ด้วยว่าในงานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) กับนิทรรศการหมุนเวียน เซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้ ก็ว่าอยากจะไปลองเยี่ยมชมอยู่ พอดีว่ากำหนดการจัดนิทรรศการมีถึงวันนี้ (21 มิ.ย.) เป็นวันสุดท้าย ก็เลยได้หาเรื่องไปเสียที
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะนี่เป็นอาคารสำนักงานของ สสส. ที่ทำเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมและแสดงนิทรรศการ ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เป็นกิจกรรมและนิทรรศการของ สสส. และพื้นที่ที่เปิดให้หน่วยงานอื่นสามารถเข้ามาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพด้วย
ศูนย์ฯ อยู่ในซอยงามดูพลี แถวสาทร ซึ่งเข้าไปลึกพอสมควร มีรถกอล์ฟบริการรับส่งปากซอย แต่ก็ยังแอบไปยากอยู่
สิ่งแรกที่สัมผัสได้กับอาคารหลังนี้คือรูปลักษณ์ที่ตะโกนกู่ก้องมาก ๆ ว่าฉันเป็น green building นะ! อันนี้ที่จริงก็พอจะอ่านผ่านตามาก่อน แต่ถึงไม่ได้อ่านก็คงรู้สึกได้จากโถงชั้นล่างที่เปิดโล่งต่อกับพื้นที่ส่วนกลางของอาคารทั้งหมด ซึ่งก็ให้ความรู้สึกโอ่โถงโล่งสบายจริง ๆ
รูปลักษณ์การออกแบบของอาคารก็คล้อยตามกระแสการออกแบบอาคารเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในยุค Contemporary ซึ่งก็ตอกย้ำด้วยประติมากรรมยักษ์กลางสระน้ำในโถง และที่ตั้งอยู่อีกประปราย ตลอดจนการจัดวางโต๊ะเก้าอี้เครื่องเรือนต่าง ๆ
ทางด้านหลังของอาคารเป็นสวนและพื้นที่โล่งซึ่งใช้สอยจัดกิจกรรมได้ ตอนนี้ก็มีนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับกลุ่มโรค NCD ที่ สสส.รณรงค์อยู่ และพ้นเขตศูนย์ฯ ไปทางด้านหลังก็เป็นสวนสาธารณะ (สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งเป็นสนามไดรฟ์กอล์ฟมาก่อน และตอนกลางวันร้อนมาก) ตรงนี้รู้สึกว่าบรรยากาศดีมาก และการออกแบบอาคารก็ดีจริง ๆ ถึงพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ไม่ร้อนเลย
มีเครื่องตอกย้ำให้เห็นอยู่เกือบทุกที่ ว่าใครเป็นเจ้าของอาคารหลังนี้
จะเห็นการรณรงค์ต่าง ๆ ของ สสส.อยู่ทั่วตึก
และก็แน่นอนว่าลิฟต์ที่นี่จะต้องมีข้อความไล่ไม่ให้คนใช้ (ภาพด้านบนถ่ายไม่ติดสัญลักษณ์ที่สื่อเป็นนัยว่าลิฟต์มีไว้สำหรับคนชราและผู้พิการ)
และทั้งตึกก็มีข้อความประเภท encouragement, empowerment แปะอยู่เต็มไปหมด ตรงบันไดภาพข้างบนนี้ก็เป็นการรณรงค์เรื่องกลุ่มโรค NCD อีกเช่นกัน
หรืออย่างโรงอาหาร ก็มีป้ายรณรงค์ "ลดพุง ลดโรค" อยู่
สื่อเหล่านี้ช่วยตอกย้ำการวางตัวของ สสส.ได้เป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่านอกจากการแสดงภาพให้เห็นตรงนี้แล้ว ข้อความเหล่านี้มันส่งผ่านไปถึงการปฏิบัติจริงมากแค่ไหน อย่างโรงอาหารถึงจะมีร้านมังสวิรัติอยู่ แต่ร้านส่วนใหญ่ก็ขายอาหารตามสั่ง ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ก็มักจะใช้น้ำมันอยู่ดี หรืออย่างข้อความหน้าลิฟต์นั้น ผมก็อยากรู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ชั้น 4 ชั้น 5 เขาขึ้นบันไดกันเป็นนิสัยจริงหรือเปล่า (ซึ่งก็หวังว่าเขาจะทำ เพราะไม่งั้นแล้วก็ยากที่จะเชื่อว่า สสส.จะมีหน้าไปรณรงค์อะไรให้ใครอีก)
สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ ที่ชวนให้สนใจ ก็มีอย่างป้ายผังตึก ที่มีอักษรเบรลล์ด้วย (เห็นแล้วชอบ แต่ไม่แน่ใจว่า practical แค่ไหน)
และถ้าใครยังไม่เห็นความ green ของอาคารหลังนี้ เขาก็ทำจอแสดงการใช้พลังงานแปะไว้ตอกย้ำอีก (แต่จอนี่ก็ใช้พลังงานนี่นา)
ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการ บริการหลักอย่างหนึ่งของที่นี่อยู่ที่ชั้น 2 คือศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร เป็นห้องสมุดที่บรรยากาศดีโคตร ๆ ซึ่งให้บริการสื่อเกี่ยวกับสุขภาวะอีกนั่นเอง บริเวณชั้น 2–3 ที่เหลือที่ไม่ได้เป็นพื้นที่นิทรรศการ ก็จะเป็นห้องประชุม ห้องอบรมต่าง ๆ
แต่มาดูนิทรรศการกันดีกว่า เริ่มจากทางเข้าบริเวณชั้น 1 จะเป็นนิทรรศการ "เริ่มต้นที่ตัวเราคุณทำได้ (Start with ME)"
ซึ่งเนื้อหาก็จะกว้าง ๆ เกี่ยวกับ self-empowerment เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความสุข ซึ่งการสร้างสุข (ก็คือสุขภาวะ ทั้งกาย ใจ และสังคม) นี่เองก็เป็นแนวคิดหลักของนิทรรศการทั้งหมดที่นี่
นิทรรศการในส่วนนี้ก็จะมีการใช้ถ้อยคำ ข้อความ ตั้งคำถาม บวกกับฉายภาพยนตร์สารคดีแนวสร้างแรงบันดาลใจสั้น ๆ สองเรื่อง
จากห้องแรก ลงบันไดมาชั้นใต้ดิน จะถึงนิทรรศการส่วนถัดมา คือ "ร่วมคิดร่วมสร้าง (Together WE can)"
เนื้อหาก็จะกว้าง ๆ เหมือนกัน เกี่ยวกับการทำสังคมให้น่าอยู่ มีความสุข โดยเริ่มต้นที่ตัวบุคคล ซึ่งเสนอผ่านเกมคอมพิวเตอร์
ในนิทรรศการส่วนนี้มีฉากป้ายรถเมล์ ถังแยกขยะ กับเลนจักรยาน ที่จัดตั้งไว้เงียบ ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไรแต่ผมแอบคิดว่าตีความได้เยอะมาก
และเลยต่อมาก็จะเป็นส่วนที่นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ในสังคม กับงานรณรงค์สร้างสุขภาวะต่าง ๆ ของ สสส. ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องสุขภาพกาย
ซึ่งก็จะมีฉากต่าง ๆ ทั้งที่บ้าน สวนสาธารณะ ที่ทำงาน โรงเรียน แล้วก็ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)แต่ละส่วนก็จะมีจอภาพให้เลือกดูงานโฆษณาทางโทรทัศน์ของ สสส.ได้
แล้วก็มีพื้นที่กิจกรรมเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร
ที่ชั้นใต้ดินเหมือนกัน ห้องที่สามจะเป็นนิทรรศการ "คนมีสุขภาวะทำให้โลกน่าอยู่ (Let's go GREEN)"
ซึ่งห้องนี้จะเป็นโถงโล่งกว้าง สำหรับทำกิจกรรม วันนี้ก็เห็นมีเด็ก ๆ ทำกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากพาสต้าอยู่บ้าง ส่วนนิทรรศการจะเป็นข้อความกับจอภาพ interactive เรียงรายอยู่ตามผนังรอบห้อง
เนื้อหาของนิทรรศการส่วนนี้ก็จะเกี่ยวกับที่มาและแนวคิดของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแห่งนี้ (ถ้าอยากรู้เรื่องความ green ของอาคารก็ได้รู้เต็มที่เลย) ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม
หมดส่วนของนิทรรศการถาวรสามห้อง ขึ้นมาชั้นสองจะเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน
ซึ่งด้านหน้าจะมีนิทรรศการเล็ก ๆ เรื่อง "สสส.ร้อยความสุขคนไทย" เป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวองค์กรและงานของ สสส.
แต่มาดูนิทรรศการหมุนเวียน ที่เป็นวัตถุประสงค์หลักที่มาวันนี้ดีกว่าครับ
นิทรรศการ "เซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้" ตรงนี้ จากโลโก้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าที่ว่าเลือกได้นั้นหมายถึงอะไร สรุปเป็นสี่ข้อคือ "ติดโรค" "มีลูก" "ใส่ถุงยาง" กับ "รักแล้วรอได้" ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอในนิทรรศการก็มุ่งเน้นประเด็นตรงนี้ คือนำเสนอความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กับเสนอทางเลือกเป็น safe sex กับ no sex
ตัวนิทรรศการ ออกแบบมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยดำเนินเรื่องบางส่วนผ่านตัวละคร นิทรรศการนี้มีเจ้าหน้าที่พาชมและอธิบายสิ่งจัดแสดงทุกขั้นตอน ซึ่งดูตั้งใจรองรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะ
ส่วนแรกของนิทรรศการ "รู้ตัว" จะกล่าวคร่าว ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยรุ่น เดินเข้ามาก็จะเจอตัวละครหลักทั้งคู่ตอบคำถามที่วัยรุ่นอาจจะสงสัยแต่ไม่กล้าถาม ในรูปแบบของ interactive video ลองสังเกตคำถามขวาสุดในภาพ "ช่วยตัวเอง ผิดมั้ย" (คำตอบ: ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนสักหน่อย)
ไม่ค่อยแน่ใจว่าสมาชิกกลุ่มเป้าหมายที่มาชมนิทรรศการจะเขินอายคิกคักกันกับคำถามเมื่อกี้หรือเปล่า แต่หันมาอีกทางก็จะโดนเผชิญหน้าเต็ม ๆ กับหุ่นติดนมปลอม/จู๋ปลอม ที่ให้ลองเลือกขนาดต่าง ๆ เอามาใส่ได้ นัยจะสื่อว่าร่างกายของเราไม่มีอะไรน่าอาย เช่นเดียวกับที่ห้ามใครอายในนิทรรศการนี้
และก่อนที่จะผ่านไปยังส่วนถัดไป ก็สรุปประเด็นที่ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร "หลั่งเมื่อไหร่ ท้องได้เมื่อนั้น"
ส่วนที่สอง "รู้อารมณ์" นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยรุ่น โดยเฉพาะความสนใจในเพศตรงข้าม (หรือเพศไหนก็แล้วแต่) ผ่านวิดีโอสถานการณ์ของตัวละคร
ส่วนที่สาม "รู้รัก" พูดถึงความรู้สึก ความต้องการทางเพศ ตลอดจนเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ (มั้ง เดาเอา พอดีเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดห้องนิทรรศการให้ห้องนึง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม)
และก็แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในนิทรรศการเรื่องเพศสำหรับวัยรุ่น คือการลองใส่ถุงยางอนามัย
ซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญ คือการตั้งครรภ์ (มีชุดครรภ์เทียมให้ลองใส่ด้วย ว่าช่วงใกล้ครบกำหนดเด็กในท้องหนักขนาดไหน พร้อมชุดคลุมให้ถ่ายรูป)...
...และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
และนิทรรศการก็ปิดด้วยส่วนที่สี่ รู้ใจ ซึ่งก็ชวนให้ถามใจถึงความฝัน ความเป็นตัวตนของแต่ละคน เพื่อเป็นเครื่องช่วยนำให้เลือกทางเดินที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง พร้อมกับชวนให้ร้องเพลงแสงสุดท้ายกับเพื่อน ๆ ในวิดีโอก่อนจะจบนิทรรศการ
สรุปก็คือ โดยแก่นแล้วสิ่งตายตัวที่นิทรรศการนี้บอกก็มีเพียงตามตัวเลือกที่กล่าวตอนต้นจริง ๆ คือบอกให้ตระหนักเรื่องท้อง เรื่องโรคติดต่อ และย้ำให้ตระหนักว่าตนสามารถเลือกระหว่างความเสี่ยงเหล่านั้น กับการป้องกันหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ ผู้จัดนิทรรศการคงตั้งใจทิ้งประเด็นอื่น ๆ ไว้ให้เป็นปลายเปิด ทั้งสำหรับให้ผู้เข้าชมได้ใช้ความคิดเอง หรืออภิปรายร่วมกันโดยมีผู้นำชมคอยชี้แนะ
รูปแบบการจัดนิทรรศการนั้นดีทีเดียว มี interactivity และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจและช่วยเปิดให้พูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าชมกับผู้นำชมนิทรรศการด้วย ทุกนิทรรศการที่ชม จัดทำเนื้อหาในส่วนของป้ายบรรยายเป็นภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าช่วยสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแค่ไหน
ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ผมเห็น สำหรับนิทรรศการเซ็กส์วัยรุ่น...เลือกได้ คือความยากในการเข้าถึง (สถานที่จัด) กล่าวคือ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเนี่ยมันมาโคตรยาก นึกแล้วไม่เห็นโอกาสว่าเด็กวัยรุ่นที่กลุ่มเป้าหมายจะมีโอกาสชมนิทรรศการได้ยังไงถ้าโรงเรียนไม่พามา ตัวนิทรรศการนั้นโอเคแล้ว แต่น่าจะมี outreach มากกว่านี้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส.ควรจะถนัดอยู่แล้ว) ผมไม่แน่ใจว่าทาง สสส.มีนโยบายที่จะทำอยู่หรือเปล่า แต่ผมอยากเห็นการนำนิทรรศการนี้ (หรือนิทรรศการอื่น ๆ ก็ตาม) ไปจัดในที่ที่จะมีโอกาสได้สัมผัสกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งน่าจะช่วยให้สนองวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
- ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ
No comments:
Post a Comment