31 October 2014

Dumb Ways to Die?

ไม่กี่วันวันที่ผ่านมานี้มีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์หรือรถบรรทุก อันก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอยู่หลายเหตุการณ์ ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่พอควร

ในบรรดาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น หลายเสียงก็กล่าวกันถึงสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว บ้างก็โทษว่าเป็นเพราะความประมาทของผู้ใช้ถนน บ้างก็โทษว่าเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยตามที่ควร บ้างก็โทษกันไปมาว่าการดำเนินการนั้นเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่ บ้างก็โทษว่าเพราะสังคมนั่นแหละที่ทำให้ความประมาทนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ

อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเศร้าครับ แต่การเถียงกันโดยมุ่งชี้นิ้วโทษว่าเป็นความผิดของใคร คงไม่ช่วยแก้ไขความสูญเสียเหล่านั้นให้ย้อนคืนไปได้ สิ่งที่เราควรจะทำ คือมองด้วยเหตุผลว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุบัติเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง และจะปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดในอนาคตอีกได้อย่างไร

ซึ่งสำหรับเรื่องความปลอดภัยรถไฟนี้ มีมุมให้มองหลัก ๆ อยู่สองด้านครับ

หากมองถึงปัจจัยจากมนุษย์ ว่าการกระทำของใครบ้างที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับว่าตัวผู้ใช้รถใช้ถนนนั้นเอง ที่มีผลมากที่สุด เพราะด้วยความเฉื่อยของรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่และธรรมชาติของระบบการควบคุม มันไม่มีอะไรให้ผู้ควบคุมรถไฟทำเพื่อแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเช่นนั้นได้ ผู้ใช้รถใช้ถนนย่อมต้องระวังไม่ให้ตนไปอยู่ในทางของรถไฟที่กำลังแล่นมา ทั้งนี้โดยต้องระวังรถไฟ รักษากฎจราจร และสัญจรโดยไม่ประมาท

แนวคิดที่ว่าการป้องกันอุบัติเหตุรถไฟชนต้องเน้นที่ตัวผู้สัญจรนี้เป็นแนวคิดที่อุตสาหกรรมรถไฟยึดกันอยู่เป็นหลัก วิดีโอ Dumb Ways to Die ข้างต้น ก็เป็นหนึ่งในสื่อโฆษณาที่มุ่งรณรงค์ให้ผู้คนระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้รถไฟ โดยยกตัวอย่างการกระทำที่เห็นได้ชัดเจนว่าอันตราย คือยืนชิดริมขอบชานชาลา ขับรถฝ่าคันกั้น และวิ่งไล่ลูกโป่งข้ามรางโดยไม่มองรถไฟ ใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความประมาทว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ และด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ ก็กลายเป็นโฆษณารณรงค์ที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง และได้รับรางวัลไปมากมาย

แต่อีกนัยหนึ่ง การรณรงค์ในลักษณะนี้ก็มองได้ว่าเป็นการโยนความผิดให้เหยื่อ (blaming the victim) เช่นกัน ใครที่เคยสูญเสียสมาชิกครอบครัวให้อุบัติเหตุรถไฟ คงไม่สบายใจเท่าไรกับโฆษณาชิ้นนี้ ที่เปรียบความตายของญาติเขาเหมือนคนเอาของลับไปเป็นเหยื่อล่อปลาปิรันยา ไม่ใช่เพียงเพราะกล่าวถึงความตายอย่างล้อเล่น แต่ผู้ที่เป็นเหยื่ออุบัติเหตุ คงไม่มีใครที่ตั้งใจเอาตัวเองไปไว้ในสถานการณ์นั้น การโทษว่าเป็นเพราะเขาทำตัวเองก็คงไม่ต่างจากการโทษเรื่องข่มขืนว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่แต่งตัวโป๊เท่าไรนัก

ในประเทศตะวันตก ขณะที่อุตสาหกรรมรถไฟมุ่งรณรงค์เน้นเรื่องการเคารพกฎ ระมัดระวัง และไม่ประมาทนั้น ก็มีองค์การและเครือข่ายภาคประชาชนที่เรียกร้องว่าสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของบุคคลใด แต่คือความล้มเหลวของระบบที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างเพียงพอ แทนที่จะบอกแต่ให้คนยืนห่างขอบชานชาลา (ซึ่งบางครั้งอาจทำไม่ได้เพราะพื้นที่เบียดเสียดกันมาก) ทำไมไม่ทำประตูกั้นไปเสียเลย แทนที่จะคอยเตือนให้ระวังเวลาข้ามทางรถไฟ ทำไม่ไม่ทำสะพานลอยข้ามจะได้ปลอดภัย ในมุมมองนี้ การที่รถยนต์ยังสามารถตัดข้ามทางในขณะที่รถไฟกำลังจะผ่านได้ เกิดจากความผิดพลาดของระบบที่ไม่มีเครื่องกั้น การที่รถไฟยังมีโอกาสชนคนที่เดินอยู่ริมทางได้ เป็นความผิดพลาดของระบบที่ไม่มีรั้วกันคน

มุมมองนี้ หากถืออย่างสุดโต่งก็อาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีกฎห้าม มีอุปกรณ์นิรภัย แต่คนยังฝ่าฝืนได้ ก็ต้องถือว่าระบบยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะระบบที่ดีจะต้องไม่มีสิ่งจูงใจให้คนฝ่าฝืน ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่ปล่อยให้คนสามารถฝ่าฝืนกฎที่มีเพื่อความปลอดภัยได้เป็นปกติ หากคนนิยมข้ามทางรถไฟบริเวณที่ไม่ได้กำหนดให้ข้าม แสดงว่าคนมีความจำเป็นต้องข้ามบริเวณนั้น ก็ต้องจัดทำทางข้ามที่ปลอดภัย หากคนเดินฝ่าเครื่องกั้นทางรถไฟได้ แสดงว่าเครื่องกั้นนั้นยังไม่ปลอดภัย ก็ต้องออกแบบใหม่

หากการรณรงค์ว่าตายจากรถไฟชนนั้นโง่ไม่เข้าท่าเป็นการโยนความผิดให้เหยื่อ การเรียกร้องให้มีระบบที่ปลอดภัยทางกายภาพ 100% ก็เป็นการโบ้ยความรับผิดชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกแนวทางใดแนวทางเดียว ด้านหนึ่งจะบอกให้ทุกคนต้องระวังรถไฟตลอดเวลาก็คงพ้นวิสัยที่สังคมมนุษย์จะทำได้ อีกด้านหนึ่งจะสร้างรั้วกั้นเลียบตลอดแนวทางรถไฟทั่วทั้งประเทศก็คงไม่รู้จะหาเงินได้จากไหน แต่ทั้งคู่เป็นปัจจัยที่สังคมจะต้องร่วมกันส่งเสริมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย คนก็ต้องไม่ประมาทและเคารพกฎ ส่วนระบบก็ต้องมีอุปกรณ์นิรภัยที่เหมาะสมในที่ที่ควรจะมี

หากหาจุดร่วมระหว่างสองข้อนี้และทำตามได้ ก็คงมีหวังที่เราจะไม่ต้องมาคอยวิพากษ์วิจารณ์ข่าวอุบัติเหตุเหล่านี้กันอีกในอนาคตสักวัน

No comments:

Post a Comment