13 June 2013

อะไรคือวิทยาศาสตร์

อยากจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมุติสักเล็กน้อยนะครับ*

สมมุติในเว็บบอร์ดสาธารณะแห่งหนึ่ง มีคนเข้ามาตั้งกระทู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มอาหารเสริม ความว่า

เราเห็นหลาย ๆ คนชอบแอนตี้คอลลาเจนที่เป็นอาหารเสริมเอาไว้ชงดื่ม บอกกันว่ามันไม่มีประโยชน์ กินไปก็เปลืองเงินฟรีเปล่า ๆ แต่ทำไมเท่าที่ตัวเราเองเคยลองทานดูก็รู้สึกว่าได้ผลนะคะ สังเกตว่าช่วงที่ทานแล้วผิวดีขึ้นจริง ๆ บางทีคนใกล้ตัวยังทักเลย มันเป็นไปได้รึเปล่าคะว่ามันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ได้ผลเฉพาะบางคน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่น่าจะต้องต่อต้านกันไปเสียหมดนะคะ เพราะสำหรับคนที่เค้าได้ผล มันก็น่าจะมีประโยชน์จริง ๆ

เมื่อมีกระทู้แนวนี้ออกมา ก็เดาได้ว่าจะต้องมีคนมาตอบแบบตามคิวเป๊ะ ว่า

เรื่องแบบนี้ลองใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมคิดดูเอาเองก็ได้นะครับ  คอลลาเจนมันเป็นสารอาหารประเภทโปรตีน เวลากินอาหารเข้าไป โปรตีนจะถูกย่อยเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ ในกระเพาะ แล้วก็ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนในลำไส้เล็กก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพราะฉะนั้นคอลลาเจนที่กินเข้าไปมันก็ถูกย่อยหมด แล้วมันจะไปมีประโยชน์อะไรกับร่างกายได้ยังไงครับ มันก็เหมือนกินโปรตีนจากเนื้อ นม ไข่ ตามธรรมชาติ เพราะยังไงมันก็ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนเหมือนกันอยู่ดี ที่ว่ากินแล้วผิวดีขึ้นมันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ น่าจะคิดไปเองมากกว่า

...ครับ...

xxแอดxx WRONG ANSWER!!

...

ในเหตุการณ์สมมุติข้างต้นนี้ จะเห็นได้นะครับว่ามีฝ่ายหนึ่งแสดงความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าอีกฝ่ายอย่างชัดเจน

นั่นก็คือผู้ตั้งกระทู้

เพราะผู้ตั้งกระทู้ได้แสดงให้เห็นว่ารู้จักตั้งคำถาม รู้จักสังเกตจากประสบการณ์ตรงของตน รับฟังข้อมูล และพยายามหาคำตอบเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่รู้

ขณะที่ผู้ตอบกระทู้อาศัยความเชื่อมั่นในความรู้วิทยาศาสตร์ของตนที่มีอยู่ นำมาหักล้างข้อสังเกตของอีกฝ่าย และฟันธงปฏิเสธในทันทีว่าสิ่งที่ขัดกับความรู้ของตนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

ความเชื่อแบบตายตัวเช่นนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ

การที่ผู้ตอบกระทู้แสดงความยึดมั่นว่าสิ่งที่ผู้ตั้งกระทู้เสนอ ซึ่งไม่ตรงกับความรู้ของตนเอง ต้องเป็นเท็จ ก็ไม่ต่างจากการที่กาลิเลโอต้องถูกไต่สวนโดยศาสนจักรเพราะสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัสว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ

หากแต่วิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตและการทดลอง เพื่อทดสอบสมมุติฐาน ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรายังไม่เข้าใจ

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้มาจากการยืนยันสมมุติฐาน ว่าสอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สังเกตได้ หากพบหลักฐานใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับความรู้ดังกล่าว นั่นแปลว่าความรู้เราอาจยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายหลักฐานใหม่นั้น ซึ่งก็ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมและพัฒนาความรู้กันต่อไป ไม่ใช่ปฏิเสธว่าว่าหลักฐานใหม่นั้นผิดเสียตั้งแต่ต้น

ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะยังเชื่อกันอยู่ครับ ว่าหนอนแมลงวันเกิดมาจากเนื้อเน่า

อะไรที่เรายังไม่รู้ จะมีโอกาสรู้ได้ก็ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามอย่างของผู้ตั้งกระทู้ที่ยกตัวอย่างครับ ถึงแม้ความรู้ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์จะยังจำกัดอยู่ แต่นั่นคือสิ่งที่ควรจะสอน ไม่ใช่สั่งให้ปิดปากบอกให้เงียบเสีย

จะเป็นประโยชน์กว่ามากครับ ถ้าจะตอบกระทู้โดยอธิบายว่า

การที่ จขกท.รู้จักสังเกตแล้วก็ตั้งคำถามนั้นก็ดีแล้ว แต่ข้อเท็จจริงทางชีวภาพจะอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวแค่นี้มันไม่พอหรอกครับ เพราะมันมีปัจจัยรบกวนเยอะเกินกว่าที่จะเอามาบอกอะไรได้

อย่างแรกก็คือความรัดกุมในการทดลองครับ การที่ จขกท.ลองดื่มเครื่องดื่มคอลลาเจน แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองนี่นับได้ว่าเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่เป็นการทดลองที่ไม่รัดกุม ก็เลยยังไม่น่าเชื่อถือครับ การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีกลุ่มควบคุมมาเปรียบเทียบ และมีการควบคุมตัวแปรให้รัดกุมครับ

ตัวแปรต้นในที่นี้ก็คือการดื่มหรือไม่ดื่มคอลลาเจน ซึ่งที่ จขกท.ทำ คือเปรียบเทียบกับตัวเอง ก็ไม่ผิด แต่ที่ขาดไปคือไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับ placebo (ยาหลอก) และไม่มี blinding ซึ่งก็คือการปิดข้อมูลไม่ให้ผู้ถูกทดลองรู้ว่าในการทดลองขณะนั้นตนเองได้กินคอลลาเจนจริง ๆ หรือกิน placebo ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็จะบอกไม่ได้ว่าผลที่สังเกตได้มันเกิดจากผลของคอลลาเจนจริง ๆ หรือเป็น placebo effect คือการที่เห็นว่าได้กินยาแล้วก็มีผลขึ้นเองทั้งที่อาจจะกินยาหลอก คือไม่ใช่ผลจากยาที่ทดลอง

ตัวแปรตาม ในการทดลองจะต้องกำหนดให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่นจะดูความนุ่มของผิวเทียบกับก่อนเริ่มดื่ม หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยต้องมีวิธีการวัดที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เหลือคือตัวแปรควบคุม ซึ่งจะต้องกำหนดให้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ดื่มคอลลาเจนหรือ placebo

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นระดับหนึ่งครับ แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะตอบคำถามในเชิงสุขภาพ เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถควบคุมตัวแปรได้ 100% และก็ยังมีปัจจัยสำคัญที่คุมไม่ได้อีกอย่าง คือความบังเอิญ การตัดความไม่แน่นอนจากความบังเอิญออกไปจะต้องอาศัยการทดลองซ้ำ (เป็นร้อยเป็นพันครั้ง ยิ่งเยอะยิ่งดี) ซึ่งโดยปกติสำหรับคำถามทางสุขภาพแบบนี้จะทำการในรูปแบบของงานวิจัยขนาดใหญ่ โดยเลือกผู้ร่วมงานวิจัยมาตามจำนวนที่กำหนด แล้วทำการสุ่ม ให้ครึ่งนึงเป็นกลุ่มทดลอง อีกครึ่งเป็นกลุ่มควบคุม นำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกันในทางสถิติ งานวิจัยแบบนี้เรียกว่า randomized controlled trial (RCT) ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้มากที่สุดครับ

สรุปแล้วก็คือ การที่ จขกท.สังเกตว่าตัวเองดื่มคอลลาเจนแล้วผิวดีขึ้นนั้น ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นผลของคอลลาเจนหรือเปล่า เพราะมีปัจจัยรบกวนได้เยอะครับ ส่วนความจริงเป็นอย่างไร ทางที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ก็ต้องอาศัยการวิจัยแบบ RCT อย่างที่บอกครับ ส่วนการอธิบายด้วยความรู้เชิงทฤษฎีนั้นเป็นปัจจัยรองลงมา เพราะถ้ามีผลการวิจัยออกมาว่าได้หรือไม่ได้ผลยังไง ความรู้ทางทฤษฎีก็ต้องปรับตามครับ

อย่าลืมนะครับ ว่าความสำคัญของหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับวิทยาศาสตร์ไม่ได้จำกัดแค่วิทยาศาสตร์ชีวภาพ แม้ว่าความรู้ทางทฤษฎีของวิทยาศาสตร์กายภาพจะนิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ชีวภาพอยู่มาก แต่ไม่ว่าอย่างไร ทฤษฎีก็ต้องตามหลังปฏิบัติเสมอ

สมมุติว่าเอาเครื่อง GT200 มาทดลองแบบควบคุม แล้วผลการทดลองพบว่ามันชี้ระเบิดได้ถูกต้องมากกว่าการเดาสุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้ง ๆ ที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมวลมนุษยชาติบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นยิ่งจะเป็นเหตุผลให้ต้องหาคำตอบครับ ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร


*อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากกระทู้นี้ แต่เนื้อความในเอ็นทรีนี้ไม่มีเจตนาพาดพิงหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหนึ่งบุคคลใดในกระทู้ดังกล่าวแต่อย่างใด

No comments:

Post a Comment