจะได้รู้จักเรียนรู้และมีความคิดเป็นของตัวเอง คือแนวคิดที่เราต้องเปิดรับเพื่อให้สังคมสามารถพัฒนาไปได้ในโลกปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้น ทางเดินก็คงยังอีกยาวไกล เพราะเช่นเดียวกับประเพณีคำขวัญวันเด็กที่เปลี่ยนยากเพียงไร แนวคิดอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ในสังคมไทยก็คงฝังรากลึกไม่ต่างกัน ดังที่เพลงหน้าที่ของเด็ก (ที่ขึ้นต้นว่า เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
) ยังคงพร่ำสอนเด็ก ๆ ถึงคุณธรรมตามค่านิยมในการสร้างชาติเมื่อ 60 ปีที่แล้วอยู่ในปัจจุบัน
- ความภูมิใจอย่างหนึ่งในการเป็นนักเรียนสาธิตเกษตรของผม คือการร้องเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีไม่เป็น (ที่โรงเรียนไม่เคยเปิดให้ฟัง พอได้ยินครั้งแรกก็โตพอที่จะกังขาข้อแรกที่ว่าต้องนับถือศาสนาแล้ว เลยไม่เคยสนใจจำมาจนถึงปัจจุบัน)
- เพิ่งเห็นคนแชร์บทสัมภาษณ์ ณัฐนันท์ วรินทรเวช: คำขวัญวันเด็กต้องไม่มีคำว่า ‘ระเบียบวินัย’ จากเว็บ TCIJ – มีแนวคิดที่คาบเกียวกับเอ็นทรีนี้อยู่บ้าง ส่วนประเด็นระเบียบวินัย เคยกล่าวถึงแล้วในเอ็นทรี Standing in line (2): Order v discipline
- ซีรีส์ Standing in line อีกสองบทความยังไม่ตายนะครับ อีกไม่นานคงจะมา
No comments:
Post a Comment