1 December 2015

HIV Exceptionalism: Still a thing, 30 years on

ในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรค ต่างเป็นชื่อที่น่ากลัวและนำมาซึ่งความหดหู่และสิ้นหวัง เพราะในสมัยนั้นเรารู้เพียงว่าโรคมฤตยูที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้นำมาซึ่งความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีวิธีการรักษาใด ๆ ความกลัวนำไปสู่ความรังเกียจ และการตีตราและกีดกันผู้ติดเชื้อ วงการสาธารณสุขจึงตอบสนองโดยสร้างมาตรฐานที่เคร่งครัดเป็นพิเศษสำหรับการตรวจ การดูแลรักษา และการรักษาความลับของผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะ ทำให้เอชไอวี/เอดส์กลายเป็นโรคที่มีฐานะพิเศษกว่าโรคอื่นใด ๆ ในปัจจุบัน

ฐานะพิเศษนี้ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า HIV exceptionalism เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการสาธารณสุขมานานแล้ว Ronald Bayer ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้แสดงทรรศนะซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ตั้งแต่ปี 1991 ไว้ว่า HIV exceptionalism กำลังมีแนวโน้มจะลดความสำคัญลง ขณะที่ความรู้และมาตรการการจัดการโรคต่างพัฒนาก้าวหน้าขึ้น¹ แต่แม้จะผ่านมากว่า 20 ปี และวิทยาการได้พัฒนาจนเปลี่ยนโรคมฤตยูในสมัยนั้นให้กลายเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ หลักการของ HIV exceptionalism กลับยังคงเป็นที่ยึดปฏิบัติอยู่ เช่นเดียวกับการตีตราและกีดกัน ที่ยังฝังรากลึกไม่ยอมหายไปแม้ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวียังกำหนดให้ต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ และเป็นการตรวจอย่างเดียวที่ต้องให้ผู้ป่วยลงชื่อให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ในบางโรงพยาบาลผลการตรวจไม่สามารถเปิดดูผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้เหมือนการตรวจรายการอื่น แต่ต้องเดินไปรับผลซึ่งพิมพ์เป็นสลิปเอกสารลับโดยเฉพาะ อีกทั้งการให้คำปรึกษาและการจ่ายยา ก็มักมีขั้นตอนเฉพาะแยกต่างหากจากโรคอื่น เพื่อรักษาความลับของผู้ป่วย

ทั้งนี้ก็เห็นได้ไม่ยากว่าปัญหาการตีตราที่ยังแก้ไม่ได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ยังต้องคงมาตรการของ HIV exceptionalism ไว้ เพราะตราบใดที่สังคมยังมีความกลัวและรังเกียจผู้ติดเชื้ออย่างไม่สมเหตุสมผล การรักษาความลับของผู้ป่วยก็ยังต้องสำคัญเป็นพิเศษ บริการของคลินิกนิรนามจึงยังคงมีความจำเป็นอยู่นั่นเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง HIV exceptionalism นี้เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนให้การกีดกันและการเลือกปฏิบัติยังคงดำเนินอยู่ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายสาธารณสุขเพื่อต่อต้านการระบาดของเอชไอวีอีกด้วย เพราะมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะมีขึ้นเพื่อรักษาความลับของผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำถึงการเลือกปฏิบัติ และเป็นการยอมรับโดยนัยว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้นมีความพิเศษ (หรือน่ากลัว) กว่าโรคอื่นทั่วไป ซึ่งสัญญาณแฝงเหล่านี้อาจปลูกฝังความเชื่อในทั้งตัวผู้ป่วย สังคม และแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เอง โดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความยุ่งยากและ “เยอะ” ของมาตรการเหล่านี้ ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ เพราะยังทำให้รู้สึกว่าการตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องใหญ่หลวงที่ต้องคิดหนักก่อนจะปลงใจ แทนที่จะมองว่าเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้คนได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองและได้รับการรักษาเพิ่มมากขึ้น

นี่ยังไม่กล่าวถึงผลของ HIV exceptionalism ต่อคุณภาพบริการทางการแพทย์ ในสถานพยาบาลหลายแห่ง การห้ามเปิดเผยสถานะการติดเชื้อของผู้ป่วยไปไกลจนถึงขั้นที่ “เอชไอวี” กลายเป็นคำต้องห้ามที่เอ่ยถึงไม่ได้แม้จะอยู่ลับหลังผู้ป่วยและญาติก็ตาม และต้องเลี่ยงไปใช้รหัสลับต่าง ๆ นานา ไม่ต่างจากที่ตัวละครในเรื่อง Harry Potter ไม่กล้าเอ่ยชื่อ Voldemort ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารเป็นอันมาก (และอาจไม่มีประโยชน์อะไร เพราะบ่อยครั้งที่เคยได้ยินพยาบาลส่งเวรด้วยรหัสลับดังกล่าว ก็เห็นว่ายังใช้น้ำเสียงกระซิบกระซาบเหมือนผู้ป่วยเป็นตัวประหลาดหรือไปทำความผิดอะไรมาอยู่ดี) นอกจากนี้ ในอีกหลายกรณีก็ยังมีความลักลั่นระหว่างหลักการกับการปฏิบัติจริงอยู่มาก ดังเช่นในโรงพยาบาลบางแห่ง ที่แม้การตรวจเอชไอวีตามปกติจะต้องขออนุญาตผู้ป่วยก่อน แต่เวลาตรวจเลือดก่อนผ่าตัดแพทย์ก็จะสั่งให้ตรวจเอชไอวีโดยที่ไม่ได้บอกผู้ป่วยแต่อย่างใด เพื่อพิจารณาใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ (ซึ่งจริง ๆ แล้วตามหลัก universal precautions ควรจะปฏิบัติในผู้ป่วยทุกรายโดยไม่คำนึงถึงสถานะการติดเชื้อ)

ข้อปฏิบัติของ HIV exceptionalism เหล่านี้ จริง ๆ แล้วบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ดี (เช่นการตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ) แต่ก็ไม่ควรถูกจำกัดการปฏิบัติเฉพาะกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี มาตรการบางอย่างอาจไม่จำเป็นแล้วในปัจจุบัน แต่บางอย่างก็อาจยังต้องทำ ตราบที่สังคมโดยรวมยังมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากนายจ้างยังสามารถเอาสถานะการติดเชื้อมาเป็นเหตุผลไม่รับคนเข้าทำงาน การตรวจเอชไอวีก็ไม่อาจเป็นการตรวจคัดกรองทั่วไปได้ ทั้งนี้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานต้องตระหนักถึงความจำเป็นและเห็นเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว และเลือกใช้อย่างสมเหตุสมผล ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการส่งเสริมให้ตนเองและคนอื่นมองผู้ติดเชื้อเป็นตัวประหลาดหรืออันตราย เป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติก็ยังคงต้องเป็นการให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้การนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านสื่อ ดังเช่นในซีรีส์ฮอร์โมนส์ตอนที่ผ่านมา² ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่เมื่อพิจารณาว่าทุกวันนี้ยังมีข่าวชาวบ้านขับไล่ผู้ติดเชื้อออกจากหมู่บ้าน หรือผลสำรวจของกรมควบคุมโรคที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 51.2% บอกว่าไม่ยินดีว่ายน้ำในสระเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ 40.9% บอกว่าไม่ยินดีให้ลูกเรียนหนังสือร่วมชั้นกับเด็กที่ติดเชื้อ³ ขณะที่ในทางกลับกันบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอายุน้อย กลับไม่ตระหนักถึงอันตรายของพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็เห็นได้ว่าหนทางในการแก้ปัญหาและสร้างความรู้ความเข้าใจนั้นยังคงอีกยาวไกล

ถ้าฮอร์โมนส์หนึ่งตอนจะเสนอเรื่องความหมายของการติดเชื้อเอชไอวีได้สู่ผู้ชมสักสองล้านคน โจทย์ที่น่าคิดต่อไปคงต้องเป็นว่าเราจะใช้สื่ออะไร หรือทำอย่างไรได้อีก เพื่อที่จะอธิบายเรื่องนี้และแง่มุมอื่น ๆ ให้กับคนที่เหลืออีกทั้งประเทศ

เพราะหากยังไม่สามารถทำได้แล้ว การเข้าถึงผู้ติดเชื้ออย่างทั่วถึงก็จะยังคงเป็นไปไม่ได้ และการเอาชนะเอชไอวี/เอดส์ ก็จะเป็นได้เพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ในสังคมไม่อุดมปัญญาเท่านั้นเอง


No comments:

Post a Comment