2 December 2020

ปัญหาของการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมเคยกล่าวถึงประเด็นการบังคับเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือมาบ้างแล้ว และเคยได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสนอให้กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททาง Facebook Messenger แต่เหมือนว่าเขาจะไม่สะดวกเลยมิได้ตอบกลับ แต่ไหน ๆ แล้ว ขอเอามาแปะไว้ตรงนี้อีกที่หนึ่งแล้วกัน เผื่อใครสนใจ


สวัสดีครับ

ผมเห็นว่าที่ผ่านมา ELSiam ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมลูกเสือฯ มาเป็นระยะ ๆ จึงอยากเสนอประเด็นที่อาจสนใจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์อีกอย่างหนึ่ง คือความสมัครใจในการเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ

ผมไม่แน่ใจว่า ELSiam เคยรณรงค์เรื่องนี้มาแล้วแค่ไหนบ้างนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าน่าแปลกใจเกี่ยวกับการลูกเสือในประเทศไทย คือการเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ที่นักเรียนทุกคน “ต้อง” เข้าร่วมโดยปริยาย ซึ่งแตกต่างเป็นอันมากจากในประเทศต้นกำเนิด ที่เน้นความสมัครใจเข้าร่วมเป็นแก่นสำคัญอย่างหนึ่งของกิจการลูกเสือ (ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะลูกเสือนะครับ เพราะไม่ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ)

ทั้งนี้ธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกเองให้นิยามกิจการลูกเสือไว้ว่า

The Scout Movement is a voluntary non-political educational movement for young people open to all without distinction of gender, origin, race or creed, in accordance with the purpose, principles and method conceived by the Founder and stated below.

ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย กิจการลูกเสือมีสถานะพิเศษ มีกฎหมายรับรองการสนับสนุนจากรัฐโดยตรง สืบเนื่องจากที่มีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้ง แต่กระนั้นก็ตาม ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติก็ระบุชัดเจนว่า

ให้เด็กชายเป็นสมาชิกของกองลูกเสือตามความสมัครใจ

แนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับกับหลักการความสมัครใจนี้ ผมพบปรากฏในเอกสารทางการคือ แนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.

ทั้งนี้หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดให้โรงเรียนจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ และระบุกิจกรรมนักเรียนไว้สองประเภท คือ (1) กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร และ (2) กิจกรรมชุมนุม ชมรม

จะเห็นว่าหลักสูตรแกนกลางฯ มิได้กล่าวถึงการบังคับเข้าร่วมแต่อย่างใด แต่คู่มือแนวทางการจัดกิจกรรม ของสพฐ. กลับเขียนไว้ว่า

นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในข้อ 1 และ 2

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือโดยตรง

การบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนแล้ว ผมมองว่ายังเป็นผลเสียต่อกิจการลูกเสือในประเทศไทยอีกด้วย เพราะเมื่อผู้เข้าร่วมไม่เต็มใจ ตัวกิจกรรมก็ย่อมมีแนวโน้มจะถูกมองในแง่ลบ

และที่สำคัญ ยังจะทำให้คณะลูกเสือแห่งชาติขาดคุณสมบัติสมาชิกภาพตามบทบัญญัติของธรรมนูญองค์การลูกเสือโลกอีกด้วย เพราะธรรมนูญระบุคุณสมบัติไว้ข้อหนึ่งว่า

Establishment of the National Scout Organization as an independent, non-political, voluntary movement of probity and effectiveness.

ผมเคยได้รับทราบข้อมูลว่า มีองค์กรลูกเสือบางประเทศเคยถูกระงับสมาชิกภาพ เนื่องจากบังคับให้เยาวชนเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ยังไม่มีโอกาสสืบค้นรายละเอียดว่าหมายถึงประเทศไหน เมื่อไร แต่หากข้อมูลที่ผมได้รับมานั้นถูกต้อง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่าองค์การลูกเสือโลกเขามองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ร้ายแรงทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้คงไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ และย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ผมนำข้อมูลนี้มาเสนอ เผื่อว่า ELSiam จะสนใจนำไปเรียบเรียงและใช้ประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการศึกษาได้ตระหนักถึงความขัดแย้งนี้ และดำเนินการแก้ไขต่อไป

และหากผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยจะมองว่าไม่สำคัญ การส่งเรื่องให้องค์การลูกเสือโลกช่วยตรวจสอบ อาจจะช่วยเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทางที่ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

ขอฝากให้พิจารณาด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ


No comments:

Post a Comment