28 October 2020

Thoughts behind the final farewell

View this post on Instagram

Waiting on a final farewell

A post shared by Paul_012 (@paul_012) on

เคยว่าอยากจะเล่าความคิดเบื้องหลังภาพด้านบนนี้มาสักพัก แต่ยังไม่ได้พยายามเรียบเรียงจริง ๆ จัง ๆ สักที วันนี้¹ ครบรอบสามปีแล้ว คงเป็นเวลาที่นานพอที่จะย้อนกลับไปมองในฐานะอดีตได้ (และปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงไม่กี่ปีนี้ ก็ได้ช่วยให้ก้าวข้ามความลังเลที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ออกมา)

คนที่รู้จักผมอาจแปลกใจกับภาพนี้ที่โพสต์ในอินสตาแกรม อย่างผมเนี่ยนะ จะไปเบียดเสียดฝูงชนปักหลักรอขบวนพระบรมศพทั้งคืน ซึ่งก็ถูกแล้ว ผมไม่ได้ไปรอข้ามคืนหรอก และคงไม่ได้คิดจะไปร่วมพระราชพิธีในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เลย ถ้าไม่ใช่เพราะที่บ้านรู้จักกับโรงแรมแถวท่าเตียนและสามารถจองห้องเพื่อเป็นใบเบิกทางให้เข้าพื้นที่ได้ ว่ากันตรง ๆ แบบเห็นแก่ตัวเลยก็คือ ผมไม่ได้ตั้งใจไปเพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยในฐานะประชาชนที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เท่ากับที่จะไปเพื่อประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของตนเอง (กับอาจจะได้รูปไปลงวิกิพีเดีย) และไม่ได้คิดที่จะลงทุนแบบที่บรรดาผู้คนที่ฝ่ามาด้วยใจเขาต้องทำเลยด้วยซ้ำ

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดหรอก

ผมเติบโตในระบบโรงเรียนมาในทศวรรษ 1990s โดยเฉพาะในบรรยากาศการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ช่วงนั้นแนวคิดเกี่ยวกับชาติและการปกครองของไทยเริ่มตกผลึกนิ่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่เคารพนับถือในฐานะผู้ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสื่อรอบตัวต่าง ๆ ก็สะท้อนแนวคิดเหล่านี้ ผมไม่เคยเรียนว่าคนไทยมีหน้าที่รักในหลวง แต่คนไทยรักในหลวงเพราะทรงทุ่มเทอุทิศพระวรกายและพระปรีชาสามารถเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน อันที่จริงเรื่องเล่าเหล่านี้แทบไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียนเลยด้วยซ้ำ แต่เราสัมผัสและซึมซับมันมาจากการบอกย้ำในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแต่งกลอนเทิดพระเกียรติ การบ้านวิชาศิลปะที่ให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ การแปรขบวนรูปตราสัญลักษณ์กาญจนาภิเษกในพิธีปิดกีฬาสาธิตสามัคคี ตลอดจนการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและสดุดีมหาราชาตอนเข้าแถวหน้าเสาธงปีละสองครั้ง

ช่วงเวลานั้น จนถึงการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปี 2006 เป็นช่วงที่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นจุดสูงสุดของฐานะความนิยมในสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล สำหรับผมเองก็เช่นกัน วันที่ 9 มิถุนายนนั้น ผมกับเพื่อน ๆ ไปชมการซ้อมใหญ่ขบวนเรือพระราชพิธี และตอนค่ำก็ได้ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวง ผมยังจำบรรยากาศนั้นได้ ท่ามกลางความวุ่นวายและฝูงชนที่แน่นขนัด นาทีที่ทุกคนเริ่มร้องเพลงพร้อมกันนั้น มันสัมผัสได้ถึงการมีความรู้สึกร่วมกันกับคนแปลกหน้าทั้งหลาย ณ ที่นั้น (ถึงจริง ๆ แล้วเพลงจะไม่พร้อมเลย เพราะลำโพงอยู่ไกล) มันเป็นความตื้นตันที่เหนือกว่าการร้องหน้าเสาธงที่โรงเรียนทุกครั้ง

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ร้องและรู้สึกอะไรกับเพลงเหล่านั้น

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่หลังจากนั้นความ “อิน” หรือการรู้สึกร่วมเวลาเห็นการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ สำหรับผมก็ค่อย ๆ ลดหายไป อาจเป็นเพราะบรรยากาศการเมือง ที่นับจากรัฐประหารที่ตามมาไม่นานก็เข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง หรือเพราะทิศทางของการเฉลิมพระเกียรติส่วนมาก ที่แปรเปลี่ยนจากการเชิดชูพระราชกรณียกิจเป็นการสรรเสริญเทิดทูนอย่างออกนอกหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกว่าภาพของสถาบันกษัตริย์ที่เห็นมันเริ่มต่างจากสิ่งที่เคยถูกปลูกฝังมามากขึ้นทุกที

หลายคนที่เสื่อมศรัทธากับสถาบันพระมหากษัตริย์ มักพูดถึงโมเมนต์ “ตาสว่าง” นัยว่ามีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่เป็นเครื่องฉุดให้เห็นความจริง แต่ผมไม่เคยรู้สึกเช่นนั้น แม้ความรู้สึกร่วมจะลดลง แต่ในความคิดผมก็ยังพยายามรักษาภาพเดิมที่มีไว้ตลอด และมองเสมอว่าการอ้างตัวโหนสถาบันฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตน ตลอดจนการเหยียบย่ำเสรีภาพต่าง ๆ ตั้งแต่บล็อคยูทิวบ์ บล็อควิกิพีเดีย หรือคดี 112 ต่าง ๆ นั้นเป็นความเลวของคนที่ทำ โดยไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ

ที่จริงมันก็อาจเป็นกลไกป้องกัน ที่พยายามหาเหตุผลอ้างให้เรื่องต่าง ๆ สอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากเชื่อ แต่เอาเป็นว่าสำหรับผม ผมไม่เคยมีประสบการณ์ของการตระหนักและเปลี่ยนความคิดอะไรที่ชัดเจน หากแต่ชุดความคิดเดิมมันค่อย ๆ จางไปตามกาลเวลามากกว่า

และเมื่อมุมมองเก่าจางไป ก็เหมือนเราจะเปิดรับมุมมองใหม่ได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดที่ผมรับมาแต่เด็ก ว่าทรงเป็นมนุษย์ผู้อุทิศตน ไม่ใช่สมมุติเทพดั่งลัทธิเทวราชาที่ถือกันในสมัยโบราณ แนวคิดหรือข้อเขียนที่วิจารณ์การกระทำในฐานะมนุษย์จึงไม่ได้เป็นเรื่องรับไม่ได้สำหรับผมขนาดนั้น อันที่จริงผมไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสืออะไรมากมาย (อย่าง The King Never Smiles ที่ผมเคยพูดถึงว่ามีบน Google Books นั่นผมก็แค่เห็นผ่าน ๆ ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ) แต่ก็ไม่ได้พยายามปิดหูปิดตา และก็มีงานเขียนภาษาอังกฤษผ่านตาอยู่บ้าง ซึ่งมันก็คงค่อย ๆ สร้างความยอมรับใหม่ในความคิดของเรา อย่างตอนที่ Andrew MacGregor Marshall เขียน #Thaistory จนเป็นกระแสเมื่อปี 2011 ผมนั่งอ่านก็แอบงงนิดนึงว่ามันไม่เห็นจะมีอะไรน่าขัดแย้งขนาดนั้นเลยนี่นา ออกเคารพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลด้วยซ้ำ และไม่ได้แตะประเด็นร้อนของจริงอย่างเรื่อง 6 ตุลาเลย

แต่ขณะที่ผมไม่ได้ประสบภาวะวิกฤตทางศรัทธาหรือความเชื่อแบบบางคนที่รับอดีตไม่ได้จนต้องไล่ลบโพสต์ “ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙” กันนั้น ก็ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไม่ได้ทิ้งช่องว่างไว้สำหรับผม หลังเพลงสรรเสริญพระบารมีในปี 2006 นั้น ผมเองยังคงหวังที่จะได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนั้นอีก แต่ก็ไม่มีโอกาสอยู่หลายปี จนอีกทีถึงได้ตระหนักว่ามันไม่อาจกลับมาได้แล้ว แต่แท้จริงสิ่งที่เราโหยหาคือ “อดีต” เมื่อครั้งที่ยังสามารถ “ซาบซึ้ง” กับมันได้ต่างหาก

การไปร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่บอกว่าไปเพื่อประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิต จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้นหรอก สำหรับผม มันคือการไปร่วมปิดฉากในเรื่องราวเล่าขานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาหลายสิบปี

และบางที อาจมีสักช่วง แม้สักเสี้ยววินาทีก็ยังดี ที่เราจะได้ลืมทุกอย่าง และกลับไปรู้สึกและรำลึกถึงสถาบันฯ ในแบบที่เราเคยเมื่อครั้งยังเด็ก โดยไม่ต้องคิดอะไร

ก่อนที่มันจะลอยหายไปกับควันพระเพลิง และกลายเป็นอดีตไปตลอดกาล

* * *

ช่วงหลังสวรรคต ที่เสียงบรรเลงตามห้างร้านกลายเป็นเพลงเทิดพระเกียรติและเพลงพระราชนิพนธ์กันไปหมดนั้น ผมซื้อซีดีเพลงชุด “ต้นไม้ของพ่อ” มา ซึ่งถึงตอนนี้น่าจะได้เปิดเล่นไปแค่ครั้งเดียว

จริง ๆ แล้วผมไม่ได้สนใจเพลงอื่นในอัลบั้มเลยนอกจากเพลงแรกกับเพลงของขวัญจากก้อนดิน และที่อยากได้เก็บไว้ก็ไม่ใช่เพราะความหมายที่เพลงสื่อ

หากแต่เพราะเพลงสองเพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมกับเพื่อน ๆ ใช้ร้องประกอบในกิจกรรมละครเทิดพระเกียรติภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนให้ทำเมื่อปี 1999 และช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นความทรงจำที่มีค่าของผม

จากนี้ไป มันก็คงมีค่าให้ผมเก็บไว้เพียงเท่านั้น

ส่วนเรื่องราวของสถาบันกษัตริย์ คงต้องปล่อยให้เป็นบทบันทึกของหน้าประวัติศาสตร์ ที่จะถูกเขียนขึ้นต่อไป


  1. เมื่อเริ่มเขียน

No comments:

Post a Comment