30 June 2013

หัวเกรียน? ชุดนักเรียน?

ช่วงที่ผ่านมาเรื่องทรงผมกับเครื่องแบบนักเรียนก็เหมือนจะเกิดเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์กันอีกรอบนะครับ ตั้งแต่เปิดเทอมปีการศึกษาใหม่หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ชี้แจงนโยบายเรื่องทรงผมของนักเรียนมา ซึ่งก็มีเหตุให้เกิดความลักลั่นในการนำไปปฏิบัติกันอยู่ให้เห็น ตลอดจนการนำเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมาประกอบโครงเรื่องในละครโทรทัศน์¹ ในเวลาใกล้เคียงกับที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนทั้งต่างประเทศ² และในประเทศ³

ผมเองได้เห็นการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวผ่านมาแล้วก็ผ่านไปบนโลกออนไลน์หลายรอบ แต่ละรอบก็เห็นประเด็นเดิม ๆ มิได้แตกต่างกันเท่าไร จนระอาที่จะร่วมคิดหรือติดตาม เพราะมองว่ายังไงก็คงเปล่าประโยชน์ที่จะคาดหวังการเปลี่ยนแปลง (อีกอย่างตัวเองก็เลยวัยที่จะเดือดร้อนกับเรื่องเหล่านี้มาแล้ว และวงการศึกษาไทยก็มีปัญหาที่สำคัญกว่านี้อีกมาก) จึงแปลกใจพอควรครับ เมื่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. ออกมากำหนดแนวนโยบายเรื่องทรงผมที่ชัดเจนแบบนี้

แต่ขอกล่าวถึงประเด็นเครื่องแบบก่อนดีกว่าครับ

ให้เวลา 30 วินาที ลองนึกชื่อภาพยนตร์ที่ตัวละครใส่กางเกงนักเรียนสีกากีสักเรื่องนะครับ

นึกออกไหมครับ ผมนึกออกหนึ่งเรื่องคือ ปัญญา เรณู

อาจจะมีเรื่องอื่นอีก แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ได้เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กชนชั้นกลางในเมืองใหญ่เช่นกัน

ที่ในเนื้อความเขียนว่าเครื่องแบบนักเรียนมันก็เหมือนกันแทบทุกที่นั้นไม่จริงหรอกครับ อย่างเครื่องแบบนักเรียนชายนี่ยังมีสีกางเกงที่ถูกใช้เป็น stereotype บ่งระดับชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน ส่วนของนักเรียนหญิงยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งแบบเสื้อ แบบกระโปรง แล้วยังอุปกรณ์ประกอบอีกเต็มไปหมด

หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับค่านิยมของสังคมที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์ ซึ่งมองว่าชุดนักเรียนกางเกงสีน้ำเงินคือโรงเรียนเอกชน สีกากีคือโรงเรียนวัด/โรงเรียนรัฐบาล (โดยเฉพาะต่างจังหวัด) ส่วนสีดำก็มีหมด แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้ยังมีสีหายาก ลายสก็อตต่าง ๆ ตามแต่โรงเรียนจะรังสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างเป็น "เอกลักษณ์" ขึ้นมา (ส่วนสีกรมท่าคนไม่ค่อยรู้จัก ที่จริงสังเกตได้ว่าสัมพันธ์กับโรงเรียนในวัง ทั้งจิตรลดา วชิราวุธ ราชวินิต ฯลฯ แอบสงสัยว่าสาธิตเกษตรจะตั้งใจเลือกมาด้วยเหตุนี้ (ไม่ก็ให้เข้ากับสีม่วง))

แต่ความจริงแล้วต่อให้ไม่มี stereotype ที่ได้จากรูปแบบหรือสีของชุดนักเรียน ค่านิยมของสถานศึกษาแต่ละที่ก็สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันขึ้นมาโดยธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจอยู่แล้ว

ลองนึกถึงภาพยนตร์อีกรอบครับ คราวนี้เอาที่ตัวละครใส่กางเกงนักเรียนสีน้ำเงิน มีสักเรื่องไหมที่ตัวละครจะใส่กางเกงยาวเกินสองคืบ

อันนี้อาจจะกล่าวเกินจริงไปบ้าง (แล้วแต่คืบใคร) แต่ลักษณะการแต่งกายดังกล่าวก็สะท้อนวัฒนธรรมและค่านิยมของนักเรียนหลายโรงเรียน โดยเฉพาะเหล่าโรงเรียนเอกชนชายล้วนที่เก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่ามันเกิดมาได้ยังไง แต่ก็รู้สึกทึ่งกับการยึดมั่นในค่านิยมดังกล่าวของบรรดานักเรียนเหล่านั้น โดยเฉพาะเด็กอัสสัมชัญ ซึ่งเพื่อนที่เป็นศิษย์เก่าเคยบรรยายว่ากางเกงนักเรียนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน

ส่วนชุดนักเรียนหญิงก็มีปรากฏการณ์แบบเดียวกัน ดูอย่างสาธิตเกษตรที่นอกจากกระโปรงจะเป็นสีม่วงเด่นขนาดนั้นแล้วยังนิยมใส่กันยาวแทบกรอมข้อเท้าแบบที่ว่าอยากนั่งขัดสมาธิตรงไหนก็ลงไปนั่งได้เลย

ค่านิยมเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นครับว่าถึงจะมีการกำหนดเครื่องแบบจากเบื้องบนลงมา (หรือต่อให้ไม่มีก็ตาม?) อย่างไรเสียก็จะยังมี "เครื่องแบบ" แห่งค่านิยมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเติบโตแพร่กระจายได้เองในสังคมดำเนินควบคู่ไปด้วยอยู่นั่นเอง

ผมขอไม่ทบทวนข้อถกเถียงทั้งหมดในเรื่องที่ว่าเราควรมีเครื่องแบบนักเรียน/นักศึกษาต่อไปหรือเปล่า เพราะเท่าที่ติดตามดู ก็ไม่เคยเห็นว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายไหนจะมีความถูกต้องสัมบูรณ์เหนือกว่า ผมเห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ว่าสังคมไทยนั้นนิยมเครื่องแบบ (มาก) เพราะมันตอบสนองความคาดหวังของสังคมทั้งในแง่ที่เป็นสังคมอำนาจนิยมมาแต่เดิม และที่เครื่องแบบนั้นเป็นเครื่องแสดงระดับชั้นทางสังคมที่ชัดเจน แต่ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยตอบโจทย์ในเชิงปทัฏฐาน (normative) แต่อย่างใด หากมองในแง่เสรีภาพ ที่สุดขั้วของการมีเสรีภาพในการเลือกแต่งกายเต็มที่ คือจะให้นุ่งผ้าเตี่ยวหรือแก้ผ้าไปเรียนได้นั้น ก็คงไม่เป็นที่ยอมรับตามค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม สุดท้ายมันก็นำไปสู่คำถามพื้นฐานว่าสังคมจะต้องการให้ขีดเส้นตรงไหน ซึ่งเว้นเสียแต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม ก็คงลงเอยที่การรักษาสถานะเดิม (status quo) อยู่ดี

ผมเองยอมรับครับว่าในฐานะนักเรียน ก็คงเลือกที่จะรักษาสถานะเดิมนั้น ไม่ใช่เพราะชื่นชมกับเครื่องแบบอะไรนักหนา แต่เพราะเท่าที่อยู่ในสังคมมา ก็เห็นสังคมที่มีเครื่องแบบอยู่แล้ว และก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรกับมัน ในทางกลับกัน คนที่เห็นสังคมที่ไม่มีเครื่องแบบมาก่อนก็น่าจะรู้สึกได้ด้วยความคุ้นเคยว่าสังคมแบบนั้นมันไม่ได้มีปัญหาสำหรับเขา การเถียงกันบนพื้นฐานของความคุ้นเคยส่วนตัวว่าอย่างไหนตรงกับธรรมชาติพื้นฐานของสังคมมนุษย์มากกว่ากันนั้นคงไม่เกิดประโยชน์

ในขณะเดียวกัน ความคุ้นเคยนั้นเองก็อาจจะทำให้หลายคนสร้างความคิดเชื่อมโยงเครื่องแบบกับประสบการณ์ในวัยเรียนที่ตนประทับใจได้โดยไม่รู้ตัว ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ GTH (หรือค่ายไหน ๆ ก็ตามแต่) ใช้เครื่องแบบเป็นจุดขายภาพยนตร์ (รวมถึงละครโทรทัศน์ที่กล่าวถึงข้างต้น) ได้อยู่เรื่อย ๆ และก็อาจส่งผลป้อนกลับ (feedback) ให้มีความพยายามรักษาสถานะเดิมนั้นมากขึ้นไปอีกก็เป็นได้

ที่จริงการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียนนี่คิดดูก็มีส่วนแปลกนะครับ เรามักจะเห็นว่าเครื่องแบบอื่น ๆ มักเป็นเครื่องสะท้อนอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป ต้องมีสิทธิพิเศษถึงจะได้ใส่ จะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่เครื่องแบบนักเรียนนี้ทุกคนต้องใส่หมด (ขอไม่พูดถึงการศึกษานอกระบบซึ่งเป็นส่วนน้อย) มันก็เลยมีส่วนเป็นเครื่องบังคับความเท่าเทียมในสังคมอย่างหนึ่ง (วาทกรรมที่ว่านักเรียนควรภูมิใจที่ได้แต่งเครื่องแบบจึงดูแปร่งๆ เพราะเครื่องแบบนักเรียนมันก็เหมือนกันแทบทุกที่) แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังทำหน้าที่แบ่งแยกชนชั้นผ่านการสะท้อนชื่อเสียงเรียงนามของโรงเรียนที่คนคนนั้นได้เรียนอยู่ดี ในประเด็นความเท่าเทียมจึงตีความได้ยากว่าควรมองเครื่องแบบนักเรียนเป็นสัญลักษณ์ของอะไรกันแน่

แต่ที่น่าแปลกใจกว่าคือความแตกต่างระหว่างประเด็นเครื่องแบบนักเรียนกับประเด็นทรงผม ทั้ง ๆ ที่ก็กล่าวได้ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันในระดับหนึ่ง (ทรงผมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ) แต่กลับเชื่อได้ (ทึกทักเอาเอง) ว่านักเรียนที่สนับสนุนหรือเฉย ๆ กับเครื่องแบบจำนวนมาก คงไม่สนับสนุนการตัดผมเกรียน/ติ่งหูด้วยเป็นแน่

เพราะการบังคับทรงผมมันรุกล้ำต่อร่างกาย ภาพลักษณ์ และความเป็นตัวตนกว่าเครื่องแต่งกายมากหรือเปล่า นั่นเป็นคำอธิบายอย่างเดียวที่ผมนึกออก เพราะชุดนักเรียน พอเลิกเรียน วันหยุด ก็ถอดชุดเปลี่ยนได้ แต่ผมเกรียน/ติ่งหู ไม่ใช่อย่างนั้น

อันที่จริงผมก็คงวิจารณ์เรื่องนี้ได้ไม่มากนัก เพราะตั้งแต่ประถมถึง ม.ต้นก็เรียนโรงเรียนสาธิต ไม่เคยถูกบังคับเรื่องทรงผมแบบนี้ จะมามีช่วงที่ต้องรันทดกับหัวเกรียนก็ตอน ม.ปลาย ที่ฝึก นศท.นั่นแหละ (แต่นั่นก็เถียงไม่ได้เพราะขึ้นชื่อว่าสมัครใจ) แต่ถึงกระนั้นผมก็ไม่คิดว่าคนที่ถูกบังคับตัดทรงนักเรียนตั้งแต่ ป.1 จะเกิดความผูกพัน ภาคภูมิใจกับสภาพหัวเกรียนได้แบบเดียวกับเครื่องแบบนักเรียน (ไม่อย่างนั้นก็คงต้องเห็นนักแสดงหนัง GTH ในสภาพหัวเกรียนด้วยแล้วหรอกมั้ง)

นั่นยิ่งทำให้ผมฉงนกับเหล่าบรรดาผู้ที่เป็นเดือดเป็นร้อน ออกมาดราม่าต่อต้านการยกเลิกผมทรงนักเรียนกันอย่างรุนแรง ว่าเออ มันมีคนที่รักและผูกพันกับทรงหัวเกรียน/ติ่งหูกันขนาดนี้ด้วยเหรอเนี่ย จะว่าเขาเห็นมันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์แบบการไว้ผมจุกที่จะต้องรอจนก้าวพ้นวัยเด็กในพิธีโกนจุก ในสมัยนี้แล้วก็ไม่น่าใช่ ยิ่งในฐานะนักเรียนเก่าสาธิต ที่ไว้ผมรองทรงได้มาตั้งแต่ ป.1 เลยยิ่งงงกับตรรกวิบัติของพวกเขาที่ว่า ตัดผมแค่นี้ทำกันไม่ได้ โตไปจะมีระเบียบวินัยอยู่ในสังคมได้ยังไง ยิ่งขึ้นไปอีก

พูดถึงความยาวของกางเกง ในคู่มือนักเรียนที่เตรียมฯ กำหนดเรื่องกางเกงไว้ละเอียดมากว่า "ใช้ผ้าเทโรหรือผ้าเสิร์จสีดำ (ห้ามใช้ผ้าเวสปอยส์) มีจีบข้างหน้าด้านละ ๒ จีบ ผ่าตรงส่วนหน้าติดซิป (ห้ามใช้กระดุม) มีกระเป๋าด้านข้าง ๒ ข้าง ปากกระเป๋าตัดตรง ไม่มีกระเป๋าหลัง มีหูไว้ร้อยเข็มขัดกางเกง เมื่อใส่แล้วต้องมีความยาวเหนือลูกสะบ้าเข่าไม่เกิน ๕ ซม. และความกว้างของปลายขากางเกง เมื่อดึงออกมาจากขาต้องห่างไม่น้อยกว่า ๗ ซม. แต่ไม่เกิน ๑๒ ซม."

เท่าที่จำได้ก็ไม่เคยเห็นอาจารย์ตรวจเครื่องแบบแล้วเอาไม้บรรทัดมาวัดความกว้างของขากางเกงนะครับ

แต่มารู้ทีหลังว่าที่จริงแล้วยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งระบุไว้ว่า "กางเกง แบบไทย ขาสั้นเพียงเหนือเข่า พ้นกลางลูกสะบ้า ประมาณ ๕ ซม. เมื่อยืนตรง..." ถ้านับตามศักดิ์ของกฎหมายแล้ว (และถ้าระเบียบกระทรวงดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิก) ก็ต้องยึดตามเนื้อความในระเบียบกระทรวงฯ ถึงจะถูก

ซึ่งแปลว่าที่เราใส่กางเกงชายขาเสมอเข่านั้นผิดกฎหมายนะ ต้องสั้นขึ้นอีก 5 ซม.ถึงจะถูก~

นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของการมีเครื่องแบบแหละครับ อะไรที่ถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรตายตัว พอสังคมเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน ก็ยากที่จะเปลี่ยนตามได้ทัน เครื่องแบบต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนั้นจึงเป็นเครื่องสะท้อนแฟชั่นย้อนยุคได้เป็นอย่างดี

เรื่องนี้ก็เป็นการถกเถียงบนพื้นฐานของความคุ้นเคยส่วนตัวแบบเดียวกับกรณีเครื่องแบบ แต่ผมเชื่อ (ทึกทักเอาเองอีกแล้ว) ว่าขณะที่อาจจะเห็นนักเรียนปัจจุบันสนับสนุนเครื่องแบบได้ไม่ยาก ในบรรดาคนที่สนับสนุนทรงหัวเกรียน/ติ่งหูอยู่นี้ ส่วนมากคงจะเป็นบรรดาคนที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ ที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสิ่งที่ตนเคยผ่านมาเป็นสิ่งที่จะต้องบังคับให้ชนรุ่นหลังผ่านตามไปเช่นกัน มากกว่า

ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าการเชื่อเช่นนั้นจะผิดเสมอไป คนที่ตอนเด็กถูกพ่อแม่บังคับให้กินผัก พอโตขึ้นและตระหนักได้ถึงความสำคัญของอาหารทั้งห้าหมู่ ก็คงจะบังคับให้ลูกของตนกินผักเช่นเดียวกัน แต่ถ้าครูจะใช้ไม้เรียววางอำนาจว่าตนอยู่เหนือนักเรียน เพียงเพราะจำได้ว่าสมัยตนเป็นนักเรียนเคยถูกกดขี่มาอย่างนั้น โดยไม่ได้ใส่ใจในเหตุผล นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีการศึกษาพึงกระทำ

จึงต้องพิจารณาว่าที่มาที่ไปของผมทรงนักเรียนที่มีมานานนั้นคืออะไร และยังสมเหตุสมผลอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า ไม่แน่ หากพบว่าการให้ตัดผมเกรียนครั้งแรกนั้นเกิดจากเหาระบาดครั้งใหญ่จะเงิบได้ตาม ๆ กันไป ส่วนใครที่จะอ้างว่าเป็นเอกลักษณ์ประเพณีสำคัญของโรงเรียนที่มีมาช้านาน ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ที่เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ (ส่วนตัวแล้วไม่เข้าใจว่าทำไม) ก็คงต้องบอกว่าอยากบังคับก็บังคับไป เพราะยังไงนักเรียน (โดยผู้ปกครอง) ก็ต้องสมัครใจไปเข้า แต่สำหรับโรงเรียนรัฐ เทียบเหตุผลดูแล้วก็คงไม่ควร

แต่อย่างไรเสีย จะเลิกผมทรงนักเรียน ก็ไม่ได้แปลว่าเลิกบังคับทรงผม ที่ผมไม่เคยมีปัญหากับการกำหนดให้ตัดรองทรง (สูง?) ก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่มี แต่สังคมจะต้องการให้ผู้ชายไว้ผมยาวหรือทำผมโมฮอว์กไปโรงเรียนได้หรือเปล่านั้น ก็คงเป็นประเด็นที่จะโผล่ขึ้นมาให้ถกเถียงกันได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเครื่องแบบนักเรียน ที่ตราบใดที่สังคมยังมองว่าไม่ได้เดือดร้อน ทุกอย่างก็ย่อมจะคงอยู่ตามสถานะเดิมต่อไป


  1. ดู HORMONES วัยว้าวุ่น EP.1 เทสโทสเทอโรน (Testosterone) 25 พ.ค.56
  2. ดู Thai Students Find Government Ally in Push to Relax School Regimentation จาก The New York Times
  3. ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเครื่องแบบนักเรียนโดยตรง แต่ highly recommended: วัฒนธรรมชุบแป้งทอด: ทำไมต้องใส่เครื่องแบบ - 26 มิ.ย.56 (HD)
  4. ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าจะเป็นผลงานที่น่าจดจำที่สุดของคุณพงศ์เทพในฐานะ รมว.ศธ.หรือเปล่า (ซึ่งถ้าเป็นจริงก็คงยังน่าจดจำกว่า รมว.ศธ.อีกหลายท่าน) ยังไงคงต้องรอดูกันต่อไปว่าการใช้คอมพิวเตอร์กระดานชนวนสุดท้ายแล้วจะให้ผลเป็นอย่างไร

No comments:

Post a Comment