19 August 2007

My (long-belated) take on politics

เคยพูดไว้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับมุมมองทางการเมืองของผมมาหลายครั้ง หลายปี แต่ก็ไม่ได้ทำสักที จนมุมมองที่ว่านั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบแล้ว...

เอาเถอะ มาเริ่มด้วยเรื่องราวของวันนี้ก่อนแล้วกันครับ...

ด้วยความที่ดักดานอยู่บนวอร์ดมาหลายเพลา ก็แทบจะไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือแม้กระทั่งรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติแต่อย่างใด (ถึงจะอยู่แค่ศัลย์-สูติก็เถอะ) ผมจึงรู้สึกว่ายังมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจไม่เพียงพอ

สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ไปลงคะแนนมันซะเลย

เพราะรู้สึกว่าการให้ประชาชนไปลงมติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุมถังชนนี่มันดูน่าขันอยู่ เหมือนจะต้องการให้การลงประชามติเป็นการสร้างคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมาได้ แล้วคนจัดก็ไม่ใช่ใครนอกจากกลุ่มบุคคลที่เอารถถังแล่นเข้าเมืองหลวงแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปเมื่อไม่นานมานี้

ถึงการไปลงคะแนน ไม่รับ จะเป็นการแสดงออกถึงทัศนคตินี้ได้ในบางส่วน แต่ผมก็รู้สึกว่ายังนับเป็นการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างภาพประชาธิปไตยนี้อยู่ดี กอปรกับการที่ยังมองการณ์ในภาพรวมได้ไม่ดีนัก และความค่อนข้างเบื่อและเอือมระอาเต็มที จึงนำไปสู่การตัดสินใจดังกล่าว


ดูจะขัดกับแนวคิดความมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผมเองก็เคยพูดถึงหรือเปล่าครับ

อย่างที่เคยเล่าให้บางคนฟังในช่วงที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้ผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วครับ ว่าประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่

เพราะหลักการบางอย่างที่ผมเคยมั่นใจอยู่เดิม เช่น Democracy ≠ Majoritarianism (ประชาธิปไตยไม่ใช่การให้อำนาจเหนือกว่าแก่คนส่วนใหญ่) เมื่อคิดดูแล้ว มันทำให้เกิดความขัดแย้งบางอย่าง

หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยอย่างหนึ่งคือ majority rule ควบคู่กับ minority rights หรือการปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยในขณะเดียวกันต้องมีการรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักการให้อำนาจตัดสินใจแก่เสียงส่วนมากนั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนมากกว่า 1 คนไม่สามารถมีความเห็นพ้องต้องกันได้ตลอดเวลา

แต่ขณะเดียวกัน เสาหลักของประชาธิปไตยข้อนี้เอง ก็ขัดกับอุดมการณ์สูงสุดที่ให้ความเท่าเทียมแก่บุคคล

เพราะถึงแม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ก็เท่ากับว่ายอมรับว่ารัฐบาล (คือเสียงข้างมาก) สามารถให้ผลประโยชน์ หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในส่วนที่นอกเหนือจากสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่รับรองไว้โดยหลักการของประชาธิปไตยนี้ได้ โดยไม่เท่าเทียมกัน

ที่สุดแล้วผมจึงต้องสรุปว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมการณ์ที่สามารถมีได้อย่างสมเหตุสมผลในโลกอุดมคติ

(ลองเทียบกับหลักเผด็จการ ซึ่งถึงแม้จะยอมรับได้ยากในเชิง [normative] แต่ก็ [perfectly logical] เพราะไม่มีอะไรขัดแย้งกับผู้นำคนเดียวนั้นได้)

อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะผมเองก็พูดอยู่เสมอว่าโลกไม่ใช่ตาชั่ง และไม่มีความยุติธรรมบนโลกนี้ ประชาธิปไตยก็เป็นเพียงแต่ระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกปัจจุบัน ไม่เคยมีใครบอกว่าจะหาที่ติไม่ได้

แต่พอมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ดูซับซ้อนขึ้นทุกวัน เดี๋ยวนี้ผมเลยไม่ทราบว่าจะเชื่ออะไร จะยึดอะไรเป็นหลักในการตัดสินใจอีกต่อไป...


อันที่จริง เรื่องที่ว่าเคยบอกว่าจะพูดถึงมาเป็นปีแล้ว คือข้อติที่ว่า "เยาวชนสมัยนี้ไม่มีความกระตือรือร้น ความสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง" ซึ่งได้ยินมาเป็นสิบปีแล้ว และปัจจุบันนี้ก็ยังได้ยินอยู่

ผมไม่ทราบเกี่ยวกับสภาพสังคมหรอกครับ ผมไม่ทราบว่าข้อความข้างต้นนั้นจริงแค่ไหน แต่สำหรับตัวผมเอง ผมมีความเชื่อสูงสุดเกี่ยวกับการเมืองว่า

การเมืองเป็นเรื่องสกปรก

และไม่มีทางที่ใครที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจะผ่านพ้นออกมาได้โดยไม่แปดเปื้อน แค่นี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผมไม่อยากจะสนใจหรือมีส่วนร่วมในสถานการณ์ความเป็นไปทางการเมือง (นอกจากแสดงความเห็นส่วนตัวเงียบ ๆ ไปวัน ๆ) ได้เหลือเฟือแล้วครับ

ใช่ครับ... ขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย อย่างที่ Pericles กล่าวถึงการปกครองของนครรัฐเอเธนส์ไว้ว่า

We alone regard a man who takes no interest in public affairs not as harmless, but as a useless character.

แต่ ณ ปัจจุบัน ผมเองค่อนข้างจะพอใจที่จะเป็นคนไร้ประโยชน์ และไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่ต่อสังคม แต่ต่อตัวเองครับ อาจจะเพราะสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่าต้องดิ้นรนต่อสู้ และมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปได้ แต่หน้าที่ที่จะทำให้ตนเองมีประโยชน์ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น สำหรับผมตอนนี้ มันยังไม่คุ้มกับความเสี่ยง และความสกปรก ที่จะติดตัวมา

และผมยังเชื่อครับว่า การเมืองเป็นคำสาปของมนุษยชาติ

เพราะถึงแม้ผมจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกเพียงใด เป็นสิ่งบั่นทอนความเจริญเพียงใด มันก็เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสันดานของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มมีวัฒนธรรม และไม่มีทางที่จะหลีกหนีไปได้ ตามที่ Aristotle เคยกล่าวว่า

Man is by nature a political animal.

วันหลัง (อีกนานแค่ไหนไม่ทราบ) อาจจะเขียนเรื่อง The YouTube issue ต่อ ต้องคอยลุ้นต่อไป...

4 comments:

  1. ผมคิดว่า ความสกปรกเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของการเมือง
    และ กับข้อความที่ว่า การเมืองเป็นสิ่งบั่นทอนความเจริญนั้น ในทางตรงข้าม ผมกลับนึกไม่ออกครับว่า คนเราจะอยู่กันได้อย่างไรโดยปราศจากการเมือง
    เพราะด้วยการมา อาศัยร่วมกันด้วยตัวมันเอง ก็เกิดการเมืองขึ้นแล้ว  เลยไม่เข้าใจข้อความนี้จริงๆ ครับ
     
    ผมยังคิดว่า ยังแนวทางต่างๆ อยู่ที่เราจะมีส่วนร่วมกับการเมืองได้โดยไม่แปดเปื้อน
    ลำพังการเขียนความเห็น ขอบทความนี้ ให้คนอื่นได้แง่คิดมุมมองแบบหนึ่ง ก็เป็นแนวทางหนึ่งแล้ว
     
    ยิ่งระดับความมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็น่าจะทำให้ความสกปรกของการเมืองลดลงไป
    จึงคิดว่า อย่าเลิกสนใจการเมืองเลยครับ

    ReplyDelete
  2. เราพยายามอ่านแล้วค่ะ คุณพอoO"

    ReplyDelete
  3. พี่พอ ไปเรียนรัฐศาสตร์เหอะ 555+

    ReplyDelete
  4. ก้อน Masatha12/09/2007, 16:26

    เบื่อไม่ใช่เรื่องแปลก
     
    เซ็งก็ไม่แปลก
     
    รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกก็ไม่แปลก
     
    แต่เสียดายนิดหน่อย ถ้าฅนที่ตั้งใจจะทำการเมืองให้ดี จะท้อ เพราะฅนอื่นละเลยน่ะนะ

    ReplyDelete