คำชี้แจง: เนื้อความในเอ็นทรีนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย การกล่าวถึงรัฐประหารใด ๆ ในเอ็นทรีนี้หมายเฉพาะถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือกล่าวลอย ๆ ถึงกรณีทั่วไปเท่านั้น ความทั้งหมดในเอ็นทรีนี้ ไม่มีส่วนใดที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 แต่อย่างใด และไม่ได้พาดพิงถึง คสช.หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น
ขอพักซีรีส์ Standing in line มาพร่ำเพ้ออะไรสักเล็กน้อยนะครับ
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงรัฐประหารก็ต้องมีคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
คิดดูก็แปลกดี ถ้าเป็นสมัยก่อน (ก่อนปี 2005) คงไม่มีใครคิดว่าจะต้องตอบคำถามนี้
แม้ในปัจจุบัน เวลาเห็นคนบอกว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาเช่นนี้ ก็ยังพอเข้าใจ
แต่ที่ช่างเข้าใจยากนัก คือคนที่เรียกร้องรัฐประหารกันอย่างเต็มปากเต็มคำ
ก็คงเหมือนกับที่คนไปมอบดอกไม้ให้ทหารเมื่อปี 2006
ชีวิตของเราคงแตกต่างกันนัก จึงพามาให้มองเห็นโลกเบี้ยว ๆ นี้ได้ต่างกันขนาดนี้
ที่จริงถ้าถามคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น หลายคนคงให้คำตอบที่เป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับเสรีภาพ การกดขี่ ความชั่วร้ายของเผด็จการ ฯลฯ
ถ้ามีคนถาม ผมก็อาจจะกล้อมแกล้มตอบไปในทำนองเดียวกัน
แต่ในความจริงแล้วคำตอบลึก ๆ ในใจคงไม่มีเหตุมีผลแบบนั้น
...
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กโตมาในทศวรรษ 1990s
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กตามพ่อแม่ไปเขตเลือกตั้ง ดูเขานับคะแนนในจอโทรทัศน์
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กดูถ่ายทอด ส.ส.อภิปรายปาหี่กันในสภา (ถึงมันจะดูไร้สาระกว่าละครน้ำเน่าก็เถอะ) ดูเขาตั้งรัฐบาลกับยุบสภาสลับกันไปมา จนเห็นมีรัฐบาลพลเรือนผลัดเปลี่ยนกันไปห้าสมัยในสิบปี ซึ่งน่าจะเป็นสถิติต่อเนื่องนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้แล้วมั้ง
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กฟังผู้ใหญ่พร่ำสอนถึงความงามของประชาธิปไตย ถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยที่กำลังเติบโตทางการเมืองจนกลายเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงบทเรียนอันเจ็บปวดครั้งสุดท้ายที่เราได้เรียนเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1992
บทเรียนที่ผมเองยังคงจำได้...
อันที่จริงเมื่อคราวพฤษภาทมิฬนั้นผมคงยังไม่รู้เรื่องหรอก ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะก็อยู่ในวัยเพิ่งเข้าโรงเรียน
แต่ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ที่น่ากลัวเกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ น่ากลัวจนโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอม น่ากลัวอย่างที่เห็นภาพท้องฟ้าเต็มไปด้วยควันทะมึน น่ากลัวอย่างที่มีคนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย
ตอนนั้นผมคงยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าความตายคืออะไร
แต่เรื่องราวของข่าวเหล่านั้นก็กลายเป็นหนึ่งในความทรงจำแรก ๆ ที่ผมมี เกี่ยวกับความเป็นไปของประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้
และค่านิยมและความเชื่อที่เกิดสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผมได้รับปลูกฝังมาดั่งศรัทธาในศาสนา ว่าทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ว่าการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยทหารนั้นจะนำพาให้ประเทศชาติย่อยยับ ดั่งที่ได้เห็นกันมาแล้ว
ครับ มุมมองของผมที่มีต่อรัฐประหาร แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา เช่นเดียวกับที่ถูกสอนให้เคารพผู้ใหญ่ หรือถูกสอนว่าคนไทยต้องรักในหลวง
แต่คำสอนเหล่านี้ก็ชี้นำชีวิตเรามาตลอด
ผมยังจำเพลงรณรงค์เลือกตั้งปี 1992 นั้นได้
วันที่ 13 กันยายน
เราทุกคนจะไปเลือกตั้ง
ใช้สิทธิ์ของเราอีกครั้ง
เลือกคนดีเข้าสภา ♪
อาจจะไม่ทรงพลังเหมือน “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ” แต่สำหรับผมแล้วเพลงนี้เหมือนเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังทางการเมืองที่กำลังจะสดใสขึ้นแทบไม่ต่างกัน
แต่เหมือนท้องฟ้าสีทองที่ผ่องอยู่ได้ไม่ถึงสามปี ก็คงรู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้น
รัฐประหารเมื่อปี 2006 นั้น ถึงจะไม่เสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับผมมันก็ช่างน่าตกใจ และสะเทือนใจไปมากทีเดียว
เป็น a nasty shock ที่ดึงให้เราต้องมาประจักษ์กับความจริงว่าสิบสี่ปีที่ผ่านมา ทหารไม่ได้หายไปไหนเลย
เป็นการทำลายความฝัน ที่เราเคยวาดไว้ว่าอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแบบนี้แล้ว
และที่เจ็บช้ำไปกว่านั้น คือภาพคนมากมาย ที่ออกมามอบดอกไม้ให้ทหารด้วยน้ำใจยินดี
ตกลงความเลวร้ายของเผด็จการทหารที่เคยถูกสอนมา มันไม่จริงอย่างนั้นหรือ?
สิบสี่ปีที่ผ่านมานั้นคือเราเข้าใจผิดมาตลอด?
หรือคนเหล่านั้นเขาเพียงแค่ลืม ในสิ่งที่เรายังจำ?
ผมอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจความเลวร้ายของสังคมมนุษย์ ที่บังคับให้เราต้องยอมรับอะไรเช่นนี้
ผมอาจจะยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีตมากเกินไป จนไม่ทันเห็นว่าโลกหมุนผ่านไปจนอดีตเหล่านั้นมันไม่จริงแล้ว
ผมอาจจะหลงผิด อยู่กับความเชื่อที่ถูกสั่งสอนมาโดยไม่ได้นึกถึงเหตุผล
แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อย่างน้อยก็ช่วยบอกกันให้เข้าใจหน่อยได้ไหม
ว่าทำไมจึงร้องหา
รัฐประหาร
No comments:
Post a Comment